#MeToo ฉบับชาวไร่ เมื่อแรงงานภาคเกษตรในสหรัฐฯ จัดตั้งกลุ่มต้านละเมิดทางเพศ

กระแส #MeToo กลายเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่แพร่ขยายเป็นวงกว้างในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มจากการที่ผู้คนในวงการบันเทิงออกมาเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดจากการใช้อำนาจในระบบชายเป็นใหญ่ ตามมาด้วยวงการอื่นๆ สื่อสหรัฐฯ Truth-out นำเสนออีกหนึ่งวงการที่พูดถึงเรื่องนี้กันมาก่อนหน้าคือกลุ่มคนทำงานในไร่นาของอเมริกันและนำเสนอว่าพวกเขามีระบบจัดการเคลื่อนไหวต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร


By Wolfmann (Own work) [CC BY-SA 4.0], via Wikimedia Commons

27 ธ.ค. 2560 ลูเป กอนซาโล อาจจะไม่ใช่ดาราดังของฮอลลิวูด แต่เธอก็เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น #MeToo ชาวไร่ เธอเป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่มะเขือเทศ บนพื้นที่ชุมชนอิมโมคาลี รัฐฟลอริดา เธอบอกว่าผู้หญิงอย่างเธอไม่มีเวทีให้พูด เป็นคนธรรมดาเสียงไม่ดัง รู้สึกไร้ตัวตนและขาดโอกาส อย่างไรก็ตาม เธอก็สามารถรวมกลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ได้

"แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้ความสนใจกับความเจ็บปวดของผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมและอยู่ในสังคมที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ในที่ๆ การล่วงละเมิดแพร่ไปทั่ว" กอนซาโล กล่าวต่อสื่อ Truth-out คนทำงานในไร่อย่างพวกเธอก็ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเช่นกัน นั่นทำให้พวกเธอเริ่มพยายามจัดตั้งโครงการเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง

กลุ่มชาวไร่กว่า 5,000 ชีวิตรวมตัวกันเป็นสหพันธ์คนงานแห่งอิมโมคาลี (CIW) พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนงานข้ามชาติที่มาจากเม็กซิโก กัวเตมาลา และเฮติ ใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการต่อสู้กับการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ในไร่มะเขือเทศ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000  พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่ถูกกดขี่มากที่สุดนสหรัฐฯ พวกเขาต่อสู้กับบรรษัทใหญ่อย่างทาโกเบลล์และยัมแบรนด์ หลังจากที่บอยคอตต์ทาโกเบลล์เป็นเวลา 4 ปี CIW ก็สามารถเอาชนะและทำให้มีค่าแรงกับสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นได้

พวกเขายังได้จัดตั้งโครงการแฟร์ฟู้ดในปี 2554 ที่ทำให้บรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ทำตามข้อเรียกร้องของคนงานในการทำให้สถานที่ทำานปลอดการใช้ความรุนแรง การคุกคาม การใช้แรงงานทาส รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศด้วย โดยขอให้มีการเปิดฮอตไลน์สายด่วนให้คนงานสามารถร้องเรียนการกระทำผิดเหล่านี้ได้ตลอด 24 ชม. รวมถึงยังมีเรื่องเกี่ยวกับการให้การศึกษากันเองในหมู่แรงงานด้วย โดยที่กอนซาโลเรียกระบบนี้ว่าเป็นการให้คนงานสอดส่องดูแลเพื่อปกป้องสิทธิด้วยตัวเอง

กอนซาโลเปิดเผยว่าอุตสาหกรรมที่กดขี่และกฎหมายผู้อพยพที่รุนแรงทำให้คนทำงานในไร่เหล่านี้เสี่ยงมากต่อการถูกใช้ความรุนแรงทางเพศ การที่คนงานบางส่วนพูดได้แต่ภาษาแม่ของตัวเองยังทำให้เกิดกำแพงภาษาในการสื่อสารเรื่องของตนเอง ขณะที่บางคนก็ไม่ได้มีเอกสารรับรองทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยรายงานผลสำรวจเมื่อปี 2555 พบว่าหญิงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่นาในสหรัฐฯ ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานสูงมาก และการที่ร้อยละ 70 ของพวกเขาไม่มีเอกสารรับรองทำให้กลัวถูกลงโทษหรือส่งตัวกลับประเทศจึงร้องเรียนเรื่องของตัวเองไม่ได้ นายจ้างจึงฉวยโอกาสกับพวกเธอได้โดยลอยนวลพ้นผิด ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2553 ระบุว่าแรงงานหญิงชาวเม็กซิกันที่ทำงานในฟาร์มในรัฐแคลิฟอร์เนียเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 80

ช่วงที่มีกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในปีนี้ องค์กรแคมเปซินาสำหรับแรงงานเกษตรกรรมหญิงเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงฮอลลีวูดว่าในฐานะตัวแทนของผู้หญิง 700,000 คนที่ทำงานในไร่นาทั่วสหรัฐฯ พวกเธอไม่ได้ทำงานภายใต้แสงสว่างจ้าหรือบนจอยักษ์ พวกเธอทำงานอยู่ในซอกหลืบของสังคม ในท้องไร่และโรงบรรจุภัณฑ์ อยู่นอกสายตาผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ถึงกระนั้นพวกเธอก็ประสบปัญหาเดียวกันกับดาราฮอลลีวูดเหล่านั้นจากการที่คนมีอำนาจบีบเค้นทางเศรษฐกิจ ร่างกายและจิตใจ ให้พวกเธอถูกล่วงละเมิด

กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในระดับคนงานด้วยกันเองผ่านโครงการแฟร์ฟู้ด หนึ่งในคนงานชาวเม็กซิกัน เนลี รอดริดจ์ อธิบายว่าเมื่อหัวหน้างานเรียกร้องให้ใครก็ตามมีเพศสัมพันธ์ด้วยเพื่อแลกกับงานนั่นก็ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการพูดจาเชิงหยาบโลนล่วงล้ำ นอกจากนี้ยังมีการเสริมพลังให้พวกเธอสามารถพูดเรื่องเหล่านี้ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิและเรียกร้องการคุ้มครองในที่ทำงานของตัวเองได้

ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา CIW ยังเปิดให้มีพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ชื่อ "เก็บเกี่ยวอย่างไร้ความรุนแรง" โดยมีการเน้นให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศภายใต้อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่เช่นเวนดีส์ ที่ยังไม่ยอมเข้าร่วมโครงการแฟร์ฟู้ดของพวกเขา รอดริดจ์กล่าวว่าการให้ความรู้และการขยายกิจกรรมออกไปภายนอกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนงานเกษตรกรรมชายก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือต่อสู้เพื่อหยุดการล่วงละเมิดทางเพศกับแรงงานภาคเกษตร

นอกจากภาคการเกษตรแล้ว กลุ่มคนงานค่าแรงขั้นต่ำในที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็เริ่มออกมาพูดต่อต้านความรุนแรงทางเพศด้วยเช่นกัน แดเนียลา คอนเทรราส จากสหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าการที่เธอได้เล่าเรื่องของเธอเองทำให้เกิดการสร้างพื้นที่ให้แรงงานคนทำงานบ้านได้ก้าวออกมาพูดเรื่องของตนเองและทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของแรงงานค่าแรงต่ำ ผู้อพยพ และหญิงผิวดำ

อนา โอรอซโก ฝ่ายจัดตั้งด้านสตรีนิยมและความเป็นธรรมทางเพศสภาพขององค์กรสหพันธ์ความยุติธรรมกล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ #MeToo จะนำสู่การเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เพียงกระแสชั่ววูบ นั่นหมายถึงต้องมีการรับฟังผู้คนระดับล่างๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตประจำวันด้วย

รอดริดจ์กล่าวว่าสมาชิกของ CIW จะดำเนินการต่อไปโดยอาศัยโครงการแฟร์ฟู้ดในการทำให้คนทลายกรอบวัฒนธรรมความเงียบและความกลัวและทำให้คนมีพลังในการที่จะพูดออกมา

 

เรียบเรียงจาก

#MeToo in the Fields: Farmworkers Show Us How to Organize Against Sexual Violence, Truth-Out, 25-12-2017
http://www.truth-out.org/news/item/43016-metoo-in-the-fields-farmworkers-show-us-how-to-organize-against-sexual-violence

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท