สุรพศ ทวีศักดิ์: อิทธิพลทางความคิดของพุทธไทยที่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อความจากทวิตเตอร์ ว. วชิรเมธี ข้างบน ถูกนำมาแชร์ในโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังจากกระแสยกย่อง “ตูน” ว่ามีจิตโพธิสัตว์และมีคุณสมบัติควรเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเตือนสติคนไทยผ่านเฟซบุ๊คที่มีคนติดตามกว่า 6,000,000 คน (ตามรายงานในมติชนออนไลน์) ว่า “อย่าก่นด่าประเทศตัวเอง” ตามด้วย “คำคม” อีกหลายชุด

ผมเข้าใจว่าพระสงฆ์ทั่วไปท่านมี “เจตนาดี” ต่อสังคม ข้อคิดต่างๆ ของ ว. วชิรเมธี ก็ย่อมมาจากเจตนาดีเช่นกัน แต่ปัญหาของพระไทยโดยทั่วไปคือ การขาดความเข้าใจ “ความคิดพื้นฐาน” ในเรื่องมาตรฐานถูก-ผิดในทางสังคมการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในโลกสมัยใหม่ ขออภัยที่พูดแบบขวานผ่าซาก ผมจะพยายามอธิบายให้เห็นปัญหาเป็นประเด็นๆ ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องถูก-ผิดในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่เกี่ยวกับธรรมะหรือศาสนา เพราะระบอบประชาธิปไตยมี “หลักการสาธารณะ” เป็นมาตรฐานตัดสินถูก-ผิดชัดเจนอยู่แล้ว เช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักการยอมรับเสียงข้างมาก-เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย หลักการถ่วงดุลตรวจสอบ การมีส่วนร่วมบนฐานของการมีสิทธิต่อรองที่เท่าเทียม เป็นต้น

ถ้าทำถูกตามหลักการเหล่านี้ก็คือถูก ทำผิดก็คือผิด มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอาธรรมะหรือศีลธรรมศาสนามาใช้เป็นบรรทัดฐานกำกับหลักการสาธารณะดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง หรือมันไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ธรรมะ ศีลธรรมศาสนามาเป็นหลักประกันให้คนทำตามหลักการสาธารณะนั้นได้

เพราะถึงคุณมีธรรมะ เคร่งศีลธรรมศาสนา หรือเป็นคนดี กระทั่งเป็นพระโพธิสัตว์ หากคุณไม่กระจ่างชัด ไม่เห็นคุณค่า หรือไม่ยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น คุณก็ทำสิ่งที่ผิดได้ และทำได้ด้วยความเชื่ออย่างหัวชนฝาว่าตนเองทำถูกต้องเสียด้วย ดังเราได้เห็นบรรดาพระดี คนดี ทั้งแสดงความคิดเห็น และออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคหรือขัดกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน “อย่างภาคภูมิใจ” เสมอมา

ประเด็นที่สอง มันไม่ใช่แค่ว่าความคิดพื้นฐานเรื่องถูก-ผิดตามระบอบประชาธิปไตยกับเรื่องถูก-ผิดทางธรรมะหรือศาสนาต่างกันในสาระสำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น แต่ระบบสังคมการเมืองสมัยใหม่เขา “แยกศาสนาจากการเมือง” คือในเชิงอุดมการณ์ รัฐปัจจุบันไม่ใช่รัฐพุทธศาสนาแบบอดีตที่ยึดหลักพุทธศาสนาเป็นอุดมคติในการปกครองอีกแล้ว แต่ปกครองด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นหลักการทางโลก เมื่อสังคมปัจจุบันไม่ใช้หลักศาสนาเป็นอุดมคติในการปกครองแล้ว การที่พระพยายามสอนว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะคือหายนะมวลรวมประชาชาติ” หรือ “ถ้าหมู่มนุษย์มีศีล 5 สิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็น” เป็นต้น มันจึงขัดหลักการแยกศาสนาจากการเมืองดังกล่าว หรือเป็นการเสนออะไรที่ “ผิดฝาผิดตัว” ขัดกับมาตรฐานถูก-ผิดตามระบอบประชาธิปไตย

ประการที่สาม เมื่อแยกศาสนาจากการเมืองในทางอุดมการณ์ของการปกครองแล้ว เพื่อให้เกิดผลรูปธรรมในทางปฏิบัติก็จึงแยกในทางโครงสร้างด้วย นั่นคือแยกองค์กรศาสนาออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐ หรือเปลี่ยนองค์กรศาสนาจากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอำนาจรัฐ ให้เป็นเป็นองค์กรเอกชนทุกศาสนา

แต่ปัจจุบันองค์กรสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมยังคงเป็นองค์กรศาสนาของรัฐ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและนโยบายรัฐ ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลาง,หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state)

คำถามคือ เมื่อสถานะและบทบาทขององค์กรสงฆ์ขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตย แล้วพระสงฆ์และชาวพุทธจะใช้ธรรมะ ศีลธรรมพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย หรือทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยก้าวหน้าได้อย่างไร

หรือในทางกลับกันถามว่า ถ้ามีหลักธรรมหรือหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจริง หลักดังกล่าวนั้นจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาที่สถานะและบทบาทศาสนจักรของรัฐขัดต่อหลักความเป็นกลาง เสรีภาพ และความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาได้อย่างไร

ประเด็นสุดท้าย ถามว่าในสังคมการเมืองสมัยใหม่ มีเหตุผลที่ควรตีความศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ถ้าดูจากศาสนาคริสต์ ในคัมภีร์ไบเบิลยอมรับระบบทาสด้วยซ้ำ แถมยุคกลางศาสนจักรโรมันคาทอลิกก็กดขี่รุนแรงมาก แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เขาก็ตีความศาสนาสนับสนุนแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความหมายของ God ก็ถูกตีความในทางปรัชญาซับซ้อนมาก และมักจะตีความในทางสนับสนุนคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้อย่างมีเหตุผล แต่ในเมื่อเขาแยกศาสนจักรเป็นเอกชน ไม่รับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ หรือไม่ก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจรัฐ และอำนาจรัฐก็ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงศาสนจักร การตีความศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่เช่นนั้นจึงสมเหตุสมผล

ในบ้านเราการตีความศาสนาในทางการเมืองมี 2 แบบหลักๆ คือ แบบแรกตีความพุทธศาสนาสนับสนุนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภาดรภาพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนประเพณีการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจนำทางวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง มาสู่การตีความสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ แบบที่ยุโรปเปลี่ยนจากการตีความ God สนับสนุนอำนาจชนชั้นปกครองมาเป็นตีความ God สนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การตีความเช่นนี้เห็นได้ในความพยายามของปรีดี พนมยงค์ แต่น่าเสียดายที่ความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าที่ควร

แบบที่สองคือแบบที่นิยมกันแพร่หลาย เป็นการตีความแบบยก “ธรรม” หรือศีลธรรมพุทธศาสนาเหนือกว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในตัวมันเอง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธทาสภิกขุ ที่เสนอว่า “ระบบการเมืองใดๆ ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการจะเป็นระบบที่ดีได้ต้องมีธรรมะ เป็นธรรมาธิปไตยหรือเป็นระบบที่ประกอบด้วยธรรม” สาระสำคัญของระบบที่มีธรรมะ ก็คือมี “คนดี” หรือคนที่มีศีลธรรมเป็นผู้ปกครอง ข้อความในทวิตเตอร์ของ ว.วชิรเมธีข้างต้น ก็คือตัวอย่างของการได้รับอิทธิพลการตีความพุทธศาสนาทาการเมืองแบบที่ถือว่า “ธรรม” หรือศีลธรรมเป็นมาตรฐานตัดสินถูก-ผิดทางการเมืองดังกล่าวนี้ ซึ่งแพร่หลายมากในวงการพระ และสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะในระยะกว่าทศวรรษมานี้

ฉะนั้น วิธีคิดแบบใช้ธรรมะ ศีลธรรม ความดี คนดีเป็นมาตรฐานตัดสินถูก-ผิดทางการเมืองดูเหมือนจะมีอิทธิพลมาก อิทธิพลดังกล่าวดำเนินไปภายใต้ “มายาคติ” ว่า พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง มี “หน้าที่” ชี้แนะ ชี้นำทางการเมืองโดยธรรม

แต่เมื่อพระสอนในสถานการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะ คือหายนะมวลรวมประชาชาติ” ท่านก็กล่าวในสถานการณ์ทางการเมืองอีกแบบหนึ่งว่า “ค่านิยม 12 ประการ คล้ายธรรมะในพุทธศาสนา” ก็เลยไม่รู้ว่าพระ “อยู่เหนือการเมือง” หรือ “เป็นกลาง” ทางการเมืองอย่างไรแน่

อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว พระเองก็แสดงความเห็นทางการเมือง และเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมาตลอด และสถาบันสงฆ์เองก็เป็นสถาบันของรัฐที่มีบทบาทสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและตอบสนองนโยบายรัฐอยู่แล้ว

ฉะนั้น บทบาทของพุทธไทยทั้งในเชิงสถาบันและบุคคล จึงมีอิทธิพลในการสร้างวัฒนธรรมทางความคิดในเรื่องถูก-ผิดทางการเมือง ที่มีนัยสำคัญเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จะแก้ไขได้จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ และเปลี่ยนความคิดพื้นฐานในการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท