Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นักต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคเอกชนท่านหนึ่งแถลงข่าวว่าน่ายินดีที่จากการสำรวจของสำนักโพลแห่งหนึ่ง คนไทยจำนวนมากขึ้นแสดงความรังเกียจการคอร์รัปชั่นในแบบสอบถาม ซ้ำพร้อมจะให้ความร่วมมือในการแจ้งข่าวความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินสาธารณะด้วย นักลงทุนต่างประเทศบอกแก่ท่านว่า หน่วยงานราชการที่เรียกเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชาจากนักลงทุนลดลงนิดหน่อย

ท่านจึงคิดว่า มีท่าทีว่าคอร์รัปชั่นอาจกำลังเสื่อมสูญลงในเมืองไทย

ผมขอพูดตรงๆ ว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ตราบเท่าที่เมืองไทยยังรักษาระบอบเผด็จการไว้ โดยเปิดเผยหรือโดยจำแลงก็ตาม เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นนั้น ทำได้สำเร็จในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ตัวเลขขององค์กรความโปร่งใสก็ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ 2517 คนอื่นมีทรรศนะ (perception) ว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นสูงทั้งนั้น คืออยู่ในระดับเกินร้อยหรือใกล้ร้อยติดต่อกัน

ไม่มีระบอบเผด็จการที่ไหนหรอกครับที่ปราบคอร์รัปชั่นได้ บางคนอาจคิดถึงสีจิ้นผิงแห่งจีน ผมก็อยากเตือนแต่ว่าข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นและการปราบคอร์รัปชั่นในเมืองจีนยังไม่ได้เผยออกมาให้เห็นได้บริบูรณ์ คงอีกหลายปีกว่าเราจะประเมินได้ใกล้เคียงความเป็นจริงหน่อยว่า คอร์รัปชั่นในจีนช่วงนี้ถูกปราบลงจริงหรือไม่

โดยส่วนตัว ผมระแวงการปราบคอร์รัปชั่นของเผด็จการในช่วงแย่งอำนาจกันอย่างยิ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้ในปัจจุบันว่าเขาปราบคนโกง หรือปราบศัตรู (ซึ่งก็อาจโกงจริง แต่มองข้ามคนโกงในฝ่ายเดียวกัน) กันแน่

คอร์รัปชั่นในสังคมปัจจุบันอาจแบ่งออกได้เป็นสามชนิด คือการนำเอาทรัพย์สาธารณะไปเป็นของส่วนตัวหนึ่ง การนำเอาการบริการสาธารณะไปขายหรือให้ด้วยเกณฑ์ความสัมพันธ์ส่วนตัวหนึ่ง และชนิดที่สามซึ่งผมคิดว่าน่าจะนับรวมอยู่ด้วยคือ การกระทำหรือไม่กระทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เป็นธรรม ทั้งโดยรัฐหรือโดยพ่อค้าเอง

ผมขออนุญาตอธิบายคอร์รัปชั่นอย่างที่สามก่อน การกระทำอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เป็นการหักเหลี่ยมหักคูกันระหว่างพ่อค้าเท่านั้น แต่ทำได้ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อยู่ด้วย เพราะมักจะผิดกฎหมาย แม้ประเทศไทยมีกฎหมายประเภทนี้น้อย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจทักท้วงได้ ฉะนั้นเบื้องหลังของการกระทำเช่นนี้คือการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในรูปต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งกว่านี้ ผลของการทำเช่นนี้ยังกระทบผู้บริโภค อย่างน้อยทำให้สิทธิของการเลือกบริการหรือสินค้าของผู้บริโภคน้อยลง อย่างมากก็อาจหมายถึงการผูกขาดซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

คอร์รัปชั่นอย่างที่สอง คือการเอาบริการของรัฐไปขายหรือไปแจกทำกันเป็นปกติในหลายหน่วยงาน ที่คุ้นเคยกันมากก็คือโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งเอาเก้าอี้ไปขายให้ผู้บำรุงโรงเรียน หรือกระเป๋าผู้บริหาร หรือสมาคมผู้ปกครอง หรือแจ้งความแล้วยังไม่ได้รับบริการ ฯลฯ โดยสรุปการเรียกสินบาทคาดสินบนทั้งหลายก็มาจากการคอร์รัปชั่นประเภทนี้แหละ

ข้อเสียของการคอร์รัปชั่นประเภทนี้คือทำลายหลักความเสมอภาคของพลเมือง ความเสมอภาคเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น หากคนจำนวนมากยอมรับเสียแล้วว่าตนเป็นคนเล็กคนน้อย ย่อมเข้าไม่ถึงบริการจากรัฐเสมอกันกับคนอื่น จะให้เขามารายงานการทุจริตของคนใหญ่คนโต นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาถึงรัฐมนตรี ก็คงเป็นไปไม่ได้

แม้แต่จะหวังให้เขารังเกียจการคอร์รัปชั่นก็เป็นไปไม่ได้ด้วย ในสังคมที่ขาดความเสมอภาค ความใฝ่ฝันของผู้คนคือเขยิบฐานะให้พ้นจากการเป็นพลเมืองชั้นสองด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ตนเข้าถึงทั้งทรัพย์สาธารณะ บริการสาธารณะ และปิดตลาดคู่แข่งทางการค้า

คอร์รัปชั่นในสังคมที่ขาดความเสมอภาค คือการทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นเป้าหมายปกติธรรมดาในชีวิตของผู้คน

ที่สำรวจโพลแล้วไม่พบทัศนคติอย่างนี้ก็เพราะเขาต้องตอบแบบสอบถามท่ามกลางการโหมโฆษณาต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งจากภาครัฐและเอกชน (ที่ได้ดีเพราะการรัฐประหาร) นอกจากนี้ผู้ตอบก็รู้เกณฑ์ทาง “ศีลธรรม” ของสังคมอยู่แล้ว (ซื่อสัตย์, ขยันหมั่นเพียร, อดออม, อดทน ฯลฯ จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า) ใครจะโง่ตอบให้ผิดไปจากนี้ได้ล่ะครับ ผลโพลคืออารมณ์ชั่วแล่น, การปิดบังตัวเอง, การเผยตัวเองให้ตรงตามความคาดหวัง ฯลฯ จึงอย่าซีเรียสกับโพลนัก

ส่วนคอร์รัปชั่นประเภทที่หนึ่งนั้น เข้าใจกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดอะไร เพียงแต่ต้องย้ำว่านั่นไม่ใช่คอร์รัปชั่นอย่างเดียวที่มีมากในเมืองไทย

อันที่จริง คอร์รัปชั่นส่วนใหญ่กระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่นไม่สามารถเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ แจ้งความแล้วไม่เกิดอะไร จองคิวแต่โดนแทรก, เขื่อนพังจนน้ำท่วมบ้าน, ถนนพังตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ ฯลฯ

ทำไมเขาจะไม่อยากโวย ขอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือโวยแล้วต้องได้ผล มีการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม และเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้จริง ช่องทางโวยในปัจจุบันมีมากขึ้น ที่สำคัญคือสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้สามารถโวยโดยไม่เปิดเผยตัวเองได้ แต่รัฐขมีขมันที่จะตรวจสอบการโวยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อผู้โวยเป็นชาวบ้าน และการโวยไม่เป็นไวรัล

 

ที่จริงกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในหลายสังคม (เช่นฮ่องกง) ก็แค่นี้แหละ คือไม่ปล่อยให้เรื่องอื้อฉาวเงียบหายไปเฉยๆ ไม่ว่าผู้ตกเป็นตัวละครในเรื่องอื้อฉาวนั้นจะเป็นใคร เขาอาจสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แต่ตัวองค์กรไม่ใช่ที่มาของความสำเร็จเท่ากับการเอาจริงและเที่ยงธรรม จนเป็นที่เคารพเชื่อถือของผู้คน การไปลอกองค์กรมาตั้งขึ้นบ้างเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่ความสำเร็จ สรุปให้เหลือได้คำเดียวคือ “โปร่งใส” หรือตรวจสอบได้ทุกเรื่องและทุกขั้นตอน

เราชอบอ้างผลการสำรวจทัศนคติต่อระดับการโกงของประเทศต่างๆ ซึ่งจัดทำโดย “องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ” (ที่จริงเขามีข้อเสนอที่มาจากการวิจัยเกี่ยวกับการต่อสู้คอร์รัปชั่นอีกมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) ชื่อขององค์กรเน้นย้ำวิธีการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น นั่นคือต้องโปร่งใสหรือเปิดให้การดำเนินงานที่เป็นสาธารณะทั้งหลายต้องถูกตรวจสอบได้เสมอ ประเทศที่อยากปราบคอร์รัปชั่นจริงต้องคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแสดงเจตจำนงต่อสู้คอร์รัปชั่นเฉยๆ

ซ้ำยังมักปกป้องบางคนมิให้ถูกตรวจสอบเสียอีก โดยเฉพาะบางคนที่เป็นคนใหญ่คนโต

แต่การปราบคอร์รัปชั่นที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้มากที่สุดคือจับโกงของคนใหญ่คนโตนั่นแหละ เมื่อไรที่คนใหญ่คนโตถูกสงสัยเรื่องนี้ ต้อง “โปร่งใส” หรือตรวจสอบให้เต็มที่อย่างไม่มีทาง “ลดราวาศอก” เป็นอันขาด จับคนใหญ่คนโตที่ขี้โกงได้แต่ละครั้ง สะเทือนถึงคนโกงที่เล็กลงมาตลอดแถว ที่สำคัญกว่านั้นทำให้ทั้งสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าการโกงทำกำไรให้ไม่คุ้มกับความเสี่ยง

ที่เขาเขียนในกฎหมายให้เอาผิดผู้จ่ายสินบนด้วยนั้น ที่จริงเป็นกลวิธีจับคนโกงที่อยู่ในอำนาจได้ดี เพราะจะมีผู้จ่ายสินบนคนไหนที่อยากให้การปรักปรำคนใหญ่คนโตล่ะครับ ในเมื่อเขายอมจ่ายเองและได้ผลตอบแทนไปแล้ว แต่ข้อกำหนดนี้เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถโน้มน้าวให้เขาร่วมมือแต่โดยดี เพื่อแลกกับการถูกกันเป็นพยาน ตัวเขาเสียชื่อเสียงแต่ยังดีกว่าเสียชื่อเสียงด้วยและติดคุกด้วย วิธีนี้จึงช่วยให้จับการโกงของคนใหญ่คนโตได้ “คาหนังคาเขา” ซึ่งทำให้การต่อสู้คอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพกว่าจับตัวเล็กตัวน้อย แล้วปล่อยให้ตัวใหญ่ๆ ลอยนวล

การลงโทษผู้คอร์รัปชั่นนั้นมีสองอย่าง หนึ่งคือโทษทางอาญา ซึ่งเข้าใจกันอยู่แล้ว โทษอย่างที่สองซึ่งสำคัญมากคือโทษทาง “การเมือง” ซึ่งถูกใช้ในบ้านเราไม่มากพอ

ใช่ว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นจะสามารถนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้เสมอไป คนโกงที่ไหนๆ ก็ย่อมเตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดทางอาญาจึงยากมาก แต่ความโปร่งใสหรือการตรวจสอบอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาอาจเป็น “เหตุให้เชื่อได้ว่า” บุคคลผู้นั้นไม่สู้จะซื่อสัตย์นัก (เช่นไม่อาจบอกที่มาของทรัพย์สินตนเองได้อย่างน่าเชื่อถือ) เขาก็ต้องรับผิดทางการเมือง

ความผิดทางการเมืองไม่ได้ใช้กับ “นักการเมือง” ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เราทุกคนเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนอื่น ย่อมมี “การเมือง” หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคนอื่นทั้งสิ้น การกลายเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่แต่เพียงทำให้ไม่มีใครอยากให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังรวมถึงตำแหน่ง, สถานะ, บทบาท ฯลฯ ในบริษัท, หน่วยราชการ, ในวงเพื่อนฝูง, การเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ อีกด้วย

อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป ใครจะอยากให้คนที่มีคาวในเรื่องนี้เป็นประธานทอดผ้าป่าล่ะครับ ทั้งนี้ยกเว้นแต่มีอำนาจพิเศษของระบอบเผด็จการ มาทำให้การตอบสนองต่อคนอื้อฉาวผิดธรรมชาติไป และนี่คือเหตุอีกอย่างหนึ่งที่การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการโดยตัวของมันเอง ย่อมเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

โทษทาง “การเมือง” ในความหมายนี้ ทำให้ต้นทุนการคอร์รัปชั่นสูงขึ้นมาก เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้กันในสังคมไทยเท่าไรนัก ดังนั้นคำเตือนว่า “อย่าคบคนโกง” จึงไร้ความหมาย ในเมื่อคนที่ถูกสงสัยโดยคนทั่วไปว่าโกง กลับได้ดิบได้ดีไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหาให้สิ้นสงสัย ซ้ำยังเตือนโดยคนที่ประคองตนเองทางการเมืองมายาวนาน โดยมองข้ามความซื่อสัตย์ของผู้ให้การสนับสนุนตน

ดังนั้น ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังอยู่ในระบอบเผด็จการทั้งเปิดเผยหรือจำแลง คอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางในทุกวงการก็จะยังอยู่ในสังคมไทยอยู่ตราบนั้น

 

ที่มา: www.matichon.co.th

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net