Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่สวดมนต์ข้ามปี ลดค่าครองชีพ ตะลุยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของขวัญเด็กแรกเกิด ชลประทานขนาดเล็ก ปีใหม่เที่ยวทั่วไทยสุขใจไปกับกระทรวงเกษตรฯ - ธอส. จ่ายเงินจำนวน 1,000 บ. ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน ที่ไม่เป็น NPLs จนถึงกระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 “9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ”  ฯลฯ

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผลภายหลังการประชุม ครม. (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

26 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารวรรณกลาง สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ซึ่งมีการรับทราบและอนุมัติมาตรการสำคัญที่น่าสนใจคือ โครงการต่างๆ ในช่วงปีใหม่ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

กล่องที่ 1 ของขวัญปีใหม่ 85 โครงการ/กิจกรรม 

ครม. มีมติรับทราบโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนประจำปี 2561 รวม 85 โครงการ/กิจกรรม โดยจำแนกตามสาระสำคัญได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. โครงการ/กิจกรรมสำหรับเทศกาลปีใหม่ เช่น กิจกรรมส่งเสริมด้านศาสนา (กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ กิจกรรม “ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 ราชกาล”) กิจกรรมการจัดการแสดงเนื่องในโอกาส ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ การอวยพรปีใหม่ผ่านระบบ Online (ส.ค.ส. Online) ชุดความเป็นไทยสู่ใจประชาชน เป็นต้น

2. โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการลดค่าครองชีพและลดรายจ่าย 2.1 การจัดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด เช่น กิจกรรมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และกิจกรรมรณรงค์ใช้สินค้าไทย ส่งความสุขแบบไทยเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นต้น 2.2 การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร เช่น โครงการ Application สุดล้ำเพื่อเกษตรกรไทย ยุค 4.0 โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลพื้นที่ด้านการเกษตรครอบคลุม 76 จังหวัด การบริการขนส่งข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาและขนส่งสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปในอัตราพิเศษ  2.3 การลดรายจ่ายและค่าครองชีพด้านอื่น เช่น สถานธนานุบาลท้องถิ่นทั่วไทย มอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน การลดค่าใช้จ่ายหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม การประนอมข้อพิพาทให้กับประชาชน เป็นต้น

3. โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการ 3.1 การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการเรียนรู้ เช่น กิจกรรม night at maya city เปิดเมืองมายาในช่วงกลางคืนโดยนำชมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และออกร้านจำหน่ายสินค้า กิจกรรมเปิดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้เข้าชมฟรี และกิจกรรมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย เป็นต้น 3.2 การบริการต่าง ๆ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ โดยติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน ๆ ละ 1 จุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายการให้บริการงานยุติธรรมผ่านระบบเทคโนโลยี ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ “แอปอุตุ” แอปเพื่อการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

4. โครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาคน สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  4.1 การพัฒนาคน เช่น กิจกรรมตะลุยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ รับปีใหม่ 2561 โดยเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ  จังหวัดปทุมธานี การจัดนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจ ด้านนวัตกรรม โดยนำเสนอผลงาน แนวคิด และความสำเร็จของผู้นำด้านนวัตกรรมที่หลากหลายสาขาอาชีพในประเทศไทยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่สาธารณชน เป็นต้น 4.2 การจัดระเบียบและพัฒนาสังคม เช่น โครงการตลาดประชารัฐ : สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยพัฒนาตลาดใหม่และขยายพื้นที่ตลาดที่มีอยู่เดิมให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย โครงการปีใหม่ปลอดภัย คนไทยปลอดทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ โดยจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเคลื่อนที่ ณ จุดอำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น 4.3 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการของขวัญปีใหม่ ประชาปลอดภัย บรรเทาอุทกภัยด้วยผังลุ่มน้ำ โดยดำเนินการวางผังลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั่วประเทศจำนวน 25 ลุ่มน้ำ โครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย” เป็นต้น

กล่องที่ 2 ของขวัญ 16 โครงการ/กิจกรรมของ 4 กระทรวง

ครม. ยังมีติรับทราบโครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนประจำปี 2561 รวม 16 โครงการ/กิจกรรมของ 4 กระทรวง ดังนี้

1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มี 9 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้  1.1 ของขวัญเด็กแรกเกิด (โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน) 1.2 แอปพลิเคชันครอบครัว (โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว)  1.3 Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้าน/สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม (โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) 1.4 ผู้สูงอายุอายุยืน......เยาว์ (โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ) 1.5 เปิดศูนย์บริการคนพิการ 4 มุมเมือง (โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) 1.6 1300 โทรสุขทั่วไทย ยิ้มไกลทั่วโลก (โดยสำนักงานปลัดกระทรวงฯ) 1.7 ลด แลก แจก แถม (โดยการเคหะแห่งชาติ)  1.8 มอบบ้านพอเพียงชนบท 2,561 หลัง [โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)] และ 1.9 ลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (โดยสำนักงานธนานุเคราะห์)

2. กระทรวงพลังงาน (พน.) จัดทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ปีใหม่ ข้าวใหม่...อิ่มท้อง อิ่มใจช่วยชาวนา”

3. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี 3 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้  3.1 การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi – Speed Internet) สำหรับสถานศึกษา 3.2 กิจกรรมอาชีวะอาสา 3.3 โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มี 3 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้ 4.1 การพัฒนาระบบบริการการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One day surgery : ODS) 4.2 การพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application) “RDU รู้เรื่องยา”4.3 การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันสมุนไพรเฟิร์ส (Samunprai First) “ครบเครื่องเรื่องสมุนไพรไทยในแอปเดียว”

กล่องที่ 3 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ครม. รับทราบ โครงการ “ส่งความสุขปีใหม่ 2561 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เสนอ โดยมีสาระสำคัญของเรื่องคือ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่เกษตรกรและประชาชน โดยจัดทำโครงการ “ส่งความสุขปีใหม่ 2561 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ดังนี้

1) “มอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง” จำนวน 7 หน่วยงาน รวม 10 กิจกรรม เช่น โครงการชลประทานขนาดเล็ก ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหม่ (ข้าว ประมง) โครงการโคบาลสร้างอาชีพ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561/โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ/โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560 - 2561 โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน แจกปัจจัยการผลิต (ศูนย์หม่อนไหมฯ 21 ศูนย์) เป็นต้น

2) “เพิ่มพลังปีใหม่ ซื้อสินค้าเกษตรไทยคุณภาพดีในราคาพิเศษ” จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 23 แห่ง เช่น สินค้าปศุสัตว์ราคาถูก (ปศ.) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา (กยท.) เทศกาลส่งความสุขด้วยผลไม้ไทย (อตก.) ตลาดสีเขียว (ผักอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้า OTOP) (อสค.) ตลาดเกษตรกร ตลาดนัดชาวดอย เทศกาลชิมชาและกาแฟ และวัฒนธรรมชนเผ่าดอยแม่สลอง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ (สวพส.) การจัดกระเช้า/ชุดของขวัญ จากสินค้าเกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสินค้าประมง NON - IUU (กสส. มกอช. อตก. อสป.) เป็นต้น

3) “ปีใหม่เที่ยวทั่วไทยสุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” (29 ธ.ค. 2560 - 2 ม.ค. 2561)  3.1) เปิดสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าชม (ศูนย์ศึกษา ศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และให้ความรู้ด้านการเกษตร) รวม 97 แห่ง เช่น ศูนย์ข้าว (กข.) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร (ขป.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านปศุสัตว์ (ปศ.) ชวนเที่ยวไทยตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 (สถานีเรดาห์ฝนหลวง) (ฝล.) ชิมหม่อน ชมไหม สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม (มม.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จังหวัดราชบุรี) (พด.) (ดอยผาหม่น/ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัด) (กสก.) โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร) (กวก.) อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ (สวพส.) เป็นต้น

3.2) เปิดสถานที่ให้ประชาชนเข้าชมฟรี/ไม่คิดค่าบริการ รวม 11 แห่ง เช่น สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ/พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (ปม.) ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (สปก.) ฟาร์มโคนมไทย - เดนมาร์ค (อสค.) และพิพิธภัณฑ์กษัตริย์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ (พกฉ.) เป็นต้น และ 3.3) ศูนย์บริการเฉพาะปีใหม่/จิตอาสา รวม 342 จุด (กข. 20 จุด/ชป. 133 จุด/ กตส. 77 จุด/ปม. 27 จุด/ปศ. 23 จุด/กวก. 32 จุด/สศก. 12จุด/อสค. 1 จุด และ กยท. 17 จุด) ระยะเวลาดำเนินการ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561

กล่องที่ 4 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

ครม. รับทราบและเห็นชอบโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2561 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบโครงการเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน  1.1 โครงการของขวัญปีใหม่ 2561 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะจ่ายเงินจำนวน 1,000 บาท ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน ที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) และมีวงเงินกู้รวมวงเงินกู้ทุกบัญชีภายใต้หลักประกันเดียวกันไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยต้องเป็นผู้กู้ที่มีการชำระเงินงวดของเดือนธันวาคม 2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 31 ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับของขวัญจำนวนประมาณ 165,107 ราย และ 1.2 โครงการชำระดีมีคืนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2561 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 สำหรับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 ไม่เกิน 300,000 บาท โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับของขวัญเป็นเกษตรกรจำนวน 2.3 ล้านราย

2. รับทราบโครงการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อยทั่วไป และบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและมีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดถึง 40 ปี รวมทั้งมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามที่ธนาคารกำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ไม่เกินวันที่ 28 ธ.ค. 2561 หรือเมื่อธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเต็มวงเงินโครงการแล้ว โดยมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย วงเงินโครงการรวม 30,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และร้อยละ 3.00 ต่อปี สำหรับกรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท 2.2 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บุคลากรภาครัฐ) สำหรับบุคลากรภาครัฐตามที่ธนาคารกำหนด วงเงินโครงการรวม 30,000 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ MRR-3.75 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี) และ 2.3 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงบุคลากรภาครัฐตามที่ธนาคารกำหนด ที่มีภูมิลำเนาหรือมีความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี วงเงินโครงการรวม 1,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับ ผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับประชาชน ผู้มีรายได้น้อยและบุคลากรภาครัฐโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ใน 5 ปีแรก อยู่ที่ 2.50 ต่อปี

3. เห็นชอบการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ธอส.และ ธ.ก.ส. ดังนี้  3.1 ขอแยกบัญชีโครงการตามข้อ 1 และ 2 เป็น PSA เพื่อนำผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงให้นำส่วนดังกล่าวบวกกลับเป็นกำไรสุทธิเพื่อคำนวณโบนัสพนักงาน และ 3.2 สำหรับโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ตามข้อ 2.1 และ 2.3 ขอไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินโครงการเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของ ธอส. สำหรับกรณีที่ NPLs ภายใต้โครงการดังกล่าวส่งผลให้สัดส่วน NPLs ของ ธอส. สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม

กล่องที่ 5 กระทรวงแรงงาน 9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ

ครม. มติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 “9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ” สำหรับเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงแรงงานมอบให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ชื่นชอบ ช่างแรงงาน โดยให้บริการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการจุดพักรถ พร้อมให้บริการเครื่องดื่ม ผ้าเย็น นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า จำนวน 77 แห่ง บนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ถึงวันที่ 4 ม.ค. 2561

2. ชื่นชม ช่างประชารัฐ โดยจัดบริการช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน จำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ เดินสายไฟฟ้า ซ่อมประปา ล้างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีราคาถูก คุณภาพไว้ใจได้ มีความเต็มใจให้บริการ ด้วยมาตรฐานกระทรวงแรงงาน

3. ชื่นมื่น มีงานทำ โดยการจัดคู่คนให้ตรงงาน จัดหางานให้ตรงใจ จำนวนประมาณ 70,000 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีตำแหน่งงานรองรับการทำงานของผู้สูงอายุ จำนวน 2,500 อัตรา

4. ชื่นบาน บ้านประชารัฐ โดยให้ผู้ประกันตนกู้ยืมเงินซื้อบ้านในโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยมีวงเงินที่จัดสรรให้ธนาคารฯ ดำเนินการ จำนวน 5,000 ล้านบาท

5. ชื่นใจ ค่าเลี้ยงดูบุตร โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร อายุไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน ได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ดังกล่าว จำนวน 1,200,000 คน

6. ชื่นจิต สิทธิผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนแบบสมัครใจ ตามมาตรา 40 จำนวน 2,400,000 คน ที่จ่ายเงินสมทบในอัตรา 70 บาท และ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับการเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อนอนพักรักษาตัวจากวันละ 200 บาท เป็น 300 บาท กรณีเสียชีวิตรับเพิ่มเงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท และเพิ่มทางเลือกใหม่จ่ายเงินสมทบเพียง 300 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาท ถึง 300 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี หากทุพพลภาพรับเงินเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาทตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตรับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท รับเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่เกินคราวละ 2 คน รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60 ปี

7. ชื่นสุข เรียกรับสิทธิ เพิ่มช่องทางเรียกรับสิทธิแรงงาน โดยให้บริการลูกจ้างยื่นคำร้องออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.labour.go.th  เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และฮอตไลน์กระทรวงแรงงาน 1506

8. ชื่นชีวา ไร้โรคหน้าจอ โดยมอบ Application เพื่อรู้เท่าทันออฟฟิศซินโดรม โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม ส่งเสริมให้คนในองค์กรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม

9. ชื่นตา อาสาแรงงาน เพื่อให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่สื่อกลางในการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน และสร้างความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งตำแหน่งงานว่างเพื่อการมีงานทำ จากเดิมที่มีอยู่กว่า 7,200 คน ทุกจังหวัด โดยเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ 50 เขต อีก 253 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net