Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ความคิดแรกเมื่ออ่านข่าวครอบครัวตัญกาญจน์ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ (น้องเมย) ในนิวส์ฟีดของผมเมื่อคืนวันที่ 20 พ.ย. 60 ที่ผ่านมาคือ ประเด็น “อวัยวะหาย” ภายหลังการชันสูตรพลิกศพไม่ได้เป็นพิรุธของการเสียชีวิตของน้องเมยแต่อย่างใด เพราะเคยทราบกระบวนการชันสูตรของแพทย์นิติเวชมาก่อนแล้วตอนเรียนรายวิชานิติเวชว่าจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะออกไปตรวจเพิ่มเติม แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของน้องเมยเลย เพราะยังมีประเด็นการเสียชีวิตในรั้วทหารของน้องเมยที่ยังไม่กระจ่าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการซ้อม/ทรมาน หรือการซ่อม/ธำรงวินัยจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว

ทว่าเมื่อกดอ่านดูคอมเมนต์ใต้ข่าว ผมกลับประหลาดใจเมื่อพบว่าคนทั่วไปให้ความสำคัญกับประเด็น “อวัยวะหาย” มากกว่า เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” บางคนสะเทือนใจที่อวัยวะหายไป บางคนคับข้องใจว่าอวัยวะหายไปได้อย่างไร บางคนไม่พอใจที่แพทย์ผ่าเอาอวัยวะออกไปโดยไม่ได้แจ้งญาติ ทั้งที่สำหรับแพทย์แล้วเห็นว่า “ปกติ” มาก โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชที่ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมชันสูตรพลิกศพน้องเมยด้วยยังแสดงความเห็นอย่างมั่นใจในประเด็นนี้[1]

แล้วความไม่ปกติในความปกตินี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคม? มุมมองที่แตกต่างกันอาจเทียบเคียงได้กับมุมมองที่แตกต่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเวลาเกิดความ “ผิดปกติ” ขึ้นกับร่างกายกล่าวคือ แพทย์จะวินิจฉัยความผิดปกตินั้นว่าเป็น “โรค (disease)” ในขณะผู้ป่วยจะมีคำอธิบายที่แตกต่างออกไปเรียกว่า “ความเจ็บป่วย (illness)” ซึ่ง Arthur Kleinman นักมานุษยวิทยาการแพทย์ได้เสนอแบบจำลองคำอธิบายความเจ็บป่วย (explanatory models) ด้วยคำถาม 5-8 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแต่ละคำถามจะให้ความสำคัญกับ “การให้ความหมาย” ของปัจเจกและสังคมต่อความผิดปกตินั้นๆ

เมื่อได้ติดตามข่าวนี้มาสักระยะหนึ่งผมคิดว่าสังคมได้ให้ความหมายต่อ “อวัยวะหาย” อยู่ 2 ความหมายด้วยกัน

ความหมายแรก อวัยวะหายคือการทำลายความเป็นมนุษย์ ถึงแม้น้องเมยจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ร่างกายที่เหลืออยู่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าน้องเมยเคยดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ที่มี “ชีวิตและจิตใจ” การให้คุณค่าต่อมนุษย์ในแง่นี้ "สมอง" จึงไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มของเนื้อเยื่อประสาทที่รวมตัวกลายเป็นอวัยวะอ่อนนิ่มที่ต้องนำไปแช่น้ำยาก่อนผ่าพิสูจน์ หากแต่เป็นตัวแทนของ "ความคิด" สติปัญญา ความเฉลียวฉลาดที่น้องเมยสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ รวมถึงความจำและความทรงจำตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ในขณะที่ "หัวใจ" ก็ไม่ได้เป็นเพียงก้อนของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่รวมตัวกันทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นของร่างกายเท่านั้น แต่เป็นตัวแทน "ความรู้สึก" ทั้งด้านที่เข้มแข็ง เช่น ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้หมวด ความอดทนต่อการธำรงวินัย และด้านที่อ่อนโยน เช่น ความรักพ่อแม่ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่ลาออกจากโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อ 3 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต[2]

การพรากเอา 2 อวัยวะสำคัญนี้ออกจากร่างกายก็เท่ากับการทำให้ร่างกายที่เหลือไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ญาติของน้องเมยจึงรับไม่ได้ที่แพทย์ผู้ชันสูตรได้นำอวัยวะของน้องเมยออกไปโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และแจ้งให้ทราบเพียงว่าจะมีการตัดชิ้นเนื้อของน้องเมยออกไปบางส่วนเท่านั้น นำมาสู่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความกระจ่างเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงเรียนเตรียมทหารและคำชี้แจงเรื่องอวัยวะที่หายไปจากแพทย์ผู้ชันสูตรไปพร้อมกันในช่วงบ่ายของวันที่ 20 พ.ย. 60[3]

คืนวันนั้น “อวัยวะหาย” ได้กลายเป็นความเห็นใจร่วมของคนในสังคม เมื่อสื่อออนไลน์หลายสำนักได้รายงานข่าวการแถลงข่าวของครอบครัวตัญกาญจน์ และได้รับการพูดถึงและแชร์ต่อเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำหลักในการพาดหัวข่าวว่า “อวัยวะภายในหายเกลี้ยง” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทิชชู่ยัดสมอง”[4] ที่นับว่าน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากน้องเมยจะถูกทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยการผ่าเอาสมองออกไปแล้ว ยังโดนซ้ำเติมด้วยการเอาสิ่งที่แทบไม่มีค่ามายัดใส่ในบริเวณที่ควรจะบรรจุสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตอีกด้วย ถึงแม้ในเวลาไล่เลี่ยกันจะมีแพทย์นิติเวชบางท่านโพสต์ชี้แจงกระบวนการชันสูตรพลิกศพแล้ว แต่ก็นับว่า “อารมณ์” ของสังคมได้ไปเกินกว่า “เหตุผล” แล้ว เกิดเป็นดราม่าในสังคมออนไลน์เพียงชั่วข้ามคืน และกลายเป็นแรงกดดันทางสังคมให้กองทัพไทย นำโดยพล.ท.ณตฐพล บุญงาม เจ้ากรมข่าวทหาร พล.ต.กนกพงศ์ จันทร์นวล ผบ.โรงเรียนเตรียมทหาร พ.อ.การุณย์ สุริยวงศ์พงศา ผอ.กองการแพทย์ ร.ร.เตรียมทหาร และพ.ท.นรุฏฐ์ ทองสอน นายแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์ผู้ชันสูตรศพน้องเมยต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข้อเท็จจริงในฝั่งของตนและตอบคำถามกับสื่อมวลชน ในช่วงบ่ายของวันถัดมา (21 พ.ย. 60)[5] ซึ่งนับว่าเป็นการแถลงข่าวอย่างทันควันมาก เมื่อเทียบกับกรณีการเสียชีวิตในค่ายทหารรายอื่น

ในทางกลับกันหากแพทย์ผู้ชันสูตรได้คืนอวัยวะทั้งหมดแก่ญาติ หรือได้แจ้งญาติว่าได้มีการนำอวัยวะสำคัญออกไปตรวจเพิ่มเติมแล้ว น่าสนใจว่าสื่อมวลชนจะพาดหัวข่าวให้เกิดกระแสสังคมกดดันกองทัพได้อย่างไร

ความหมายที่สอง อวัยวะหายคือความยุติธรรมที่หายไป ครอบครัวตัญกาญจน์ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าผลการชันสูตรศพซ้ำจะออกมาในแบบที่ได้รับการจับตาจากสังคมเป็นสายตาเดียวกันเช่นนี้ เพียงแต่ต้องการผลการชันสูตรที่เป็นกลางเท่านั้น อย่างที่น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ครอบครัวต้องการที่จะได้รับผลสนับสนุนและผลการชันสูตรที่แม่นยำ... เนื่องจากเกรงว่าจะมีบางสิ่งในร่างกายที่สถาบันแรกอาจตรวจไม่พบ ซึ่งผลที่ได้รับถึงกลับทำให้ครอบครัวตกใจ” ผมไม่ทราบว่าแพทย์นินิติเวชของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ชันสูตรศพน้องเมยซ้ำได้อธิบายความเป็นไปได้ที่อวัยวะจะหายไปให้ญาติทราบไว้อย่างไร เพราะน่าจะสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ของแพทย์นิติเวชคนก่อนหน้าอยู่แล้ว และน่าจะแนะนำให้ไปขอรับอวัยวะคืนเพื่อชันสูตรซ้ำอีกครั้ง

ทว่าการหายไปของความปกติ อวัยวะสำคัญที่ควรจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดิมกลับอันตรธานหายไป นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการเสียชีวิตของคนคนหนึ่ง ย่อมนำมาซึ่งความแคลบแคลงสงสัย และตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นต่อโรงพยาบาลแรกที่ชันสูตรซึ่งสังกัดกองทัพเช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมทหาร ในขณะที่ทางโรงเรียนเตรียมทหารซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ที่น้องเมยเสียชีวิตก็ยังไม่ได้ให้คำตอบเป็นที่พอใจ จึงเกิดการตั้งคำถามว่ามีการปกปิดหลักฐานการเสียชีวิตหรือไม่ และทวงคืน “อวัยวะ” หรือในความหมายของ “ความยุติธรรม” ต่อกรณีการเสียชีวิตสื่อมวลชนและสาธารณะ

การให้ความหมายในแง่นี้นำมาสู่การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 6 คนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราชร่วมชันสูตรอวัยวะของน้องเมยที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมในวันที่ 23 พ.ย. 60[6], แคมเปญรณรงค์ร่วมลงชื่อร้องเรียนกองทัพบกในหัวข้อ “เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ต้องลาออก” ผ่านเว็บไซต์ change.org ของสังคมออนไลน์ในวันที่ 23 พ.ย. 60  ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 50,000 คนภายใน 3 วัน[7] และคำสั่งย้ายพ.อ.ฉัตรชัย ดวงรัตน์ ผู้บังคับการกรมนักเรียน โรงเรียนเตรียมทหาร และ น.ท.นพศิษฐ์ เพียรชอบ ผู้บังคับกองพันนักเรียน กรมนักเรียนเรียน โรงเรียนเตรียมทหารเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 24 พ.ย. 60[8] ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายหลังจากที่น้องเมยเสียชีวิตไปแล้วถึง 1 เดือน

ทั้งที่ในความจริงแล้วอวัยวะของน้องเมยจะไม่ได้หายไปไหน เพราะแพทย์ผู้ชันสูตร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าชี้แจงในการแถลงข่าวว่าได้ผ่าสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่นิ่มมากออกไปแช่น้ำยาฟอร์มาลิน เก็บหัวใจไว้ทำสไลด์ และเก็บกระเพาะอาหารไว้ตรวจสารพิษ เป็นการทำงานตามปกติภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ภายใต้หลักการทางการแพทย์และแนวทางการเก็บหลักฐานอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งสมาคมพยาธิแพทย์แห่งอเมริกา (college of American pathologists) กำหนดให้ต้องเก็บชิ้นเนื้อไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี[9] ทว่าแพทย์นิติเวชไม่อาจหลีกเลี่ยงการให้ความหมายของสังคมได้ ซึ่งในมุมมองของแพทย์ที่ทำงานด้านกฎหมายโดยเฉพาะอาจมองว่าเป็นเรื่อง “ถูกกฎ แต่ไม่ถูกใจ” แต่อวัยวะที่(ไม่ได้)หายไปกลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงมากมายข้างต้น

สำหรับแพทย์ จึงเป็นบทเรียนให้แพทย์ผู้ชันสูตรในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและจิตใจคนหนึ่งต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับญาติผู้ตายมากขึ้น อาจอธิบายกระบวนการทำงานของแพทย์ให้ญาติเข้าใจ โดยเฉพาะกรณีที่ญาติไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือตกเป็นผู้ต้องสงสัย เพราะญาติคาดหวังให้แพทย์นิติเวชเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายอยู่แล้ว ในขณะที่กรณีของน้องเมย แพทย์ผู้ชันสูตรกลับต้องกลายเป็นผู้สบคบคิดกับจำเลยที่ญาติสงสัย เพราะไม่ได้แจ้งญาติว่าได้มีการนำอวัยวะออกไป อย่างที่ พล.ต.ธารา พูนประชา ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้ากล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างการส่งมอบชิ้นส่วนอวัยวะคืนแก่ญาติน้องเมยในวันที่ 23 พ.ย. 60 ว่า “...การตัดสินใจครั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลศพ แต่ไม่ได้ดูแลจิตใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิต”[10]               

โดยสรุปอวัยวะของน้องเมยที่หายไปจึงไม่ใช่แค่วัตถุพยานของการเสียชีวิตที่แพทย์แค่นำไปผ่าพิสูจน์เท่านั้น ซึ่งเทียบได้กับ “โรค” ในแบบจำลองคำอธิบายความเจ็บป่วย แต่คือสิ่งที่มีความหมายอย่างน้อย 2 ประการ คือ “ความเป็นมนุษย์” และ “ความยุติธรรม” ที่หายไป ซึ่งเทียบได้กับ “ความเจ็บป่วย” ในมุมมองของคนทั่วไป และความหมายนี้เองก็ได้กระตุ้นให้สังคมหันมาร่วมผ่าพิสูจน์คดีนี้ไปพร้อมกับครอบครัวตัญกาญจน์.

 

เชิงอรรถ

 

[1] อดีตแพทย์นิติเวชแจงมาตรการเก็บอวัยวะชันสูตร ชี้สาเหตุที่อวัยวะหาย-ทิชชูยัดสมอง. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_642272. [24 พฤศจิกายน 2560]

[2] เปิดจดหมาย‘น้องเมย’ เห็นเพื่อนร่วมรุ่นโดนซ่อมจนสลบ ก่อนยอมหันหลังให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_646377. [24 พฤศจิกายน 2560]  

[3] ครอบครัว “น้องเมย” จี้ ผบ.สูงสุด-ผบ.ร.ร.เตรียมทหาร แจงเหตุนำอวัยวะลูกชายออกจากร่างไม่บอกให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9600000117135.  [24 พฤศจิกายน 2560]

[4] พ่อช็อก! ลูกชาย นร.เตรียมทหารเสียชีวิตมีเงื่อนงำ อวัยวะภายในหายเกลี้ยง-ทิชชู่ยัดแทนสมอง หอบหลักฐานแฉให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: http://www.amarintv.com/news-update/news-4525/112071/. [24 พฤศจิกายน 2560]

[5] กองทัพ แจงจำเป็นต้องเก็บอวัยวะ “น้องเมย” เพื่อชันสูตร พบพยาธิสภาพในหัวใจผิดปกติ. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_641387. [24 พฤศจิกายน 2560]

[6] สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระดมผู้เชี่ยวชาญ ชันสูตร น้องเมย 7 วันสาเหตุการตายชัด. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:   https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_643638. [24 พฤศจิกายน 2560]

[7] เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ต้องลาออก. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: https://www.change.org/p/เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ-น้องเมย-ต้องลาออก. [24 พฤศจิกายน 2560] 

[8]  ผบ.ทสส. ลงนามคำสั่งย้าย ผู้บังคับกองพัน ร.ร.เตรียมทหาร. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.thairath.co.th/content/1135300. [24 พฤศจิกายน 2560]

[9] College of American Pathologists (CAP) Retention of Laboratory Records and Materials. [online]. 2010. Available from: https://www.ncleg.net/documentsites/committees/PMC-LRC2011/December%205,%202012/College%20of%20American%20Pathologist%20Retention%20Policy.pdf [24 November 2017]

[10] ประยุทธ์ชี้ ทหารต้องไม่ "ฝึกแบบธรรมดา" ส่วนพ่อน้องเมยบอก "ตีราคาลูกผมต่ำไป". [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: http://www.bbc.com/thai/thailand-42091111. [24 พฤศจิกายน 2560]


หมายเหตุ: พฤศจิกายน 2560 | ปรับแก้ ธันวาคม ปีเดียวกัน

เกี่ยวกับผู้เขียน: ชนาธิป ไชยเหล็ก เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลนครชัยศรี จ.นครปฐม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net