ผลโหวตเฟซบุ๊ก 2017 'ไข่แมว' แชมป์ ตามด้วย คาราโอเกะชั้นใต้ดิน, สมศักดิ์ เจียมฯ

ผลโหวตเฟซบุ๊กแห่งปี 2017 อันดับ 1 เพจ ไข่แมว ได้ 5 หมื่นเสียง ตามด้วย เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดินใต้ดิน ได้ 2.9 หมื่นเสียง ขณะที่ บัญชีเฟซบุ๊ก 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' มาเป็นอันดับ 3 ได้ 2.1 หมื่นเสียง แชมป์เก่า 'หมอแล็บแพนด้า' ได้ที่ 5

<--break- />

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาไทได้จัดกิจกรรมร่วมโหวตเฟซบุ๊กทั้งแฟนเพจและบัญชีแห่งปี 2017 ล่าสุดปิดผลโหวตไปเมื่อ 00.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมาและได้ผลออกมาแล้วสำหรับ 10 อันดับเฟซบุ๊กแห่งปี 2017

อันดับ 1 เพจ ไข่แมว ได้ 50,352 เสียง (รองแชมป์ปีที่แล้ว) 
อันดับ 2 เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน ได้ 29,847 เสียง
อันดับ 3 Somsak Jeamteerasakul ได้ 21,230 เสียง
อันดับ 4 เพจ รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ ได้ 18,790 เสียง
อันดับ 5 เพจ หมอแล็บแพนด้า ได้ 18,732 เสียง (แชมป์ปีที่แล้ว)
อันดับ 6 เพจ ขอบสนาม ได้ 15,959 เสียง
อันดับ 7 เพจ Lowcostcosplay ได้ 15,592 เสียง
อันดับ 8 เพจ สัตว์โลกอมตีน ได้ 14,831 เสียง
อันดับ 9 เพจ แหม่มโพธิ์ดำ ได้ 13,759 เสียง
อันดับ 10 เพจ ยิ้มอ่อน ได้ 12,841 เสียง

ผลคะแนน 40 อันดับแรก : ดูรายละเอียดผลโหวตทั้ง 100 เพจได้ที่ https://www.facebook.com/events/100669714062188/permalink/100671240728702

อันดับ 1 เพจ 'ไข่แมว' ปัจจุบันมียอดถูกใจ 4.3 แสน ในปีที่แล้วได้รองแชมป์ เป็นเพจที่มีจุดเด่นเรื่องการวาดภาพล้อเลียนสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ส่วนเพจอันดับ 2 คือ เพจ 'คาราโอเกะชั้นใต้ดิน' นั้น ปัจจุบันมียอดถูกใน 1.1 ล้าน เป็นเพจที่นำภาพที่เกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมืองที่เป็นกระแสขณะนั้น หรือภาพที่ดูไม่มีอะไร มาใส่ข้อความในลักษณะคาราโอเกะจากเนื้อเพลงเพื่อล้อเลียนเสียดสีสร้างรอยยิ้มมุมปาก ไปถึงขนาดลั่นเสียงหัวเราะออกมาเมื่อเห็นภาพเช่นกัน

ขณะที่อันดับ 3 คือ Somsak Jeamteerasakul เป็นเฟซบุ๊กลักษณะบัญชีของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาใช้เฟซบุ๊กโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย นอกจากนี้สมศักดิ์ยังมีฉายาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยว่า “บาโฟ” มาจากบอสของเกมส์ออนไลน์ ด้วยสไตล์การไล่ถกเถียงของสมศักดิ์ในโลกเฟซบุ๊กทำให้มีผู้เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์  “บาโฟลง” เหมือนบอสมาลงในพื้นที่การถกเถียงดังกล่าว

สำหรับยอดผู้ติดตามนั้นไม่สามารถระบุได้เนื่องจากถูกปิดการแสดงผล เพราะก่อนหน้านี้ หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน มีรายงานข่าวว่าตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยกับครอบครัวโดยระบุชัดว่าเป็นเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2559  ก่อน สมศักดิ์จะปิดการแสดงผลจำนวนผู้ติดตาม มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 283,400 ราย

อันดับ 4 เพจ รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ  ปัจจุบันมียอดถูกใจกว่า 1.5 ล้าน เป็นเพจที่นำภาพแปลกๆ หรือแม้แต่ภาพธรรมดาๆ มาตัดต่อรวมทั้งเชิญชวนให้ลูกเพจตัดต่อส่งเข้ามาแสดงในช่องคอมเม้นท์ จากภาพที่ดูไม่มีอะไรเลย เมื่อตัดต่อแล้วกลับสร้างเสียงฮือฮาหรืออารมณ์ขันได้ และอันดับ 5 คือ เพจ หมอแล็บแพนด้า ซึ่งเป็นแชมป์เมื่อปีที่แล้ว (59) ปัจจุบันมียอดถูกใจกว่า 1.5 ล้าน มี ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เป็นแอดมินเพจ ที่นี่ให้ทั้งอารมขันจากการล้อเลียนและให้ความรู้ด้วยการโพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ผิวขาว และอาหารเสริมต่างๆ ฯลฯ 

สำหรับกระบวนการโหวตในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์แรกได้เปิดให้มีการเสนอชื่อทั้งแฟนเพจและบัญชีที่ควรเป็นตัวเลือกในการโหวต ซึ่งมีผู้เสนอจำนวนมาก โดยเฉพาะ BNK48 มีผู้เสนอหลายคน จากนั้นทีมงานได้คัดเลือกตั้งเลือกที่มีผู้เสนอและมีผู้กดถูกใจหรือสนับสนุน 100 อันดับแรกมาเป็นตัวเลือกในการโหวตสัปดาห์ที่ 2 จนได้ผลออกมาดังกล่าว

โพสต์ช่วงเสนอชื่อเพื่อเป็น 100 เฟซบุ๊กที่ให้ร่วมโหวตในช่วงสัปดาห์ถัดมา จนได้ผลโหวตดังที่กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ในการตั้งโหวตเผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกับการโหวตเมื่อปีที่แล้ว คือ เมื่อแชร์ลิสต์บัญชีการโหวตไปจะกระทบต่อการโหลดหน้าเพจของผู้ที่แชร์ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 วันก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวแล้ว และภายหลังหลายเพจได้เชิญชวนให้ร่วมโหวตเพจตนเองด้วยการโพสต์เป็นภาพพร้อมลิงก์เข้ามาโหวตแทน อย่างไรก็ตามแม้ประสบกับปัญหาดังกล่าว ก็ยังมีผู้แชร์ลิสต์บัญชี 100 รายการโหวต์ไปถึง 1,239 ครั้ง และมีผู้แสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าวกว่า 800 ความเห็น

ตัวอย่างโพสต์ที่แต่ละเพจชวนเข้ามาโหวตตามสไตล์ของตัวเอง : 

อย่างไรก็ตามตลอดปีที่ผ่านมามีข่าวการปรับลดยอดการเข้าถึงเฟซบุ๊กประเภท 'แฟนเพจ' ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ มีการทดลองแยกเนื้อหาจากเพจและโพสต์จากเพื่อนออกจากกัน ใน 6 ประเทศ โบลิเวีย กัวเตมาลา กัมพูชา สโลวาเกีย เซอร์เบีย และศรีลังกา ซึ่งเมื่อ กล่าวเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา blognone.com รายงานว่า TEVAN DOJCINOVIC สังกัดองค์กรสื่อสารมวลชนไม่แสวงหากำไรในประเทศเซอร์เบีย (KRIK) ออกมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพจที่เขาสังกัด เขาบอกว่าจู่ๆ เนื้อหาของเพจบริษัทก็ไม่แสดงบน News Feed เขาตกใจมากเพราะนั่นเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เดียวของ KRIK ที่เป็นสื่อเล็กๆ

blognone.com รายงานด้วยว่า ตอนแรก DOJCINOVIC คิดว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค แต่มาค้นพบภายหลังว่าไม่ใช่ เนื้อหาเพจของเขา รวมถึงเพจอื่นถูกแยกไปอยู่ใน Explore Feed ซึ่งคนใช้งานเฟซบุ๊ก ต้องกดเข้าไปที่หน้านั้นเพราะมันไม่ได้ตั้งเป็นหน้าแรกทันทีที่ผู้ใช้เข้าใช้งานเฟซบุ๊ก แม้เฟซบุ๊ก จะออกมาบอกภายหลังว่าเป็นแค่การทดลอง ไม่มีแผนการจะเปิดใช้ แต่หลายฝ่ายก็วิเคราะห์กันว่าอาจจะเปิดใช้ในอนาคต DOJCINOVIC บอกเพิ่มเติมว่าแม้เฟซบุ๊กเลือกจะทดลองระบบในประเทศเล็กๆ แต่สำหรับพวกเขามันสร้างผลกระทบใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่กับองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่ยังรวมถึงสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร KRIK เองก็พยายามทำหน้าที่เป็นสื่อเจาะประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถตีแผ่ได้มาตลอด เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางหลักที่ KRIK สื่อสารไปถึงประชาชน ดังนั้นคงต้องหันไปให้น้ำหนักกับทวิตเตอร์มากขึ้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท