ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (5)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความไม่สมดุลของจำนวนแพทย์ในต่างจังหวัดมีผลให้ชาวต่างจังหวัดหลายคนเลือกที่จะเดินทางเข้ามารักษาในกรุงเทพ ส่งผลให้คนไข้ในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพล้นโรงพยาบาล การกระจายการบริการสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ

5. การกระจายการบริการสาธารณสุข: สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพมีคนไข้ล้นโรงพยาบาลเกิดจากการกระจายการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ละปีโรงพยาบาลรัฐมีคนไข้เฉลี่ยกว่า 400,000 ครั้ง (ผู้ป่วยบางคนพบแพทย์หลายครั้งต่อปี เช่น โรคเบาหวาน) หรือเฉลี่ยกว่า 1,100 ครั้งต่อวัน

หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศิริราช มีคนไข้มากกว่า 3.5 ล้านครั้งต่อปี หรือเฉลี่ยกว่า 9,500 ครั้งต่อวัน

ในจำนวนคนไข้เหล่านี้แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องอยู่ค้างโรงพยาบาล) กว่าร้อยละ 90 ขณะที่ผู้ป่วยใน (นอนค้างโรงพยาบาล) มีน้อยกว่าร้อยละ 10

ดังนั้นความแออัดของโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้นจากผู้ป่วยนอกเป็นหลัก ผู้ป่วยนอกหลายคนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง พวกเขาต้องพบแพทย์บ่อยครั้ง ส่งผลให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ผู้ป่วยนอกมีความยุ่งยากในการรักษาน้อยกว่าผู้ป่วยใน แต่ชาวต่างจังหวัดหลายคนเลือกที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพ

- ต่างจังหวัด: มีสถานีอนามัยกระจายทุกตำบล หลายแห่งได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้สร้างมาเพื่อรองรับผู้ป่วยนอกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์, งบประมาณ และเครื่องมือแพทย์มีผลให้การรักษาในสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ชาวต่างจังหวัดหลายคนจึงเลือกที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในกรุงเทพ

- กรุงเทพ: ไม่มีสถานีอนามัย-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐแทน

ดังนั้นการแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลจึงไม่ใช่การสร้าง-ขยายโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่เป็นการกระจายการรักษาผู้ป่วยนอกไปที่สถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็ก

- ต่างจังหวัด: รัฐควรพัฒนาคุณภาพของสถานีอนามัย-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อรองรับผู้ป่วยนอก หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงอาจให้พักรักษาในสถาบริการสาธารณสุขเหล่านี้ 1-3 วัน หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจึงจะส่งตัวเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ

- กรุงเทพ: รัฐควรสร้างโพลีคลินิก (ไม่มีเตียงคนไข้) กระจายทั่วกรุงเทพเพื่อรองรับผู้ป่วยนอก หากผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจึงจะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ

ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมามีการตั้งศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกเพื่อสร้างแพทย์ชั้นคลินิกรองรับผู้ป่วยนอกโดยเฉพาะ แนวทางนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้รัฐควรสร้างฐานข้อมูลประวัติคนไข้แห่งชาติเพื่อเก็บข้อมูลคนไข้ทั้งประเทศเป็นศูนย์เดียวเพื่อให้การส่งต่อการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หากรัฐลดขนาดกองทัพที่ไม่จำเป็นจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี รัฐจะมีงบประมาณมากพอที่จะสร้างโครงข่ายสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท