Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะมีการสอดแนมและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนมาเป็นเวลานานจนมีภาพจำว่าประชาชน "เคยชิน" กับมัน แต่สื่อนิวยอร์กไทม์ก็ประเมินว่าในปี 2561 นี้ มีสิ่งที่ท้าทายสำหรับทางการจีนและบริษัทไอทีจีนคือการที่ประชาชนเริ่มแสดงความไม่พอใจการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวกันแล้ว

10 ม.ค. 2561 ประเทศจีนมีระบบการจ่ายเงินออนไลน์ขนาดใหญ่ผ่านบริษัทที่มีผู้ใช้บริการหลายร้อยล้านคน โดยในทุกๆ ปีบริษัทเหล่านี้จะมีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ในรายละเอียดหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาก่อไปจนถึงลำดับของพวกเขาเทียบกับนักช้อปคนอื่นๆ ในพื้นที่ นักช้อปในจีนก็มักจะมีนิสัยอวดเรื่องทางการเงินของตัวเองและแชร์เรื่องนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตามในปีนี้ดูเหมือนชาวจีนจะแสดงออกต่างออกไป เพราะพวกเขาเริ่มมีความตระหนักเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยหลังจากที่บริษัทแอนต์ไฟแนนเชียลในเครือของอาลีบาบากรุ๊ปเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ในโครงการที่เรียกว่า "เซซามีเครดิต" ออกมาโดยอัตโนมัติก็ทำให้ผู้คนไม่พอใจจนทำให้ทางบริษัทต้องออกมาขอโทษ

โครงการเซซามีเครดิตคือการคอยติดตามชีวิตส่วนตัวของผู้คนไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือแบบแผนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อนำไปประมวลผลการตัดสินใจให้กู้ยืม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานของรัฐบาลจีนในการพยายามติดตามสอดแนมชีวิตของผู้คนที่หลายคนมองว่าแทบจะเหมือนนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์


'Big Data' หลอมรวมกับ 'Big Brother': ระบบให้คะแนนประชาชนโดยรัฐบาลจีน
 

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าถึงแม้วัฒนธรรมจีนจะไม่เน้นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคล และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนก็เริ่มเคยชินกับการสอดแนมและการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลไปแล้ว แต่ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในกรณีล่าสุดของอาลีบาบาก็สะท้อนว่าผู้คนเริ่มต้องการสิทธิความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกรณีการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตและการจารกรรมข้อมูลส่วนตัวของผู้คนเกิดขึ้นไปทั่ว

ถึงแม้ว่าจีนจะมีการสอดแนมไปทั่วทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นการติดกล้องในเมืองใหญ่หรือการสอดแนมการพูดคุยของผู้คนในโลกออนไลน์ แต่นิวยอร์กไทม์ก็มองว่าการที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวอาจจะกลายเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีนและต่อการพยายามคุมอำนาจไซเบอร์ของรัฐบาลจีนเอง

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีผู้นำธุรกิจของจีนที่เริ่มบ่นถึงปัญหาการขาดความเป็นส่วนตัวเช่นในโปรแกรมแชตอย่าง WeChat

หลี่ ซูฝู ประธานของจี๋ลี่โฮลดิงกรุ๊ปและวอลโวคาร์กล่าวในที่ประชุมวันปีใหม่ว่า ทุกวันนี้ในจีน "ไม่มีสิทธิความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางข้อมูลข่าวสารเลย" และพูดถึง WeChat ว่า "โพนี่ หม่า จะต้องอ่านข้อความ WeChat ของพวกเราทุกวัน" โพนี่ หม่า คือประธานและผู้ก่อตั้งเทนเซนต์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในจีนที่ครอบคลุมทั้งโซเชียลมีเดียและโปรแกรมแชตที่มีผู้ใช้งานเกือบ 1,000 ล้านคน

ถึงแม้ว่าเทนเซนต์จะเคยแถลงว่าพวกเขาไม่เก็บข้อมูลประวัติการพูดคุยของผู้ใช้งานและจะไม่เอาข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า แต่ผู้คนก็ไม่เชื่อสิ่งที่เทนเซนต์พูดเพราะเคยมีผู้ใช้งานถูกจับกุมเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาพูดใน WeChat และมีการนำข้อความ WeChat ไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล มีนักกิจกรมถูกติดตามเพราะการพูดคุยผ่าน WeChat

นอกจากนี้ยังมีกรณีการออกแบบหน้าจอใช้งานในเชิงหลอกล่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยอมรับเงื่อนไขบริการและลงทะเบียนผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ เช่น กรณีของบริษัทแอนต์ไฟแนนเชียลในเครือของอาลีบาบากรุ๊ปที่ให้ผู้ใช้งานคลิกผ่านหน้าจอโดยมีตัวอักษรเล็กๆ ที่ระบุว่าผู้ใช้งานได้ยอมรับเงื่อนไขของบริการ แต่เงื่อนไขของบริการดังกล่าวก็ไม่มีการเปิดเผยให้เห็นในหน้าจอนั้น และมีการตั้งค่าให้ผู้ใช้งานยอมรับโดยอัตโนมัติและสมัครให้พวกเขาเข้าใช้งานโครงการเซซามีเครดิต โดยเงื่อนไขการบริการของพวกเขาคือการระบุว่าบริษัทมีสิทธิจะเอาข้อมูลของผู้ใช้งานส่งให้บุคคลที่สาม รวมถึงส่งให้รัฐบาลเพื่อใช้กับระบบการให้คะแนนประชาชนโดยทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

แม้ว่าในเวลาต่อมาเทนเซนต์จะแจ้งว่าผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ว่าจะเข้าร่วมระบบการให้คะแนนเครดิตหรือไม่ และจะทำให้ผู้ที่ถูกลงทะเบียนเข้ามาในระบบโดยไม่ได้จงใจออกจากระบบ แต่ผู้ใช้งานก็วิพากษ์วิจารณ์ไปมากกว่าแค่เรื่องนี้ โดยตั้งคำถามกับท่าที WeChat ที่ทำตัวเป็น "พ่อค้าขายข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้" ที่ไม่ยอมรับผิดชอบกับเรื่องใดๆ ด้วย เรื่องนี้ยังทำให้โจวหยาง นักลงทุนอายุ 25 ปีจากเซี่ยงไฮ้กังวลว่าจะเอื้อต่อการจารกรรมข้อมูลและการหลอกลวงต้มตุ๋นทางอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นด้วยจากการที่ปัญหาเหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้นในจีน และจากการสำรวจเมื่อปี 2560 จากสื่อรัฐบาลจีนเองก็พบว่าการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีน

เรื่องนี้มีแรงสะเทือนไปถึงระดับบนของการเมืองจีนที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามจัดวางระบบสอดแนมที่สลับซับซ้อนและกว้างใหญ่ที่สุดในโลกแต่นักการเมืองจีนก็เรียกร้องให้มีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่ดีขึ้น มีการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้งานให้ดีขึ้น แต่ก็คุ้มครองแค่การห้ามแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลโดยบริษัทเท่านั้น

ความกังขาต่อเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวยังส่งผลต่อการทำธุรกิจกับต่างประเทศ เช่นกรณีที่แอนต์ไฟแนนเชียลตกลงซื้อบริษัทมันนี่แกรมไม่สำเร็จเนื่องจากในสหรัฐฯ มีความกังวลว่าบริษัทจีนจะเข้าถึงข้อมูลการเงินจำนวนมหาศาลได้

ระบบเซซามีเครดิตยังมีส่วนคล้ายกับระบบ "เครดิตทางสังคม" ที่จีนพยายามจะนำมาใช้งานในปี 2563 ที่จะถึงนี้ซึ่งจะเป็นการสอดแนมผสมกับการที่รัฐบาลให้คะแนนผู้คน ทำให้คนที่ได้คะแนนสูงมีอภิสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ โดยข้อมูลส่วนหนึ่งอาจจะมาจากข้อมูลผู้ใช้บริการของบริษัทอย่างอาลีบาบาเอง เป็นเรื่องที่ชวนให้สังเกตการณ์ต่อไปว่าการตื่นตัวเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของชาวจีนบางส่วนจะขยายไปถึงการคุ้มครองตัวเองจากเงื้อมมือของรัฐบาลจีนด้วยหรือไม่ ในเมื่อยังมีชาวจีนจำนวนหนึ่งที่เสพติดการอวดคะแนนที่ได้จากช้อปปิ้งออนไลน์และไม่สามารถเลิกใช้บริการจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในจีนได้ง่ายๆ

 


เรียบเรียงจาก

Internet Users in China Expect to Be Tracked. Now, They Want Privacy., New York Times, 04-01-2018
https://www.nytimes.com/2018/01/04/business/china-alibaba-privacy.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net