เปิดงานวิจัยศึกษา กปปส.-พันธมิตรฯ และ ‘การเมืองคนดี’

อภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับ กปปส.(และ พธม.) ว่าพวกเขาคือใคร มีความคิดทางการเมืองอย่างไร ปฏิบัติการทางการเมืองเป็นอย่างไร ด้านผาสุก-เกษียร วิจารณ์งานยังไม่ลึกพอ ขาดมิติประวัติศาสตร์ มีปัญหาการนิยาม “คนชั้นกลาง” และอธิบายรากฐานแนวคิดราชาชาตินิยมที่อิงกับศีลธรรมยังไม่ชัด-ใหม่พอ


แฟ้มภาพ 2 ก.พ. 2557

15 ธ.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ “การเมืองคนดี”: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” โดยนำเสนอข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัย จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.

อภิชาต สถิตนิรามัย หัวหน้าโครงการวิจัยให้ข้อมูลว่า โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยคณะวิจัยใช้เวลาดำเนินการราว 2 ปีกว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และโดยเฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีอาจารย์ที่ร่วมทำวิจัยในหัวข้อย่อยต่างๆ รวม 7 ประเด็นที่มานำเสนอในวันนี้และมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นและวิจารณ์งานดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีการนำข้อเสนอแนะกลับไปปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป อาจเป็นในรูปแบบของบทความหรือหนังสือ ทั้งนี้ อภิชาตเคยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชุดทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อปี 2556

ประชาไทเก็บความการนำเสนอสรุปภาพรวมโครงการและคำวิจารณ์ในภาพรวม โดยผู้นำเสนอคือ อภิชาต สถิตนิรามัย และ อนุสรณ์ อุณโณ ส่วนผู้วิจารณ์คือ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และเกษียร เตชะพีระ ส่วนข้อเสนอในประเด็นหัวข้อย่อยต่างๆ จะรวบรวมนำเสนอในตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ความคิดและปฏิบัติการ “การเมืองคนดี” ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ, การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย, อัตลักษณ์คนดีและความรุนแรง การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน, ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน, อุดมการณ์และปัญญาชน “คนดี” จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น -กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส.
 

อภิชาต-อนุสรณ์: เขาคือใคร ทำไมยอมรับเผด็จการได้

อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้มีโจทย์หลักที่อยากรู้ 3 เรื่องคือ 1.ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยคือใคร 2.พวกเขามีความคิดและจินตนาการทางการเมืองอย่างไร 3.มันแปรไปสู่แอคชั่นทางการเมืองอะไรบ้าง

ยืนยัน ความขัดแย้งเหลือง-แดง เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น
คำถามว่าเขาคือใคร พบว่าผู้เข้าร่วม พธม.-กปปส. มีทั้งชนชั้นกลางระดับบนและชนชั้นกลางระดับล่าง ในทางอัตลักษณ์มีทั้งเชิงชาติพันธุ์คือความเป็นลูกจีน เชิงภูมิภาคคือความเป็นคนใต้ เชิงอุดมการณ์คือเขานิยามตัวเองว่าเป็นประชาชนของพระราชา, มวลชนใต้ร่มพระบารมี, และเป็นคนดี ในแง่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขามีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจสูงกว่า [คนเสื้อแดง] เป็นพนักงานของรัฐ ทำงานในรัฐวิสาหกิจมากกว่า มีอาชีพที่มั่นคงกว่า จำนวนมากเป็นคนชั้นกลางระดับบนแต่ก็มีชนชั้นกลางระดับล่างประกอบด้วย การแตกเป็นชนชั้นกลางบนและล่างเริ่มตั้งแต่ในสมัยปลายยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ คนชั้นกลางระดับล่างมีประมาณ 36 ล้านคน คนชั้นกลางระดับบนมีประมาณ 14 ล้านคน

“ไม่ได้หมายความว่า คนชั้นกลางบนต้องเหลืองเท่านั้น คนชั้นกลางล่างต้องเป็นแดงเท่านั้น แต่หมายความว่าการแตกตัวทางชนชั้นมันเป็นฐานของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน...ในแง่นี้มันจึงถกเถียงได้ว่า ถ้าประกอบด้วยทั้งกลางบนและกลางล่างก็ไม่อาจบอกว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นหรือเปล่าเพราะมีทั้งสองในขบวนเดียวกัน ถ้าจะพูดว่าเป็น cross-class movement (ขบวนการต่อสู้ข้ามชนชั้น) ต้องยืนยันในเชิงปริมาณด้วยว่า ขบวนการนี้ไม่ได้มีชนชั้นกลางระดับบนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ และในแง่หนึ่งเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องหลักทางการเมืองของขบวนการในการรื้อฟื้นระเบียบทางการเมืองสังคมแบบช่วงชั้นขึ้นมาใหม่ คนที่ได้ประโยชน์หลักก็คือชนชั้นกลางระดับบน ไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับล่าง ดังนั้น เราจึงยังยืนยันอยู่ว่า ความขัดแย้งเหลืองกับแดงมันมีความขัดแย้งลักษณะชนชั้นแฝงอยู่ แต่แน่นอน การเคลื่อนไหวระดับชาติย่อมจะประกอบด้วยคนหลายชนชั้น”
 

ลูกจีนกู้ชาติ สู่ คนใต้รักในหลวง
อนุสรณ์ อุณโณ อธิบายว่าเขาคือใครในมุมอัตลักษณ์ว่า ในยุค พธม.สัดส่วนผู้เข้าร่วมตอนต้นจะมีคนเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ แกนนำอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยโดยอาศัยความสัมพันธ์ด้านชาติพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในปี 2551 แทนที่จะเป็น “เราจะสู้เพื่อในหลวง” มันกลับพัฒนาเป็น “ลูกจีนกู้ชาติ” การเลือกหยิบชูอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะในอดีตมันเป็นแต่เพียงเรื่องวัฒนธรรม แต่สนธิทำให้ “ลูกจีน” มีพลังเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรก พอมาถึงยุค กปปส. อัตลักษณ์นี้ถดถอยไป เพราะสัดส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมจากการสำรวจเบื้องต้นของมูลนิธิเอเชียพบว่า 50% มีภูมิลำเนาจากกรุงเทพฯ อีก 50% มาจากต่างจังหวัด และในจำนวนของคนต่างจังหวัดนั้น 70% มาจากภาคใต้ อย่างไรก็ดี อัตลักษณ์คนใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญเช่นกัน เดิมเรามักเชื่อว่าคนใต้มีลักษณะท้องถิ่นนิยม แต่กรณีคนใต้ที่ขึ้นมาร่วม กปปส. กลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ชาติที่แข็งขัน เป็นการขยายความหมายใหม่แล้วผนวกสิ่งอื่นเข้าไว้นั่นคือ “คนใต้รักในหลวง” จากที่อัตลักษณ์เดิมเป็นเพียงเรื่องบุคลิกภาพ เช่น รักพวกพ้อง นักเลง ช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มมีกลิ่นอายของอุดมการณ์ เกิดการควบกล้ำอัตลักษณ์หรือเป็นอัตลักษณ์ที่ครอบได้หมดกับการเป็นประชาชนของพระราชา

อัตลักษณ์อีกอันหนึ่งคือ การเป็นคนดี เรื่องนี้โดดเด่นมาก มีการให้ความหมายว่าตัวเองว่าเป็นคนดีในหลากระดับทั้งแบบไม่ต้องอิงกับสิ่งใด, อิงกับความจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์, อิงกับความเชื่อโดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาท นอกเหนือจากนั้นยังมีการแปลงร่างเป็นคนดีด้วย เช่นกรณีสุเทพ เทือกสุบรรณ จากที่เคยเป็นนักการเมืองที่คนรู้ดีว่าเป็นอย่างไร เขาแปลงร่างเป็น “ลุงกำนัน” แล้วสามารถมัดใจคนในท้องถิ่นได้

ประชาธิปไตยไม่เน้นตรวจสอบถ่วงดุล เน้นคนดีปกครองคนไม่ดี
อภิชาต ตอบคำถามที่สองเรื่องจินตนาการทางการเมืองว่า จากแบบสำรวจที่ทำมาพบว่ามีหลายตัวแปรที่จะช่วยอธิบายความไม่ยึดมั่นในประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง เช่น ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่, การมีลักษณะที่เป็นอำนาจนิยมเพราะเลือกหน้าที่มากกว่าสิทธิ และการรู้สึกว่าระเบียบทางสังคมที่เขายึดมั่นถูกสั่นคลอน รวมไปถึงแบบแผนวิถีชีวิต ถ้าใช้ชีวิตแบบค่อนข้างหรูหราหน่อยก็สอดคล้องกับคำตอบที่ไม่ค่อยยึดมั่นในประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าระบบเผด็จการก็ดีในบางเวลา

อภิชาตขยายความว่า คนที่มีไลฟ์สไตล์ระดับบน การศึกษาค่อนข้างสูงทำไมรู้สึกตัวเองไม่มั่นคงในปัจจุบันและในอนาคต เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา คนชั้นกลางระดับบนมีการเปลี่ยนแปลงรายได้ช้ากว่าชนชั้นกลางระดับล่าง ขณะเดียวกันคนที่รวยที่สุด 1% รายได้ก็เพิ่มสูงมากๆ คนชั้นกลางระดับบนจึงรู้สึกไม่มั่นคงเพราะถูกข้างหลังไล่กวดมา ขณะที่มองไปข้างหน้าก็ไม่มีทางตามทัน ปัจจุบันชัยภูมิความได้เปรียบของเขาถูกข้างหลังไล่มาเรื่อยๆ สิ่งนี้อธิบายว่าทำไมเขาจึงไม่ยึดมั่นในประชาธิปไตย เพราะบางครั้งเผด็จการอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

“การไม่ยึดมั่นกับประชาธิปไตย โอนอ่อนกับอำนาจนิยม มันมาจากรากฐานความคิดของสังคมไทยที่เป็นสังคมช่วงชั้นแบบอินทรียภาพ การเน้นการทำหน้าที่ของตัวเองให้สอดคล้องกับหน่วยอื่นในสังคม รู้จักที่ต่ำที่สูงตามอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมช่วงชั้น เป็นการปฏิเสธทั้งอิสรภาพและความเท่าเทียมกันของปัจเจกชน หน้าที่จึงต้องมาก่อนสิทธิ ฉะนั้น สังคมช่วงชั้นมันแบ่งตามอำนาจแบบบุญบารมี ซึ่งอำนาจเช่นนั้นไม่ต้องน่ากลัวหรืออันตรายเสมอไป อำนาจผูกติดกับบุคคล ไม่ได้ผูกกับตำแหน่งสาธารณะ อำนาจจึงเป็นเรื่องความถูกต้องและมีศีลธรรมโดยตัวมันเอง นั่นทำให้กติกาทางการเมืองของการเมืองคนดีมีระบบการตรวจสอบทางการเมืองที่แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เน้นการแยกอำนาจ เช็คแอนด์บาลานซ์ เพราะคอนเซ็ปต์แบบฝรั่ง อำนาจเป็นเรื่องน่ากลัวจึงต้องตรวจสอบและถ่วงดุล แต่ของไทยอำนาจไม่จำเป็นต้องน่ากลัว จึงกลายเป็นว่าการตรวจสอบและคานอำนาจไม่จำเป็น ระเบียบการเมืองของพวกเขาจึงคือการให้คนดีมีศีลธรรมถืออำนาจปกครองผู้ที่ด้อยศีลธรรมกว่า ตามพระบรมราโชวาทปี 2515 ที่เรารู้จักกันดี ... ดังนั้น การเมืองคนดีในแง่กติกา มันจึงนับเป็นกติกาการเมืองทางวัฒนธรรมของคนชั้นกลางตามลำดับช่วงชั้นของความดีที่ไม่เท่ากัน เสียงส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินทางการเมือง คนดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร การเมืองคนดีก็คือการทวงคืนคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมของจารีตนิยม” อภิชาตกล่าว

ต้องค้นหาอำนาจแบบใหม่ ไม่ผูกกับบุญบารมี
อนุสรณ์ กล่าวถึงคำถามว่าพวกเขาแปรความคิดทางการเมืองดังกล่าวเป็นแอคชั่นทางการเมืองอย่างไรว่า การศึกษานี้ครอบคลุมทั้ง พธม.และ กปปส. ข้อเรียกร้อง พธม.คือ ขจัดระบอบทักษิณที่โกงกินขายชาติ แต่ก็เปลี่ยนไปในช่วง กปปส.โดยจะเห็นว่าแม้ พธม.จะพูดถึงการไม่จงรักภักดี แต่ กปปส.ค่อนข้างแหลมคมกว่า หลายคนตัดสินใจเข้าร่วม กปปส.เพราะต้องการกำจัด “พวกล้มเจ้า เผาเมือง” ซึ่งมีนัยความรุนแรงในเชิงสัญญะ ความรุนแรงที่เราทำกับสรรพสิ่งในรูปของความรู้ก็เป็นความรุนแรงแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ความรุนแรงที่เกิดจากการสร้างอัตลักษณ์ของคนดี มันสร้างภาพของคนเลว คนชั่ว สัตว์ร้าย ขึ้นมาในเวลาเดียวกันและคนพวกนี้สมควรขจัดไม่ว่าวิธีไหน

“ที่เราพูดมาทั้งหมดเป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม สิ่งที่ยังไม่ได้คิดมากคือ political culture ทำให้ต้องกลับไปหาการศึกษาอำนาจหรือการเมืองตามแนวทางมานุษยวิทยาที่ถูกละเลยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในการศึกษาการเมืองหรืออำนาจ ตามแนวทางมานุษยวิทยาจะไปดูว่าแต่ละสังคมวัฒนธรรมมีคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจอะไร และคอนเซ็ปต์นั้นมันไปสัมพันธ์กับกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและการจัดองค์กรทางการเมืองอย่างไร กรณีเช่นนี้ใช้ในสังคมบุพกาลหรือสังคมจารีต อาจเห็นไม่ชัดในสังคมสมัยใหม่ แต่บังเอิญสังคมไทยยังสามารถเอาวิธีการศึกษาแบบจารีต แบบประเพณีมาใช้ได้ ในสังคมประเพณีเวลาพูดถึงอำนาจมันไม่ได้ดีเสมอไป การศึกษาแถบปาปัวนิวกินีพบว่าคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจไม่ชัด สามารถอยู่ได้ในสิ่งนู้นสิ่งนี้ คนมีอำนาจไม่ถูกไว้ใจ จำเป็นต้องปกๆ ปิดๆ ประเด็นคือ ถ้าอยากจะต่อสู้กับปัญหานี้ เราอาจต้องไปคุยคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจในสังคมไทยแบบใหม่ อำนาจแบบไหนในสังคมไทยที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับบุญบารมี ที่พอจะหยิบขึ้นมาสู้ได้กับอำนาจที่ผูกติดกับบุญบารมีซึ่งมีกษัตริย์อยู่บนยอด” อนุสรณ์กล่าว 

ผาสุก-เกษียร วิจารณ์งานวิจัย

หลังการนำเสนอของคณะวิจัย เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์งานวิจัยดังกล่าวว่า หลายปีก่อนได้อ่านงานวิจัยชุดทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เมื่ออ่านงานนี้พบว่าทำได้ไม่ดีเท่าชุดนั้น ไม่ตื่นเต้น ไม่ชัดเจน ไม่สรุปคำตอบอย่างมีพลังเหมือนชุดนั้น ถามว่าทำไมรู้สึกแบบนั้น เป็นเพราะชุดเดิมเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการทำมาก่อนอย่างเป็นระบบ พื้นที่ที่สำรวจวิจัยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครสำรวจมาก่อนในเรื่องฐานของเสื้อแดง และเนื่องจากคนวิจัยอยากหาคำตอบจึงได้คำตอบที่ไม่ว่าจะถูกหรือผิดมันอธิบายได้ชัดพอสมควรว่าเสื้อแดงเกิดมาอย่างไร แต่กรณีของเสื้อเหลืองมันไม่ใช่พื้นที่ที่ไม่เคยมีใครสำรวจ จริงๆ แนวคิดแบบเสื้อเหลืองถูกศึกษามาเยอะแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่คาดหวังจากการวิจัยคือความลึกยิ่งขึ้น แต่กลับไม่เจอ มันเพียงพยายามเอาความรู้เหล่านั้นจำนวนหนึ่งมาอัพเดทปรากฏการณ์เสื้อเหลือง และใช้อธิบายได้บางส่วน บางส่วนอธิบายไม่ได้ นอกจากนี้งานวิจัยย่อยแต่ละชิ้นก็ไม่เสมอกัน บางชิ้นชัดบางชิ้นไม่ชัด

“สิ่งที่ผู้วิจัยสรุปมา พูดในภาษาผม เรื่องนี้เราเห็นมาแล้ว เราอยู่กับมันมาทั้งชีวิต” เกษียรกล่าว

ขาดการรีวิวหลายงานสำคัญ
เกษียรกล่าวว่า ในฐานะบทสรุปทั้งโครงการ ต้องเริ่มจากบทสำรวรจทฤษฎีในเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตย ความคิดเรื่องศาสนาพุทธ เรื่องอัตลักษณ์ แต่บทสำรวจสามชุดนี้แปลกมาก มันครอบคลุมไม่เท่ากัน คุณภาพก็ไม่เท่ากัน จึงเหมือนคนเขียน “ไม่ได้คุยกัน”

การศึกษาเรื่องคนชั้นกลาง มีแต่เรื่อง modernization theory โดยไม่พูดถึงทฤษฎีสังคมนิยมเลย ทั้งที่มันมีงานอีกมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการพูดถึง และดูเหมือนยังคิดไม่ตกในเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นกับอุดมการณ์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องศาสนาพยายามอธิบายเจาะลึกและเชื่อมโยงว่าการเมืองคนดีมีฐานจากศาสนา แต่ตนเองกลับคิดว่าเงื่อนไขของการเป็นคนดีแบบ กปปส.ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้เพราะการทรุดถอยของศาสนา ไม่ใช่เกิดเพราะเขาอินกับศาสนา ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือ ธรรมาวิทยาของพลเมืองแบบนิยมกษัตริย์

“อาจารย์เบน (เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน) เคยเสนอไว้ว่า สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ทำหน้าที่ผู้มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ สถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ทำหน้าที่สถาบันสงฆ์ ในแง่ประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมของอำนาจต่างๆ เป็นที่สถิตย์ของ virtue (คุณธรรม) เป็นแหล่งอบรม public morality (ศีลธรรมสาธารณะ) ผมเสนอให้ท่านเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่แล้วมานั่งอ่าน ตลอดชีวิตท่านพูดเรื่องเดียว public virtue/public morality สิ่งที่ท่านพูดคือกิจการส่วนร่วมของบ้านเมือง ควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ช่วงเวลาอันยาวนานตลอดรัชกาลสถาบันสงฆ์พูดแต่ private morality (ศีลธรรมส่วนตน) สถาบันที่ผลิต public morality มากที่สุดคือ สถาบันกษัตริย์ ในความหมายนี้มัน make sense กว่าที่จะคิดถึงมันในแง่ที่ว่า เป็นกษัตริย์นิยมแบบศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 โดยการแสดงบทบาทที่เฉพาะเจาะจงมากของกษัตริย์พระองค์นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า tradition (จารีต) โมเม้นต์สำคัญคือการที่เอา tradition ขึ้นมา re-intergrade activate mobilize เขาดึงเอาอันนั้นมาขับเคลื่อนอย่างไร ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญ มากกว่าจะไปสำรวจดิ่งลึกลงไปในฐานศาสนา”

เรื่องอัตลักษณ์ มีงานในเมืองไทยจำนวนหนึ่งที่พยายามเข้าใจอัตลักษณ์ความเป็นไทยหรือความเป็นชาติ ผมคิดถึง Siam Mapped ของธงชัย (วินิจจะกูล) ฯลฯ แต่คณะวิจัยกลับไม่ใช้ราวกับไม่ได้สำรวจวรรณกรรมในเรื่องที่ต้องทำ

ส่วนประเด็นข้อสรุปว่า “คนชั้นกลาง” คือใคร คิดว่ามีปัญหาตรงที่ไม่ดูประวัติศาสตร์ พยายามจะสรุปจุดยืนทางการเมืองของพวกเขาโดยไม่ดูความเป็นมาในจังหวะสำคัญๆ ของคนชั้นกลาง นอกจากนี้พระราชอำนาจนำเป็นสิ่งต้องสร้าง การสร้างพระราชอำนาจนำเป็นเรื่องประวัติศาตร์ ต้องกลับไปยังจังหวะที่สร้าง ไม่ใช่ทำราวกับว่ามันมีอยู่แล้วของมันเอง และทำไมมันเวิร์คกับคนกลุ่มนี้ ส่วนข้อสรุปของงานวิจัยที่ว่าชนชั้นกลางไทยเป็นอำนาจนิยม ไม่รู้สึกว่าเป็นข้อสรุปที่โน้มน้าวให้เชื่อได้
“ผมกลับสรุปว่า คนชั้นกลางไทยเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ ทั้งกับเผด็จการและประชาธิปไตย”

ขาดภาพรวมตั้งแต่ 2540
ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองวิจารณ์งานวิจัยว่า เห็นด้วยกับคณะวิจัยว่าทฤษฎี modernization (การทำให้เป็นสมัยใหม่) ใช้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ เพราะรากฐานทฤษฎีมาจากเศรษฐกิจสังคมการเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว ฉะนั้น เวลานักวิเคราะห์พูดถึงระบบการศึกษาของคนชั้นกลางที่ต้องมีความอดทนอดกลั้นและชอบประชาธิปไตยมันจึงพบว่าที่นี่ต่างไป

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัญหาเล็กน้อยในการอ่านงานนี้เพราะไม่เห็นบริบทของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้ที่เข้าใจต้องยังจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้แม่นยำ แต่หากเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ค่อยได้อ่านอะไรเกี่ยวเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะนึกไม่ออกว่าพูดถึงสิ่งใด นอกจากนี้ยังไม่เห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2540 และการขึ้นมาของพรรคเพื่อไทยซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอย่างสำคัญให้เกิดอัตลักษณ์แบบใหม่ การขึ้นมาของการเมืองคนดี ราชาชาตินิยมที่เผยตัวอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนในทศวรรษ 2550

ผาสุกระบุอีกว่า ปัญหาอีกประการคือ นักวิจัยพยายามแยกการวิเคราะห์การเมืองอัตลักษณ์กับการเมืองชนชั้นออกจากกัน ทั้งที่น่าจะเอามารวมกัน โดยมองว่ามันเป็นปฏิกิริยาของการเมืองอัตลักษณ์ของอีสานและการเมืองว่าด้วยเรื่องชนชั้นของอีสานที่ได้ก่อตัวขึ้นมาจนเป็นภาพที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน มาจนถึงพรรคของทักษิณได้อยู่ถึง 4 ปีและได้รับเลือกตั้งครั้งที่สอง สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากอีกฟากหนึ่งซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้และมีอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองแตกต่างอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความแตกต่างทั้งในประวัติศาสตร์ความเป็นมา การตั้งถิ่นฐาน การโยงกับราชาชาตินิยม ศาสนาพุทธ สิ่งเหล่านี้แม้มีอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้วแต่ไม่ได้เปิดเผยตัวชัดเจน กระทั่งพบกับความท้าทายของอัตลักษณ์คนอีสานและชนชั้นของคนอีสานที่พุ่งขึ้นมากับการเมือง popular politics หลัง 2540

“การสร้างภาพรวมแบบนี้มันยากมากแต่น่าจะต้องเขียนถึงการปะทะประสานกันระหว่างอุดมการณ์สองอันนี้ เหมือนช้างชนกันเลยในทศวรรษ 2550” ผาสุกกล่าว

ส่วนที่ผาสุกรู้สึกชื่นชอบในงานวิจัยคือ การศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และการขีดเส้นใต้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ถ้าเอามาประกอบกับเรื่องชนชั้นเพื่อวิเคราะห์ไปด้วยกัน น่าจะทำให้เราเข้าใจถึงการที่ทั้งสองฟากมีระดับรายได้ตั้งแต่สูงถึงต่ำ เพราะอัตลักษณ์นั้นข้ามเรื่องชนชั้น (cut across) แต่การเมืองเรื่องชนชั้นนั้นไม่ถึงกับเคลียร์คัท และการวิเคราะห์อัตลักษณ์ก็ต้องโยงกับการพุ่งขึ้นมาของการเมืองของทักษิณโดยจะเลี่ยงการพูดเรื่องนี้ไม่ได้

“คำถามคือ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในแง่กระบวนการ จะมีการสานต่อกันไปไหน ปรากฏการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองมันเป็นเรื่องเฉพาะในแง่ของ timing หรือเปล่า แต่ผาสุกคิดดูแล้ว ถ้าเป็น timing ก็จะตอบว่ามันคงอยู่ได้ไม่นาน แต่กำลังสงสัยว่ามันจะไม่หายไป มันเป็นตัวแสดงของสิ่งที่คล้ายๆ กับที่มันมีอยู่แต่ไม่ได้เปิดเผยตัว จนกระทั่งมันถูกท้าทาย และเมื่อมันเปิดเผยตัวแล้วมันคงไม่หายไป อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าตกใจอยู่” ผาสุกกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท