Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการปกครองตามระบอบที่ควรจะเป็น อย่างที่รู้ๆกันว่า การมอบอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยต่อรัฐบาลก่อนหน้า คสช ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2557 แม้ว่ารัฐบาลชุดนั้นมีความตั้งใจที่จะคืนอำนาจอันพึงมีนั้น ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกขัดขวาง จากการประท้วงของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “มวลมหาประชาชน” จนการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะในที่สุด

หลังจากการเลือกตั้งผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน การรัฐประหาร ครั้งที่ 13 ก็เกิดขึ้นและถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยจะน่าจดจำสักเท่าไร หลังจากนั้นประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในขณะที่ประเทศอื่นก้าวไปไกล และรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต พัฒนาคิดค้นสิ่งต่างๆ ที่ทันสมัยมากมาย เมื่อย้อนดูประเทศไทย ประเทศไทยก็ยังคงพัฒนาอย่างช้าๆ และยังไม่มีวี่แววที่จะคืนอำนาจอธิปไตยนั้นให้กับประชาชนชาวไทย แม้ว่าที่ผ่านมา อาจมีหลายๆสิ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้จริง แต่จะเห็นได้ว่าไม่ตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน) โดยแท้จริงแล้ว บัตรคนจน ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมอันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ให้กับคนในประเทศยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ขณะที่คนมีรายได้ระดับกลางหรือรายได้สูง ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งรถเมล์ฟรีในกรุงเทพ เช่นเดิม หรือรับสิทธิ์ลดครึ่งราคาเหมือนผู้ใช้บัตรคนจนทั้งๆที่จ่ายภาษีเช่นเดียวกันทั้งๆที่ คนมีรายได้ระดับกลางหรือรายได้สูงเสียภาษีให้กับประเทศเหมือนกันและมากกว่าผู้มีรายได้น้อย

 มีคำกล่าว อดีตนายกเทศมนตรี เอนริเก เปญาโลซา ว่า "เมืองที่พัฒนาแล้วจะไม่ใช่เมืองที่คนจนทุกคนหันมาใช้รถ แต่เป็นเมืองที่คนรวยทุกคนหันมาใช้ขนส่งมวลชน"1 เพียงแค่คำกล่าวสั้นๆนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นๆมีการพัฒนา และมีการจัดการ การคมนาคมได้เป็นอย่างดีตอบสนองคนในสังคมและแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในประเทศที่สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนของประเทศโดยได้รับการจัดสรรการปฏิบัติเสมอกัน อันเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย

การที่ประเทศที่ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ รัฐให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสวัสดิการ(Welfare state) คือสร้างความมั่นคงและจัดสรร สวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีมาตรฐานที่ดีที่สุด คำนึงถึงความเสมอภาคของคนในสังคมโดยไม่เจาะจงว่าต้องเป็น คนจนเท่านั้น การวัดความยากจนนี้ ทำให้ลดคุณค่าความเป็นคนโดยเพียงแค่นำเส้นแบ่งทางรายได้มาวัดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคน สำหรับประเทศไทยยังคงจัดเป็น สวัสดิการโดยรัฐ (State welfare) ที่ประชาชนยังคงมีความเหลื่อมล้ำกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รายได้ คุณภาพชีวิต สิทธิ และโอกาสต่างๆ ประเทศไทยมักจะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น การแจกผ้าห่ม ในช่วงฤดูหนาวมักแจก เฉพาะคนที่มีรายได้น้อยหรือขาดแคลน เท่านั้นซึ่งทำให้การจัด สวัสดิการ ของรัฐคนทุกคนไม่เสมอภาคกันเหมือน รัฐสวัสดิการ

นอกจากนี้คนทำบัตรคนจนในต่างจังหวัดได้รับสิทธิ์ในการลดราคาในระบบขนส่งมวลชนจริง แต่น้อยมากที่ผู้ทีอยู่ตามชนบทจะได้ใช้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์สำหรับคนส่วนใหญ่ มีเพียงแต่เงินเดือน 300 บาทที่ได้รับอย่างแน่นอนกับสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ มิเพียงแต่เท่านี้บางคนไม่มีความซื่อสัตย์ (อันเป็นลักษณะพื้นฐานที่ติดตัวของคนไทยบางคน) เห็นแก่ประโยชน์ของตน สวมรอยทำบัตรดังกล่าวแม้ว่าฐานะจะดีแต่ได้รับบัตรนี้อย่าง่ายดาย จะเห็นได้ว่าปูพื้นฐานประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี  มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมแม้แต่นิดเดียว

ที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือ เรื่องค่านิยม 12 ประการ เป็นสิ่งที่เด็กๆ หลายคนท่องจำจนขึ้นใจแต่หลายๆข้อ ผู้ใหญ่ยังไม่สามารถแสดงให้เด็กดูได้ ออกข่าวจนรู้สึกเอือมละอาที่จะเปิดโทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีข่าวอาชญากรเต็มไปหมด ข่าวทุจริตคอรัปชั่น ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ของผู้มีอำนาจ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ รวมไปถึงหลายสาขาอาชีพที่มักจะมีการรายงานตามแหล่งข่าวต่างๆ

ในข้อเรียนรู้อธิปไตยของประชา คือ ไม่มีให้เรียนรู้เพราะหลายๆคน ไม่ทราบว่า อำนาจอธิปไตยคืออะไร จนถึงวันนี้ ปีพุทธศักราช 2561 กล้าที่จะพูดว่า ประชาชนชาวไทย มากกว่า 4 ล้านคนไม่ทราบว่าอำนาจอธิปไตยคืออะไร การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีคนจำนวนหนึ่งที่ตระหนักถึงการใช้สิทธิพื้นฐานของตน ในการเลือกผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาลที่เลือกโดยการพิจารณาไตร่ตรอง และคำนึงถึงการพัฒนาประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเพราะปัจจัยต่างๆ ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบพฤติกรรมการออกเสียง A General model of voting ²

1. ภูมิหลังเศรษฐกิจสังคม ครอบครัว (Social context) สำหรับประเทศไทยจริงๆ ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีคนจนเป็นจำนวนมากและมีคนรวยจำนวนหนึ่งซึ่งช่องว่างของรายได้เหลื่อมล้ำกันมาก มีคนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง หากพูดให้เห็นภาพอย่างชัดเจนคือ การที่ครอบครัวคนจนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งโดยพ่อเลือกเบอร์ 1 ทุกคนในบ้าน หรือวงศาคณาญาติ ก็อาจจะเลือกเบอร์ 1 เช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดเจนมากในแถบชนบทที่มีการลงคะแนนเสียงดังนี้ แต่ชนชั้นกลางก็จะค่อนข้างมีเหตุผลของตัวเอง มีความรู้หรือแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่ามาโต้แย้งกันได้

2. ความนิยมในตัวพรรค (Party idenfication) ประเทศไทยมีความชัดเจนเป็นอย่างมาก แบ่งเป็น กีฬาสีของประเทศอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่า 2 พรรคใหญ่ จะมีคนที่เชื่อหรือมีอุดมการณ์ร่วมกับพรรคๆ นั้น เมื่อพรรคนั้นลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งใดก็ตั้งใจจะเลือกพรรคนั้นตลอด

3. ปัจจัยด้านพรรค (Government and Party action) วิปรัฐบาลค่อนข้างได้เปรียบเพราะเป็นผู้ควบคุมงบประมาณ บริหารจัดการงบ และจัดทำนโยบายหากทำได้ดี ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเลือกตั้งครั้งหน้ารัฐบาลชุดนี้ก็จะได้รับความนิยมได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง แต่ถ้าทำผิดพลาด ทุจริตขึ้น หรือถูกฝ่ายค้านโจมตี หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ความนิยมของพรรคก็จะเปลี่ยนไป ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะมีวงจร อิจฉาริษยา เกิดขึ้นกับรัฐบาล หากพรรคใหญ่พรรคหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นก็จะเกิดการประท้วง หรือปิดสถานที่ราชการขึ้น จนในที่สุดอำนาจอธิปไตย ตกไปอยู่ในมือของ ท.ท....

4. ปัจจัยด้านสื่อ (Media context) สื่อเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนมากในยุคสมัยนี้ จะเห็นได้ว่า ข่าวบางข่าวไม่ได้เป็นเรื่องจริงแต่มีการเผยแพร่เกิดขึ้น เช่น ในโลกออนไลน์ หลายๆคนมักเชื่อถือข่าวเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย และสื่อมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะ จะมีการพูดสนับสนุนพรรคตลอดเวลาในทางกลับกันมักโจมตีและเสียดสีพรรคตรงข้ามอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเมื่อผู้รับสื่อเป็นแฟนคลับช่องไหน ก็จะเลือกพรรคนั้น

จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งมีปัจจัยต่างๆ ทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีการวางรากฐานหรือเตรียมการ การเลือกตั้งของไทยก็มีความบกพร่องในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดๆนั้น ความพร้อมของประชาชน ปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อประชาชน ก็ส่งผลในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ไม่ใช่การมอบอำนาจให้กับรัฐบาลเพื่อมาพัฒนา ดูแล ประเทศชาติอย่างแท้จริงแต่เป็นการนึกถึงผลประโยชน์ของตนมากกว่า เช่น ต้องการเอาชนะ ต้องการนโยบายประชานิยม หรือที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งคือ การเลือกตั้งเพราะได้รับค่าจ้าง ของคนไทยบางคนเมื่อได้เงินแล้วจึงออกไปใช้สิทธิ์ของตนอย่างสนุกสนานโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น

 การเลือกตั้งจะไม่มีความหมาย หากคนไทยไม่มีความรู้ การศึกษา และไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ควรจะมี ควรจะเป็นแม้ว่าการเลือกตั้ง จะเป็นอำนาจอันพึง แต่ถ้าหากมีแล้วใช้ในทางผิดๆ อย่างที่ผ่านมาก็จะทำให้สังคมไทยมักมีรัฐบาลที่อยู่ไม่ครบวาระ4 ปี อย่างที่ผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อาจจะไม่เลือกตั้งในปีนี้ตามที่เคยกล่าวไว้ หากจะดำรงตำแหน่งอยู่ถึง10-20ปี ก็ควรจะออกนโยบายหรือสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับปวงชนชาวไทยเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่ออกนโยบายเอาใจคนไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ที่ไม่รู้ว่าคืนความสุขให้ใครกันแน่

 

เชิงอรรถ

1 รถเมล์ สัญลักษณ์ประชาธิปไตยในเชิงปฏิบัติ. (n.d.). Retrieved from https://www.ted.com/talks/enrique_penalosa_why_buses_represent_democracy_in_action/transcript?utm_source=directon.ted.com&awesm=on.ted.com_g0RNQ&share=1758b59b4a&utm_medium=on.ted.com-none&language=th&utm_content=roadrunner-rrshorturl&utm_campaign=

2 เชียงกูล, ร. (2560). การปฏิวัติประชาธิปไตยคนไทยควรรู้อะไร. กรุงเทพ: ISBN.


เกี่ยวกับผู้เขียน: อนินท์ญา ขันขาว เป็น นศ.ชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net