Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ข้ออ้างสำคัญข้อหนึ่งในการยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจของคสช. คือ การต่อต้านปราบปรามคอรัปชัน การปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่อ้างว่าจะทำ ก็คือ ระบบต่อต้านปราบปรามคอรัปชัน

เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะมีการจัดการกับปัญหาคอรัปชัน ก็มีเฉพาะกับผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ซึ่ง คสช.ได้เข้าแทรกแซงกระบวนการในการจัดการ จนไม่มีใครรู้ว่า ถ้าไม่มีการแทรกแซงของคสช.ที่เริ่มจากการรัฐประหารแล้ว กรณีเหล่านั้นจะมีข้อสรุปอย่างไร ?

ส่วน คสช.เองหรือพวกพ้องทั้งหลาย ไม่ปรากฎว่า มีการจัดการกับปัญหาคอรัปชันอย่างโปร่งใสให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันแม้แต่เรื่องเดียว

การปฏิรูปก็ไม่เกิด ทั้งคนของ คสช.และรัฐบาล ไม่มีใครสามารถยกตัวอย่างว่าได้มีการปฏิรูปในเรื่องใด ยิ่งระบบต่อต้านปราบปรามคอรัปชันด้วยแล้ว ไม่เพียงแต่ไม่เกิดการปฏิรูป คสช.และพวกยังได้ร่วมกันทำลายระบบนี้ให้พังทลายลงไปแล้ว

เมื่อเกิดกรณีอื้อฉาว ที่ผู้คนคิดและเชื่อว่า เป็นเรื่องคอรัปชันโดยคนใน คสช.หรือรัฐบาล ไม่มีใครตั้งกระทู้ ไม่มีใครเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนในระบบรัฐสภา ถ้าเป็นระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ป่านนี้มีการตั้งกระทู้สดทุกสัปดาห์มาหลายเดือนแล้ว พอตอบกระทู้สดไม่ได้หลายๆครั้งเข้า ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคงถึงขั้นตกม้าตายกลางสภากันไปแล้ว

บางท่านอาจจะบอกว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจไปก็เท่านั้น รัฐบาลก็ยกมือชนะอยู่ดี ทว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมานั้น หากจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบหรือร่ำรวยผิดปกติ ผู้ยื่นญัตติก็จะต้องนำเรื่องไปยื่นร้องต่อ ปปช.เสียก่อน ซึ่งก็จะทำให้ ปปช.ต้องทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อมีการอภิปรายให้ข้อมูลในสภาไปแล้ว ปปช.จะนิ่งเฉยไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ หากนิ่งเฉยกรรมการ ปปช.เองก็อาจถูกถอนถอนโดยสมาชิกรัฐสภาไปด้วย

การที่นายกรัฐมนตรีบอกให้สื่อมวลชน “ลดราวาศอก” มิฉะนั้น จะใช้อำนาจมากกว่าเดิม ถ้าเป็นในระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีก็คงโดนอภิปรายไปแล้วเหมือนกัน

ปัญหาในเชิงระบบอีกเหมือนกัน ก็คือ ประชาชนและสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็น การหาข้อมูลถูกขัดขวาง การแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการทุจริตของรัฐไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมักจะถูกคุกคามหรือถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เช่น คำสั่งของ คสช.เอง

ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอรัปชันนั้น ผมได้เคยวิจารณ์ไว้ว่า “...สรุปได้ว่า คสช.ได้เปลี่ยนระบบและองค์กรในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน ไปเป็นระบบอื่นที่ ไม่ใช่ระบบที่อาศัยองค์กรอิสระ หรือเรียกได้ว่าไม่มีองค์กรอิสระ อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ คสช.และรัฐบาลไปแล้ว...”

ที่จะวิจารณ์เพิ่มเติม ก็คือ ในส่วนของคณะกรรมการ ปปช.ปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่แต่งตั้งกันในขณะที่ คสช.มีอำนาจเต็ม การสรรหาและแต่งตั้งเกิดขึ้นโดยมีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเข้าไปร่วมเป็นกรรมการสรรหา การให้ความเห็นชอบทำโดย สนช.ซึ่งล้วนเป็นคนของ คสช. และในที่สุดก็ได้คนสนิทของ คสช.เข้ามาเป็น ปปช.คนสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใด ปปช.ชุดนี้จึงไม่กระตือรือร้น เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้น และทำไม ปปช.ชุดนี้จึงไม่ได้รับควาามเชื่อถือจากสังคมหรือประชาชนทั่วไป

เวลาที่ คสช.ทำอะไรเลอะๆเทอะๆ มักมีคำอธิบายว่า เป็นเรื่องชั่วคราว ต่อไปเมื่อ คสช.พ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้ว ระบบที่ดีๆในรัฐธรรมนูญก็จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ไม่มีใครอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงไม่ใช้ระบบที่อวดอ้างว่าดีนั้นกันเสียตั้งแต่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่

แต่กับเรื่องการต่อต้านคอรัปชันนั้น เลวร้ายยิ่งกว่านั้นไปอีก

คสช.อ้างว่า เข้ามาปราบคอรัปชัน เวลาให้คนเขียนรัฐธรรมนูญก็เลยอวดอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น "รัฐธรรมนูญปราบโกง”

เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงจริงหรือไม่นั้น ผมไม่ขอวิจารณ์ในที่นี้ แต่ที่อยากจะบอกว่า เกิดการหลอกต้มคนทั้งประเทศก็คือเรื่อง "รัฐธรรมนูญปราบโกง” นี่แหละ

รัฐธรรมนูญนี้ เขียนอำนาจหน้าที่ของ ปปช.ไว้ แล้วให้ กรธ.ไปเขียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ปปช.ไว้ใน พรป. ผลออกมาเป็นคุณสมบัติแบบที่เรียกกันว่า “ขั้นเทพ” เป็นเหตุให้โอ้อวดว่า สมกับเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

แต่สุดท้าย สนช.กลับต่ออายุกรรมการปปช.ชุดปัจจุบันไปจนกว่าจะครบวาระ คือ อีก 7-8 ปี ทั้งๆที่กรรมการบางคนมีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้ใน พรป. ที่เขาเห็นว่า เป็นปัญหากันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ก็คือ กรรมการบางคนมีลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งไปโดนเอาประธาน ปปช.เข้าเต็มๆ

ก็เลยกลายเป็นว่า ที่อวดอ้างว่า "รัฐธรรมนูญปราบโกง” นั้น จริงๆแล้วจะไม่ได้ใช้ ระบบต่อต้านการคอรัปชันที่จะใช้กันต่อไปอีกหลายปี ก็คือ ระบบของ คสช.โดย คสช.และเพื่อ คสช.นั่นเอง

เรื่องทุจริตคอรัปชันที่กำลังอื้อฉาวเกรียวกราวอยู่นั้น จึงเป็นปัญหาของระบบยิ่งกว่าปัญหาของตัวบุคคล ระบบที่ไม่ใช่แค่ล้มเหลว แต่ต้องเรียกว่า ถึงขั้นล้มละลายเลยทีเดียว

ที่ คสช.อวดอ้างว่า ยึดอำนาจเข้ามาเพื่อจัดการกับการคอรัปชันและจะปฏิรูประบบต่อต้านการทุจริตคอรัปชันให้ดีอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้น ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่เพียงล้มเหลวที่จัดการกับพวกพ้องของ คสช.เอง ไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียวแล้ว ยังล้มละลายในเรื่องความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อระบบนี้ด้วย

ระบบต่อต้านการคอรัปชันที่ล้มละลายยาวนาน คือ สิ่งที่คสช.มอบให้แก่ประชาชนไทยครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊คแฟนเพจ Chaturon Chaisang

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net