Skip to main content
sharethis
"ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย คือชายหญิงที่มุ่งแสวงหาสันติภาพ" สารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เนื่องในวันสันติภาพสากลปี 2018

แฟ้มภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (ที่มา: Malacañang Photo Bureau/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ซึ่งทางสำนักวาติกันได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงออกสารในโอกาสวันสันติภาพสากล ครั้งที่ 51 หัวข้อ “ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย คือชายหญิงที่มุ่งแสวงหาสันติภาพ” Migrants and Refugees : Men and Women in Search of Peace โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.)ได้แปลสารวันสันติภาพสากล เป็นภาษาไทย เอาไว้ดังนี้

สารสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในโอกาสเฉลิมฉลองวันสันติภาพสากล ครั้งที่ 51

1.ขอส่งความปรารถนาดีจากใจเพื่อสันติภาพ

ขอนำพรแห่งสันติภาพมาแด่มนุษย์ทุกคนและทุกประเทศบนโลกใบนี้ สันติภาพซึ่งเหล่าทูตสวรรค์ประกาศแก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะในคืนคริสตสมภพ เป็นความปรารถนาอย่างลึกซึ้งของมนุษย์ทุกคน มนุษย์แต่ละคน และประชาชาติทั้งมวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์เพราะไม่มีสันติภาพ ในบรรดาผู้คนเหล่านี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงผู้อพพทั่วโลกจำนวนมากกว่า 250 ล้านคน อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งข้าพเจ้ายังคงรำลึกถึงและภาวนาให้เสมอ ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัย 22.5 ล้านคน พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ผู้เป็นที่รักซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนหน้าข้าพเจ้า ได้พูดถึงพวกเขาในฐานะ “ชายและหญิง เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ซึ่งแสวงหาที่อยู่อาศัยสำหรับการดำรงชีวิตอย่างสันติ” เพื่อหาสันติสุขดังกล่าว พวกเขายินยอมเสี่ยงชีวิตของตนไปกับการเดินทางที่มักจะยาวไกลและเต็มไปด้วยอันตราย ยอมทนกับความยากลำบากและความทุกข์ทรมาน และยอมเผชิญกับแนวรั้วและกำแพพงที่สร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นให้เขาอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของตน

ด้วยจิตใจแห่งความเมตตา ขอให้เราโอบกอดทุกคนที่หลบหนีจากสงครามและความหิวโหย หรือถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปเพราะการเลือกปฏิบัติ การข่มเหง ความยากจน และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

เรารู้ว่าไม่เป็นการเพียงพอที่จะเปิดหัวใจเราต่อความทุกข์ทรมานของผู้อื่นเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องกระทำก่อนที่พี่น้องชายหญิงของเรา จะสามารถใช้ชีวิตของตนได้อย่างสันติในบ้านที่ปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง การต้อนรับผู้อื่นเรียกร้องให้มีการอุทิศตนอย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายความช่วยเหลือและความมีน้ำใจดี การเฝ้าระวังและการเอาใจใส่อย่างเห็นอกเห็นใจ  การบริหารจัดการสถานการณ์ใหม่และสลับซับซ้อนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งบางครั้งเต็มไปด้วยปัญหามากมาย

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทรัพยากร ที่บ่อยๆ มีอยู่อย่างจำกัด ผู้นำรัฐบาลควรดำเนินมาตราการในทางปฏิบัติโดยอาศัยคุณธรรม ความรอบคอบ เพื่อต้อนรับ ส่งเสริม ปกป้อง และบูรณาการเข้าไป “ภายใต้ขอบเขตจำกัดที่อนุญาต ซึ่งเกิดมาจากความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความดีส่วนรวม เพื่อให้ (พวกเขา) เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่”  บรรดาผู้นำมีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อชุมชนของตน ซึ่งพวกเขาต้องให้หลักประกันต่อสิทธิโดยชอบธรรม และการพัฒนาที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน  มิเช่นนั้น พวกเขาจะเป็นเสมือนช่างก่อสร้างที่อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำการคำนวณผิดพลาดและล้มเหลวในการสร้างหอคอยที่ตนได้เริ่มสร้างไว้ให้สำเร็จ

2.ทำไมจึงมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจำนวนมากมายเช่นนี้?

เมื่อนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พิจารณาดูปีปีติมหาการุณย์ที่เป็นสัญญาณของการก้าวผ่านปีสองพัน นับจากวาระที่บรรดาทูตสวรรค์ประกาศสันติสุขที่เบธเลเฮม  พระองค์ชี้ให้เห็นว่า  ผู้ที่ต้องทิ้งถิ่นฐานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจาก “สงคราม ความขัดแย้ง การทำลายล้างเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่น่าตระหนกและยืดเยื้อไม่มีสิ้นสุด” ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 แม้ในปัจจุบันซึ่งเป็นศตวรรษใหม่แล้ว ก็ยังมิได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงแต่ประการใด ความขัดแย้งทางอาวุธ และความรุนแรงที่เป็นระบบในรูปแบบอื่นๆ ยังคงก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชาชนภายในพรมแดนของประเทศเองและข้ามประเทศอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี มีประชาชนที่อพยพด้วยเหตุผลอื่นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญเพราะพวกเขา “ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น และบ่อยๆ มักจะทิ้ง ‘ความสิ้นหวัง’ ต่ออนาคตที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีไว้เบื้องหลัง”

พวกเขาออกเดินทางเพื่อการศึกษา สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้ ก็ดำรงชีวิตอย่างสันติไม่ได้ นอกจากนั้น ดังที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในสมณสาสน์ “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” (Laudato Si)ว่ามี ‘บรรดาผู้อพยพจำนวนมากที่ต่างก็พากันหนีความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นจากสาเหตุของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง”

คนส่วนใหญ่อพยพผ่านช่องทางปกติ  อย่างไรก็ตาม มีบางคนใช้เส้นทางที่แตกต่างออกไป เพราะความสิ้นหวัง เมื่อประเทศบ้านเกิดของตนมิได้ให้ความปลอดภัยหรือโอกาสแก่พวกเขา และเมื่อหนทางอื่นๆ ตามกฎหมาย ดูจะทำไม่ได้ หรือไม่ก็อืดอาดล่าช้า

ประเทศปลายทาง หลายประเทศมีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงภายในของประเทศตน หรืองบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในการต้อนรับบรรดาผู้อพยพใหม่  ซึ่งถือเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในฐานะบุตรชายหญิงของพระเจ้า 

สำหรับผู้ที่ปลุกกระแสความหวาดกลัวต่อผู้อพยพ ซึ่งอาจมาจากเหตุผลทางการเมือง  แทนที่จะสร้างสันติภาพ พวกเขากลับกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง การเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ซึ่งเป็นความกังวลยิ่งใหญ่ขอบรรดาผู้ที่ห่วงใยต่อความปลอดภัยของมนุษย์ทุกคน

บรรดาตัวชี้วัดที่ประชาคมระหว่างประเทศมีอยู่  ต่างชี้ว่า การอพยพในโลกจะคงดำเนินต่อไปในอนาคต  บางคนเห็นว่านี่เป็นภัยคุกคาม สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ขอให้พิจารณาด้วยความเชื่อมั่นว่า การอพยพเป็นโอกาสในการสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน

3. ด้วยการพินิจเพิ่งมอง

ปรีชาชาญแห่งความเชื่อ ส่งเสริมการพินิจเพิ่งมองที่ยอมรับว่า  เราทุกคน “เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน  ทั้งผู้อพยพ และประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศที่ต้อนรับพวกเขา และทุกคนต่างก็มีสิทธิเช่นเดียวกันในการเข้าถึงประโยชน์จากทรัพยากรของโลก ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสากล สำหรับทุกคน  ตามคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  ดังนี้  จึงเกิดความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวและแบ่งปันซึ่งกันและกัน”

คำกล่าวเหล่านี้ ทำให้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับนครเยรูซาเล็มใหม่ในพระคัมภีร์ปรากฎเด่นชัดขึ้น  หนังสือประกาศศก อิสยาห์(บทที่ 60)  และหนังสือวิวรณ์ (บทที่ 21)ให้ภาพนครที่ประตูเปิดรับประชาชนจากทุกชาติเสมอ  ซึ่งทุกคนต่างประหลาดใจชื่นชมและเข้ามาอยู่เต็ม พร้อมกับสร้างความมั่นคั่งในนคร  สันติภาพคืออำนาจสูงสุดที่นำทางนคร และความยุติธรรมเป็นหลักศีลธรรมที่ควบคุมดูแลการดำรงอยู่ร่วมกันในนคร

เราต้องพินิจเพ่งมองในนครที่เราอาศัยอยู่  “การเพ่งมองด้วยสายตาแห่งความเชื่อ  ซึ่งเห็นพระเจ้าประทับอยู่ในบ้านของผู้คนต่างๆ บนท้องถนนและตามลานเมือง  ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว  ความเป็นพี่น้องกัน และความปรารถนาสิ่งดีงาม ความจริง และความยุติธรรม”  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  การทำให้สัญญาของสันติภาพบรรลุผล

เมื่อเราหันไปมองบรรดาผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  เราพบว่า  พวกเขามิได้มาแต่มือเปล่า  พวกเขานำความกล้าหาญ ทักษะ ความกระตือรือร้น และความใฝ่ฝันของเขาติดตัวมาด้วย  รวมถึงสมบัติวัฒนธรรมของพวกเขาเอง  และด้วยเหตุนี้  พวกเขาก็ช่วยสร้างความมั่นคั่งให้แก่ประเทศที่ต้อนรับพวกเขาด้วย  เรายังได้เห็นความคิดสร้างสรรค์  ความเพียรทน และจิตใจแห่งการเสียสละของคนครอบครัว และชุมชนรอบโลกจำนวนนับไม่ถ้วน  ซึ่งเปิดประตูบ้าน และจิตใจของตนต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  แม้ว่าทรัพยากรจะหาได้ยากก็ตามที

การพินิจเพ่งมองยังควรต้องชี้นำการวินิจฉัยของผู้ที่รับผิดชอบต่อประโยชน์ของสาธารณะ และให้กำลังใจพวกเขาในการกำหนดนโยบายการต้อนรับ “ภายใต้ข้อจำกัดที่พออนุโลมให้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเรื่องความดีส่วนรวม” โดยตระหนักถึงความจำเป็นของสมาชิกทั้งมวลของครอบครัวมนุษยชาติ และสวัสดิภาพของแต่ละคน

ผู้ที่มองและเข้าใจสิ่งต่างๆ ในทำนองนี้  จะสามารถยอมรับเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพที่งอกเงยขึ้นมาแล้ว และหล่อเลี้ยงให้สันติภาพงอกงามต่อไป นครของเรา ซึ่งมักจะมีการแบ่งแยกและแยกขั้วด้วยความขัดแย้งจากการเข้ามาของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  จะได้กลายเป็นโรงปฏิบัติงานแห่งสันติภาพ

4. หลักปฏิบัติ 4 ประการ

การให้โอกาสแก่ผู้แสวงหาที่หลบภัย ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในการพบกันสันติภาพที่พวกเขาแสวงหาจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ผสานการปฏิบัติ 4 ประการด้วยกัน คือ การต้อนรับ,การคุ้มครอง,การส่งเสริม,และการผสมกลมกลืนเข้ากับสังคม

“การต้อนรับ” เรียกร้องให้มีการขยายช่องทางกฎหมายในการเข้าประเทศ และจะไม่มีการผลักดันผู้อพยพและผู้พลัดถิ่น ไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญกับการข่มเหงรังแก และความรุนแรง  การต้อนรับยังเรียกร้องการรักษาดุลยภาพระหว่างความกังวลของเราเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ  กับการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  พระคัมภีร์เตือนเราว่า “จงอย่าลืมที่จะแสดงความใจกว้างต่อแขกแปลกหน้า  ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าว  บางคนได้แสดงความใจกว้างต่อบรรดาทูตสวรรค์แล้วโดยไม่รู้ตัว”

“การคุ้มครอง”  เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเราในการยอมรับและปกป้องศักดิ์ศรีอันล่วงละเมิดมิได้ของผู้หนีภัยอันตรายจริงๆ เพื่อแสวงหาที่หลบภัยและความมั่นคงปลอดภัย  และป้องกันมิให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ  ข้าพเจ้าคิดว่าโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก  คือผู้ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและการล่วงละเมิด  ที่อาจนำไปสู่การตกเป็นทาสด้วย  พระเจ้าไม่ทรงเลือกปฏิบัติ  “พระเจ้าทรงพิทักษ์คนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ และทรงค้ำจุนเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย”

“การส่งเสริม”  คือการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติชีวิตของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  หนึ่งในวิธีการมากมายที่เป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น  ข้าพเจ้าขอย้ำถึงความสำคัญของการให้หลักประกันการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในทุกระดับชั้น  การนี้จะมิเพียงช่วยพวกเขาให้เกิดการบ่มเพาะและตระหนักในศักยภาพของตนเท่านั้น  แต่ยังช่วยฝึกพวกเขาให้พบปะกับผู้อื่น  และเพื่อส่งเสริมจิตใจแห่งการเสวนาแทนการปฏิเสธและการเผชิญหน้า

พระคัมภีร์สอนว่า “พระเจ้า ทรงรักคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ท่ามกลางท่าน  ประทานอาหารและเสื้อผ้าแก่พวกเขา และดังนั้นท่านจะต้องรักผู้ที่เป็นคนต่างด้าว  เพราะท่านเองก็เป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์”

“การผสมกลมกลืนเข้ากับสังคม”  เป็นประการสุดท้าย  หมายถึงการให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตของสังคมที่ต้อนรับพวกเขา  ในฐานะที่

เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์  และเกิดความร่วมมืออย่างได้ผลต่อการทำงานพัฒนามนุษยอย่างครบทุกมิติในชุมชนท้องถิ่น  นักบุญเปาโลแสดงออกด้วยคำกล่าวที่ว่า  “ท่านจึงไม่เป็นคนต่างด้าวหรือคนแปลกหน้าอีกต่อไป  แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติของประชากรของพระเจ้า”

5. ข้อเสนอสำหรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ

ข้าพเจ้ามีความหวังจากใจจริงว่า เจตนารมณ์เช่นนี้จะชี้ช่องทางสำหรับกระบวนการที่จะช่วยองค์การสหประชาชาติในการยกร่างและรับรองสนธิสัญญาระดับโลกสองฉบับในระหว่างปี 2018 ฉบับแรก เกี่ยวกับการอพยพที่ปลอดภัย มีระเบียบและเป็นปกติ  และอีกฉบับเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ในฐานะที่เป็นสนธิสัญญาระดับโลก สนธิสัญญาทั้งสองจะเป็นกรอบสำหรับนำเสนอนโยบาย และมาตราการในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ สนธิสัญญาทั้งสองฉบับจะต้องได้รับแรงบันดาลใจจากความเห็นอกเห็นใจ  การมองการณ์ไกลและความกล้าหาญ  เพื่อใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสที่จะช่วยให้กระบวนการสร้างสันติภาพคืบหน้าไป ด้วยหนทางนี้เท่านั้นที่สิ่งเป็นจริงตามที่การเมืองระหว่างประเทศเรียกร้อง จะสามารถหลีกเลี่ยงการยอมแพ้ต่อการเยาะเย้ยถากถาง และต่อโลกาภิวัตน์ของการเพิกเฉย

การเสวนาและการประสานงานเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นหน้าที่เฉพาะของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากเรื่องของพรมแดน และประเทศที่มั่งคั่งน้อยกว่าอาจสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น หรือรองรับได้ดีขึ้น  หากความร่วมมือระหว่างประเทศให้หลักประกันด้านเงินทุนที่จำเป็นแก่ประเทศเหล่านั้น

แผนกผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ของสมณะกระทรวงเพื่อการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติชีวิต  ได้จัดพิมพ์ชุดหลักปฏิบัติ 20 ประการที่ให้แนวทางรูปธรรมในการดำเนินการหลัก 4 ข้อในนโยบายสาธารณะ  ในทัศนคติและกิจการของชุมชนคริสตชน  จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้และคุณูปการอื่นๆ ถือเป็นการแสดงความสนใจของพระศาสนจักรคาทอลิก  ในกระบวนการที่นำไปสู่การรับรองสนธิสัญญาระดับโลกสองฉบับของสหประชาชาติ  ความสนใจนี้  เป็นเครื่องหมายของความใส่ใจด้านการอภิบาลทั่วไปมากขึ้น  ที่สะท้อนถึงต้นกำเนิดของพระศาสนจักรจนกระทั่งปัจจุบัน

6. เพื่อบ้านของเราร่วมกัน

ขอให้เราได้รับแรงบันดาลใจจากคำกล่าวของนักบุญยอห์นปอล ที่ 2 ที่ว่า “หากความฝัน เพื่อโลกที่มีสันติภาพ เป็นความฝันร่วมกันของทุกคน  หากคุณูปการของ ‘ผู้ลี้ภัย’ และ ‘ผู้อพยพ’ ได้รับการประเมินอย่างถูกต้อง  เมื่อนั้น มนุษยชาติก็จะสามารถเป็นครอบครัวสากลหนึ่งเดียวได้มากยิ่งขึ้น และโลกของเราก็จะเป็น ‘บ้านของเราร่วมกัน’ อย่างแท้จริง

ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์  หลายคนเชื่อว่า ‘ความฝัน’ นี้ และการทำให้ความฝันนี้เกิดเป็นความจริงนั้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงความจริงที่ว่า นี่มิใช่เป็นเพียงความเพ้อฝันเท่านั้น

ในจำนวนนี้  เรารำลึกถึงนักบุญฟรานเซส เซเวียร์ คาบรินี่ ซึ่งปีนี้เป็นวโรกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีของการเสียชีวิตของท่าน และในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ชุมชนวัดมากมายทำการเฉลิมฉลองความทรงจำถึงเธอ  ผู้หญิงที่ไม่ธรรมดาท่านนี้  คือผู้อุทิศชีวิตของตนรับใช้ผู้อพยพ  และได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของเหล่าผู้อพยพ  ท่านได้สอนเราให้ต้อนรับคุ้มครอง  ส่งเสริม  และผสมผสานพี่น้องชายหญิงของเราเข้ากับสังคม โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน ขอพระเจ้าทรงช่วยเราทุกคนให้มีประสบการณ์ “การเก็บเกี่ยวความดีที่ได้หว่านไว้ในสันติภาพโดยผู้ที่สร้างสันติ”

จากวาติกัน
รำลึกถึงนักบุญฟรานเซส เซเวียร์ คาบรินี่ องค์อุปถัมภ์ผู้อพยพ
ฟรังซิส.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net