Skip to main content
sharethis
พรรคเล็กหวั่นเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองเดิม เสนองดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจากพรรคจัดตั้งใหม่มีเวลาสมัครสมาชิกน้อยกว่าพรรคเก่า และการให้ คสช. อยู่จนกว่า กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ด้านประชาธิปัตย์ชี้คำสั่ง ม.44 ขยายเวลาพรรคการเมือง สร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติ
 
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของ สนช. ได้เชิญนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และพรรคการเมืองขนาดเล็กเข้าหารือต่อประเด็นปัญหาในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่าอยากให้ สนช.แก้ไขปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองเดิม และพรรคการเมืองใหม่ในการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค การเสนอให้งดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจากพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีเวลาในการสมัครสมาชิกพรรคน้อยกว่าพรรคการเมืองเก่า และการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศจนกว่ากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกตั้ง แต่จะต้องไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 โดยจะต้องให้พรรคการเมือง สามารถประชุมใหญ่ได้ เพื่อวางนโยบาย และคัดเลือกกรรมการบริหารพรรค ส่วนจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น แล้วแต่ สนช. และหากเห็นว่าเวลาไม่เพียงพอ ก็อาจเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ได้เช่นกัน
 
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ระบบไพรมารีโหวตเป็นภาระของพรรคการเมืองแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องกรอบเวลา เพราะบางพรรคการเมือง มีศักยภาพที่แตกต่างอย่างชัดเจน ส่วนปัญหาตามบทเฉพาะของกฎหมาย ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากตามกฎหมายสรุปได้ พรรคการเมืองเก่ากฎหมายได้รับรองความเป็นสมาชิกภาพของพรรค แต่สำหรับพรรคใหม่นอกจากจะต้องหาสมาชิกแล้ว ก็ยังจะต้องจ่ายค่าบำรุงให้พรรคการเมืองด้วย 
 
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มาร่วมชี้แจง ก็ยังสนับสนุน ให้งดใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจาก เกรงว่าจะมีระยะเวลาไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการไพรมารีโหวตได้ทัน และยังขอให้ คสช. ปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
 
อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย กล่าวว่าในระหว่างนี้ กรรมาธิการ จะรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ก่อน และจะต้องรอดูเนื้อหาในคำสั่ง คสช. ที่หัวหน้า คสช. ลงนามวันนี้ ว่ามีเนื้อหาอย่างไร ก่อนจะเชิญตัวแทนจากพรรคการเมือง และฝ่ายต่าง ๆ มาหารืออีกครั้ง และหากให้ สนช. แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน
 
ประชาธิปัตย์ชี้คำสั่ง ม.44 ขยายเวลาพรรคการเมือง สร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติ
 
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีการกำหนดขยายเวลาให้พรรคการเมืองและการให้ดำเนินการต่าง ๆ ในเรื่องสมาชิกพรรค ว่าประกาศดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจควรคิดให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและต้องมีความตรงไปตรงมา จริงใจในการดำเนินการ
 
นายราเมศ กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ต้องการให้ คสช.ทบทวนว่าในความเป็นจริงพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกรณีที่ในคำสั่งมีการระบุให้คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรค ต้องกลับมายืนยันตัวตนใหม่ ยื่นหลักฐานใหม่ เสียค่าบำรุงสมาชิกใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่ 1 เม.ย. 2561 ในทางปฏิบัติ ภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ความหมายนี้ไม่ต่างอะไรกับการให้มาสมัครใหม่ ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก และเหมือนเป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง
 
“ประชาชนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมายาวนานและเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย วันนี้ผู้มีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่เร่งรัดแล้วตัดสิทธิ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลา ผู้มีอำนาจบอกว่าให้สมาชิกผูกพันกับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน แต่คำสั่งที่ออกมานี้กลับตรงกันข้าม ไม่อายบ้างหรือ ที่เขียนคำสั่งออกมากันแบบนี้ ปากพูดเหมือนดี แต่นี้คือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ” นายราเมศ กล่าว
 
นายราเมศ กล่าวอีกว่า สมาชิกพรรคมีความผูกพันและมีส่วนร่วมกับพรรคมาโดยตลอด แต่กลับออกคำสั่งดังกล่าวมาเพื่อจำกัดสิทธิ ถือเป็นความไม่เป็นธรรม ไม่เห็นประโยชน์แก่ระบบประชาธิปไตย พร้อมย้อนถาม คสช.และรัฐบาลว่าการออกคำสั่งเช่นนี้ต้องการอยู่ต่อ หรือต้องการช่วยเหลือพรรคการเมืองใดหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และสุดท้ายผู้มีอำนาจจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำเช่นนี้
 
ส่วนนายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่การคลายล็อคพรรคการเมือง แต่ถือเป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคที่จะต้องให้สมาชิกมาสมัครใหม่ในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะทำให้สิ้นสภาพสมาชิกภาพ เพราะสมาชิกพรรคคือหัวใจของพรรคการเมือง และเห็นว่า คสช.กำลังสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพรรคการเมืองใหม่ อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระและกระทบกับระบบไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญ และคาดไม่ถึงว่า คสช.จะออกคำสั่งเช่นนี้ออกมา
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net