แครี เกรซี บ.ก.บีบีซีจีน ลาออกประท้วงค่าจ้างเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ

แครี เกรซี บรรณาธิการสำนักข่าวบีบีซีจีนลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงเรื่องการจ่ายค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศพร้อมเขียนจดหมายชี้แจงในเรื่องดังกล่าว

แครี เกรซี ทำงานกับบีบีซีมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ล่าสุดเธอก็ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการฝ่ายจีนเนื่องจากไม่พอใจที่ไม่มีการจัดการปัญหาค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เธอกล่าวหาว่าบีบีซีมี "วัฒนธรรมการจ่ายค่าแรงที่ปิดลับและผิดกฎหมาย" โดยบอกว่าบีบีซีมีการจัดการที่ละเมิดกฎหมายความเท่าเทียมเนื่องจากจ่ายค่าแรงให้กับคนทำงานเพศชายแตกต่างจากผู้หญิงอย่างมาก จากข้อมูลรายงานประจำปีของบีบีซีเอง

"ด้วยความน่าเสียดาย ฉันออกจากตำแหน่งของตัวเองในฐานะบรรณาธิการฝ่ายจีนของบีบีซีเพื่อบอกกับประชาชนให้รับทราบถึงวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรบีบีซี" เกรซีระบุในจดหมายเปิดผนึกที่ระบุถึงสาเหตุของการลาออก มีการเปิดเผยจดหมายฉบับนี้เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

ในจดหมายของเกรซียังระบุอีกว่าตัวเธอเองไม่ได้เรียกร้องอยากได้รับเงินเดือนมากขึ้นเพราะเธอเชื่อว่าตัวเองได้รับเงินเดือนดีพอแล้ว เพียงแต่เธอต้องการเรียกร้องให้บีบีซีเคารพในกฎหมายความเท่าเทียมระหวางเพศ และให้คุณค่าของเพศชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน

จากเมื่อปีที่แล้วมีนักข่าวหญิงและผู้จัดรายการที่มีชื่อเสียงในบีบีซีหลายคนเรียกร้องความเท่าเทียมกับพนักงานหญิง เมื่อพิจารณารายงานประจำปีแล้วเห็นว่ามีช่องว่างค่าจ้างสูงมากระหว่างหญิงและชายโดยที่ดาราในบีบีซี 2 ใน 3 ที่ได้รับค่าแรงมากกว่า 150,000 ปอนด์ (ราว 6,500,000 บาท) เป็นผู้ชาย แต่เกรซีก็ไม่พอใจที่ผู้จัดการบีบีซียังคงปฏิเสธว่าไม่ปัญหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ

"ในเรื่องการจ่ายค่าจ้าง บีบีซีไม่สามารถทำได้ในระดับที่อ้างไว้เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมั่น, ความซื่อตรง และความโปร่งใส การเปิดเผยเรื่องเงินเดือนที่บีบีซีถูกบีบให้เผยออกมาเมื่อ 6 เดือนที่แล้วไม่เพียงแค่พวกคนที่เป็นพรีเซนเตอร์และผู้จัดการระดับสูงจะได้รับค่าจ้างที่สูงลิ่วอย่างยอมรับไม่ได้ แต่ยังมีช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายและหญิงที่ทำงานเท่าๆ กันด้วย" เกรซีระบุในจดหมาย

ตามกฎหมายความเท่าเทียมปี 2553 ของสหราชอาณาจักรระบุว่าผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานเท่ากันควรจะได้รับค่าจ้างเท่ากัน แต่เกรซีก็เปิดเผยในจดหมายว่าผู้ชายสองคนที่ทำงานเป็นบรรณาธิการนานาชาติได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงสองคนในตำแหน่งเดียวกันถึงร้อยละ 50 โดยได้ทราบจากข้อมูลประจำปีงบประมาณ 2560

เกรซีเปิดเผยอีกว่าเธอพยายามเรียกร้องให้บีบีซีจ่ายค่าแรงเท่ากันระหว่างเพศแต่ทางบีบีซีกลับเสนอจะขึ้นค่าแรงให้เธอซึ่งก็ไม่มากพอจะเรียกว่าเท่ากับชาย ทางบีบีซีอ้างว่าที่จ่ายค่าแรงไม่เท่ากันเพราะมี "ความแตกต่างระหว่างบทบาท" แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า "บทบาทที่แตกต่าง" ที่ว่าคืออะไร นั่นทำให้เธอออกจากบรรณาธิการฝ่ายจีนและกลับไปทำงานในห้องข่าวเหมือนเดิมโดยหวังว่าจะมีการจ่ายค่าแรงเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

เกรซีระบุอีกว่ายังมีผู้หญิงที่ทำงานในสำนักข่าวจำนวนมากที่ไม่ใช่ "ดาราดัง" ที่มีค่าตัวสูงๆ แต่เป็นฝ่ายผลิตที่ทำงานหนัก หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติยิ่งถูกเลือกปฏิบัติด้านค่าแรงมากกว่าคนอื่นๆ

"มันเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติด้านค่าแรงและมันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย" เกรซีระบุในจดหมาย

อย่างไรก็ตามโฆษกของบีบีซีแถลงปฏิเสธปฏิเสธข้อกล่าวหาของเกรซี ในถ้อยแถลงระบุว่าการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และอ้างว่าเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรแล้วพวกเขามีค่าจ้างที่เท่าเทียมกันมากกว่าระหว่างชายหญิงอีกทั้งยังให้กรรมการอิสระมีส่วนตรวจสอบบัญชีของพนักงานระดับล่างพบว่า "ไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิง"

อย่างไรก็ตามมิเชลล์ สตานิสตรีท เลขาธิการของสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติสหราชอาณาจักรกล่าวว่าการออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงของเกรซีไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะเธอไม่ยอมที่จะนิ่งเฉยต่อการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างใหญ่หลวงในบีบีซี

นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงการสนับสนุนเกรซีจำนวนมากในทวิตเตอร์รวมถึงนักข่าวบีบีซีด้วยแฮชแท็ก #IStandWithCarrie จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ #BBCWomen ประท้วงในเรื่องค่าจ้างมาก่อน

สื่อบีบีซีเองรายงานว่าจากข้อมูลของปีที่แล้วแสดงให้เห็นการที่ผู้ชายในบีบีซีได้รับค่าแรงมากกว่าหญิงร้อยละ 10.7 เมื่อคิดตามค่าเฉลี่ยของค่าแรงต่อชั่วโมง

 

เรียบเรียงจาก

A Top BBC Journalist Has Quit As China Editor And Accused The Corporation Of Having A "Secretive And Illegal" Pay Culture, Buzzfeed, 08-01-2018
https://www.buzzfeed.com/markdistefano/a-top-bbc-journalist-has-quit-as-china-editor-and-accused

BBC China editor Carrie Gracie quits post in equal pay row, BBC, 08-01-2018
http://www.bbc.com/news/uk-42598775

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท