Skip to main content
sharethis
ไอซ์แลนด์เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่จากการเลือกตั้งคือ แคตริน ยาคอบโดฮตีร์ ผู้เคยเป็นประธานขบวนการฝ่ายซ้ายเขียว ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2560 และรัฐบาลของเธอก็เริ่มศักราชใหม่ด้วยการทำให้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายให้หญิงและชายต้องได้รับค่าแรงเท่าเทียมกัน
 
 
ที่มาภาพประกอบ: Nick Youngson CC BY-SA 3.0 Alpha Stock Images
 
5 ม.ค. 2561 หลังจากที่ไอซ์แลนด์เคยออกกฎหมายส่งเสริมให้มีการจ่ายค่าแรงเท่าเทียมระหว่างเพศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ม.ค. 2561) รัฐบาลไอซ์แลนด์นำโคย แคตริน ยาคอบโดฮตีร์ ผู้ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายที่จะสั่งปรับนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเท่าเทียมกันระหว่างเพศ
 
ดักนี โอชค์ อราโดฮตีร์ ปินด์ จากสมาคมสิทธิสตรีไอซ์แลนด์ กล่าวว่าไอซ์แลนด์มีกฎหมายให้ชายและหญิงควรได้รับค่าจ้างเท่ากันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีช่องว่างระหว่างค่าจ้าง แต่ทางนักรณรงค์สิทธิสตรีก็สามารถสร้างความตระหนักรู้และทำให้ผู้คนเข้าใจว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังใช้ไม่ได้จึงต้องทำอะไรมากกว่านี้
 
กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ล่าสุดของไอซ์แลนด์ระบุว่าบริษัทที่จ้างพนักงานมากกว่า 25 คนจะต้องพิสูจน์กับรัฐบาลให้ได้ว่าพวกเขาจ่ายค่าจ้างให้ชายและหญิงเท่ากัน ทางการไอซ์แลนด์หวังว่ามาตรการใหม่นี้จะทำให้ไอซ์แลนด์แก้ปัญหาค่าจ้างระหว่างเพศไม่เท่าเทียมกันได้ทั้งหมดภายในปี 2563
 
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นประเทศสายก้าวหน้าและเป็นแบบอย่างของเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่ในรัฐสภามีผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนฯ อยู่เกือบครึ่งหนึ่ง ผู้ที่สนับสนุนกฎหมายใหม่นี้บอกว่าพวกเขาจะไม่สามารถทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ได้ถ้าหากว่าไม่มีผู้หญิงอยู่ในสภามากขนาดนี้
 
ตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศเกาะเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความเท่าเทียมกันทางเพศอยู่ในระดับต้นๆ มาตลอดจากข้อมูลรายงานช่องว่างระหว่างเพศของของเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (WEF) ไอซ์แลนด์สามารถลดช่องว่างระหว่างเพศได้ร้อยละ 10 นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการรายงานของ WEF ในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยในรายงานของพวกเขาระบุถึงช่องว่างระหว่างเพศในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทางการเมือง, โอกาสทางเศรษฐกิจ, การเข้าถึงการศึกษา และค่าตอบแทน
 
ในขณะที่ไอซ์แลนด์บรรลุเป้าหมายในเรื่องค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศได้ สหรัฐอเมริกายังคงตามหลังในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเชื่องช้าโดยผู้หญิงยังคงได้รับค่าแรงร้อยละ 83 เทียบกับของผู้ชาย ขณะที่ในสภาคองเกรสมีผู้หญิงอยู่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทำให้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 49 ของตารางรายงานความเท่าเทียมทางเพศของเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (ไทยอยู่อันดับที่ 75 จากรายงานในปี 2560)
 
สมาคมสตรีมหาวิทยาลัยอเมริกันเคยประเมินว่าถ้ายังคงมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมด้านรายได้ในระดับความเร็วของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หญิงอเมริกันจะต้องรอไปจนถึงปี 2662 ถึงจะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับชาย รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่คิดจะพัฒนาในเรื่องนี้จากการที่ทรัมป์สั่งระงับข้อกำหนดสมัยโอบามาที่กำหนดให้นายจ้างต้องให้ข้อมูลการจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรมกับรัฐบาล
 
เรื่องนี้ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนแสดงความยินดีกับไอซ์แลนด์ไปพร้อมๆ กับพูดถึงประเทศตัวเองที่ไม่สามารถมีความก้าวหน้าแบบเขาได้ เบอร์นี แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตระบุในเพจเฟสบุ๊คของตัวเองว่า "พวกเราจะต้องเดินรอยตามตัวอย่างของพี่น้องพวกเราในไอซ์แลนด์ และเรียกร้องค่าแรงที่เท่ากัน งานที่เท่ากันเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ เชื้อชาติ เพศวิถี หรือสัญชาติใด"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Iceland Becomes First Country to Punish Companies for Paying Women Less Than Men, Common Dreams, 02-01-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net