SOTUS ที่ทำให้ประชาธิปไตยสร้าง (ไม่) เสร็จในมหาวิทยาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จุดเริ่มต้นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอาจมิใช่เพียงแค่สอบติดสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบติดมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับ ผู้ที่สามารถสอบติดได้ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองหรือรู้สึกประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งในการมุมานะทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้า หาความรู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ แต่ที่จริงแล้วเชื่อหรือไม่ว่า “การสอบติดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น”

เมื่อเปิดภาคการศึกษาใหม่นักศึกษาที่เข้ามาใหม่รู้สึกภาคภูมิใจในสถาบัน ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศ มีคณะหนึ่งเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้นำในสังคมเรียนทฤษฏี ที่สามารถนำมาใช้ในการควบคุมคนอื่นในสังคม วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ แต่ คณะนั้นกลับชื่นชมในการเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลืออุปถัมภ์กันแบบผิดๆ ตีกรอบความคิดให้กับนักศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาศึกษาในคณะเดียวกับตน และเรียกนักศึกษาใหม่ว่า “น้อง” ทั้งๆ ที่อายุห่างกันเพียงแค่ 1-2 ปีและน้องบางคนอาจมีวุฒิภาวะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มากกว่าพวกที่เรียกตัวเองว่า พี่ก็ได้ แต่กลับ กดขี่ ข่มเหง บังคับ ให้ทำตามในกรอบที่มีกันมา 50 กว่าปี กรอบที่ว่านั้นคือ

1. การห้อยป้าย DOG  TAG หรือเหมือนเข้าค่าย ทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการแขวนป้ายเป็นการริดรอนสิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่แขวนป้ายถูกจับตามองถ้าไม่ทำตามสิ่งที่พวกพี่ๆ เหล่านั้นกำหนดมา แม้ว่าจะมีข้อดีคือทำให้คนรู้จักกันจริง แต่ก็รู้จักกันแค่ผิวเผินใช่หรือไม่ ถอดป้ายก็ลืมกัน ถ้าไม่ถูกใจจริงๆ  นักจิตวิทยา หลายท่านกล่าวไว้ว่า การที่เราจำชื่อใครได้แสดงว่าเราให้ความสำคัญกับเขาและเขาก็จะให้ความสำคัญกลับมาหาเราเช่นกัน ดังนั้นป้ายก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นควรเป็นกรณีที่ทำความรู้จักกันในระยะสั้นๆ เช่นการประชุม การเข้าค่าย เป็นต้น

2. ทำตัวน่าเคารพหรือไม่ จริงๆ แล้วการเคารพผู้อาวุโสเป็นสิ่งที่ดีงามแต่ ผู้อาวุโสที่ว่าในคณะนี้อายุห่างกันเพียง1-2 ปี ต้องเคารพตลอดเวลาหรือไม่ ทั้งๆ ที่บางคนไม่เคยรู้จักกันถ้าไม่เคารพ ถือว่าทำผิดกลายเป็นประเด็นมีการจดชื่อลงโทษไร้สาระ เคาะโต๊ะบ้างเรียกไปด่าบ้าง ตะคอก กดดัน จนบางคนถึงกับร้องไห้ ไม่เท่านั้นเวลาคิดอะไรต้องคิดให้ตรงกับที่พี่คิดมาให้มากที่สุดแตกต่างมากเกินหรืออกนอกกรอบก็ไม่ได้ คือบางทีเด็กมหาวิทยาลัย ก็เป็นวัยที่คิดเองได้ใช่หรือไม่จะมาตีกรอบ ให้ทำตามแบบแผนอยู่เสมอไม่ได้ สังคมเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว พวกอนุรักษนิยมควรปรับตัวให้ทันกับโลก วัยรุ่นสมัยใหม่คิดให้มากกว่านี้ ถ้าเปรียบเป็นประเทศ ก็คงเป็นประเทศโลกที่ 3

3. แบบไหนเรียกว่าแบบอย่าง การไม่เป็นแบบอย่างให้คนอื่นของรุ่นพี่บางคน คิดว่าตัวเองถูกเสมอ การที่ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็น “พี่” ที่ผ่านกระบวนการระบบโซตัสมา กลับแต่งกายไม่ถูกระเบียบกระโปรงสั้น เสื้อฟิต ผมรุงรัง ไว้หนวดไว้เครา รองเท้าแตะมาสถานที่ราชการถือเป็นแบบอย่างที่ดีแล้วหรือ ที่ไม่ดูตัวเองแต่กลับว่า คนที่เข้ามาใหม่ให้ทำตามกรอบที่กำหนดไว้ ใครทำผิดก็เหยียดหยามด้วยสายตา

4. เอาเวลาไปทำสิ่งดีๆ กันไหม การเข้าห้องเชียร์ที่เสียเวลาและหาสาระที่จะมาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไซโค ตะโกน เสียงดัง ดุด่าว่านักศึกษาใหม่ ใช้เวลาเล่นๆ เหมือนพวกว่างๆ ไม่มีอะไรทำ แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นไปอ่านหนังสือ หรือหาความรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพลงเชียร์แค่บังหน้า อาทิตย์หนึ่งได้หนึ่งเพลงวันล่ะ 3 ชั่วโมงร้องเพลงจริงๆ ไม่ถึงชั่วโมง คงสนุกกับการกดดันทำตัวเหนือกว่าคนอื่นไปวันๆ ส่วนบางคนก็ยืนหัวเราะอยู่ด้านหลังหรือนอกห้อง ด่าน้องไม่หนักก็เปลี่ยนอีกชุดเข้ามาด่าว่า ไม่รู้เพราะความสะใจหรือคิดไม่ได้ที่จะใช้เวลาเหล่านี้ไปทำอย่างอื่น ที่สร้างสรรค์กว่านี้

5. ทำด้วยใจหรือใช้การเช็คชื่อดี การเช็คชื่อการเข้าร่วมกิจกรรมหรือช่วยกิจกรรมต่างๆ หากไม่เข้าร่วมโดนแบล็คลิสต์  การเช็คชื่อจะไม่มีความจำเป็นถ้ากิจกรรมนั้นน่าสนใจ ดึงดูดให้คนเข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ หรือมีการกระตุ้นจิตสำนึกให้เห็นถึงส่วนรวมหรือปลูกฝังความเป็นพลเมืองการเช็คชื่อก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป การสร้างจิตสำนึกจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอดคนจะรู้สึกเห็นถึงส่วนรวมมากขึ้นและเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เช่น การมีสำนึกต่อส่วนรวมในการทำกิจกรรมต่างๆ น้อยคนนักที่จะสนใจหรือให้ความสำคัญกับกิจกรรม ต้องมีผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับถึงจะช่วย ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์เท่ากันการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ เท่ากับเราได้รักษาสิทธิ์ของเราแล้ว สิทธิ์ในการมีส่วนร่วม ในการเสนอความคิดเห็น นำมาสู่ความภาคภูมิใจในกิจกรรม มากกว่าการเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจ

6. คิดต่างต้องโดนเกลียดชัง กระบวนการพรรคพวกปลุกปั่น รุมเกลียดชิงชัง เหยียดหยามคนไม่เห็นด้วยกับระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ต่ำมาก แค่คนที่เห็นต่างก็ยอมรับกันไม่ได้ ระบบนี้ใครห้ามเห็นต่าง ถ้าเห็นต่างเชิญไปเป็นคนชนชั้นสองของคณะ

7. สร้างเผด็จการบนฐานประชาธิปไตย เมื่อถึงวันที่ต้องเลือกประธานรุ่นและประธานสาขาเพื่อที่สืบทอด ระบบนี้ให้คงอยู่สืบต่อไป โดยไม่รู้ว่าจะนานสักเท่าไรถึงจะหมดไปจากมหาวิทยาลัยบางแห่งของไทย เพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างที่ผ่านมา ทุกรุ่นมักจะมีการเลือกประธานรุ่นและประธานสาขาด้วยความพิสดาร โหวตเลือกจริงแต่เผด็จการตรงที่ ไม่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ที่ได้รับหน้าที่มาจากเสียงส่วนใหญ่หรือไม่ ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ผู้ทำหน้าที่ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ผู้ชายจะเป็นใหญ่ตลอดเวลา และผู้ที่ถูกเลือกน่าจะถูกวางตัวไว้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าคนๆ นั้นจะต้องรู้จักกับคนในรุ่นมาก สำหรับการโหวตที่เรียกว่าพิสดารนี้คือ ผู้โหวต ก้มหน้าลงหัวชิดโต๊ะ หลับตา ยกมือโหวตโดยห้ามเงยหน้าขึ้นมา ส่วนผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้นำหันหน้าชิดผนังหลับตา พวกพี่ว้าก ก็ทำหน้าที่ในการนับคะแนนยกมือ แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นประธานรุ่นและประธานสาขามีความสมัครใจที่จะเป็นอยู่แล้ว ต้องการอำนาจ และเมื่อได้อำนาจมาก็ต้องพยายามรักษาระบบไม่ให้ถูกโค่นล้ม ซึ่งน้อยมากที่จะมีคนคิดจะโค่นระบบหรือปฏิเสธการเอารุ่น

 นอกจากนี้ยังมีการใช้หลักจิตวิทยาในการชักจูงคนให้เชื่อในระบบของตน เช่น การมอมเมาผู้ชายให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล้างสมองให้เชื่อในความเป็นโซตัสว่าดี จบแล้วมีเครือข่ายคอยช่วยกันไม่ตกงาน  มีการสาบานตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยหรือคณะว่าจะเอาระบบโซตัสนี้ จะไม่ทรยศต่อเพื่อนต่อพี่ ซึ่งเป็นวิธีที่ล้าหลังเป็นอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันทางการศึกษาที่สร้าง “ปัญญาชน” ของชาติยังคงมีการสาบานตน เล่นกับความเชื่อไม่ได้เห็นว่าชาติจะพัฒนาไปข้างหน้าแต่เพียงอย่างได้แต่รู้สึกได้ถึงการย้อนยุคกลับสู่ช่วงสมัยอยุธยาเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่โลกไปข้างหน้าทุกวัน แต่ระบบความเชื่อเดิมๆ นี้ดึงคนรุ่นหลังให้ถอยหลังเข้าคลอง

จะเห็นได้ว่ากรอบต่างๆ ล้วนแต่ริดรอนสิทธิเสรีภาพ แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ เรียกตัวเอง ว่า พี่ ตั้งสรรพนามให้คนอื่นว่า น้อง แขวนป้าย ว้าก เช็คชื่อ ใช้จิตวิทยาหรือสาบานอะไรต่างๆ แสดงถึงความล้าหลังและล้มเหลวของการศึกษาไทยตรงที่ เด็กบางคนเก่งจริงแต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนชอบอะไรหรืออยากเป็นอะไร บางคนไม่ได้ให้ความสำคัญในสาขาที่ตนเรียน แต่เลือกที่จะเรียนเพราะปัจจัยต่างๆ เช่น ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย การตามเพื่อน หรือเลือกเพราะ พ่อ แม่ ครู เลือกให้ ถ้าหากสนใจในสาขาที่ตนเองเรียนจะรู้สึกให้ความสำคัญและไม่เมินเฉยต่อสิ่งที่พบเจอ ว่ามันขัดกับความจริง ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาไทยมองไม่เห็นว่าใครจะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวและคิดว่า ยากที่จะสูญหายไป และทำให้เห็นชัดเจนว่าในตัวนักศึกษาที่เข้ามาใหม่น้อยมากที่จะเห็นต่าง หรือเห็นต่างแต่ไม่กล้าแสดงออก แต่หนักที่สุดคือคนที่ยอมจำทนหรือเห็นดีเห็นชอบกับระบบซึ่งทำให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นปัญญาชน เลือนราง มองไม่เห็นแสงสว่างของประชาธิปไตยและ ประเทศไทยที่จะขึ้นเป็นประเทศพัฒนา

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท