ข้องใจกองสลากฯ แก้กฎหมาย ส่อเพิ่มอำนาจบอร์ดตีเช็คเปล่าพันล้าน

นักวิชาการ-ภาคปชช. จี้ สนง.สลากฯ ตอบคำถามสังคม แก้กฎหมายใหม่ เพื่อเพิ่มอำนาจให้บอร์ด ตีเช็คเปล่าพันล้าน-ฟันสลากรวมชุดหรือไม่ แนะตัดวงจรออกผลิตภัณฑ์ใหม่มอมเมาสู่การพนัน  อย่าให้การรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นแค่พิธีกรรม    

19 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่ มีเรื่องจับตา 4 ประเด็น1.โครงสร้างบอร์ดบริหารคือหัวใจสำคัญของสำนักงานสลากฯ เท่าที่สังเกตพ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพียงการเพิ่มบอร์ดบริหาร จากเดิม9 คน เป็น11คน ส่วนมากมาจากข้าราชการประจำ และการแต่งตั้งจาก ครม. ซึ่งอาจเป็นฝ่ายการเมืองหรือนักวิชาการ 2.ให้อำนาจหน้าที่บอร์ดมากขึ้น เช่น ออกผลิตภัณท์รูปแบบใหม่ได้เอง ไม่ต้องผ่านมติ ครม. เช่น สลากออนไลน์ หรือสลากที่มีความหลากหลาย ประเด็นนี้อาจนำสังคมไทยเข้าสู่ธุรกิจการพนันในอนาคต ซึ่งภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด 3.ควรใช้อำนาจกระจายสลากอย่างมีประสิทธิภาพและถึงมือผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องโค้วต้าและราคาที่ต้องควบคุมได้ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะนำเทคโนโลยีมาใช้แต่ราคาสลากก็ยังควบคุมไม่ได้ โครงสร้างเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ หากในอนาคตมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และ4.ขอชื่นชมที่เงินรายได้1%จัดสรรเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งนานาประเทศล้วนทำแบบนี้ สำนักงานสลากฯควรใช้เงินกองทุนตัวนี้ให้ตรงวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ เปิดเผยและตรวจสอบได้ และที่สำคัญต้องควบคุมการพนันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า อยากฝาก 3 คำถามต่อคณะกรรมการสลากฯ ในการแก้ไข พ.ร.บ.สลากฯ 1.ยังคงยืนยันจะเพิ่มอำนาจให้ตนเองสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ง่ายขึ้น ทั้งสลากล็อตโต้ สลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว สลากออนไลน์ และสลากอื่นๆ โดยไม่มีบทกำหนดกลไกและมาตรการกลั่นกรองใดๆ  แม้กระทั่งการผ่านมติของครม. ใช่หรือไม่ 2.ยังคงยืนยันให้กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม จำนวน1,000 ล้านบาทต่อปี อยู่ภายใต้การดูแลของตนเอง โดยไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายใดๆ เช่น ไม่กำหนดสัดส่วนการใช้เงินตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ ไม่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ และที่สำคัญไม่มีคณะกรรมการดูแลกองทุนที่เป็นอิสระหรือไม่ เพราะเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า 1,000 ล้านให้ตนเองใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ และ3.จะเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการสลากที่มากกว่าการห้ามขายสลากในสถานศึกษา และการห้ามขายสลากแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือไม่ เช่น เอาผิดกับกระบวนการรวมชุด การหลอกลวงเลขเด็ดต่างๆ เป็นต้น  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สังคมต้องการความชัดเจนและตรงไปตรงมา

มนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน  กล่าวว่า พ.ร.บ.สลากฯฉบับใหม่ ควรมีเนื้อหาในการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากฯ ที่ถือว่าเป็นเงินบาปแบ่งมาเพื่อพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของตัวเอง หรือจัดเป็นสวัสดิการเพื่อสังคมต่อกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสหรือสังคมผู้สูงอายุ ที่สำคัญต้องยอมรับว่าสลากคือการพนันอย่างหนึ่ง โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ และผู้ซื้อสลากฯส่วนใหญ่เป็นคนจน ดังนั้นเงินรายได้ควรกลับมาช่วยเหลือคนจนหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม และรัฐบาลต้องมีหน้าที่ปกป้องควบคุมการพนันไม่ปล่อยให้มอมเมาสังคม  และที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกันไปแล้ว ตกลงผลสรุปเป็นอย่างไร  รับฟังจริงหรือไม่  หรือเป็นแค่พิธีกรรมให้ครบองค์ประกอบ ต้องชี้แจงต่อประชาชนเจ้าของประเทศไม่ใช่เงียบจนผิดสังเกต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท