เสวนา: รัฐธรรมนูญบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน "ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น"

สมชายชี้ คสช. ไม่ได้มีแค่ทหารเพียงอย่างเดียวเเต่เป็นเครือข่ายอุดมการณ์ การเดินต่อไปข้างหน้าต้องไม่ละเลยพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ปิยบุตรระบุ ประชาชนยังมีอำนาจสถาปนา รธน. ปูนเทพย้ำ รธน.ใหม่ แค่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม


สมชาย-ปิยบุตร-ปูนเทพ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 กลุ่ม Third Way Thailand จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญไทยบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปิยบุตร แสงกนกกุล และปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

สมชาย: รัฐธรรมนูญบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน และ "ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น"

สมชาย กล่าวถึง 3 ประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย 1. เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนผ่าน มันมีความหมายว่าอะไร มันกำลังเปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไร 2. รัฐธรรมนูญมีความหมายอย่างไรในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน และ 3. รัฐธรรมนูญไทยกับการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไรนั้น สมชาย กล่าวว่า การอยู่ในโลกที่มีความหวังเป็นแง่ดี แต่ก็ต้องระวังแง่ร้าย เพราะระบอบการปกครองปัจจุบันที่เป็นระบอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มิใช่เป็นเพียงระบอบอำนาจนิยมของทหารอย่างเดียว อย่างเดียว แต่มีอุดมการณ์ เครือข่าย สถาบันเป็นปัจจัยประกอบอย่างสำคัญ มันจึงมีองค์กรต่างๆ เข้ามารายล้อมและหนุนเสริมอย่างสำคัญ ยกตัวอย่าง ระบอบ คสช. ที่ใช้อำนาจทุกวันๆ นั้น มันจะใช้ไม่ได้เลย หากศาลไม่เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ต่อให้ คสช. ออกไป แต่เครือข่าย อุดมการณ์ หรือสถาบันเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ทั้งนี้ศาลเป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

สมชาย กล่าวต่อว่า สมัยก่อนมีการเรียกเผด็จการรัฐสภา แต่ตอนนี้เราเจอรัฐสภาของเผด็จการ สมาชิก สนช.ทำงานเข้มแข็งมาก สามารถออกกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. มากกว่า 200 ฉบับแล้ว ขณะที่ตั้งแต่ 2475 เรามีมา 700 ฉบับ ดังนั้นต่อให้มีการเลือกตั้งหรือต่อให้ คสช. ไม่อยู่แล้ว กฎหมายพวกนี้ก็ยังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราคิดถึงระบอบ คสช. เราต้องคิดถึงเครือข่ายเหล่านี้ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สมชายเรียกอย่างสั้นๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่อภิชนเป็นใหญ่ พร้อมอธิบายว่า มันคือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาเครือข่ายของเสียงข้างน้อยเป็นผู้ปกครอง สิ่งที่เราจะเห็น แม้เรามีรัฐธรรมนูญใช้และมีการเลือกตั้ง แต่เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่จะเป็นไปได้ 2 แบบ คือในแง่หนึ่งเราอาจคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย แม้หลายคนจะคาดหวังกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่เขาไม่สู้จะแน่ใจว่าอาจเป็นการเปลี่ยนจากอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยจำแลงหรือไม่ เราอาจเห็นบทบาทของทหารน้อยลง แต่ตัวกรอบและระบบที่ดำรงอยู่เดิมจะยังกำกับสังคมไทยได้อีก ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบไหน ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

ประเด็นที่ 2 รัฐธรรมนูญมีความหมายและความสำคัญอย่างไรต่อการเปลี่ยนผ่าน สมชาย กล่าวว่า เมื่อเราคิดถึงความหมายและความสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่อย่างไร เวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่าน ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ คือมันให้ความชอบธรรมกับสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่และระบบที่ดำรงอยู่ ส่วนตัวคิดว่าข้อดีของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ มันต้องเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการแก้ไขภายในตัวมันเอง หมายความว่าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เขียนแล้วจะสมบูรณ์เพรียบพร้อม ใช้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย แต่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นบนเงื่อนไขและสถานการณ์บางอย่าง แปลว่ามันอาจจะบกพร่องและเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดให้สามารถแก้ไขเยียวยาได้ในตัวของมันเอง

สมชาย ยกข้อเสนอของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 และผู้ประพันธ์ "คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา" ของสหรัฐอเมริกา โดยเจฟเฟอร์สันเสนอว่า รัฐธรรมนูญควรเขียนใหม่ทุกเจนเนอเรชั่น

สมชาย ตั้งคำถามว่า คนในเจนเนอเรชั่นหนึ่งมีสิทธิที่จะสร้างภาระผูกพันกับคนอีกเจนเนอเรชั่นหรือไม่ คนรุ่นเรามีสิทธิไปกำหนดชะตากรรมของคนรุ่นถัดไปขนาดไหน?

"ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น" (The Dead should not govern the living) สมชายยกข้อความของเจฟเฟอร์สันที่ปรากฏในจดหมายของ เจฟฟอร์สัน เมื่อปี 1789 พร้อมกล่าวต่อว่า จริงๆ เขาเสนอด้วยว่ารัฐธรรมนูญควรเขียนใหม่ทุกๆ 19 ปี แต่ที่เรารู้ๆ คือ รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ยังใช้ฉบับเดิม เพราะว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้แก้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ จึงแก้ไปแล้ว 27 ครั้ง

สมชัย กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของเจฟเฟอร์สันน่าสนใจ เพราะหมายความว่า รัฐธรรมนูญถูกสร้างไม่ได้ถูกค้นพบ ดังนั้นมันมีกาลเทศะ รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้มีการแก้ด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มี “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ที่ใช้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน หรือ”รัฐธรรมนูญที่ดีพร้อม” มันเป็นการเปลี่ยนผ่านโดยที่ไม่ได้ตัดทิ้งจากระบบคุณค่าแบบเดิม หมายความว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาถูกสร้างขึ้นด้วยระบบคุณค่าแบบหนึ่ง และค่อยๆ เพิ่มให้สมบูรณ์มากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่วางอยู่บนพื้นฐานสังคมนั้นๆ เรื่องนี้จึงทำให้รัฐธรรมนูญมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบหนึ่งไปสู่สังคมอีกแบบหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 รัฐธรรมนูญไทยกับการเปลี่ยนผ่าน สมชาย กล่าวว่า ใน 85 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เฉลี่ย 4 ปี 3 เดือน และมีรัฐประหาร เฉลี่ย 7 ปีครั้ง เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยจึงมักไม่สืบเนื่อง หรือเปิดโอกาสให้ระบบได้แก้ไขตัวเอง

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะไม่ใช้วิธีการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือโยนฉบับเก่าทิ้ง เช่น ค่อยๆ แก้รัฐธรรมนูญ อย่างรัฐธรรมนูญ 40 ก็ค่อยๆ ร่าง แต่ตรงกันข้ามถ้าเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบอำนาจนิยมจะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง การเปลี่ยนผ่านที่ไม่สืบเนื่องกับระบอบเดิม หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งนั้น มันมักจะเปิดช่องให้เกิดอสูรกายหรือสัตว์ประหลาดทางการเมือง เช่น มาตรา 44 เกิดขึ้นภายใต้ยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยม รวมถึงรัฐสภาเผด็จการและศาลที่สนับสนุนอำนาจนิยม เป็นต้น

สำหรับคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหรือไม่นั้น สมชาย กล่าวว่า โดยรวมๆ เราจะตระหนักร่วมกันว่า คนร่างคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขยากมาก เขียนไว้จนแทบจะแก้ในระบบได้ยากมากๆ ทั้งกระบวนการแก้และในแง่ตัวศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามามีบทบาท ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้เลย ในประวัติศาสตร์เราเห็นระบอบอำนาจนิยมมามากแล้ว แต่ความนิยมที่เสื่อมลง มันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่มาจากอารมณ์ปะทุของประชาชน มันมีบทเรียนบางเรื่อง เพราะกรณีรัฐบาลขาลงนั้น หากใครไปนั่งตรงนั้น ก็จะเป็นแบบนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นตัวระบบ ด้วยเหตุนี้จึงมีบทเรียน 3 ประเด็น สำหรับการเปลี่ยนแปลงจากการปะทุจากอารมณ์ของประชาชน คือ เรามักจบลงด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคล ไม่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการเกิดอำนาจนิยม เช่น การไปไม่ถึงของเครือข่ายของ คสช. หรืออุดมการณ์ของศาล ดังนั้นมันพร้อมจะกลับมาได้

เรามักจะคาดหวังกับการเดินไปข้างหน้า แต่เรามักจะละเลยพลังที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย เราไม่คิดถึงการปฏิรูปกองทัพเลยในตอนปี 2540 ดังนั้น พลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยควรได้รับการคิดถึงมากขึ้นด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะได้คือการเปลี่ยนเพียงแค่คนที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
 

ปิยบุตร: หากรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญได้ ทำไมประชาชนจะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้

ปิยบุตรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ ซึ่งเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนผ่านในมุมมองของวิชารัฐศาสตร์ มักจะศึกษาเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย คือศึกษาว่ามีกระบวนการอย่างไรที่จะออกจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ วัตถุที่ศึกษากันคือ ตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะพยายามที่จะเป็นกลางจากอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเป็นไปได้เสมอที่จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญหากมองอย่างเป็นกลาง โดยไม่ได้คิดถึงหลักการรัฐธรรมนูญนิยมที่มีลักษณะผูกพันกับระบอบเสรีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการก็ได้

“เราลองคิดดูร้อยกว่าประเทศในโลกนี้ มีกี่ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย นี่ยังไม่ต้องนับรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นประชาธิปไตยแต่ใช้แล้วไม่เป็นประชาธิปไตยอีก จริงๆ แล้วมันมีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาและการใช้ที่เป็นเผด็จการ ประเทศไทยเป็นตัวอย่าง เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และหลายครั้งเราเปลี่ยนเป็นเผด็จการ”

เขากล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ถูกร่างขึ้นมาใหม่หลังจากการรัฐประหาร มีเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นที่เป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้มีการใช้กองกำลังหรืออาวุธ เข้ามายึดอำนาจและประกาศให้รัฐธรรมนูญเดิมสิ้นลง และกำหนดให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ครั้งแรกคือ ฉบับที่  27 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนเป็นฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 ครั้งที่สอง ฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นฉบับ พ.ศ. 2489 และครั้งที่สามคือฉบับ พ.ศ. 2534 เปลี่ยนเป็นฉบับ พ.ศ. 2540 ทั้งหมดนี้

ปิยบุตร กล่าวถึงช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเกิดจากกระแสปฏิรูปการเมือง โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาประกาศว่าจะปฏิรูปการเมืองโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ จึงไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2534 ให้มีหมวดพิเศษเพิ่มขึ้นมาคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไปสู่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากในตอนแรกที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ต้องการให้เป็นเพียงรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เติมคำว่าชั่วคราวลงไป และหลังจากนั้นก็ต้องมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น นัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ ผลของการต่อรองของคณะเจ้ากับคณะราษฎร ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการยึดอำนาจเข้ามาเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ปกติ ขณะที่การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ไปสู่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ใช้วิธีการปกติเช่นกัน

เขาอธิบายต่อว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งสามครั้งที่กล่าวถึงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาว่า มีฉันทามติกันในระดับหนึ่ง เพราะหากไม่มีฉันทามติร่วมกันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ หากดุลอำนาจทางการเมือง หรือพลังทางการเมืองของแต่ละฝ่ายยินยอมพร้อมใจกันจึงจะทำได้ แต่ถ้าไม่จะไม่มีวันทำสำเร็จ และผลที่ออกมาก็จะนำไปสู่การรัฐประหาร

ปิยบุตร อธิบายต่อไปถึงอายุของรัฐธรรมนูญว่าจะอยู่ยาว หรืออยู่สั้นนั้นขึ้นอยู่กับดุลภาพทางการเมืองในเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อรองทางอำนาจระหว่างพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ซึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด

เขากล่าวต่อไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการประกาศใช้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เช่น รัฐธรรมนูญของจอมพลสฤษดิ์ รัฐธรรมนูญของธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จตามโรดแมปที่วางไว้ราว 12 ปี และรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังคงอยู่

ปิยบุตร ระบุว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวของทหารต้องอยู่ยาวนั้นมาจากการที่ชนชั้นนำยังมีความกังวลถึงภัยคุกคามบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา จึงต้องมีการปกครองด้วยระบอบพิเศษต่อไป รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2502 กว่าจะไปถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ใช้เวลาถึง 9 ปี เพราะเป็นช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2519 มีการคาดหวังว่าจะอยู่ยาวถึง 12 ปี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่ชนชั้นนำคิดว่าจำเป็นต้องอยู่ยาวเพื่อจัดการอะไรบางอย่าง

“วงจรชีวิตรัฐธรรมนูญของเรา เรามักจะเรียนกันมาว่าประเทศไทยมันอยู่ในวงจรอุบาทว์ เดี๋ยวมีรัฐธรรมนูญนักการเมืองโกงชั่วช้าสามานย์ ทหารก็ต้องเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้น ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปกครองกันไปสักพักหนึ่งก็มีความวุ่นวายมีความขัดเเย้งอีก ก็ทำรัฐประหารอีก วนกันอยู่อย่างนี้ แต่ท่านลองคิดกันเองว่าวงจรรัฐธรรมนูญไทยมันใช่วงจรอุบาทว์แบบที่เราถูกโฆษณาชวนเชื่อกันไหม นักการเมืองมันโกง ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับเมืองไทย เลือกตั้งกันไปก็วุ่นวายทุกที หรือมันเกิดจากอะไรกันแน่”

เขาอธิบายต่อไปว่า แท้จริงแล้วอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ซึ่งไปกำหนดให้เกิดสถาบันทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมา เช่น ประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล โดยองค์กรเหล่านี้จะเป็นองค์กรที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ องค์กรเหล่านี้จะใช้อำนาจได้ตามที่รัฐธรรมนูญระบุ และจะใช้อำนาจขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ฉะนั้น ระบอบนี้จึงสอดคล้องกับยุคสมัยใหม่

ปิยบุตร กล่าวต่อถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่ามีการอนุญาตให้เเก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ในความเป็นจริงจะไม่สามารถทำได้เลย เพราะมีการวางเงื่อนไขไว้ให้แก้ได้ยากมาก เพราะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไขจากทุกพรรคการเมือง และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. และต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการเเก้ไขที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฉะนั้น ในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ปิยบุตรเห็นว่าวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นสามารถทำได้สองวิธีคือ 1.ทำตามที่รัฐธรรมนูญระบุในมาตรา 256 2.เป็นวิธีที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่อยู่ติดกับประชาชนอยู่เสมอ นั่นคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ต่อให้รัฐธรรมนูญระบุเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากกลับไปหาประชาชนเมื่อไหร่ก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะโดยหลักการคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจนี้ดำรงอยู่ตลอดเวลา และกระบวนการในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชนทุกๆ ขั้นตอน 
 

ปูนเทพ: รธน. 60 เปลี่ยนไม่ผ่าน แค่ซุกปัญหาใต้พรม

ปูนเทพ พูดถึงปัญหาใจกลางของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2560 ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นไปได้ยากเนื่องจากฐานของการจัดทำนั้นไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนยกปัญหาทุกปัญหาขึ้นมาคุยกันในกระบวนการจัดทำ และยกตัวอย่างหลักการการร่างประชาธิปไตยด้วยคุณค่าประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน พร้อมตัวอย่างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไอซ์แลนด์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ห้องทดลองประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ’

ปูนเทพชี้ว่า ความเข้าใจของคนไทยทั่วไปต่อคำว่าเปลี่ยนผ่านคือการกลับไปสู่การเลือกตั้ง ระบอบที่คิดว่าเป็นระบอบปกติของสังคมไทยใต้วงจรอุบาทว์ แต่ถ้าย้อนกลับไปไม่นานมันมีนัยมากกว่านั้น คือการเปลี่ยนผ่านคุณค่าบางอย่าง เปลี่ยนโครงสร้างสถาบันซึ่งเราเจอมาแล้วใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

ปูนเทพ กล่าวว่า คำว่าเปลี่ยนผ่านในโลกปัจจุบันคือการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตยถ้าทุกคนร่วมกันทำ เปลี่ยนจากสังคมแตกแยกสู่สังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันใต้หลักการที่ทุกคนยึดเอาไว้ด้วยกันได้ ตัวอย่างรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ยอมรับกันได้คือกรณีประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยมีความขัดแย้งระหว่างคนสองผิวสีอย่างรุนแรง เคยเป็นประเทศที่ถูกปกครองโดยคนกลุ่มน้อยคือคนผิวขาว ส่วนคนผิวดำพื้นถิ่น ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ ถูกตีกรอบ

ปูนเทพชี้ว่า เรื่องสำคัญคือ เมื่อคิดจะเปลี่ยนผ่าน ปัญหาทุกปัญหาต้องถูกยกมาอยู่บนโต๊ะเจรจา ถ้ายังมีคนถูกปิดปากอยู่การเปลี่ยนผ่านจะไปไม่ถึง ไม่มีทางที่การสร้างสังคมที่ไม่เกิดบนฐานความเป็นจริงจะมั่นคงต่อไปได้ การจัดทำรัฐธรรมนูญคือสุญญากาศทางการเมือง รัฐธรรมนูญนั้นเมื่อเป็นกติกาสูงสุดของกฎหมายแล้ว มันจะไปกำหนด จำกัด รับรองกระบวนการที่จะตามมาอีกต่อไป รวมทั้งรับเอากติกาต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเข้ามาอยู่ใต้ตัวมันเอง ดังนั้นการทำรัฐธรรมนูญควรเป็นขั้นตอนที่พูดกันได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ต้องกลัวว่าพูดอะไรแล้วจะผิดกฎหมาย แบบนั้นไม่ใช่ภาวะปกติ เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพกำหนดกติกาสูงสุด แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงออกจำนวนมากจากการใช้กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ประชามติคือตัวสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน การยกร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้แทนจากประชาชนในสภาก็เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำในบริบทสังคมเปิดที่ถกเถียงและยอมรับความเห็นต่างย่อมไม่ใช่เครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งจริงๆ

สำหรับการออกแบบรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในแนวคิดการรับรองสิทธิ ปูนเทพยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า รูปแบบหนึ่ง เช่น พอล้มหรือปรับปรุงระบอบเก่า การทำรัฐธรรมนูญที่เป็นภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย แต่พอมีกฎหมายเดิมที่ดำเนินมา นักวิชาการหรือตัวอย่างในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า เราคงจะต้องประนีประนอมกับระบบกฎหมายเก่าเอาไว้ ทำอย่างไรให้ระบบเก่าและใหม่ดำเนินไปด้วยกัน วิธีหนึ่งคือการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งตัวอย่างในต่างประเทศไม่ใช่การเอาทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากสภาพสังคมบังคับโครงสร้างต่างๆ หรือมีการรณรงค์ หาเสียงโดยพรรคการเมืองว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างที่ย้อนกลับไปหาคุณค่าทางอุดมการณ์บางอย่างว่าเราเคยอยู่ในช่วงหนึ่ง เช่น ประเทศในยุโรปตะวันออกที่คิดย้อนกลับไปหารัฐธรรมนูญสมัยก่อนที่อิงกับรากฐานของความเป็นยุโรป ก่อนที่ตัวเองจะถูกระบอบคอมมิวนิสต์ยึดกุม เขาย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อบอกว่าระบบกฎหมายของเราคือระบบกฎหมายที่เดินมาต่อเนื่องใต้ระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีหลงทางบ้างแต่คุณค่าพื้นฐานสามารถย้อนไปหารากฐานความคิดที่เป็นประชาธิปไตยได้

ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมเพราะตัวคณะรัฐประหารต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าโรดแมปที่ประกาศในรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริง รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เป็นแค่เครื่องมือตอบสนองผู้มีอำนาจไปวันๆ เช่น อยากให้มีเรื่องนี้เพิ่มก็เพิ่มเข้าไป อันไหนที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ทำได้ ก็ไปแก้ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำได้ เหมือนหนังเจ้าพ่อมาเฟีย ที่หัวหน้าถูกทุกอย่าง รัฐธรรมนูญ 2557 เป็นแค่เศษกระดาษที่รองรับความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยากให้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นไปในทิศทางที่เขาอยากให้เป็น

ถ้าใช้คำพูดว่าประชาธิปไตย มันไม่มีประชาธิปไตยไหนหรอกที่ประชาชนไม่มีอำนาจสูงสุด ในวงวิชาการมีความพยายามศึกษาประชาธิปไตยที่มีคุณศัพท์ต่างๆ เช่น ครึ่งใบ แบบตะวันตก แบบตะวันออก แน่นอนว่าประชาธิปไตยต้องปรับตามกาลเทศะ แต่ประชาธิปไตยก็มีแก่นที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการทำรัฐธรรมนูญ มันคืออุดมการณ์ดั้งเดิมที่ตีกรอบและทำลายระบอบการปกครองเก่า

รัฐธรรมนูญทุกฉบับมักจะระบุว่าสิทธิ เสรีภาพที่ประชาชนมีต้องผูกพันกับเงื่อนไขระหว่างประเทศ สิทธิในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ผูกพันทั้งพันธกรณีต่างประเทศที่ไทยไปลง และกฎหมายที่คณะรัฐประหารทำขึ้นมาเอง แต่ดูจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกิดขึ้นก็เห็นว่าเขา (คณะรัฐประหาร) ไม่ได้ใส่ใจ

ปูนเทพยกตัวอย่างกรณีประเทศไอซ์แลนด์ที่เป็นประเทศในยุโรปที่เล็กมาก ประชากรมีราว 350,000 คน ที่มีความพยายามทำรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ใช้กลไก เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากมายให้ประชาชนออกเสียงจนมีคนขนานนามว่าเป็นห้องทดลองของประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในไอซ์แลนด์เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและนำไปสู่การชุมนุมของประชาชนบนท้องถนน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยที่ไอซ์แลนด์ได้รับเอกราชออกมาจากเดนมาร์ก พรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งก็ชูนโยบายปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อหาเสียง สุดท้ายพรรคที่ชูนโยบายดังกล่าวก็ชนะ ทำให้มีกลไกผลักดันการปฏิรูปที่เป็นทางการได้แก่นักการเมือง นอกจากนั้น ประชาชนที่มาชุมนุมก็ยังไม่หยุด พวกเขาจัดตั้งขบวนการพูดคุยเกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเขาสุ่มประชาชนในประเทศทั้งหมด แล้วเลือก 1,500 คนที่เป็นตัวแทนของพลเมืองทุกกลุ่มของประเทศ เอามานั่งพูดคุยกัน จัดแถลงข่าว ทำรณรงค์ เก็บประเด็นที่เกิดขึ้นจากการถกเถียงประชาชนขึ้นมา กลุ่มที่จัดงานก็มีการอบรมคนที่จะเป็นผู้นำที่จะไปกระตุ้นให้การคุยในกลุ่มย่อยแสดงความเห็นออกมาถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ ต่อมารัฐสภาก็ออกกฎหมายมาให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสัดส่วนของสภาฯ จะมีองค์ประกอบ 25 คน ประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักหนังสือพิมพ์ ชาวสวน สื่อมวลชน พระ โดยระบบเลือกตั้งเปิดให้คนที่อยากเข้าไปนั่งในสภาฯ นำเสนอตัวเองโดยไม่ต้องอิงกับโครงสร้างการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น สภาร่างฯ ก็จะมีหน้าที่ทำร่างรัฐธรรมนูญออกมาหนึ่งฉบับ

หลังเลือกตั้งสภาฯ ศาลออกมาขวางว่าการเลือกตั้งสภาฯ เป็นโมฆะเนื่องจากมีสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ แต่ประชาชนก็ไม่เห็นด้วย เพราะสิ่งที่ศาลออกมาติงคือปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ได้เป็นผลให้เจตนารมณ์ประชาชนบิดเบือน สภาผู้แทนราษฎรจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้ง 25 คนที่เลือกมาแล้วให้เป็นกรรมาธิการแทนและให้ทำงานกับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

ปูนเทพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กรณรงค์ให้คนแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เจ้าหน้าที่เข้าไปรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อมาใช้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเรื่องนี้ไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แม้จะมีคนสนับสนุนจำนวนหนึ่งแต่ก็มีนักการเมืองบางกลุ่มในสภาที่ไม่เห็นด้วยกับกลไกการทำรัฐธรรมนูญนี้ที่่มีเนื้อหาในร่างหลายประเด็นที่เขาเห็นว่าไม่โอเค จะกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของเขา เขาก็ขวางกระบวนการเอาไว้

ไอซ์แลนด์ก็มีการทำประชามติ แต่ทำเป็นรายมาตราไม่ใช่ยกมาทั้งร่างเพราะกฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ ทุกวันนี้ไอซ์แลนด์ก็ยังไม่จบ เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้ง ที่มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญ ร่างที่ทำเสร็จแล้วก็เป็นสิ่งที่พร้อมจะถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา นานาชาติต่างก็ดูไอซ์แลนด์เป็นตัวอย่างที่จะนำไปประยุกต์ใช้

แล้วไทยจะเป็นอย่างไรต่อ ปูนเทพชี้ว่า สิ่งที่จะเจอภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 เราจะเจอสิ่งที่ไม่ปกติอย่างเป็นปกติ เราจะเจอการเรียกร้องที่เป็นเหตุเป็นผลถูกตอบโต้จากสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ใต้กฎหมายและกรอบกติกาหลายเรื่องที่วันนี้เราอาจจะไม่คิดว่ามีอยู่จริง รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกประกาศใช้ไปแล้ว หลายท่านก็ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญตัวเต็ม แต่อย่างน้อยตัวอักษรเหล่านี้จะถูกเอามาใช้กับเรา และจะยังมีกฎหมายลูกที่ สนช. จะร่างมาเพิ่มอีก

กฎหมายพรรคการเมืองจะพบว่าพรรคการเมืองนั้นก่อตั้งยากขึ้นแต่ยุบง่ายขึ้น จากเดิมที่ระบุเกณฑ์การยุบว่ามุ่งหมายโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ก็ยังมีตัวบทประหลาดๆ เพิ่มมาด้วยซึ่งจะเป็นเทคนิคที่ทำให้การรณรงค์มีอุปสรรค แต่อุปสรรคเหล่านี้จะทำให้คนเห็นว่ากลไกของรัฐธรรมนูญใหม่นั้นทุเรศอย่างไร และนั่นจะเพิ่มคนที่คิดว่าต้องเปลี่ยนแปลง

อนาคตข้างหน้า ปูนเทพชี้ว่า เราจะต้องไปสู่จุดที่เรียกร้องให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาโดยที่วิธีการอาจจะใช้ความไม่เป็นเหตุเป็นผลของระบอบที่เป็นอยู่ที่เขาทำขึ้นเอง เป็นเครื่องมือหาสมัครพรรคพวกเพิ่มเติม ประชามติสองครั้งที่ไทยเคยมีคือประชามติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่เสรีและเป็นธรรม เราอยู่ภายใต้การทำรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีโอกาสไปออกแบบนานเพียงพอแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ ในทุกขั้นตอน ทุกรายละเอียดอย่างแท้จริง อาจจะเริ่มอย่างง่ายที่สุดคือการทำประชามติเพื่ออนุมัติกลไกการทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้จะไม่ได้ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มันก็เป็นรากฐานของระบอบการปกครอง ในเมื่อประชาชนทำประชามติอนุมัติรัฐธรรมนูญได้ ก็สามารถทำสิ่งเดียวกันเพิกถอนรัฐธรรมนูญได้

ปูนเทพชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นที่กระบวนการทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่เป็นประชาธิปไตยพอว่า เรื่องรัฐธรรมนูญ 2540 มันยังไม่โอเคในกรอบที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว มันอาจจะดีที่สุดแต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะมันไม่มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ละจังหวัดมีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วให้แต่ละจังหวัดเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน แล้วเอา 10 คนไปให้รัฐสภา ณ ตอนนั้นที่ประกอบด้วย ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งและ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯ เป็นคนเลือกมา 1 คน ส่วนเชื่อมระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนจึงมีน้อยมาก กระบวนการที่ทำให้มันเป็นประชาธิปไตยมันทำได้มากกว่านั้น

ข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2560 สำหรับนักวิชาการคือมันมีตัวอย่างแย่ๆ ไว้สอนว่าการทำรัฐธรรมนูญไม่ดีทั้งกระบวนการ การลอกเนื้อหาเขามาผิดๆ อย่างที่คนร่างไม่เข้าใจจะนำไปสู่ปัญหาอย่างไร

ระบบเลือกตั้งภายใต้โครงสร้างการเมืองระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ระบบที่เขาใช้ปัจจุบันไม่เหมือนของระบบเยอรมนีที่ให้คนเลือกได้ทั้งพรรคและ ส.ส. เขต และมีการคำนวณสัดส่วนบนฐานคะแนน แต่ของไทยเป็นการกาครั้งเดียวซึ่งในเชิงหลักการจะเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของผู้ลงคะแนนเสียง เช่น ถ้าอยากเลือกพรรคการเมืองแต่ไม่อยากเลือกคนก็ทำไม่ได้ หรือถ้าอยากจะกาไม่ลงคะแนนเสียงอันใดอันหนึ่งก็ไม่ได้

พรรคเล็กที่เรามองกันทุกวันนี้คือพรรคที่เขาหวัง ส.ส. แค่ 5-20 คน แต่ภายใต้กรอบปัจจุบันมันไม่เอื้อที่จะทำให้พรรคพยายามขายนโยบายที่ไม่มีฐานทางการเมืองมาก่อนนั้นทำได้ยาก และจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้พรรคที่เพิ่งจะลงเลือกตั้งจะมีที่นั่งในสภา ความเป็นไปได้ที่จะเกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากเด็ดขาดเป็นไปได้ยาก รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่พรรคการเมืองเสียงข้างมากไม่ใช่จะเกิดบ่อยๆ ต้องดูกฎหมายเลือกตั้งก่อนว่าจะกำหนดอะไรขึ้นมาอีก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท