Skip to main content
sharethis
'มีชัย' ค้าน กมธ. สนช.เตรียมเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. สืบข้อมูลจากการดักฟังโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยว่าทุจริต ชี้เป็นดาบสองคม  'วิชา' เผย กมธ.ส่วนใหญ่หนุน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน อยู่ 9 ปี อ้างทำงานเข้าฝัก

19 ธ.ค. 2560 มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วิชา มหาคุณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... กล่าวถึง ร่างพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สามารถดักฟังข้อมูล ว่า ทาง ป.ป.ช.เป็นผู้เสนอขออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล 3 ประการ ได้แก่ 1.ดักฟังข้อมูล 2.สะกดรอย และ 3.อำพรางตัว ซึ่งเรื่องสะกดรอยและอำพรางตัว ทาง กมธ. ตัดทิ้ง ให้เฉพาะดักฟังข้อมูลในสื่อทุกประเภท ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ดักฟังได้เฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ และต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้อธิบดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้ให้อนุญาตพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีอำนาจดักฟังได้ในชั้นไต่สวนคดี ภายใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม กมธ. มีข้อสังเกตว่า เดิมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เปิดช่องให้พนักงานสอบสวนสามารถดักฟังข้อมูลได้อยู่แล้ว เมื่อ ป.ป.ช.เทียบเท่าพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ ป.วิอาญาได้ 

“ส่วนกรณีจะเป็นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ คิดว่าต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.ในต่างประเทศดักฟังและนำข้อมูลอื่นๆ มาแบล็คเมล์ ซึ่งไม่ทราบว่าหลุดไปได้อย่างไร และหน่วยงานนั้นๆ ก็ไม่สามารถควบคุมได้ เดี๋ยวนี้เรื่องไซเบอร์ถือเป็นอันตรายมาก คิดดูว่าไปทำอะไรกันสองคนแล้วออกสื่อได้อย่างไร ไปจ้ำจี้กัน ลบแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานข้อมูล อยู่ตลอดชีวิต สามารถกู้คืนได้ตลอด” วิชา กล่าว
 
สำหรับกรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหรือไม่นั้น วิชา กล่าวว่า โอนให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดหลักเกณฑ์ว่าแค่ไหน เพียงใดถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสฉันท์สามี ซึ่งต้องอยู่กินกันพอสมควร ส่วนคนที่เป็นกิ๊กอาจจะรอดไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ถ้ากิ๊กถือครองทรัพย์สินแทนไม่รอดแน่นอน เพราะโดยปกติ ป.ป.ช.ก็ใช้เกณฑ์ถือครองเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบอยู่แล้ว แม้จะเป็นกิ๊กก็จัดการมาหลายราย งานนี้ ป.ป.ช.ปวดหัว
 
วิชา กล่าวอีกว่า สำหรับบทเฉพาะกาล เรื่องการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เสียงส่วนใหญ่ใน กมธ. ให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี อย่างไรก็ตาม กรธ.สงวนไว้แล้วและอาจถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งนี้ กมธ. เสียงส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ป.ป.ช.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานดี หรือเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่าทำงานเข้าฝักแล้ว อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลที่แตกต่างกันต่อการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ นั้น เป็นเรื่องการวางหลักที่เคยโต้เถียงกันแล้วว่าจะเป็นหลายมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอย่างไรก็ได้ทุกรูปแบบ


มีชัย ค้านอำนาจดักฟัง ชี้เป็นดาบสองคม

เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานด้วยว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงกรณีที่ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เตรียมเพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจ ป.ป.ช. สามารถสืบค้นข้อมูลด้วยวิธีการดักฟังโทรศัพท์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมทุจริตได้ ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยและพยายามคัดค้านแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ เข้าใจว่าคนทำงานต้องการมีอำนาจเพิ่มขึ้น แต่การมีอำนาจมากเกินไปอาจกลายเป็นดาบสองคม และเป็นอันตรายได้ หากเขียนเนื้อหาไม่ระมัดระวังและไม่มีกลไกที่ดีพอ อาจขัดต่อหลักสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ อย่างไรก็ตาม หาก กมธ.วิสามัญ สนช. เห็นควรว่าจะเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช. แต่ส่วนตัวเห็นว่าผลของการเพิ่มบทบัญญัติดังกล่าวอาจกระทบต่อ สนช.เองในอนาคต
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net