พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: การศึกษาเพื่อเสรีภาพ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปรัชญาการศึกษาสากล เชื่อว่า วัตถุประสงค์ในแง่หลักการ การศึกษาอยู่ที่การปลดปล่อยผู้ศึกษา หรือผู้เรียนสู่ความเป็นผู้มีอิสรภาพ ชนิดที่แม้แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาหมายถึงความเป็นอิสรภาพของตัวผู้เรียนจากตัวผู้สอนหรืออาจารย์ ผลิตผลทางการศึกษา ไม่จำเป็นต้องมีผลผลิตออกมาเหมือนเบ้าหลอม หรือเหมือนครูอาจารย์

ผลิตผลที่พึงประสงค์ด้านการศึกษาในความหมายของสถาบันการศึกษาแบบฉบับสากลที่สรุปกันได้แล้ว หมายถึง การที่ผู้เรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง วิเคราะห์ด้วยตัวเอง วิเคราะห์ปัญหาเป็น ด้วยวิธีการนี้เท่านั้น ที่สามารถต่อยอดอารยธรรมมนุษยชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “นวัตกรรม” นั่นเอง

ในแง่ปรัชญา วัตถุประสงค์ของการศึกษาในอเมริกาหรือโลกตะวันตก ส่วนใหญ่ จึงหมายถึง การปลดล็อก หรือการปลดพันธนาการให้กับมนุษยชาติดีๆ เพราะก่อนหน้าที่มนุษย์จะกลายเป็นผู้มีการศึกษานั้น มนุษย์เสมือนอยู่ในคอกจองจำในหลายๆ ด้าน เช่น จองจำจากจารีต จองจำจากประเพณีวัฒนธรรม หรือแม้การจองจำจากสภาพทางการเมือง ต่อเมื่อมนุษย์ได้รับการศึกษาจนถึงที่สุด การศึกษาก็จะช่วยคลายล็อค หรือปลดล็อคพันธนาการดั้งเดิมที่มนุษย์เคยมี เช่นความกลัวอันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นต้น

นี่นับเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างสาดส่องโลกที่มืดอยู่ให้กลับกลายเป็นสว่าง มองอะไรๆ เห็นชัดเจนมากขึ้น

การศึกษาจึงไม่ต่างจากการปลดปล่อยมนุษยชาติจากอุ้งมือหรืออำนาจชั่วร้ายที่ยึดกุมหรือพรากเสรีภาพออกไปจากมนุษย์ ไม่แปลกที่ไม่ว่ารัฐใดๆ ในโลกต่างก็ยืนยันชัดเจนที่จะให้พลเมืองของรัฐนั้นๆ เข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เว้นเสียแต่รัฐเผด็จการเท่านั้น ที่ในทางลึกแล้วปฏิเสธคุณค่าของการศึกษา ปฏิเสธที่มาและคุณค่าของนวัตกรรมที่ร้อยทั้งร้อยก็อาศัยการศึกษานี่แหละเป็นตัวทำให้เกิด รัฐเผด็จการทำให้การศึกษาเป็นไปในลักษณะการยัดเยียดให้กับผู้เรียน ดังการควบคุมหลักสูตรจากส่วนกลาง รวบอำนาจการเขียนหลักสูตรไว้ที่ส่วนกลางเป็นหลัก ทั้งที่ผู้เรียนเองควรมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นอย่างหลากหลายกว้างขวาง โดยที่แต่ละท้องถิ่นมีฐานข้อมูลดิบ ฐานทรัพยากร ที่สามารถนำมาศึกษาแตกต่างกันไป

ด้วยการมีระบบการศึกษาที่ว่ามานี้ จึงเป็นเหตุให้การศึกษาไทยตกอยู่ในสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง”ในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลยันระดับอุดมศึกษา โดยเป็นระบบที่ล้าหลังที่สุดแม้แต่ในประเทศอุษาคเณย์ด้วยกันจะเปรียบไปไยการศึกษาของประเทศในโลกตะวันตก เนื่องด้วยการศึกษาของไทยเรานั้น มีจุดเน้นไปที่ “อำนาจนิยม” เป็นหลัก ดังที่เราสามารถเห็นจากพื้นฐานการแต่งกายของนักศึกษา การเน้นการบังคับนักเรียนเรื่องทรงผม เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนเอง โดยเฉพาะอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาเองส่วนหนึ่งพากันทรยศต่ออุดมการณ์ของการเป็นนักวิชาการที่ซื่อตรง ไปขึ้นตรง เป็นบริวาร หรือรับใช้หน่วยงานภาครัฐ ไม่ต่างจากพวกประจบสอพลอ ขุนพลอยพยัก ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ตัวนักวิชาการและสำนักของพวกเขาเสื่อมลงๆ ไปเรื่อยๆ งานวิจัยที่เป็นหน้าที่หลักกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า

นี้ยังไม่รวมระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องในมหาวิทยาลัย ที่หลายสถาบันปฏิบัติระเบียบแบบศรีธนญชัย เช่น ลงประกาศสำคัญๆ เอาต่อเมื่อเวลาหรือภาวการณ์ที่มีผลได้ผลเสียต่อสถาบันหรือมหาวิทยาลัยได้ผ่านไปแล้ว หากินกันอยู่ในลักษณะนี้ก็มาก ไม่รวมถึงการประเมินผลการศึกษาโดยหน่วยงานเฉพาะของรัฐทางด้านศึกษา ที่ขาดความเด็ดขาด ไร้ความโปร่งใส ชี้แจงหรือรายงานปัญหาของสถาบันการศึกษาเหลานั้น ต่อสาธารณะได้แบบอืดเอามากๆ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านจึงเห็นได้ว่า สถาบันการศึกษาของไทยแทบไม่ได้สร้างนวัตกรรมใดๆ เกิดขึ้นมาเลย เรามัวไปพะวงเรื่องงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องงบประมาณมีความจำเป็นต่อการศึกษาไทยจริง แต่สิ่งที่เราละเว้นที่จะพูดถึงคือ ทัศนะเชิงอุดมการณ์หรือเชิงปรัชญาของการศึกษา ที่ควรมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด ซึ่งนี่ก็เท่ากับการเกิดนวัตกรรม นั่นเอง ซึ่งก็น่าเสียดายว่าหลายสำนักอุดมศึกษาไทยยังมีกรอบความคิดการเรียนการสอนแบบจารีต ออกแนวท่องจำ เสมือนการท่องจำสูตรคูณ เหมือนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

ทั้งดูเหมือนว่า ประเทศไทยเรามีสถาบันระดับอุดมศึกษาหลายรูปแบบ กลไกการกำกับดูแลก็อาจไม่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าสถาบันใด เป็น “เด็กเส้น”ของหน่วยงานไหน สถาบันด้านการศึกษาทางศาสนาโดยเฉพาะก็มี แต่แล้วก็เลยไม่ทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ใช้มาตรฐานในการดูแลหรือกำกับด้านมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้น เปิดหลักสูตรให้เกร่อได้ทั่วไป แม้กระทั่งถึงในต่างประเทศนั้น แน่ใจได้อย่างไรว่า สถาบันการศึกษาเชื่อมโยงในต่างประเทศมีมาตรฐานขนาดไหน บางทีในแง่นี้ บริบทของการโฆษณาชวนเชื่ออาจมีการนำมาใช้ (หรือไม่?)

เพราะอย่าว่าอื่นไกลเลย ไทยเป็นประเทศที่ถูกร่ำลืออยู่เสมอแม้แต่ในดินแดนโลกตะวันตกว่า มีการคอรัปชั่นในสถาบันอุดมศึกษากันสูงมาก โดยการร่ำลือดังกล่าวนี้พวกเขาล้วนมีหลักฐานเชิงประจักษ์ จนไทยแลนด์ กลายเป็นดินแดนฉ้อฉลทางวิชาการชื่อกระฉ่อนโลก

ส่วนตัวผมมองว่า คงไม่ทุกสถาบันการศึกษาหรอกที่ชื่อกระฉ่อนเน่าๆ หากปลาเน่าตัวเดียว ก็ย่อมเหม็นทั้งตะข้อง ฉันใดก็ฉันนั้น สกอ.ไม่ควรทำตัว ปากว่าตาขยิบ หากพบปลาเน่าตัวใดก็ควรคัดออกแต่เนิ่นๆ โดยไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น

หรือพูดแค่นี้อาจเป็นเรื่องตลกของคนในวงการศึกษาไทย ที่หัวเราะก้าก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ชนิดที่เกิดขึ้นประจำมานานแล้ว ไหนๆ ก็เสื่อมทราม เน่าแล้วก็ปล่อยให้เน่าต่อไปดีกว่า ทั้งๆ ที่ข้อมูลการการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถาบันอุดมศึกษานั้นมีอยู่มากมายสุดคณา ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียน น่าเศร้าและน่าทุเรศที่ท่านปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาไทยแช่อยู่ในน้ำครำเส็งเคร็งปานนี้

จะไปสอนคน เพื่อให้มีเสรีภาพ อิสรภาพและเกิดนวัตกรรมได้อย่างไร ก็ในเมื่อสถาบันการศึกษาเองยังเอาตัวไม่รอด ต่างเล่นเกมขายผ้าเอาหน้ารอด สร้างภาพลักษณ์เคร่งขรึมทางวิชาการบิดเบือน ไปวันๆ แบบนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท