รายงาน: ชาวกระบี่สัญญาจะต้านแผนสร้างโรงไฟฟ้าของรัฐบาลทหารต่อไป

เจ้าหน้าที่ยังคงผลักดันนโยบายพลังงานที่ไม่สนใจผลประโยชน์และสภาพแวดล้อมท้องถิ่น แม้การประท้วงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์จะต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้เพียงชั่วคราว


หมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เสนอให้ใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

"รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ พี่น้องเขากลับไปก็พอใจแล้ว ก็ไปทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ อย่างน้อย 1 ปี หากผ่านจะได้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงปี 2566-2567" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้า คสช. กล่าวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ไม่นานหลังจากที่สัญญากับผู้ประท้วงโรงไฟฟ้าต่อต้านถ่านหิน ว่าจะระงับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว

หลังจากการประท้วงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นโดยมีตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่นเพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการ EIA และ EHIA ความต้องการพลังงานในภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลยังคงผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยแย้งว่าประเทศมีทางเลือกน้อย และต้องทำตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (พีดีพี 2015-2036) เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในภูมิภาค
 

เสียงจากชุมชนท้องถิ่น

นายสุรศักดิ์ เวียละดี อายุ 39 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านคลองราหู ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่กล่าวว่า "เป็นเรื่องตลก เราได้รับแจ้งเกี่ยวกับโครงการประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อมีการจัดให้มีการประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนและเริ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าหลังจากนั้น"

กฟผ. วางแผนว่าจะก่อสร้างท่าเรือใกล้กับหมู่บ้าน เพื่อรองรับเรือขนส่งถ่านหินมาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือประมาณห้ากิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2557 ชาวบ้านยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อคัดค้านท่าเรือดังกล่าว โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครอง พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยหลังจากชาวบ้านยื่นคำร้อง


หมู่บ้านคลองเรือ

นายอับดุลลาห์ มะโตสด อายุ 57 ปี ชาวประมงในหมู่บ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านประมาณร้อยละ 70 เป็นชาวประมงขนาดเล็ก และกังวลเรื่องการก่อสร้างท่าเรือกันมาก "โครงการนี้จะมีผลต่อชีวิตพวกเราเพราะตั้งห่างจากหมู่บ้านในระยะที่เดินถึง"

นายอับดุลลาห์เสริมว่า รายงาน EIA เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ระบุว่าน้ำหนักเรือที่ขนส่งถ่านหินจะน้อยกว่า 3,000 ตัน ทว่าภายหลัง กฟผ. เปลี่ยนน้ำหนักเรือเป็น 10,000 ตัน "เรือมีขนาดใหญ่ แต่พื้นใต้ทะเลตรงจุดที่เรือจะแล่นไปยังท่าเรือตื้นเกินกว่าจะรองรับได้ และเจ้าหน้าที่ต้องขุดพื้นใต้ทะเล ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลด้วย"

โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซแห่งเก่าของจังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านคลองเรือนัก โรงไฟฟ้าพลังก๊าซขนาด 340 เมกะวัตต์เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ที่ตำบลคลองขนาน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินการ ชาวบ้านก็ร้องเรียนเรื่องมลพิษจากโรงไฟฟ้ามาตลอด

นายไสว ใจเกลี้ยง วัย 68 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านทุ่งสกล ในตำบลเดียวกันกล่าวกับประชาไทว่า "โรงไฟฟ้าปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนลงคลองในท้องถิ่น หลายสิบปีนับตั้งแต่ที่โรงไฟฟ้ายังดำเนินการอยู่ ชาวบ้านจำนวนมากเป็นมะเร็งปอด"

“ชุมชนในท้องถิ่นจะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแน่นอน ชาวบ้านส่วนมากต่อต้านโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับรัฐบาลทหารที่สามารถใช้มาตรา 44 [ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว] เพื่อดำเนินโครงการต่อไป เราจึงไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร"

ชาวบ้านจากทั้งสองพื้นที่กล่าวว่า ไม่ว่าในกรณีใดก็จะไม่แลกวิถีชีวิตของตนกับความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าหากหน่วยงานต้องการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ชาวบ้านจะไม่คัดค้านโครงการนี้


สุรศักดิ์ แวละดี(ซ้าย) อับดุลลาห์ มะโตสด (ขวา)

การตอบสนองความต้องการด้านพลังงานจากศักยภาพในท้องถิ่น

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะว่าภาคใต้สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามแผนพีดีพี 2015-36

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการซื้อพลังงานจากมาเลเซีย อย่างไรก็ตามแผนพีดีพี 2015-36 กำหนดให้การซื้อพลังงานไม่เกินร้อยละ 10-15 ในช่วง พ.ศ. 2569 และไม่เกินร้อยละ 15-20 ในช่วง พ.ศ. 2579

กฟผ. ประกาศว่า การนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นทางเลือกสุดท้าย นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก กฟผ.กล่าวกับสื่อมวลชนว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับมาเลเซียเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อบังคับของประเทศมาเลเซีย ซึ่งแตกต่างจากกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ประเทศไทยกำลังซื้อพลังงานอยู่

เนื่องจากภาคใต้มีแสงแดดและเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด ประชาชนในจังหวัดกระบี่หลายคนกล่าวว่า รัฐบาลควรเลือกใช้พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานจากถ่านหิน

นายอธิราช ดันดี อายุ 52 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกล่าวว่า ในจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละห้าต่อปี ดังนั้นจังหวัดสามารถพึ่งพาพลังงานชีวมวลได้


ชาวประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านคลองเรือ
 

โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มจะสร้างขยะจำนวนมาก ซึ่งอาจใช้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการผลิตพลังงาน อธิราชกล่าวว่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากของเสียในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม หรือน้ำทิ้งจากการผลิตน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ประมาณ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 100-300 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปีหากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

เขากล่าวว่า ช่วงกลางปี พ.ศ. 2558 กฟผ. หยุดซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม บังคับให้ผู้ประกอบการจำนวนมากหยุดการผลิตพลังงานและบางรายล้มละลาย เนื่องจากได้ลงทุนเงินเป็นหลายล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า

เจ้าหน้าที่เชื่อว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมีปัญหาด้านความเสถียร โดยลืมไปว่าการซื้อพลังงานจากพืชเหล่านี้เป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาค เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในจังหวัดมีของเหลือทิ้งจากการผลิตได้ประมาณ 10,000 ตันทุกวัน "ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันปาล์มกล่าว "ขณะนี้เจ้าหน้าที่หยุดซื้อพลังงานจากโรงงานเหล่านี้ เจ้าของโรงงานต้องขายเปลือกเมล็ดปาล์มไปยังโรงไฟฟ้าในจังหวัดอื่นๆ"

เขากล่าวว่า กฟผ. อ้างว่าไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันที่ส่งไปยังโครงข่ายไฟฟ้าส่วนกลางไม่เสถียร ส่งผลให้ กฟผ. ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ปัญหาส่วนใหญ่มาจากสายส่งไฟฟ้าเก่าที่ต้องปรับปรุงและสัญญาซื้อระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเรื่องธรรมดาบนเกาะลันตานอกชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ ผู้ประกอบการบางรายได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตัวเองแทนการพึ่งพารัฐบาล

นางขวัญกนก กสิรวัฒน์ เจ้าของร้านขายของชำลันตามาร์ท ร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะลันตา ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาด 48 กิโลวัตต์บนหลังคาร้านเมื่อสองปีก่อน นางขวัญกนกกว่าวว่า "กฟผ. ไม่ได้สร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่นี่ ไฟจึงดับบ่อยๆ แต่ตอนนี้ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องไฟฟ้ามากนัก" "ในช่วงไฮซีซั่น จะต้องเปิดตู้เย็นทุกวันค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้ตั้งเเต่ติดแผงโซลาร์เซลล์ ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท"

นางขวัญกนกกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เพื่อนๆ เเละตัวเธอเองตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่เกาะ เนื่องจากตอนนี้เธอมีประสบการณ์แล้ว เมื่อถามว่าขวัญกนกคิดอย่างไรเรื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เธอกล่าวว่า "โรงไฟฟ้าจะนำความตายมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาะและตัวจังหวัดกระบี่ ฉันก็ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่"


ชายหาดใกล้กับพื้นที่เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือ
 

การพัฒนาจังหวัด VS การพัฒนาภาคใต้

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าเนื่องจากภาคใต้ยังคงพึ่งพากระแสไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลาง การขาดความมั่นคงด้านพลังงานจำกัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล อดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีข้อสงสัยว่าชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงต้องการอะไรจากการพัฒนา "ตามแผนงานที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอดีตผู้บริหารจังหวัดเคยวางแผนไว้ด้วยกัน กระบี่เป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รุ่งเรือง สามารถพัฒนาจังหวัดได้ในรูปแบบที่ไม่ควรละเลยสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น จังหวัดนี้อาจกลายเป็นต้นแบบที่ภาคธุรกิจดำเนินการร่วมกันเพื่อพยายามปกป้องสิ่งแวดล้อมก็ได้"

นายอมฤตเสริมว่า รัฐบาลทหารกล่าวว่า กลุ่มประชาสังคมบางกลุ่มกำลังยุให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล แต่คนส่วนใหญ่ต่างต่อต้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างจริงจังเพราะเห็นว่าโครงการขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ก็เห็นด้วยกับนายอมฤต นายกิตติชัยกล่าวกับประชาไทว่า "ผมคิดว่ารัฐบาลลืมว่าการลงทุนในพลังงานสีเขียว ก็เป็นเส้นทางสู่การพัฒนาและกระบี่ก็มีทรัพยากรสำหรับพลังงานสีเขียว"

แนวโน้มด้านพลังงานทั่วโลกในขณะนี้คือการกระจายอำนาจการผลิตพลังงาน และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปพร้อมกัน แต่รัฐบาลดูเหมือนจะทำสิ่งที่ตรงกันข้าม "ผมไม่ควรพูดมากขนาดนี้ แต่กระบี่เป็นบ้านของผมและเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านทะเลใสและชายหาด ใครจะต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกังหันความร้อนขนาดใหญ่และเรือขนาดใหญ่ที่ขนส่งถ่านหินแถวนี้"

 


โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเก่า ที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซ ที่คลองขนาน จังหวัดกระบี่

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/english/node/7437

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท