Skip to main content
sharethis

เปิดโผจากผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัส ประจำปี 2560 ธุรกิจยานยนต์ครองแชมป์จ่ายสูงสุด/ว๊อยซ์ทีวีเลิกจ้างพนักงาน 127 คน/อดีตพนักงานรัฐ สธ.ร้อง ‘ขอคืนอายุราชการ ลดเหลื่อมล้ำเงินเดือน’ ชี้ 17 ปีถูกลอยแพ/เทคโนโลยีดิจิตอลรุกหนักกระทบ 10 อาชีพต้องปรับตัว ‘นักข่าว’ ติดโผอาชีพดาวร่วงในปี 2561/พนง.ฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ เรียกร้องโบนัส 3 เดือน บวก1.5หมื่นบาท พร้อมเงินพิเศษ/เครือข่ายแรงงานร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ

เปิดโผจากผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัส ประจำปี 2560 ธุรกิจยานยนต์ครองแชมป์จ่ายสูงสุด

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัสในประเทศไทย ประจำปี 2560 จากการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกในเว็บไซต์จ๊อบส์ ดีบี ผู้หางานจำนวน 2,020 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 322 องค์กรทั่วประเทศ พบว่า ธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุดในปี 2560 โดยจ่ายโบนัสแบบการันตี เฉลี่ยอยู่ที่ 2.33 เดือน และจ่ายแบบพิจารณาตามผลงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.14 เดือน

สำหรับ 5 ธุรกิจที่จ่ายโบนัสแบบการันตีสูงสุด ประกอบด้วย 1. ธุรกิจยานยนต์ จ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.33 เดือน 2. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.31 เดือน 3. ธุรกิจบริการด้านการเงิน จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.16 เดือน 4. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง จ่ายโบนัสเฉลี่ย 0.89 เดือน 5. ธุรกิจไอที จ่ายโบนัสเฉลี่ย 0.86 เดือน

ส่วน 5 ธุรกิจที่จ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานสูงสุด ประกอบด้วย 1. ธุรกิจยานยนต์ จ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.14 เดือน 2. ธุรกิจบริการด้านการเงิน จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.96 เดือน 3. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.26 เดือน 4. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.11 เดือน 5. ธุรกิจไอที จ่ายโบนัสเฉลี่ย 0.92 เดือน

สำหรับช่วงเวลาในการจ่ายโบนัส จะพบว่าส่วนใหญ่กำหนดจ่ายโบนัสในช่วงเดียวกัน คือเดือนธันวาคม จำนวน 39% ตามมาด้วยเดือนมกราคม 14% และเดือนกุมภาพันธ์ 12% และเมื่อถามว่าโบนัสที่ได้จะนำไปใช้อะไร ทุกเจเนอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็น Baby Boomer Gen X และ Gen Y เลือกเก็บโบนัสไว้เป็นเงินออม ตามด้วยการนำไปลงทุน อย่างไรก็ดี Gen Z กลับเลือกนำโบนัสไปลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง และเงินออมเป็นอันดับสอง แสดงให้เห็นว่า Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี ให้ความสำคัญของผลตอบแทนการลงทุนที่ก้าวกระโดดมากกว่าการออมเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการ 46% มองว่าโบนัสเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ที่บอกได้ว่าพนักงานจะตัดสินใจอยู่หรือไป และผู้ประกอบการ 47% เชื่อว่าโบนัสสามารถดึงดูดผู้หางานได้ ขณะเดียวกันทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า โบนัสที่จ่ายตามผลงานเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นผลของความพยายามที่พนักงานทุ่มเทให้กับการทำงาน

ที่มา: new18, 22/12/2560

รมว.แรงงาน สั่งล่าแก๊งตุ๋นไปสหรัฐ

กรณี น.ส.รุ้งนภา วงค์แสนพรหม อายุ 36 ปี บ้านเลขที่ 200 หมู่ 11 บ้านคำพอก ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมกับเพื่อนชายหญิงรวม 19 คน ว่าถูก น.ส.รุ่งทิวา มั่นคง อายุ 35 ปี ภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์ระบุ อยู่บ้านเลขที่ 18/26 ถนนโขดหิน-เขาไผ่ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง หลอกไปทำงานประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด  เงินเดือน 35,000 ดอลล่าร์ สัญญาจ้าง 2 ปี โดยโอนเงินเป็นค่าประกันวีซ่าคนละ 45,000 บาท และค่าเปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐอีกคนละ 5,200 บาท เข้าบัญชีนายไพรินทร์ มะลิวัลย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขามีนบุรี กทม. และยังมีนายสมโชค เจริญกุล บ้านเลขที่ 160/1 หมู่ 1 ต.หนองปรือ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานในสถานทูตอเมริกา จะประสานงานด้านการออกวีซ่าให้ผ่าน แต่เมื่อเดินทางไปถึงสถานทูต กลับไม่มีชื่อเป็นเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวอ้าง สูญเงินเกือบ 1,000,000 บาท จึงพากันไปแจ้งความที่กองปราบปราม และ สภ.เมืองนครพนม ตามที่เสนอข่าวไป

ล่าสุด วันที่ 22 ธ.ค.60 เวลา 08.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)  ถึง น.ส.บุญยวีร์ ไขว้พันธุ์ จัดหางานจังหวัดนครพนม สั่งไปลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน พบกับ น.ส.รุ้งนภา ได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปแล้วพบว่าเป็นความจริงที่สื่อนำเสนอ  จึงให้มาร้องทุกข์ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ เพื่อบันทึกปากคำแล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ตามจับกุมแก๊งหลอกคนไปทำงานต่างประเทศมาดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ทาง รมว.แรงงาน กำชับให้ดูแลผู้ถูกหลอกเป็นกรณีพิเศษ หากต้องการหางานทำภายในประเทศ หรือต้องการไปทำงานต่างประเทศ ให้หาตำแหน่งงานตามที่เหมาะสม

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า น.ส.รุ่งทิวา อยู่ต่างประเทศ ส่วนนายสมโชคยังหลบหนีอยู่ภายในประเทศ และกำลังตรวจสอบว่านายไพรินทร์เจ้าของสมุดบัญชีธนาคารที่คนหางานโอนเงินเข้าไปนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร หลังออกสื่อมีเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดยโสธรขอรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะทราบว่าขบวนการนี้ยังไปหลอกคนหางานที่นั่นอีก แต่ยังไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ขณะนี้กำลังประสานงานกันอยู่” น.ส.บุญยวีร์ กล่าว

วันเดียวกันเวลา 13.30 น. กลุ่มคนหางาน จำนวน 19 ราย เดินทางไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครพนม มีนายปิติโรจน์ ภวันพิธิวัฒน์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ เป็นผู้สอบสวนรายละเอียด โดยใช้ห้องประชุมเป็นสถานที่สอบปากคำ ซึ่งคนหางานที่ถูกหลอกหอบเอกสารต่างๆ มามอบให้เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสารไว้เป็นหลักฐาน

แหล่งข่าวแจ้งว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ทราบเรื่องขบวนการต้มตุ๋นไปต่างประเทศ ที่มี น.ส.รุ่งทิวาเป็นหัวหน้าแก๊ง สั่งมีการสอบสวนปากคำให้เร็วที่สุด เพื่อจะส่งเรื่องต่อให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไล่ล่าตัวแก๊งนี้มาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นการซ้ำเติมคนยากคนจน และกำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ออกให้ความรู้แก่คนหางานถึงขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้เข้าใจว่ามีกี่วิธี ถ้าสงสัยต้องปรึกษาจัดหางานจังหวัดทันที

ที่มา: บ้านเมือง, 22/12/2560

ว๊อยซ์ทีวีเลิกจ้างพนักงานจำนวน 127 คน

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการทีวี และพัฒนาการนำเสนอผ่านทุกช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยมีใจความสำคัญว่า ได้ปรับสัดส่วนการผลิตรายการทีวีใหม่ เน้นรายการวิเคราะห์ข่าวคุณภาพ 2 ช่วงเวลาไพร์มไทม์ ด้วยการลดจำนวนรายการลง แต่เพิ่มช่วงเวลาออกอากาศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะนำเสนอผ่านทีวีดิจิทัล ช่องวอยซ์ 21 แล้ว ยังได้นำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมได้ทุกช่องทาง อีกทั้งได้ปรับลดพนักงานจำนวน 127 คน โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด

โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

แถลงการณ์ “วอยซ์ ทีวี”

22 ธันวาคม 2560

เรื่อง : การปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการทีวี และพัฒนาการนำเสนอผ่านทุกช่องทางออนไลน์

เรียนผู้รับชมรายการ ลูกค้า ผู้มีอุปการะคุณ ผู้สนับสนุนรายการ และเพื่อนร่วมงานทุกท่าน

บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ขอเรียนให้ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 บริษัทฯ จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการทีวี และพัฒนาการนำเสนอผ่านทุกช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและเป้าหมายของบริษัทฯ ปี 2561

ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่มีข้อจำกัดมาเกือบ 4 ปี แม้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบทางธุรกิจอันเนื่องมาจากคำสั่งของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสารอยู่บ่อยครั้ง แต่การที่บริษัทฯ ได้พยายามรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และข้อจำกัดทางการเมืองที่ต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ จึงยังทำให้บริษัทฯ สามารถยืนหยัดในการผลิตผลงานคุณภาพที่มีคุณค่ากับสังคม เป็นทางเลือกในการรับชมรายการทีวีที่มีสาระสร้างสรรค์ เสนอข้อมูลข่าวสารพร้อมบทวิเคราะห์ที่ทำให้สังคมไทยคิดก้าวหน้าอย่างนานาอารยประเทศ

นอกเหนือจากสภาวการณ์ทางการเมืองที่บริษัทฯต้องบริหารอย่างสมดุลแล้ว สถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลคืออีกปัจจัยที่มีผลกระทบแทบทุกช่องอย่างถ้วนหน้า รวมถึง “วอยซ์ ทีวี” ด้วยเช่นกัน ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องต่อความเป็นจริงในอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวีจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

โดยบริษัทฯ ได้ปรับสัดส่วนการผลิตรายการทีวีใหม่ เน้นรายการวิเคราะห์ข่าวคุณภาพ 2 ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ด้วยการลดจำนวนรายการลง แต่เพิ่มช่วงเวลาการออกอากาศมากขึ้น นอกจากออกอากาศผ่านทางดิจิตอลทีวี “วอยซ์ ทีวีช่อง 21” แล้ว ยังนำเสนอผ่านทางสื่อออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีออโต้เมทต่างๆ รวมถึงการปรับระบบ Progressive Web Applications เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งวีดีโอคอนเทนท์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมรายการได้ทันทีทุกช่องทางทุกเวลาที่ต้องการอีกด้วย

จากแผนธุรกิจปี 2561 ที่จะมีการปรับสัดส่วนการผลิตรายการ ทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง ด้วยการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 127 คน โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคนจะได้รับเงินค่าชดเชยไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด ซึ่งจะมีพนักงานส่วนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้างยังคงร่วมงานในรูปแบบ outsource กับบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับโครงสร้างองค์กรต้องเกิดขึ้นตามแผนธุรกิจภายใต้สภาวการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวี แต่การที่บริษัทฯ ต้องเลิกจ้างพนักงานที่เป็นทั้งเพื่อน พี่ และน้องที่ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนานนั้น เชื่อว่าเพื่อนร่วมงานทั้งที่ผู้ที่ต้องจบภารกิจและผู้ที่ยังต้องมีภารกิจต่อไป ยังมีความรู้สึกผูกพันต่อกันไม่เปลี่ยนแปลง

บริษัทฯ ขอขอบคุณพนักงานทุกคน ขอบคุณผู้บริหารระดับอาวุโสหลายท่านที่เสียสละเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทฯได้ส่งเสริมพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่อีกหลายคนได้ขึ้นมาทำงานภายใต้โครงสร้างใหม่ที่กระชับคล่องตัวสอดคล้องกับอุตสาหกรรม สร้างสรรค์รายการคุณภาพดีๆให้กับผู้ชม “วอยซ์ ทีวี” ในปี 2561 ทั้งนี้ การอัพเดตรายการต่างๆ สามารถติดตามได้จากทางสถานี “วอยซ์ ทีวี ช่อง 21” และทุกช่องทางออนไลน์ “วอยซ์ ทีวี”

สุดท้ายนี้ “วอยซ์ ทีวี” ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับผู้ชมที่ส่งกำลังใจ และติดตามชมรายการอย่างเหนียวแน่น ขอบคุณลูกค้า ผู้มีอุปการะคุณที่เชื่อมั่นสนับสนุนรายการของเราอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อไป และพร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

22 ธันวาคม 2560

ที่มา: วอยซ์ ทีวี, 22/12/2560

ก.แรงงานขึ้นเหนือ ฝึกคนพื้นที่สูง รับนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากโครงการ"เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่นผ่านการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายตัวไปยังเมืองรองด้านการท่องเที่ยว โดยกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ การพัฒนาศักยภาพแรงงานในชุมชน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่กพร.ให้ความสำคัญ ประกอบกับปี 2561 เป็น"ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน" โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ (เชียงแสน) ใช้แนวคิดเที่ยววิถีไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต มุ่งเน้นให้มีการเดินทางและใช้จ่ายในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น นับเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า เพราะเกิดจากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่โครงการหลวงในจังหวัดภาคเหนือหลายแห่ง ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาเรียนรู้ และเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินตามรอยศาสตร์พระราชาเพิ่มมากขึ้น

นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ(เชียงแสน) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) พัฒนาศักยภาพคนพื้นที่สูง จัดฝึกอบรม หลักสูตร การบริหารจัดการโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 11-15 ธ.ค.2560 มีผู้เข้าอบรม 25 คน ทั้งหมด 8 ชุมชน จากจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่านและเชียงราย อาทิ ชุมชนไทยลื้อบ้านวังไผ่ ชุมชนปะกาเกอญอ ชุมชนบ้านห้วยโทน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถบริหารจัดการที่พักแรม และเป็นการดำเนินงานตามจุดเน้นของจังหวัดในด้านการท่องเที่ยวและบริการ นอกจากนี้ผู้เข้าฝึกอบรม จะได้ศึกษาดูงานและพักแรม ณ บ้านโป่งน้ำร้อน(บ้านป่าเมี่ยง) ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งมีการให้บริการนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มานานกว่า 10 ปี มีกิจกรรมในชุมชนที่หลากหลายเช่น วิถีชีวิตชนเผ่า มีเส้นทางเดินป่า การแปรรูปชาพื้นเมือง การแปรรูปใบเมี่ยง เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เข้าฝึกอบรม

สำหรับในปี 2561 กพร.มีเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว จำนวน 19,066 คน ซึ่งเป้าหมายนี้ได้กระจายลงภูมิภาคแล้วทั้ง 76 จังหวัด เพื่อรองรับความต้องการกำลังแรงงานในแต่ละพื้นที่ อธิบดี กพร.กล่าว

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 20/12/2560

เครือข่ายแรงงานร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ

เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน แถลงจุดยืนคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะประกาศใช้ในปี 2561 พร้อมเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และให้ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติที่มีตัวแทนของทีมวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงจุดยืนคัดค้านแนวนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 การใช้กลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งมีเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของคนงาน

ซึ่งผลจากการสำรวจหนี้ของคนงาน พบว่า มีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225 บาท 87 สตางค์ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จึงขอประกาศจุดยืนหลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรม ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ

2. ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

3. ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทีมวิชาการและมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี

4. ต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี

5. ต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ที่มา: ThaiPBS, 20/12/2560

เจรจา พนง.ฟูจิคูระฯ กับบริษัท ยังหาข้อยุติไม่ได้ เผยกำไรกว่า 400 ล้าน แต่บ่ายเบี่ยงข้อเรียกร้องมาตลอด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ธ.ค.2560 นายเกรียงไกร วังหอม อายุ 33 ปี ประธานสหภาพแรงงาน โรงงานผลิตของบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เขตหมู่ 5 ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมแกนนำคนงาน เดินทางมาเพื่อร่วมเจรจา 3 ฝ่าย กับหน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารโรงงาน ที่สำนักงานคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานจังหวัดพระนครรีอยุธยา

เพื่อหาข้อยุติกรณีแรงงานจำนวนเกือบ 4,000 คน ของบริษัทรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องขอโบนัสปลายปีเพิ่ม จากเดิมที่โรงงานกำหนดจ่ายให้คนละ 2.8 เดือน แต่คนงานขอเพิ่มเป็น 3.3 เดือน โดยตัวแทนคนงานที่ออกกะการทำงานแล้ว ได้รวมตัวกันที่หน้าโรงงาน เพื่อแสดงพลังตั้งแต่เช้าที่ผ่านมา แต่โรงงานยังเปิดสายพานการผลิตตามเดิม เพราะว่ายังมีคนงานเข้ากะทำงานผลัดเปลี่ยนกันไป

ทั้งนี้ ประธานสหภาพแรงงาน เปิดเผยว่า พวกเรามองว่าโรงงานมีกำไรมากกว่า 400 ล้านบาทในปีนี้ จึงขอโบนัสปลายปีเพิ่ม อีกทั้งขอเพิ่มสวัสดิการแรงงานอื่นๆ รวม 7 ข้อ เช่น เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ จากเดิมคนละ 7,000 บาท/ปี เป็น 15,000 บาท โดยก่อนหน้านี้เคยยื่นข้อเรียกร้อง ตามขั้นตอนทางกฎหมายไปกับนายจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึง 7 รอบ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาและมีการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ทำให้ตัวแทนคนงานและสหภาพฯต้องออกมาเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยแต่ละฝ่ายจะนำข้อเรียกร้องของอีกฝ่าย ไปหาข้อสรุปและกำหนดจะกลับมาเจรจาใหม่อีกครั้งให้เร็วที่สุด ส่วนการแสดงพลัง กำหนดรวมตัวกันในวันที่ 20 และ 21 ธันวาคม จากนั้นค่อยประเมินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/12/2560

เทคโนโลยีดิจิตอลรุกหนักกระทบ 10 อาชีพต้องปรับตัว “นักข่าว” ติดโผอาชีพดาวร่วงในปี 2561

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ 10 อาชีพเด่นปี 2561 และ 10 อาชีพดาวร่วง พบว่า 10 อาชีพที่ไม่โดดเด่นในปี 2561 ได้แก่ 1.อาชีพตัดต้นไม้ ช่างไม้ไม่มีฝีมือ 2.พ่อค้าคนกลาง 3.อาชีพย้อมผ้า 4.บรรณารักษ์ ไปรษณีด้านการส่งจดหมาย 5.พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน 6.การตัดเย็บเสื้อผ้าโหล 7.การทำรองเท้า ซ้อมรองเท้า 8.เกษตรกร ครู อาจารย์ 9. อาชีพแม่บ้านทำความสะอาด และ 10.นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ผู้สื่อข่าว

ส่วนอาชีพเด่น 10 อาชีพได้แก่ 1.แพทย์ (แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์) 2.โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟแวร์ และนักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล 3.นักการตลาดออนไลน์ รวมทั้วรีวิวเวอร์ เน็ตไอดอล 4.นักการเงิน นักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที ให้คำปรึกษาด้านระบบไอที 5.กราฟฟิคดีไซต์ นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร 6.นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม (คิดค้นเครื่องสำอาง หรือครีม เป็นต้น) อาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 7.ผู้ประกอบการธุรกิจ (สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ e-commerce เป็นต้น) 8.อาชีพในวงการบันเทิง (ดารานักแสดง นักร้อง) สถาปนิก มัณฑนากร 9.ครูสอนพิเศษ ติวเตอร์ อาชีพเกี่ยวกับโลจิสติกส์ และการขนส่ง และนักบัญชี

โดยปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 4.2% อัตราการว่างงานในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9% แนวโน้มการผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 การเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ง่าย การเปิดเสรีทางการค้าและบริการมีมากขึ้น ซึ่งมีผลต่ออาชีพเด่น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า สาเหตุที่อาชีพที่ไม่โดดเด่นในปี 2561 มาจากเทรนด์ดิจิตอลเข้ามามากขึ้นทั้งในด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน และผู้บริโภคก็เริ่มหันมาใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาจากไม้ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งมีราคาถูกและแนวโน้มจะยิ่งเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ผลมาจากการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างอาเซียน-จีน จะยิ่งมีผลให้อาชีพที่ใช้แรงงาน และแนวโน้มการส่งจดหมาย เขียนจดหมายก็ยิ่งลดลง เพราะดิจิตอลเข้ามาแทนที่

ประกอบกับในปีหน้าสินค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้นก็มีผลต่ออาชีพเกษตรกรเช่นกัน นอกจากนี้ ในปี 2561 แนวโน้มแรงงานก็ยิ่งน่าเป็นห่วง ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากขึ้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะยิ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเด็กเกิดใหม่ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 คนต่อปี ซึ่งจะยิ่งลดลง ขณะที่กลุ่มอายุ 15-60 ปี เดิมอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านคน ปัจจุบันลดลงเหลืออยู่ที่ 37.2 ล้านคน ซึ่งลดลงมาถึงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งในระยะยาวก็จะยิ่งลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยก็จะหายออกไปจากระบบประมาณ 2-3 แสนคน

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น โดยเข้าไปจัดระเบียบ อนาคตแรงงานก็ยิ่งจะหายยาก ค่าแรงก็จะยิ่งปรับตัวสูงขึ้น และการกก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 การนำเรื่องของเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ระบบไอที เพื่อเข้ามาเปลี่ยนผ่านแงงานที่ผ่านไป และเข้ามาทดแทนค่าแรงที่สูงขึ้น ในภาคธุรกิจก้จตะยิ่งเร็วขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว เชื่อว่าภายใน 5-10 ปีการเปลี่ยนผ่านก็จะยิ่งเห็นผลชัดเจน และมองว่าผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นปรับตัวได้ไม่มีปัญหา แต่สำหรับเอสเอ็มอีแล้วอาจจะลำบาก

“ค่าแรงหากมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเร็ว การนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนผ่าน ทดแทนแรงงานก็จะยิ่งเร็วขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องพิจารณาในกรอบที่เหมาะสม มองก็อยู่ในกรอบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 บาท หรือ 3-5% เพราะหากมากกว่านี้ แรงงานจะประสบปัญหาภาคธุรกิจจะยิ่งนำระบบต่าง ๆ เข้ามาทดแทน และแรงงานเองก็จะต้องไม่เลือกงาน และพัฒนาฝีมือให้เหมาะสมเพื่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกับงานนั้น ๆ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการว่างงานในปี 2561 ลดลงอยู่ที่ 0.9% หากไม่เลือกงานก็บยังมีงานที่รองรับอยู่แน่นอน”

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 19/12/2560

พนง.ฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ เรียกร้องโบนัส 3 เดือน บวก1.5หมื่นบาท พร้อมเงินพิเศษ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี ได้รับแจ้งมีพนักงานบริษัทฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ส่งออกต่างประเทศ เลขที่ 118/2 หมู่ 11 ถนนสุวรรณศร ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี จำนวนกว่า 1,500 คน รวมตัวกันตั้งเต้นท์ รวม8หลัง ประท้วงบริเวณหน้าบริษัท เรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัส หลังจากทางบริษัทฯ ประกาศให้โบนัสกับพนักงาน 2.5 + เงิน 7,000 บาท โดยพนักงานต้องการ 3.0+ 15,000 บาท และเงินพิเศษ ตามอายุงานของพนักงานจึงรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น พร้อมประสานหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อย ไปร่วมดูแล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์ รวม 8 หลัง ที่ด้านหน้าทางเข้าบริษัทฯ ปักหลักชุมนุมเรียกร้อง พร้อมร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน สลับการใช้โทรโข่งประกาศให้กำลังใจกัน การชุมนุม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่รุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ,ทหารและฝ่ายปกครอง กว่า 20 ได้รักษาความเรียบร้อยด้านในบริษัทฯ ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าด้านใน

จากการสอบถามพนักงานที่มาชุมนุม บอกว่าทำงานมากว่า 18-20 ปี หลังจากแกนนำยื่นหนังสือกับทางบริษัทฯตามกฎหมายการชุมนุมแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงรวมตัวกันประท้วง ซึ่งพนักงานทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ได้ตามที่ต้องการจะไม่ยอมถอย ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นอุณภูมิ 18 องศาเซลเซียส และลมแรงตั้งแต่เช้า แต่พนักงานทุกคนก็ไม่ยอมที่จะหนี ยังคงรวมตัวกันประท้วงอย่างไม่ย่อท้อแม้ไร้วี่แววตัวแทนจากผู้บริหารของบริษัทออกมาเจรจาต่อรอง

นายอาทิตย์ ปันทะนะ แกนนำ กล่าวว่า “ทางกลุ่มพนักงาน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง สั่งพนักงานทุกคนห้ามทำผิดกฎหมาย และทำลายสิ่งของของบริษัทฯ และห้ามพนักงานทุกคนพูดพาดพิงบริษัทฯ ในทางที่เสียหาย แม้จะประท้วงยืดเยื้อทุกคนจะไม่ยอมถอยจะสู้ และทำในสิ่งที่พวกตนพึงจะได้เท่านั้น ที่ผ่านมามีการชุมนุมย่อยและหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพนักงานและฝ่ายบริหารของบริษัทฯเพื่อขอเพิ่มโบนัสและสวัสดิการมา 7 ครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ และในวันนี้ทางบริษัทฯปิดงานตัวแทนพนักงานและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเข้าทำงาน ส่งผลให้พนักงานคนอื่น ๆ เข้าทำงานไม่ได้จึงได้มีการชุมนุมประท้วงในวันนี้แทนจากเดิมจะมีกำหนดชุมนุมประท้วงเรียกร้องในวันที่ 20 ธันวาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารชุดรักษาความสงบจากมณฑลทหารบกที่ 12 (มทบ.12) และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี มาดูแลรักษาความสงบ ให้ ซึ่งพนักงานที่ประท้วง ได้รอเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานมาร่วมหารือกับทางบริษัทและสวัสดิการแรงงาน จ.ปราจีนบุรี ในวันพรุ่งนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/12/2560

คนทีวีล่ารายชื่อเสนอ กก.ปฏิรูปสื่อ หลังทีวีดิจิทัลปลดพนักงานแล้ว 2,000 คน

ในวงการโทรทัศน์ขณะนี้มีข่าวมาว่า ในวันที่ 22 ธันวาคมที่จะถึงช่องทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งจะมีการเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก เนื่องจากผลประกอบการขาดทุน ซึ่งถึงตอนนี้จะยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเป็นช่องไหน แต่ดูเหมือนข่าวก็น่าจะมีมูล เพราะคนในแวดวงมีการโพสต์ถึงเรื่องนี้กันอยู่ และหนึ่งในนั้นคือ สุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โพสต์ข้อความไว้ในเฟซบุ๊กว่า “วันที่ 22 นี้ ควรเป็นสถานีสุดท้าย เตรียมรวบรวมรายชื่อทุกสำนักรวมพลังพี่น้อง หยุดฟองสบู่สื่อหยุดหายนะสังคม!!!!!”

โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ “มติชนออนไลน์” ว่าเท่าที่ทราบตัวเลขคนถูกเลย์ออฟ จากทีวีดิจิทัลน่าจะเกิน 2,000 คนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเคยเรียกร้องมาตลอดว่าควรจะมีระบบที่ให้การดูแลคนทำงานเหล่านี้ เช่น กสทช.สนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงานของแต่ละองค์กรสื่อ และถ้าองค์กรไหนมี กสทช.ก็อาจจะให้สิทธิพิเศษ เช่น ลดค่าธรรมเนียมหรืออะไรสักอย่างเพื่อที่จะปกป้องคนทำงาน

“เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คนที่เดือดร้อนไม่ใช่นายทุน ทุกครั้งการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดของนายทุน ในการแก้ไขปัญหาดิจิทัลทีวีคือ 1.หาผู้ร่วมทุนใหม่ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าตรงนั้นจะทำธุรกิจอะไร ซึ่งผมมองว่าเป็นอันตรายกับสื่อและสังคมไทย และมันจะน่ากลัวกว่านี้ถ้าต่างชาติเป็นนอมินีให้คนไทยถือหุ้นเข้ามาแล้วต่างชาติเป็นเจ้าของสื่อไทย 2.การเอาคนออก”

ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกว่าถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง สิ่งที่เขาคิดจะทำ การนำเสนอสภาวะที่เกิดขึ้นให้กรรมการชุดปฏิรูปสื่อพิจารณา

“ปัญหาสภาพฟองสบู่ที่เป็นอยู่ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ก็จะเกิดการเอาคนออกเรื่อยๆ แน่นอนสังคมอาจจะมองว่าไม่กระทบต่อสังคม แต่ถ้ามองลงไปลึกๆ ให้ดี กระทบสังคมนะ คือแต่ก่อนนี้กว่าสื่อจะคิดจะทำข่าวอะไรแต่ละอย่าง เราคิดกันเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้คิดง่ายๆ คือคลิปอะไรที่สังคมสนใจ สื่อกระแสรองก็ไปเอามาทำ แล้วประชาชนคนบริโภคก็มาด่าว่าสื่อกระแสหลักไม่ทำหน้าที่ ทีนี้ถามว่าเวลาสื่อกระแสหลักทำหน้าที่ พอมันไม่ตอบจริต อ่านกันหรือเปล่าดูกันหรือเปล่า มันก็วนรูปอยู่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ในการปฏิรูปสื่อต้องนำความจริงตรงนี้มาพูดกันก่อน”

ขณะเดียวกันด้วยสภาพการแข่งขันของทีวีดิจิทัลที่มีจำนวนมากเกินไป และต่างฝ่ายจำเป็นต้องหาทางอยู่รอด ชนิดที่เขาว่า “วันนี้สื่อไม่ต้องคิดอะไรมาก คิดแค่ว่าทำแล้วมีเรตติ้ง ทำแล้วโฆษณาเข้าพอแค่นั้น” “ถามว่าคุณภาพสังคมจะอยู่กันแบบนี้จริงเหรอ”

ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีแผนจะเดินไปหาสื่อสำนักเพื่อขอรวบรวมรายชื่อเพื่อนำเสนอต่อกรรมการปฎิรูปสื่อ ขอให้หาทางแก้ปัญหาหรือหาทางออกให้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นตอนนี้ เพราะหวังไว้ในใจว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ ควรเป็นสถานีสุดท้าย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/12/2560

กอช.แนะสมาชิกโค้งสุดท้ายปี 2560 ส่งเงินออมเต็มเพดาน รับบำนาญตลอดชีพ

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งเดือนเท่านั้น สำหรับการส่งเงินสะสมกับ กอช.รอบปี 2560 (สามารถส่งเงินสะสมได้ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560) ซึ่ง กอช.ปรารถนาดีต้องการให้สมาชิกได้รับเงินสมทบเต็มอัตราจากภาครัฐที่จะสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ จึงขอแนะนำให้สมาชิก กอช.ส่งเงินสะสมให้ได้อย่างน้อยรวมแล้ว 1,200 บาทต่อปี

ส่วนสมาชิก กอช.ที่มีสิทธิ์การออมเพียง 10 ปี (สมาชิก กอช.อายุ 50 ปีขึ้นไป) ควรส่งเงินสะสมให้ได้ 13,200 บาทต่อปี ตามเพดานที่กำหนด เพื่อมีสิทธิ์รับเงินบำนาญตลอดชีพ ซึ่งสมาชิกต้องมีวินัยการออม สะสมเงินให้เต็มสิทธิ์ตลอดทั้ง 10 ปี ทำให้สมาชิกสามารถอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเมื่อถึงยามชราภาพ จะมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน ซึ่งเกิดจากการที่สมาชิกส่งเงินสะสม และมีรัฐช่วยออม พร้อมการันตีผลตอบแทน

นอกจากนี้ การออมเงินกับ กอช.ยังทำให้สมาชิกมีสิทธิ์พิเศษทางด้านภาษีสามารถนำยอดเงินที่ส่งสะสมเข้ากองทุนฯ ตลอดรอบปีไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน โดยนำใบแจ้งยอดเงินที่ได้รับจาก กอช. ใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการคำนวณและยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่ง กอช.จะดำเนินการจัดส่งใบแจ้งยอดเงินถึงมือสมาชิกทางไปรษณีย์ภายในเดือนมีนาคม 2561

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/12/2560

ช่วยลูกจ้างเมียนมารับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา จากนายจ้าง 1.5 ล้านบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยผลการช่วยเหลือกรณีลูกจ้างชาวเมียนมา จำนวน 39 คน ยื่นคำร้องกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ว่า บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา กสร. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายโดยสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงสิทธิ หน้าที่และข้อกฎหมาย ให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ ล่าสุด วันที่ 8 ธันวาคม 2560 นายจ้างได้นำเงินค่าจ้างและค่าล่วงเวลาตามที่ตกลงกับลูกจ้าง จำนวน 1,500,000 บาท มาวางไว้กับพนักงานตรวจแรงงานเพื่อนำจ่ายให้กับลูกจ้างชาวเมียนมาทั้ง 39 คน ต่อไป

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ด้วยการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงานสามารถร้องเรียนได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือที่สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 1546

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 18/12/2560

ฝึกอบรมขับรถตัดอ้อย เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการเผาไร่อ้อย รองรับไทยแลนด์ 4.0

18 ธ.ค. 2560 ที่ สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทอุดรบ้านผือ บ.เจริญสุข ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นายวิรัช คันศร ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการเผาไร่อ้อย รองรับไทยแลนด์ 4.0 หลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขา พนักงานขับรถตัดอ้อย โดยมี นายธีรระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ , สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี ผู้แทนจากศูนย์ความปลอดภัยเขต 4 จัดหางานจังหวัด , บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด และโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และวังเกษตร พร้อมเกษตรกรผู้สนใจ เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 28 คน

นางสาวสมลักษณ์ สุวรรณพรหมา ผอ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับ พนักงานขับรถตัดอ้อย พนักงานขับรถคีบอ้อย ช่างซ่อมบำรุงรถตัดอ้อยและรถคีบอ้อย เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี จึงได้ทำโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรลดการเผาไร่อ้อย รองรับไทยแลนด์ 4.0 ในหลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย

โดยการอบรมมีการบรรยายความปลอดภัยในการขับรถตัดอ้อย ส่วนประกอบของรถ และเครื่องยนต์ ระบบหล่อลื่นและระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ระบบควบคุมรถตัดอ้อย ปฏิบัติให้ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งกำหนดฝึกวันที่ 18 - 20 ธันวาคม ระยะเวลาฝึก 18 ชั่วโมง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานในสถานประกอบกิจการ พนักงานขับรถตัดอ้อย บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่พัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 28 คน โดยฝึกอบรมที่ สมาคมไร่อ้อยอีสานเหนือ อ.บ้านผือ

นายวิรัช กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ เนื่องจากกำลังคนของประเทศไทย ขาดประสิทธิภาพทักษะด้านฝีมือแรงงาน และทัศนคติที่ไม่ต้องการทำงานในลักษณะที่ใช้แรงงาน เป็นผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน การฝึกอบรมครั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สามารถรู้ถึงหลักความปลอดภัยในการขับรถตัดอ้อย สามารถขับรถตัดอ้อยได้ถูกวิธี เกิดความปลอดภัย รู้ถึงหลักการบำรุงรักษารถตัดอ้อย จากการฝึกจากรถตัดอ้อยจริง จะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยต้องการให้คนไทยมีงานทำอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพที่มั่นคง

ที่มา: คมชัดลึก, 18/12/2560

ก.แรงงานจับมือ IM Japan ขยายฝึกงานญี่ปุ่นเป็น 5 ปี

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายเคียวอิ ยานากิซาวา ประธานผู้บริหาร IM Japan ในโอกาสร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น (IM Japan) ระหว่างกระทรวงแรงงานกับองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น โดยกล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เริ่มมีการลงนามครั้งแรกเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่นตามโครงการ IM Japan ที่ได้ส่งเยาวชนไทยที่เรียนจบเทคนิคไปฝึกงานเพื่อแสวงหาโอกาส เพิ่มทักษะของตนเอง และนำความรู้ที่ได้กลับมาต่อยอดในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ เยาวชนแต่ละคนยังได้รับค่าตอบแทนซึ่งเป็นรายได้เดือนละประมาณ 30,000 บาท รวมทั้งการได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี และระเบียบวินัยในการทำงานแบบญี่ปุ่น เป็นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนไทยที่ได้นำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์จากการฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมาต่อยอดในการประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีกด้วย

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การลงนามในครั้งนี้ IM Japan รัฐบาลญี่ปุ่นมีการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝึกงานด้านเทคนิคชาวต่างชาติใหม่ โดยได้ขยายเวลาการฝึกงานจาก 3 เป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งปัจจุบันโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีแรงงานไทยที่เคยเข้าไปเป็นผู้ฝึกงานทางเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นแล้วกว่า 4,000 คน ซึ่งถือเป็นผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสโลกของการทำงานแบบญี่ปุ่น และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากสถานประกอบการของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 19/12/2560

แรงงานไทยตำแหน่งผู้ประกอบการอาหารไทยต้องทำใบอนุญาต Tom Yam Pass

กระทรวงแรงงาน เตือนแรงงานไทยที่จะเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียในตำแหน่งผู้ประกอบการอาหารไทย ควรตรวจสอบนายจ้างที่จะเข้าไปทำงานด้วยว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียกำหนด และมีใบจดทะเบียนประกอบธุรกิจและใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และขอให้นายจ้างดำเนินการขอทำใบอนุญาต Tom Yam Pass เพื่อป้องกันการเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียชี้แจงถึงการทำใบอนุญาต Tom Yam Pass ซึ่งเป็นใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass (Temporary Empioyment) ระยะสั้น ที่ทางการมาเลเซียออกให้กับแรงงานไทย ตำแหน่งผู้ประกอบการอาหารไทย (Tukang Masak Masakan thai) โดยในระยะแรกทางการมาเลเซียออกใบอนุญาตแบบระยะสั้น ๓ เดือน และต่ออายุได้เรื่อยๆ และเมื่อปี ๒๕๕๙ ทางการมาเลเซียได้ปรับระยะเวลาของใบอนุญาตจาก เดิม ๓ เดือน เป็น ๖ เดือน ซึ่งการทำใบอนุญาตดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างต้องเป็นผู้ดำเนินการ แม้ว่าแรงงานไทยประสงค์จะทำใบอนุญาตให้ถูกต้อง แต่นายจ้างไม่ดำเนินการให้ หรือกรณีที่นายจ้างมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียกำหนด ไม่มีใบจดทะเบียนประกอบธุรกิจและใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ก็ไม่สามารถดำเนินการทำใบอนุญาตให้แรงงานไทยได้

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียในตำแหน่งผู้ประกอบการอาหารไทย ควรให้นายจ้างดำเนินการขอทำใบอนุญาต Tom Yam Pass ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบนายจ้างที่จะเข้าไปทำงานด้วยว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียกำหนด และมีใบจดทะเบียนประกอบธุรกิจและใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันการเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1694 และเว็บไซต์ http://www.overseas.doe.go.th/

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 18/12/2560

สั่งบีโอไอ หาทางออกมาตรการส่งเสริมลงทุน หนุนเอกชนสร้างบ้านพักให้แรงงานต่างด้าว จัดโซนนิ่ง ดูกฎระเบียบให้ชัด ไม่กระทบความมั่นคง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน หาทางออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชนในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าวบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้เป็นไปตามนโยบายการจัดโซนนิ่งพื้นที่พักอาศัยเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจน และสามารถดูแลได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการออกมารองรับ โดยเฉพาะบีโอไอ ซึ่งมีเครื่องมือทางด้านการส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการที่เป็นภาษี และไม่ใช่ภาษี ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนได้มีการก่อสร้างที่พักอาสัยของคนต่างด้าวขึ้น โดยการดำเนินการครั้งนี้ นายกฯ ยังได้ย้ำด้วยว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมครม.ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ยังให้คำถึงประเด็นในด้านความมั่นคงด้วย

ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พิจารณาจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานชั่วคราวในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรม และมีความสนใจเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

ที่มา: เดลินิวส์, 18/12/2560

คสรท.ร้องของขวัญปีใหม่ “บิ๊กอู๋” ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 712 บาทเท่ากันทั่ว ปท. นายจ้างโต้ทำไม่ได้

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมแสดงจุดยืนปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ว่า คสรท.จะเดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอแสดงจุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ทางคณะกรรมการค่าจ้างจะมีการพิจารณาและประกาศใช้ในปี 2561 โดย คสรท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างไม่เท่ากัน เนื่องจากการปรับเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะข้อเท็จจริงแล้วต้องปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ และต้องปรับขึ้นตามอัตราค่าครองชีพ ณ ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

นายชาลีกล่าวอีกว่า คสรท.ได้มีการสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานเดือนกันยายน 2560 จำนวน 2,959 คน แบ่งเป็นเพศชาย 982 คน เป็นเพศหญิง 1,962 คน ไม่ได้ระบุเพศ 15 คน โดยสำรวจ 4 ภูมิภาค ครอบคลุม 29 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคกลางและตะวันออก มีจ.ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระยอง อ่างทอง ชลบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร ภาคอีสาน มีจ.สกลนคร กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา ขอนแก่น ภาคเหนือ มีเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง และภาคใต้ มีนครศรีธรรมราช นราธิวาส ชุมพร และพัทลุง

นายชาลีกล่าวว่า โดยผลสำรวจพบว่า ช่วงอายุงานของลูกจ้างทำงานมาแล้วเฉลี่ยสูงสุด 6-10 ปี ซึ่งจากการสอบถามว่า ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,959 คน พบเป็นลูกจ้างค่าจ้างรายเดือนมีถึง 2,153 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.76 ขณะที่ลูกจ้างค่าจ้างรายวัน 796 คน คิดเป็นร้อยละ 26.9 ทั้งนี้ได้สอบถามถึงค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุม พ่อ แม่ ลูกรวม 3 คน พบว่ามีรายจ่ายที่จำเป็น อาทิ ค่าเช่าหรือค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดูแลบุพการี ค่าเทอมลูก ค่านมลูก ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ เฉลี่ยจากข้อมูลกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจะต้องจ่ายอยู่ที่ 14,771.40 บาทต่อเดือน และหากคิดเฉลี่ยรายวันพบว่า จะมีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเท่ากับ 492.38 บาท ซึ่งจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทก็ยังไม่เพียงพอ และหากขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันทั่วประเทศอีกก็ยิ่งไม่เป็นธรรม

“จากค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้มีการสอบถามและสรุปค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแรงงานครอบครัว 3 คนจะอยู่ที่ 712.3072 บาทต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้มาจากการคำนวณ ดังนี้ 1.ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงาน 1 คนอยู่ที่ 219.92 บาทต่อวัน ซึ่งมีค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทางไปทำงาน เป็นต้น และ 2.จากค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมถึงพ่อแม่ และลูก อยู่ที่ 492.38 บาทต่อวัน ซึ่งจากค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวจะอยู่ที่ 712.3072 บาทต่อวัน ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องปรับเพิ่มมากขึ้น และเท่ากันทั่วประเทศ แต่ก็เข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าว ก็ต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้างด้วย แต่ก็อยากให้พิจารณาจากสถานการณ์ความเป็นจริงจุดนี้” นายชาลี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นไปไม่ได้ นายชาลีกล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจ แต่หากไม่ได้ก็ต้องปรับเพิ่มมากกว่าเดิม ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อน ทางคสรท.เคยสำรวจว่าค่าจ้างที่เหมาะสมต่อ 1 คนควรอยู่ที่ 360 บาทต่อวัน ซึ่งหากเพิ่มได้จำนวนนี้ก็ถือว่ายังดี แต่ที่สำคัญต้องปรับเพิ่มเท่ากันทั่วประเทศไทย แต่ที่ทราบมาเหมือนก่อนหน้านี้คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมจะปรับขึ้นแค่ 30 จังหวัด และปรับเพิ่มอยู่ที่ 5-10 บาทเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 4 โซน โซนแรกเท่าเดิม 300 บาทต่อวัน โซนที่สอง ปรับเพิ่ม 305 บาท โซนที่สามปรับเพิ่ม 308 บาท และโซนที่สี่ปรับเพิ่ม 310 บาท การแบ่งแบบนี้ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

“เข้าใจว่าการพิจารณาค่าจ้างเลื่อนออกไป อาจเพราะพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพิ่งรับตำแหน่งด้วย และเรื่องนี้ก็ต้องมีการพิจารณาอีกมาก แต่ทางคสรท.ก็อยากจะเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่คิดคำนวณโดยไม่ดูค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ทางคสรท.จะขอแสดงจุดยืนเรื่องนี้ และขอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศเพียงชุดเดียว ที่มีองค์ประกอบคณะกรรมการที่หลากหลายกว่าปัจจุบัน”รองประธาน คสรท. กล่าวและว่า พวกตนก็หวังเพียงว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคนทุกพื้นที่จริงๆ จึงคงต้องฝากความหวังกับท่านรัฐมนตรีฯ

ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำต้องอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง ซึ่งมีไตรภาคี ทั้งรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งการที่ออกมาระบุว่าต้องได้ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ และต้องเพิ่มสูงกว่า 700 บาทต่อวัน เพื่อนำมาเลี้ยงครอบครัวและผู้ใช้แรงงานเองรวม 3 คนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก โดยประเด็นเพิ่มค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศนั้น มีบทเรียนมาแล้วสมัยอดีตที่เพิ่มเท่ากันหมด สุดท้ายส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม ยกตัวอย่าง ในอดีตเคยปรับเท่ากันหมด เห็นชัดในจ.น่าน พะเยา จากเดิมได้ค่าจ้างวันละ 131 บาท เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท กระทบต่อนายจ้างขนาดเล็กต้องปิดกิจการ เพราะอยู่ไม่ได้ แบบนี้ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหรืออย่างไร

“ส่วนที่เสนอให้ปรับเงินสูงขึ้น เพื่อเลี้ยงครอบครัวรวม 3 คน หรือแม้แต่คนเดียวจะให้สูงถึง 360 บาทต่อวันนั้น ก็ต้องมาพิจารณาในคณะกรรมการที่มีไตรภาคีก่อน ว่าตัวเลขเท่าไรจึงจะเหมาะสม จะให้บอกตอนนี้คงไม่ได้ แต่ก็ต้องรับได้ทั้งหมด ซึ่งการจะเสนอข้อมูลอะไรนั้นต้องมีเหตุผลที่ยอมรับและไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วย ส่วนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างวันไหนนั้น ตนก็ยังไม่ทราบ คงต้องรอจากทางฝั่งกระทรวงแรงงาน” นายอรรถยุทธกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/12/2560

"อดุลย์" สั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่ สปส.ยักยอกเงินชราภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งลงโทษไล่ออก กรณีพนักงานประกันสังคมทุจริตเงินสมทบบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน พร้อมทั้งเอา ผิดทางอาญา กำชับเร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกราย พร้อมทบทวนมาตรการอุดช่องโหว่ หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย

กรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พื้นที่ 3 กทม.เขตดินแดง ทุจริตเงินออมชราภาพของผู้ประกันตน วันนี้ (18 ธ.ค.2560) นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม หรือสปส.ดำเนินการทางวินัยและอาญากับพนักงานคนดังกล่าวของ สปส. นอกจากนี้ให้เร่งเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบทุกรายทันที และให้สปส.ทบทวนมาตรการทั้งระบบ เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้ซ้ำรอยในลักษณะนี้อีก

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เหตุการณ์นี้พบว่าเจ้าหน้าที่ สปส. ทุจริตเงินออมชราภาพของผู้ประกันตน โดยมีพฤติกรรมนำธนาณัติของผู้ประกันตนไปกระทำการบันทึกแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ในกระบวนการจ่ายธนาณัติ และนำธนาณัติดังกล่าวไปเบิกเงินกับที่ทำการไปรษณีย์ จากนั้นนำเงินที่ได้ ไปเป็นของตนเอง ตั้งแต่ปี 2559 โดยได้มีการสอบสวนอย่างเร่งด่วน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อ 21 ก.ค.2560 และพบว่าทุจริตจริง

จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเมื่อ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด เมื่อ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสอบสวนอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องภายหลัง และเป็นข้อมูลเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และต้องคืนเงินให้ผู้ประกันตนทุกคนด้วย

นายสุรเดช กล่าวว่า สำหรับเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการสำนักงานประกันสังคม หากพบว่ามีการทุจริตเช่นกรณีนี้หรือกรณีอื่นๆ ทุกคน ต้องถูกดำเนินการ ทางกฎหมาย อย่างเด็ดขาดทุกคน ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจ สำนักงานประกันสังคมมีการดูแลเงินของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ามาอย่างดีที่สุด

ที่มา: ThaiPBS, 18/12/2560

อดีตพนักงานรัฐ สธ.ร้อง ‘ขอคืนอายุราชการ ลดเหลื่อมล้ำเงินเดือน’ ชี้ 17 ปีถูกลอยแพ

ชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัด สธ.ปี 43-46 ระดมพลังยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ยังศูนย์ดำรงธรรม 77 จังหวัด แก้เหลื่อมล้ำการนับอายุราชการและเงินเดือน ชี้ 17 ปีแห่งการลอยแพอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สูญสิ้นทั้งอายุราชการ และ ความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยา

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560 นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 กล่าวว่า วานนี้ (15 ธันวาคม 2560) ชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 ได้ยื่นหนังสือสมุดปกขาว ขอความเป็นธรรม ณ ศูนย์ดำรงธรรม ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเรียน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คืนความเป็นธรรมแก่อดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 2 ข้อ คือ

1. ขอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ

2. ทบทวนการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้กรณีดังกล่าว เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สืบเนื่องจากนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการของรัฐบาลในปี 2543 กระทบต่อกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นต้องเลือกบรรจุเฉพาะในวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ ปล่อยลอยแพนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขที่จบการศึกษาในปี พ.ศ. 2543 จนเกิดปรากฏการ “ม็อบคุณหนู” ในปี พ.ศ.2543 ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ห็นชอบให้มีการจ้างงานประเภทใหม่เรียกว่า “พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ความหมายคือเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกประเภทหนึ่ง รับเงินเดือนจากงบประมาณ หมวดเงินเดือนเช่นเดียวกับแพทย์ ค่าตอบแทนใช้บัญชีเงินเดือนพลเรือนโดยอนุโลม การเลื่อนเงินเดือน วันเวลาทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน วินัย การสิ้นสุดการจ้าง เหมือนข้าราชการทุกประการ แต่ไม่นับอายุราชการ

จนเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติบรรจุและแต่งตั้งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่ได้มีการนำระยะเวลาการปฏิบัติงานในช่วงเป็นพนักงานของรัฐฯ (ก่อนการบรรจุ) มาคำนวณในสิทธิประโยชน์กองทุนบำเหน็จบำนาญแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่พนักงานของรัฐฯทุกท่าน ได้รับการปฏิบัติเหมือนข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการ

ความไม่เป็นธรรมครั้งที่ 2 เมื่อสำนักงาน ก.พ.และคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะที่ 1 การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๘.๑/๑๕๔ ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556

2. ระยะที่ 2 การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๑๐๑๒.๒/๒๕๐ ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ ตามหนังสือ ที่ สธ ๐๒๐๘.๐๙/๑๘๖๒๔ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ใน 2 ประเด็น คือ

1. การได้รับเงินเดือนระหว่าง 1.ข้าราชการปกติ 2.พนักงานของรัฐฯ (พนร) 3.กลุ่มที่ได้รับการเยียวยา ที่มีอายุงาน/อายุราชการใกล้เคียงกัน และตำแหน่งประเภทเดียวกัน เปรียบเทียบเงินเดือน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2559 พบว่า

เงินเดือน

ข้าราชการที่ได้เยียวยาเงินเดือนมากกว่าข้าราชการปกติ 6,100 บาท

ข้าราชการที่ได้เยียวยาเงินเดือนมากกว่าพนักงานของรัฐฯ 7,800 บาท

2. เปรียบเทียบกรณีอายุงาน/อายุราชการที่แตกต่างกัน แต่ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงกัน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 พบว่า

อายุราชการ

ข้าราชการปกติอายุราชการมากกว่าพนักงานของรัฐฯ 3 ปี 8 เดือน

พนักงานของรัฐฯ อายุราชการมากกว่า ข้าราชการที่ได้เยียวยา 5 ปี

“จนถึงวันนี้ ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทำลายระบบธรรมมาภิบาล และสร้างความแตกแยก ความไม่สามัคคีในองค์กรเป็นอย่างมาก พวกเราจึงต้องขอความเป็นธรรมจากพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ไข” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๔๐๘.๓/๔๓๗๘๕ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2560 แจ้งมายังปลัดกระทรวงสาธารณสุข เนื้อความสำคัญว่า ไม่มีข้าราชการกลุ่มใดที่จะมีสิทธินำระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งอื่นมานับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ทางชมรมอดีตพนักงานของรัฐฯ ได้ยื่นหนังสือ ถึง รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ขอความเป็นธรรมกรณีพนักงานของรัฐในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ได้นับอายุราชการ (ในเหตุกรณีพิเศษ) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา และจะติดตามหนังสือดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: Hfocus, 17/12/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net