Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

“เพศที่สาม” ถือว่าเป็นคำที่คนไทยแทบทุกคนคุ้นเคย และอาจใช้กันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่ออธิบายคนกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากชายจริงหญิงแท้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศที่สามในสังคมไทย มีอิสระในการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าสิทธิเสรีภาพทางด้านกฏหมายของไทยยังไม่เทียบเท่าประเทศพัฒนาบางประเทศก็ตาม ในปัจจุบันคนไทยบางส่วนอาจได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์เพศจิปาถะ ศัพท์วิชาการ ศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่น ที่นอกเหนือไปจาก กะเทย ทอม ตุ๊ด สาวประเภทสอง เช่น เชอร์รี่ อดัม ทอมเกย์ กะเทยเลสเบี้ยน ไปจนถึง ผู้หญิงข้ามเพศ และ ผู้ชายข้ามเพศ ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งคำศัพท์เหล่านี้ยังคงถูกใช้ปะปนกันอยู่ เช่นในกรณีของ ตุ๊ดกับกะเทย หรือ ทอมกับผู้ชายข้ามเพศ แต่คำเรียกเพศแต่ละคำนั้น ต่างมีนัยยะสำคัญของตนเอง

ประเด็นของที่มาของการเป็นเพศที่สาม กะเทย ตุ๊ด ทอม และเพศอื่นๆ ยังคงเป็นที่ถกเถียงและพูดคุยอยู่ว่า มันเกิดจากธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือ เวรกรรมในอดีตชาติ ซึ่งบทความของผมไม่ได้ต้องการจะหาคำตอบและชี้เจาะจงว่า ท้ายที่สุดแล้ว “การข้ามเพศ” มีที่มาจากปัจจัยอะไร ผมเชื่อว่าตัวตนของแต่ละคนนั้นมีองค์ประกอบและปัจจัยที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นไปได้ว่า ธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือแม้แต่เวรกรรม ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เราเป็นสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ จุดที่ผมสนใจในบทความนี้มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงของความรู้ ค่านิยม และวัฒนธรรมเกี่ยวกับการข้ามเพศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านจิตวิทยา และปรัชญาสังคมศาสตร์ทำให้ การข้ามเพศ ไม่ใช่หยุดอยู่ที่การกบฏต่อค่านิยมชายจริงหญิงแท้ แต่พัฒนาสู้การปรับเปลี่ยนตนเองเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกับสังคมชายจริงหญิงแท้ได้มากขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผมยกกรณีศึกษาของบุคคลข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการข้ามเพศในบริบทของสังคมที่แตกต่าง แต่กลับมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ


ไทย: จาก “กะเทย” สู่ “บุคคลข้ามเพศ”

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสังคมไทยได้ให้พื้นที่กับเพศที่สามอย่างกว้างขวาง เราเห็นกะเทย สาวประเภทสอง ตุ๊ด ทอม ได้อย่างทั่วไปบนพื้นที่สื่อ ตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีย์ โฆษณา มิวสิควิดีโอ ไปจนถึงรายการโทรทัศน์อื่นๆ อย่าง The Face ที่ได้ขยายพื้นที่ให้สาวประเภทสองสามารถร่วมประกวดร่วมกับ “หญิงแท้” ได้ ส่วนในระดับระหว่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อต้านการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ ประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติจึงกลายเป็น ดินแดนแห่งกะเทย หรือ ladyboy ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Hangover II ที่ใช้ฉากนางโชว์ “กะเทยมีงู” มาแสดงลักษณะพิเศษของประเทศไทย หรือแม้แต่มุขตลกในเว็บไซต์ 9gag ซึ่งหลายคนมักจะแซวว่าผู้หญิงไทยที่สวยและน่ารักอาจจะเป็นกับดัก (trap) เพราะ นางๆ ทั้งหลายอาจจะไม่ใช่หญิงแท้ก็ได้

กะเทยไทยแม้ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่กะเทยก็อาจจะพ่ายแพ้ให้กับความไม่เท่าเทียมภายในบ้านของตนเอง ถึงแม้ว่าพื้นที่ในสังคมของกะเทยเหมือนจะมีอยู่กว้างขวาง แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่เหล่านั้นมีขอบเขตจำกัด ท้ายที่สุดบุคคลที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตเยี่ยงกับชายจริงหญิงแท้ยังคงประสบอุปสรรคในการรับสิทธิเสรีภาพเท่ากับคนกลุ่มอื่น เช่นการถูกจำกัดโอกาสในการสมัครงาน และการไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านอื่นๆ (UNDP & USAID, 2014, pp. 7-9) ในทางสังคมแม้คนไทยจำนวนหนึ่งจะเอ็นดูกะเทย แต่ความเอ็นดูนั้นถูกตีกรอบด้วยความเชื่อที่ว่า กะเทยและเพศที่สามเป็นผู้สร้างเสียงหัวเราะ ตัวประหลาด และตัวตลก (Ünaldi, 2011, p. 64)  คุณนิติ ชัยชิตาทร (2559) หรือป๋อมแป๋ม ได้ตั้งข้อสังเกตบนเวที Ted Talk ไว้ว่า สังคมไทยมักเข้าใจ เด็กเนิร์ด คนอ้วน และกะเทย ในฐานะที่พวกเขาเป็น “ตัวประกอบ” ที่ขาดมิติความเป็นมนุษย์ ซึ่งในบางครั้ง พวกเขาอาจจะไม่ได้สนุกสนานตลอดเวลา ไม่ได้รู้สึกดีที่คนอื่นจะหัวเราะเยาะ และอาจจะไม่ได้พร้อมที่จะเป็นตัวตลกในสายตาใคร ส่วนในทางพุทธศาสนาหลายคนทราบดีว่า เพศที่สามเป็นตัวแทนของผู้กระทำผิดศีลข้อที่สาม คือ การเป็นชู้ การพรากผัวพรากเมียผู้อื่น (Jackson, 1997, p. 64; Winter, 2011, p. 253; Sinnott, 2012, p. 466; นฤพล ด้วงวิเศษ, 2557) ดังนั้นตามความเชื่อนี้ พวกเขาจึงเกิดมาอาภัพรัก ประสบอุปสรรคทางความรัก สังคมไทยได้ตีตราว่าเพศที่สามเป็นแค่ตัวสำรอง ท้ายที่สุดชายจริงหญิงแท้ที่เป็นคู่ของพวกเขา จะตัดสินใจเดินทางไปเพื่อสร้างครอบครัว มีลูก เช่นเดียวกับที่ชายหญิง “ปกติ” ทำกัน สังคมยังสร้างอคติว่าเพศที่สาม จะสามารถรักษาความรักได้ก็ต่อเมื่อมีเงินไว้เปย์คู่ของตัวเองเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้เงินซื้อความสุขทางเพศชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะไม่มีวันตามหารักแท้ได้เหมือนชายจริงหญิงแท้

ข้อจำกัดทางด้านสิทธิ และการถูกตีกรอบให้มีตัวตนในฐานะประชากรชั้นสอง ทำให้คนที่ถูกจัดประเภทให้เป็นเพศที่สามเข้าใจว่าทางออกเดียวที่พวกเขาจะมีชีวิตที่ดีในสังคมได้ คือ ความพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับบทบาทของชายจริงหญิงแท้ เช่นในกรณีของ กะเทย สาวประเภทสอง และผู้หญิงข้ามเพศ ความงามถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อรองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม (นฤพล ด้วงวิเศษ, 2557) ยิ่งสวยเท่าไหร่ ยิ่งเหมือนผู้หญิงมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะได้รับพื้นที่ในสังคมมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาเองจึงพยายามวิ่งหนีจากภาพของ “กะเทยควาย ลามก ตลก แต่งตัวขาดๆ เกินๆ” ให้ไกลมากที่สุด เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลข้ามเพศ เราคงมองข้ามความพยายามของคุณ ยลลดา สวนยศ และสมาชิกในสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย (ซึ่งภายหลังเป็นสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย) ที่ทำให้คำว่า “ข้ามเพศ” เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย จุดยืนของคุณยลลดายังชี้ให้เห็นว่านอกเหนือไปจากมุมมองเรื่อง “ชายใจหญิง” ที่ใช้อธิบายกะเทยในประเทศไทยนั้นยังมีความรู้อื่น คือ gender identity disorder (GID) หรือภาวะความไม่พอใจในเพศตัวเองในการอธิบายการข้ามเพศได้ GID ถูกยกขึ้นมาเป็นฐานในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มบุคคลข้ามเพศเพื่อต่อรองกับรัฐและสังคมว่า พวกเขาควรได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับบุคคลกลุ่มอื่น 

ถึงแม้ว่าการนำเสนอแนวคิดเรื่องการข้ามเพศตามกรอบ GID ในช่วงแรกจะได้รับแรงต่อต้านอย่างมาก เพราะเป็นการยกให้ผู้หญิงข้ามเพศเท่าเทียมกับผู้หญิงซึ่งถือว่าขัดกับมุมมองดั้งเดิมในสังคมไทย แต่ถือได้ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเสียงหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยที่ถูกเชื่อว่า เปิดกว้างและยอมรับคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ไม่ได้เปิดกว้างและให้การยอมรับพวกเขาอย่างที่หลายคนคิด และทำให้กิดการถกเถียง พูดคุย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อการข้ามเพศอีกครั้ง นอกเหนือไปจากผู้หญิงข้ามเพศ ในปัจจุบันสื่อไทยได้ขยายความสนใจไปถึงผู้ชายข้ามเพศมากขึ้น ถึงแม้ว่ายังคงมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างทอมกับผู้ชายข้ามเพศได้ แต่สังคมไทยเริ่มมองเห็นการมีตัวตนของพวกเขามากขึ้น เช่นในกรณีล่าสุดของคุณนวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเกรซ ตัดสินใจที่จะขอใส่ชุดรับปริญญาชาย ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญครั้งหนึ่งที่ดึงความสนใจจากสื่อได้ ทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสคิดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิในการแต่งตัวให้ตรงกับเพศสภาวะของตนเอง และยังเป็นการเพิ่มความตระหนักของกลุ่มชายข้ามเพศในสังคมไทยมากขึ้นด้วย


ญี่ปุ่น: จากโลกใต้ดินสู่โลกเบื้องบน

จากสายตาคนนอก ญี่ปุ่นดูเหมือนเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่แหวกแนวในเรื่องเพศ ตั้งแต่ เซ็กส์ทอย ภาพยนตร์เอวี บาร์โฮสต์ บาร์สำหรับชายแต่งหญิง ไปจนถึงกระแสสาววาย หรือ ร็อคเกอร์ชายแนววิชัวร์ (Visual Style ヴィジュアル系) ที่ทั้งแต่งหน้าและแต่งหญิง อย่างไรก็ตามถ้าถามคนไทยที่ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานจะพบว่า ในความเป็นจริงแล้วสังคมญี่ปุ่นมีระเบียบเคร่งครัด และไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนญี่ปุ่นจะใช้ชีวิตนอกค่านิยมชายจริงหญิงแท้ อันเนื่องมาจากว่าสังคมญี่ปุ่นไม่ได้มีแนวคิดเรื่องตัวตนที่ชัดเจน คนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้มองตนเองเป็นอณูเล็กๆ ในสังคมมากกว่าที่จะปัจเจกบุคคลที่มีอิสระจากกันและกัน พวกเขาจะมีตัวตนในสังคมได้นั้น ก็ต่อเมื่อเขาสามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมได้สำเร็จ ความหวาดกลัวหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ การถูกตัดขาดสายสัมพันธ์จากผู้อื่นและการไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Kelly, 2001, p. 174; McLelland, 2005, pp. 5-6; Lebra, 2007, p. 111; Wieringa, 2007, p. 25) ค่านิยมทางสังคมนี้จึงส่งผลให้ความล้มเหลวส่วนบุคคลเช่น การสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ดี การหางานไม่ได้ กลายเป็นปัญหาส่วมรวมที่จะทำลายรากฐานที่มั่นคงของสังคมญี่ปุ่นได้ ด้วยสาเหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมไว้ที่ตัวเอง ความเครียดดังกล่าวถูกแสดงออกผ่านปัญหาทางสังคมในญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น ฮิคิโคะโมะริ (引きこもり) หรือผู้ที่ปลีกตัวออกจากสังคม อันเนื่องมาจากความละอายที่ตนเองไม่สามารถทำตามความคาดหวังของสังคมได้ (Cassegård, 2013, pp. 181-182) ยังไม่รวมถึงอัตราการตายเพราะทำงานหนักเกินไป (คะโรชิ 過労死) หรือ อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงอันเนื่องมาจากความล้มเหลวจากการเรียนและการทำงาน รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยทางเพศที่ได้รับแรงกดดันจากสังคมรอบข้างให้ทำตามค่านิยมชายจริงหญิงแท้ (Inochi Respect White Ribbon Campaign, 2014, p. 12) และเมื่อพวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การฆ่าตัวตายกลายเป็นทางออกเดียวที่พวกเขานึกออกเพื่อหนีจากความเครียดเหล่านั้น เมื่อพูดถึงคนข้ามเพศแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบกะเทยหรือทอมเดินปะปนกับคนกลุ่มอื่น อย่างที่เราเห็นในสังคมไทย

ญี่ปุ่นเองมีภาพลักษณ์ของกะเทย หรือ โอะคะมะ (オカマ) และ นิวฮาล์ฟ (ニューハーフ) ไม่ได้แตกต่างจากกะเทยของไทยมากนัก พวกเขาคือผู้ที่ให้ความบันเทิง สร้างเสียงหัวเราะ ความประหลาดใจ และให้ความสุขทางเพศกับลูกค้าบางกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศชอบชายแต่งหญิง หรือ ผู้หญิงมีงู ด้วยสาเหตุนี้กะเทย ทอม ชายแต่งหญิง หญิงแต่งชาย จึงมีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้แค่ในวงการบันเทิงหรือในโลกกลางคืนเท่านั้น โลกของเพศที่สามจึงไม่ต่างจากโลกใต้ดินซึ่งจะครื้นเครงในเวลากลางคืนและเงียบเหงาในเวลากลางวัน กลายเป็นชุมชนที่ถูกแยกออกจากสังคมญี่ปุ่นอย่างชัดเจน และจนถึงทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจของคนญี่ปุ่นที่มีต่อการข้ามเพศนั้นยังถือว่าน้อยมาก อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นเข้าใจว่าการข้ามเพศคือการแสดงเพื่อความบันเทิงนั้นอาจจะต้องมองย้อนไปถึงรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเอง ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “เกะ-อิ” (芸 - げい) ซึ่งแปลว่า ศิลปะแขนงต่างๆ พ้องเสียงกับคำว่า “เกะ-อิ” (ゲイ) หรือ “เกย์” ที่เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษในการเรียกชายรักชาย (McLelland, 2003, p. 208, p. 212) ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงมองว่าการเป็น “เกย์” หรือการแต่งหญิง เลียนแบบกิริยาของผู้หญิง เป็นศาสตร์แสดงแขนงหนึ่ง ไม่ต่างจากการแสดงคาบุคิ (歌舞伎) ซึ่งผู้ชายแต่งตัวและแสดงบทบาทของผู้หญิงบนเวทีได้ เช่นเดียวกับการแสดงของคณะละครหญิงล้วนทะคะระซุคะ (宝塚歌劇団) ที่ผู้หญิงจะเล่นบทและแต่งตัวเป็นผู้ชายได้  การข้ามเพศจึงได้รับการยอมรับในฐานะการแสดงเป็นหลัก ในขณะที่ในพื้นที่จริงในสังคมคนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่การผ่าตัดแปลงเพศเคยผิดกฏหมายในญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1965 (McLelland, 2003, p. 208, pp. 212-213) การผ่าตัดแปลงเพศถูกมองว่าเป็นการทำให้ผู้ชายหมดประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์โดยไม่จำเป็น และถูกใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสาวประเภทสองหรือทอมที่ทำงานขายบริการทางเพศเท่านั้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนข้ามเพศญี่ปุ่นได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในก่อนที่จะเข้า ค.ศ. 2000 แนวคิดเรื่อง GID กระจายไปถึงญี่ปุ่นและทำให้บุคคลข้ามเพศหลายคนได้รับข้อมูลและความรู้ใหม่เกี่ยวกับการข้ามเพศที่แตกต่างจากความรู้ในอดีต ตอนนี้พวกเขารับรู้แล้วว่า พวกเขาไม่ใช่เพศที่สาม ไม่ใช่ชายใจหญิงหรือหญิงใจชาย แต่คือผู้ป่วยที่เกิดมาพร้อม “สภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ” (เซโดอิทซึเซ โชไก 性同一性障害) (McDemott, 2013, p. 191) เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมรับความรู้เกี่ยวกับ GID การผ่าตัดแปลงเพศจึงกลับมาถูกต้องตามกฏหมายอีกครั้งในฐานะขั้นตอนการรักษาให้กับผู้ป่วย GID ญี่ปุ่นจึงเป็นกรณีศึกษาพิเศษที่คนข้ามเพศในญี่ปุ่นยอมรับสถานะตัวเองในฐานะผู้ป่วยหรือผู้มีความผิดปกติ ในขณะที่คนข้ามเพศในประเทศอื่นๆ พยายามอธิบายว่าการข้ามเพศของตัวเองนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต (Nakamura, 2012, p. 6, pp. 12-14; McDemott, 2013, p. 180) เช่น ในกรณีที่กะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนไม่ยอมรับแนวคิดเรื่อง GID ของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ความสำคัญของ GID ในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทำให้การผ่าตัดแปลงเพศกลับมาถูกกฏหมายอีกครั้ง แต่มันยังทำให้คนข้ามเพศในญี่ปุ่นสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนกลุ่มอื่นในสังคมได้ จากการพูดคุยกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในญี่ปุ่นบางส่วนพบว่า สังคมญี่ปุ่นยอมรับ “สภาวะความผิดปกติ” (โชไก) ได้มากกว่าการรักเพศเดียวกัน จึงทำให้สังคมญี่ปุ่นยอมรับผู้ป่วย GID ได้ดีกว่าชายรักชายหรือหญิงรักหญิง แนวคิด GID ได้สนับสนุนให้คนข้ามเพศบางส่วนสร้างความแตกต่างของพวกเขาจาก เกย์ สาวประเภทสอง และทอมที่ทำงานโลกกลางคืน (Mitsuhashi, 2006, p. 202, p. 219; McDermott, 2013, pp. 218-219) นอกจากนั้นกลุ่มการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศในญี่ปุ่นที่สนับสนุน GID ประสบความสำเร็จในการให้รัฐยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพศในทะเบียนครอบครัว (โคะเซะคิ 戸籍) ของคนข้ามเพศได้ (Nakamura, 2012, p. 6, pp. 12-14; McDermott, 2013, p. 180; Amnesty International, 2017, p. 5)


การเดินทางสู่โลกชายจริงหญิงแท้

ถึงแม้พื้นฐานมุมมองต่อการข้ามเพศ และการตอบรับความรู้ใหม่เกี่ยวกับ GID ในไทยและญี่ปุ่นจะแตกต่างกัน การเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเองนั้น ดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่านักเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่นจะอธิบาย GID ว่าเป็นสภาวะทางจิตที่เกิดตามธรรมชาติและน่าจะเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกกลุ่ม แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศจะถูกผูกโยงกับคุณสมบัติบางประการ คือ ความสมัยใหม่ ความเป็นตะวันตก และ ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ผมเคยมีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์สมาชิกจำนวนหนึ่งของสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ผู้หญิงข้ามเพศไม่จำเป็นจะต้องสวยเหมือนผู้หญิงและมีกิริยามารยาทเหมือนผู้หญิงเสมอไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นมองตัวเองว่าเป็นเพศไหน ถ้าหากเขาคิดว่าเขาเป็นผู้หญิงและรู้สึกกระอักกระอ่วมที่จะต้องใช้ชีวิตในร่างผู้ชาย แต่งตัวเป็นผู้ชาย เขาก็คือผู้หญิงข้ามเพศ เช่นเดียวกับกรณีของผู้ชายข้ามเพศที่แม้จะเกิดในร่างกายผู้หญิงแต่ถ้าหากเขาคิดว่าเขาเป็นผู้ชายมากกว่าที่จะเป็นแค่สาวหล่อ เขาก็คือผู้ชายข้ามเพศ อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับกะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนเมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่า อัตลักษณ์ของ “ผู้หญิงข้ามเพศ” ถูกตีกรอบด้วยความงามบนบรรทัดฐานว่า คนๆนั้นจำเป็นจะต้องสวยเหมือนหญิงแท้ และสามารถใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากผู้หญิง ซึ่งกะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนเชื่อว่าพวกเขาแตกต่างจากทั้งชายจริงและหญิงแท้ จึงทำให้พวกเขาเชื่อว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ” อธิบายตัวตนของพวกเขาไม่ได้

ถึงแม้ว่าผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศเชื่อว่าตัวตนของพวกเขาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และปัจจัยทางด้านการศึกษาและเศรษฐกิจไม่ได้กำหนดตัวตนของพวกเขา อัตลักษณ์ของพวกเขาถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ใหม่และไม่คุ้นเคย เพราะคำศัพท์เหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ของตะวันตก แนวคิดเรื่อง GID ให้คำอธิบายเรื่องการข้ามเพศแตกต่างไปจากความเชื่อเดิมๆ อย่างในกรณีของประเทศไทย เรื่องเวรกรรม เพศที่สาม กะเทย หญิงใจชาย ชายใจหญิงเป็นคำอธิบายที่คนไทยคุ้นเคยมาเป็นระยะเวลานานกว่า ด้วยความไม่คุ้นเคยนี้ทำให้คำว่า “คนข้ามเพศ” ถูกจำกัดในวงการของวิชาการและการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งโดยส่วนมากคือผู้ที่ได้รับโอกาสที่ดีทางการศึกษาหรือสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จากตะวันตกได้ ข้อจำกัดในการเข้าถึงสังคมในวงกว้างของอัตลักษณ์ใหม่ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าไม่ใช่ชนชั้นกลาง ถ้าการศึกษาไม่สูง ถ้าไม่ได้ทำงานในวงการเฉพาะทางเกี่ยวกับ queer แล้ว คนๆนั้นจะเป็น หญิงข้ามเพศ หรือ ชายข้ามเพศ ได้หรือไม่? ผมเชื่อว่าผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศยังประสบอุปสรรคอยู่มาก ที่จะให้คนในสังคมไทยทั้งชายจริงหญิงแท้และเพศที่สามยอมรับคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับการข้ามเพศว่าเป็นเรื่องทั่วๆไป ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดทางการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาวะในไทย ซึ่งทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการข้ามเพศของไทยอาศัยสื่อกระแสหลักมากกว่า โดยที่สื่อกระแสหลักเองก็ไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการข้ามเพศที่มีประสิทธิภาพเสมอไป

ในกรณีของญี่ปุ่น ความแตกต่างระหว่าง กะเทย ทอม และคนข้ามเพศนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนที่ผ่าตัดแปลงเพศอย่างสมบูรณ์เท่านั้นได้รับสิทธิในการเปลี่ยนเพศตนเองในทะเบียนครอบครัว และสามารถใช้ชีวิตตรงตามเพศของตนเองได้ นั่นหมายความว่าสิทธิทางกฏหมายนี้ไม่ได้กระจายไปสู่ผู้ที่มองว่าตัวเองว่าเป็น เพศที่สาม เช่น นิวฮาล์ฟ (ครึ่งชายครึ่งหญิง) ไม่ใช่ทั้งชายและหญิงอย่างเอ็กซ์เจนเดอร์ (x-gender) ในเวลาเดียวกันการใช้ชีวิตในฐานะคนข้ามเพศในญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์จึงต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้การแปลงเพศสมบูรณ์ก่อนที่จะสามารถเปลี่ยนเพศของตนเองตามกฏหมายได้ ในบางกรณีคนข้ามเพศในประเทศญี่ปุ่นต้องเดินทางมาทำการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีการผ่าตัดแปลงเพศที่พัฒนาและค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตามการเดินทางเพื่อมาผ่าตัดแปลงเพศก็อาศัยค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายให้กับเอเจนซี่ที่ดูแลติดต่อเรื่องการเดินทาง  (Yuen, 2017) ดังนั้นอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ (transgender - トランスジェンダー) จึงถูกผูกโยงกับความสามารถทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการผ่าตัดแปลงเพศ การรักษาด้วยฮอร์โมน และองค์ความรู้ทางการแพทย์จากตะวันตกที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเกี่ยวกับการข้ามเพศเดิมๆ ในประเทศญี่ปุ่น      

ถ้าหากวิเคราะห์ในเชิงสังคมศาสตร์ วิวัฒนาการของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของความรู้เกี่ยวกับการข้ามเพศ ส่งผลให้อัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปตามบริบทสังคมในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งในกรณีของไทยและญี่ปุ่นก่อนที่ทั้งสองประเทศจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ GID การข้ามเพศคือการข้ามจากเพศชายและหญิงไปสู่เพศที่สามซึ่งไม่สามารถเป็นทั้งชายและหญิงได้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป การข้ามเพศถูกแสดงออกมาในสองมิติคือ 1) จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชาย และ 2) จากเพศที่สามสู่ชายจริงหญิงแท้ ปฏิเสธไม่ได้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีขยายขอบเขตการจินตนาการของเรามากขึ้น และทำให้เราค่อยๆ เห็นว่าในปัจจุบันการข้ามเพศจากเพศหนึ่งไปอีกเพศหนึ่งนั้นมีความเป็นไปได้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพสำหรับบุคคลที่ข้ามเพศไปแล้วจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น ด้านหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของคนข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่นมุ่งหวังให้คนข้ามเพศมีความแตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่น้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะเพิ่มความเท่าเทียมในสังคม อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งการที่คนข้ามเพศค่อยๆ ปรับตัวเองให้อยู่ในสังคมชายจริงหญิงแท้อย่างเต็มตัว และค่อยๆ ตีตัวออกห่างจากกลุ่มเพศที่สาม ความกำกวมทางเพศ อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะเกิดมาในร่างใด หรือเราจะตัดสินใจที่จะข้ามไปอีกเพศหรือไม่ เราไม่สามารถเป็นอิสระจากกรอบค่านิยมชายจริงหญิงแท้ได้

 

 

อ้างอิง

Amnesty International (2017). Human Rights Law and Discrimination Against LGBT   People in Japan. Retrieved from https://www.amnesty.org/download/
DocumentsASA2259552017ENGLISH.PDF

Cassegård, C. (2013). Youth Movements, Trauma and Alternative Space in     Contemporary Japan. Brill.

Inochi Respect White Ribbon Campaign. (2014). LGBTの学校生活に関する実態調  査 (2013) 結果報告書. Inochi Respect White Ribbon Campaign. Retrieved    from http://endomameta.com/schoolreport.pdf.

Jackson, P.A. (1997). Thai Research on Male Homosexuality and      Transgenderism and the Cultural Limits of Foucaultian Analysis.     Journal of the History of Sexuality, 8(1), 52-85.

Jackson, P. A. (2011). Capitalism, LGBT Activism, and Queer Autonomy in     Thailand In P. A. Jackson (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets,    Media, and Rights. (pp. 195-204). Hong Kong: Hong Kong University    Press.

Kelly, V. E. (2001). Peer Culture and Interaction - How Japanese Children     Express Their Internalization of the Cultural Norms of Group Life     (Shudan Seikatsu). In H. Shimizu, & R. A. LeVine (Eds.), Japanese     Frames of Mind - Cultural Perspectives on Human Development.  (pp.    170-201). Cambridge University Press.

Lebra T. (2007). Identity, Gender, and Status in Japan. Global Oriental.

McDermott, N. (2013). Resistance and Assimilation - Medical and Legal     Transgender Identities in Japan. In B. Steger, & A. Koch (Eds.), Manga    Girl Seeks Herbivore Boy: Studying Japanese Gender at Cambridge.    (pp. 179-226). LIT Verlag Münster.  

McLelland, M. J. (2003). Living More “Like Oneself”, Journal of Bisexuality. 3(3/4),   203-230.

McLelland, M. J. (2005). Salarymen Doing Queer: Gay Men and the      Heterosexual Public Sphere in Japan. In M. J. McLelland, & R.     Dagupta (Eds.), Genders, Transgenders and Sexualities in Japan. (pp.    96-110). Routledge.

Mitsuhashi, J. (2006). The Transgender World in Contemporary Japan: the     Male to Female Cross-dressers’ Community in Shinjuku (K. Hasegawa,    Trans.). Inter-Asia Cultural Studies. 7(2), 202-227.

Nakamura, K. (2012). Trans/Disability, Queer Sexualities, and Transsexuality from a   Comparative Ethnographic Perspective. Retrieved from http://www.p.u-
tokyo.ac.jp/cbfe/activity/doc/05_doc1_20120119.pdf

Sinnott, M., (2012). Korean-Pop, Tom Gay Kings, Les Queens and the     Capitalist Transformation of Sex/Gender Categories in Thailand. Asian    Studies Review, 36(4), 453-474.

UNDP, & USAID (2014). Being LGBT in Asia: Thailand Country Report. Bangkok.    Retrieved from https://www.usaid.gov/sites/default/files/documents/1861/   Being_LGBT_in_Asia_Thailand_Country_Report.pdf

Ünaldi, S. (2011). Back In the Spotlight - The Cinematic Regime of      Representation of Kathoeys and Gay Men In Thailand. In P. A. Jackson    (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets, Media, and Rights. (pp.    59-80). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Wieringa, S. E. (2007). Silence, Sin, and the System: Women’s Same-Sex     Practices in Japan. In S. E. Wieringa,  E. Blackwood, & A. Bhaiya     (Eds.), Women’s Sexualities and Masculinities in Globalizing Asia. (pp.    23-45). New York: Palgrave Macmillan.

Winter, S. (2011). Transpeople (Khon kham-phet) in Thailand -       Transprejudice, Exclusion, and the Presumption of Mental Illness. In P. A.    Jackson (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets, Media, and Rights.    (pp. 251-267). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Yuen, S. M. (2017, July). Politics of Trans Mobility - Japanese Female-to-Male    Transgender Medical Travellers in Thailand. Paper presented at the Inter-Asia  Cultural Studies Conference 2017, Sungkonghoe University, Seoul.

นิติ ชัยชิตาทร. (2558, กันยายน 2). โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง [ไฟล์วิดีโอ]. จาก    https://www.youtube.com/watch?v=48A9SU6_bQ8

นฤพล ด้วงวิเศษ. (2557). วิพากษ์ “ความเป็นหญิง” ของหญิงในร่างชาย.      จาก http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?   
content_id=782.
 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล เป็นนักศึกษาปริญญาเอก จาก University of Auckland ปัจจุบันกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเพศวิถี วัฒนธรรม ความหลากหลายในสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยและญี่ปุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net