Skip to main content
sharethis

ประธาน กกต.เชื่อ สนช.ไม่แก้ กม.ลูกเลือกตั้งให้อำนาจ กกต.ตรวจค้นได้โดยไม่มีหมายศาล ชี้ หากทำกลับไปกลับมา กฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ 'ไพบูลย์' พร้อมยื่นจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป 1 มี.ค. นี้ ระบุ 'นายกคนนอก' ต่างกับ พ.ค.35 อย่างสิ้นเชิง ทั้งบุคคลและบริบท


แฟ้มภาพ กระทรวงแรงงาน

8 ม.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยจะเน้นย้ำถึงการพิจารณาแนวทางสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของสาระในสัญญาประชาคมโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นความคิดเห็นของประชาชนและได้มีการขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ

นอกจากนี้ สาระในสัญญาประชาคมจะถูกพิจารณาบรรจุในแผนงานโครงการของแต่ละกระทรวง ในปี 2561 โดยจะมีความชัดเจน 1.การสร้างการรับรู้และจิตสำนึกของประชาชนในสัญญาประชาคม 2.กิจกรรมโครงการตามแผนงานของแต่ละกระทรวง จะสอดแทรกสาระสำคัญของสัญญาประชาคมไปด้วย 3.สร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมในแต่ละพื้นที่ ที่แต่ละส่วนราชการได้เข้าไปขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา
 
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมในวันนี้จะสรุปแผนงานปี 2560 และเตรียมแผนงานปี 2561 เพื่อเตรียมการเลือกตั้งตามโรดแมปที่จะเกิดขึ้น
 
ภายหลังการประชุมดังกล่าว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการสร้างการรับรู้สัญญาประชาคม แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งปีนี้จะต้องเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ประชาชน สนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดอง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่แบ่งฝ่าย และไม่เกิดความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา
 

พล.อ.ประวิตร ระบุว่าการขับเคลื่อนงานปรองดองของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง จะเป็นคนละส่วนกับการเตรียมการเลือกตั้งและไม่ควรนำมาเชื่อมโยงกัน เพราะจะสร้างความสับสนได้ ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงสถานะเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร ตัวเองไม่ขอแสดงความเห็น และควรไปสอบถามเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่เคยมาปรึกษาตนเองในเรื่องนี้ ส่วนตัวย้ำว่าไม่มีความคิดจะเล่นการเมืองอยู่แล้ว แค่มาทำงานการเมืองให้เท่านั้น
 

กกต.เตรียมหารือกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (9 ม.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือเรื่องการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้คุณสมบัติของผู้สมัครให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 30 ถึง 40 ประเด็น ที่ต้องแก้ไขพร้อมกัน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและบริสุทธิ์ ทั้งนี้ หลัง กกต.เห็นชอบ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งให้กฤษฎีกาปรับแก้ไขและนำกลับเข้า ครม.อีกครั้ง เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 
 
“คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบประกาศใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ คสช. ที่จะพิจารณาว่าจะจัดการเลือกตั้งเมื่อใดและจัดเลือกตั้งในระดับใดก่อน โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นจะใช้เวลาดำเนินการ 45 ถึง 60 วัน ซึ่งเชื่อว่าไม่กระชั้นชิดกับการเลือกตั้งใหญ่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นช่วงเดือนไหน เพราะกฎหมายยังไม่ประกาศใช้” วิษณุ กล่าว

ประธาน กกต.เชื่อสนช.ไม่แก้กม.เพิ่มอำนาจตรวจค้นให้กกต.

ด้าน ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีวิษณุจะให้ กกต.แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เบื้องต้นยังไม่มีวาระเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติพร้อมปฏิบัติตาม กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งและเตรียมการเลือกตั้งทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นหรือเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอให้ความเห็นว่าควรจะเลือกตั้งระดับใดก่อน ขอให้เป็นหน้าที่ คสช. พิจารณา 
 
ส่วนกรณี สนช.จะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และให้อำนาจ กกต.ตรวจค้นได้โดยไม่มีหมายศาล ประธาน กกต. กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ส.ส.ที่จะขอแปรญัตติเรื่องดังกล่าว แต่ขอยืนยันว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ถูกตัดออกไป ซึ่งมองได้ว่าเป็นดาบสองคมให้อำนาจ กกต.มากเกินไป และอาจใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้ามองเจตนาที่ดีก็เพื่อความรวดเร็ว ให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งมีหลายอย่างในเรื่องแนวความคิด 
 
“แต่ตามกฎหมายที่ออกมาเมื่อเลือกตั้ง ก็ให้อำนาจ กกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หากจะค้นต้องขอหมายศาล ซึ่งต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพียงแต่หากทำด้วยความรวดเร็ว การไปค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล จะทำให้การแก้ปัญหาทุจริตเร็วขึ้น แต่ต้องไม่มีการกลั่นแกล้ง  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ สนช.พิจารณาผ่านไปแล้ว หากจะแก้ไขเหมือนทำกลับไปกลับมา เหมือนกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อเถอะว่าสนช.คงไม่พิจารณาให้อำนาจเรื่องนี้หรอก” ประธาน กกต. กล่าว
 
เมื่อถามย้ำว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อยื้อเวลาการออกกฎหมายหรือไม่ ศุภชัยกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ตามที่บอกการออกกฎหมายต้องใช้บังคับคนทั้งประเทศ ถ้าออกไปแล้วมาแก้ไขจะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเมื่อกฎหมายออกมาอย่างไรกกต.พร้อมปฏิบัติตาม 
 

'ไพบูลย์' พร้อมยื่นจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป 1 มี.ค. นี้

ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน  ประธานเครือข่าวประชาชนปฏิรูป และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยืนยัน เดินหน้าจัดตั้งพรรคการเมือง  ขณะนี้ อยู่ในขั้นเตรียมการจัดตั้งพรรค สามารถรวบรวมผู้สนใจพร้อมจ่ายเงินบริจาคเป็นทุนประเดิมก่อตั้งพรรค คนละ 1,000 บาท ได้ 500 คนแล้ว จากทุกภูมิภาค รวมถึงทหารเกษียณด้วย แต่ต้องการจะให้ได้ 1,000 คน  
 
“วันที่ 1 มีนาคม นี้ พร้อมยื่นรายละเอียดจัดตั้ง ภายใต้ชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป ตอนนี้ยืนยันในหลักการว่า พรรคจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามารถ  ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม” ไพบูลย์ กล่าว
 
ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นนักการเมืองว่า  การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นนักการเมือง เป็นนักบริหารจัดการเมืองตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ควรอยู่ในฐานะคนกลาง  อย่าไปเป็นสมาชิกพรรค หรือ บัญชีรายชื่อพรรค    
 
“ท่านยังต้องอยู่ในฐานะ นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ก่อนการเลือกตั้ง จึงไม่ควรอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรค ควรจะเป็นกลาง จากนั้น หลังการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองแข่งขันกัน เมื่อเราเข้าไปอยู่ในสภาฯ ได้แล้ว ก็จะไปรวมสมาชิก ส.ส. ส.ว. ให้ได้ 375 คน เพื่อรอสนับสนุนท่าน เมื่อเรารวมกันได้ 375 คน อีกข้างหนึ่งก็ไม่สามารถรวมกันเสนอตั้งใครมาเป็นนายกฯ ได้" ไพบูลย์ กล่าว
 
ต่อคำถามที่ว่าเมื่อถามว่า การมีนายกรัฐมนตรีคนนอก จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนช่วงพฤษภาคม 2535 หรือไม่นั้น ไพบูลย์  กล่าวว่า สถานการณ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งตัวบุคคล และบริบทสังคม อีกทั้งนายกรัฐมนตรีคนนอกในปัจจุบัน หมายถึง นอกระบบบัญชี ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง เพราะการจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับการสนับสนุนจากสภาฯ อย่างท่วมท้น  จึงไม่มีปัญหา ส่วนพรรคการเมืองจะโวยวายก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาก็อยากสนับสนุนหัวหน้าพรรค  แต่ถ้าเสียงไม่พอก็ไม่ได้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net