Skip to main content
sharethis
พระองค์ภาฯ เสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ 'การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน'  - นักวิชาการเสนอกำหนดโทษอาญาให้เหมาะกับฐานความผิด แก้ปัญหาคุกล้น - คืนคนดีสู่สังคม

18 ธ.ค.2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สนง.กสม. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จัดโครงการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน”โดยวโรกาสนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  เสด็จมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กราบทูลถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจับกุมขังบุคคล ซึ่งมีผลให้บุคคลสูญเสียสิทธิในการเดินทางอย่างอิสระเสรี อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง โดยที่กระบวนการดังกล่าวต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และมิอาจกระทำได้โดยพลการตามหลักของกฎบัตรสากล รวมไปถึง “โทษประหารชีวิต”  อันเป็นสิทธิในชีวิต “ที่ไม่อาจลดทอน” หรือเป็น “สิทธิที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้” (Non-Derogable Rights) ด้วย

ประธาน กสม. ระบุอีกว่า ปัจจุบันการอำนวยความยุติธรรมในการลงโทษทางอาญาของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ควรแก่การสำรวจความเคลื่อนไหวว่า มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด เช่น การที่จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของไทยที่ยังคงมีจำนวนมากติดอันดับกลุ่มประเทศ 1 ใน 4 ของโลกที่กฎหมายยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีกรณีการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาในคดีอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคดียาเสพติดที่ให้โทษมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งชาวไทยและฝรั่งเศส เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงโทษทางอาญารัฐบาลต่อไป

ในงานสัมมนา มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” โดย กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อดำเนินการกับพฤติกรรมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งโยงไปถึงการลงโทษทางอาญาอันเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล การใช้โทษทางอาญามีข้อสังเกตและข้อควรระวังสำคัญ เช่น กฎหมายอาญามิใช่ทางเลือกเดียวในการใช้บังคับกำกับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่เมื่อเลือกนำมาใช้แล้ว รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้กับความผิดร้ายแรงเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิในชีวิตของบุคคล อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศไทยจะใช้มาตรการทางอาญามากแล้ว ยังนิยมการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินสมควรเพื่อสังคมสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชน สวนทางกับข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ความรุนแรงของการลงโทษไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมเท่ากับความแน่นอนของการลงโทษแต่อย่างใด ทั้งนี้ตนเห็นว่าทางเลือกในการกำกับพฤติกรรมคนยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้มาตรการทางปกครอง การใช้มาตรการคุมประพฤติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้สำนึก มีโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตัวเอง โดยที่ไม่หวนมากระทำผิดซ้ำเพราะไร้หนทางอีก

ปกป้อง ศรีสนิท รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษในประเด็นดังกล่าว สรุปว่า โทษทางอาญาของไทยควรพัฒนาไปสู่แนวคิดการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสัดส่วนความผิดในแต่ละฐาน โดยใช้เกณฑ์การแบ่งอาชญากรออกเป็น อาชญากรใหญ่ หรือตัวการที่สร้างผลกระทบต่อรัฐ และอาชญากรเล็กที่สร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายมากกว่ารัฐ โดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัย (พฤติการณ์ของความผิด) และเหตุอัตวิสัย (ลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความผิด) ในการลงโทษควบคู่กัน เนื่องจากที่ผ่านมาศาลไทยมีแนวทางการพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัยเท่านั้น เช่น ในคดียาเสพติดซึ่งผู้กระทำผิดประกอบด้วยผู้มีบทบาทหลายส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ขายรายใหญ่ ผู้ขายรายย่อย หรือ ผู้เสพ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทต่างกันแล้ว ยังมีความต่างกันด้านสถานะทางสังคมด้วย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดทุกคนเท่ากันจากพฤติการณ์ของความผิดเช่นเดียวกัน เช่น ดูจากจำนวนยาเสพติดที่ครอบครอง ย่อมทำให้ผู้กระทำผิดทุกราย ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ไม่มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูแก้ไข นำไปสู่ปัญหาปริมาณนักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก คิดเป็นจำนวนผู้ต้องขัง 445 คน ต่อ  ประชากร 100,000 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ทั้งนี้ ตนเสนอให้ในการทำสำนวนสอบสวนมีการสืบเหตุอัตวิสัย เช่น ประวัติ สถานะเศรษฐกิจ และที่มาแห่งการกระทำผิดเพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตัวการสำคัญหรือตัวประกอบแห่งความผิด เพื่อสร้างการลงโทษที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่เน้นให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสฟื้นฟูแก้ไขตนและกลับเป็นคนดีของสังคมต่อไป

สนง.กสม. ระบุว่า ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการอภิปราย เรื่อง “มุมมองจากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมต่อโทษประหาร”  โดยผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมไทยและต่างประเทศ สรุปว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบอาเซียน ที่ยังคงโทษประหารชีวิต แต่ไม่มีการบังคับใช้โทษประหารแล้วมาเป็นเวลา 8 ปี หากครบ 10 ปี ก็จะถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ยังคงเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต แต่มีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วยกับโทษประหารมากขึ้น เมื่อได้รับทราบข้อมูลเรื่องสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า การประหารชีวิตนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อการลดจำนวนอาชญากรรม แต่การคงโทษประหารชีวิตกลับเป็นสิ่งเร้าไปสู่ความรุนแรงในการก่ออาชญากรรม เช่น การที่อาชญากรตัดสินใจฆ่าเหยื่อทิ้งเพื่อป้องกันการถูกซักทอดความผิดอันนำไปสู่การรับโทษประหาร นอกจากนี้ยังพบว่า อาชญากรมักมีพื้นฐานมาจากความยากจน ซึ่งความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางสังคมนี้ เป็นสาเหตุหลักของการก่ออาชญากรรมที่สังคมควรร่วมกันแก้ไขมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการประหารชีวิต

สนง.กสม. ยังระบุด้วยว่า ในงานดังกล่าว ยังมีการนำเสนอวีดิทัศน์การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องโทษประหารในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งการอภิปราย เรื่อง “มุมมองจากศาสนิกต่อโทษประหาร” โดยผู้แทนศาสนาต่างๆ ซึ่งสรุปได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาต่างเห็นว่าชีวิตมนุษย์คือสิ่งมีค่า และควรได้รับการพัฒนา อย่างไรก็ดีบางศาสนายังมีหลักที่อิงกับกระบวนการยุติธรรมให้มีการประหารชีวิตในความผิดร้ายแรงได้ แต่การลงโทษประหารนั้นจะต้องได้รับการพิสูจน์ความผิดที่แน่ชัดเสียก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net