โสภณ พรโชคชัย: อย่าเพิ่งเชื่อ 'โจน จันใด'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 
อ.โจน จันใด มีแนวคิดที่แปลกและน่าสนใจยิ่ง นับเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งในชีวิตที่ยากที่ใครจะเลียนแบบได้ง่ายๆ เราอาจชื่นชมชีวิตของท่าน แต่ใช่ว่าจะเป็นแบบอย่างให้คนอื่นเป็นแบบนี้ได้ หรือสมควรทำแบบนี้เป็นแบบอย่างได้

ผมเพิ่งได้ฟังคลิป "ชีวิต ช่างแสนเรียบง่าย ทำไมเราทำให้มันแสนยาก" โดยอาจารย์โจน จันใด (https://goo.gl/evUvYX) และพบว่ามีคนศรัทธาในแนวคิดของอาจารย์อยู่มากทีเดียว อย่างไรก็ตามผมฟังแล้วคิดว่าเป็นแนวคิดที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขออนุญาตมองต่างมุมเพื่อสังคมอุดมปัญญา

1. นาทีที่ 0:40 แต่พอ มีโทรทัศน์ เข้ามามีผู้คนมาที่หมู่บ้านพวกเขาบอกว่าเธอยากจนนะ เธอต้องไล่ล่าหาความสำเร็จในชีวิต เธอต้องไปกรุงเทพไปไขว่คว้าหาความสำเร็จในชีวิต

ข้อโต้แย้ง: การเข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นหนทางสู่ความสำเร็จมาแต่โบราณแล้ว ในสมัยก่อนคนอีสานจะยกฐานะขึ้นได้ต้องรับราชการหรือบวช ซึ่ง อ.โจนก็ทำเช่นนั้น ไม่ใช่เพิ่งเป็นเพราะอิทธิพลของโทรทัศน์

2. นาทีที่ 1:04 เมื่อผมไปกรุงเทพ มันไม่สนุกเลยคุณจำเป็นต้องเรียน ศึกษาหาความรู้ และต้องทำงานหนักมากมาย คุณจึงจะประสบความสำเร็จ

ข้อโต้แย้ง: อันนี้เป็นธรรมดาของคนที่ต้องสู้ก่อนจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ท่านทำไม่สำเร็จ

 
3. นาทีที่ 1:18 ผมทำงานหนักมากแปดชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย . . .

ข้อโต้แย้ง: 8 ชั่วโมงก็ไม่ได้มากมายอะไร คนที่จะประสบความสำเร็จ อาจต้องทำงานถึง 12-16 ชั่วโมงก็มี ชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงตั้งตัวก็มักอัตคัตอยู่แล้ว

4. นาทีที่ 1:59 ผมพยายามที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มันยากมาก ที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะมันน่าเบื่อ

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนอาจไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา จึงรู้สึกน่าเบื่อ เป็นธรรมชาติ

5. นาทีที่ 2:20 ในมหาวิทยาลัย มันไม่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผมเลย ถ้าคุณเรียนเพื่อจะเป็นสถาปนิกหรือวิศวกร. . .คุณต้องทำลายล้างมากขึ้น ยิ่งคนพวกนี้ทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ ภูเขาก็จะถูกทำลายมากขึ้น

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ก็ไม่ควรดูแคลนวิชาชีพอื่น

6. นาทีที่ 2:43 ถ้าเราไปที่คณะเกษตรศาสตร์. . .มันหมายความว่าเรากำลังเรียนรู้การใช้ยาพิษเพื่อทำให้ผืนดินและแม่น้ำเป็นพิษ

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่พึงตีขลุมหรือมองอะไรแคบๆ เฉพาะจุดแค่นี้

7. นาทีที่ 3:12 ผมคิดถึงสมัยเมื่อตอนเป็นเด็ก ไม่มีใครต้องทำงานวันละแปดชั่วโมง ทุกคนทำงานแค่สองชั่วโมง ปีละแค่สองเดือน ปลูกข้าวเดือนนึง และเก็บเกี่ยวข้าวอีกเดือนนึง ที่เหลือคือเวลาว่างสิบเดือน

ข้อโต้แย้ง: วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมนี้ก็เหมือนกันทุกที่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะที่อีสาน แต่หากคิดแบบเด็กที่ไม่ต้องรับผิดชอบก็คงสนุก แต่ผู้ใหญ่ก็คงไม่สนุกกับชีวิตที่แร้นแค้นเช่นนี้ เขาจึงดิ้นรนเข้าเมืองมาก่อนมีโทรทัศน์นานแล้ว

8. นาทีที่ 3:33 เป็นเพราะพวกเขามีเวลาว่างกันมากมายในเวลากลางวัน ทุกคนสามารถงีบหลับกันได้ แม้ในปัจจุบันในประเทศลาว

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนคงเข้าใจผิด การนอนกลางวันอย่างเป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้นเพราะฝรั่งเศสมาปกครองอินโดจีน ดังนั้นชาวลาวและเวียดนามจึงมีนอนกลางวัน แต่สำหรับไทยนั้น ไม่มีระบบนอนกลางวัน

9. นาทีที่ 4:02 เมื่อพวกเขามีเวลามากพอสำหรับตัวเอง. . .พวกเขาจึงแสดงออกถึงความสวยงามเหล่านั้นออกมาในแบบที่หลากหลายบ้างก็แกะสลัก. . .พวกเขาสานตะกร้าอย่างประณีตสวยงาม
 
ข้อโต้แย้ง
: ความจริง ศิลปของชาวบ้านแค่พื้นๆ การสร้างบ้านในสมัยโบราณก็ไม่ซับซ้อนอะไร บ้านทรงไทยวิจิตรพิสดารพร้อมแกะสลักลวดลายฉลุเฉลาสวยงามมักมาจากช่างของขุนนางหรือพ่อค้า ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป

10. นาทีที่ 4:51 เมื่อผมกลับบ้าน ผมเริ่มใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่ผมจำได้ เหมือนเมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก
 
ข้อโต้แย้ง: ท่านเคยบอกว่าแรกๆ ก็ยังเทียวไปเทียวมา ไม่ได้อยู่ตัว แต่ที่ได้ดีคงเป็นเพราะ อ.โจน (โชคดี) ได้ภริยา NGO ชาวอเมริกัน และไปอยู่อเมริกามา 2 ปี จนได้ภาษา ได้แนวคิดการสร้างบ้านดินมาเผยแพร่ต่างหาก

11. นาทีที่ 4.58: ผมเริ่มทำงานปีละสองเดือน ผมได้ผลผลิตเป็นข้าวสี่ตัน. . .สามารถขายข้าวบางส่วนได้ ผมทำบ่อปลา. . .ทำสวนเล็กๆ. . .ผมใช้เวลาวันละ 15 นาที ดูแลสวน. . .เราสามารถสร้างรายได้ได้อีกด้วย

ข้อโต้แย้ง: ถ้าทุกคนมีที่มีนาทำแบบนี้ได้ ก็คงดี แต่ความจริงคือ ไม่มี เขาจึงต้องมาหากินในเมือง ท่านทำได้เพราะโชคช่วย มีที่ทาง ท่านยังย้ายจากอีสานไปภาคเหนือเพราะดินที่นั่นดีกว่า

12. นาทีที่ 5:46 . . .ทำไมผมจึงไปอยู่ที่กรูงเทพ เป็นเวลาถึงเจ็ดปี ทำงานอย่างหนัก แต่ไม่เคยกินอิ่ม . . .

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีผู้ประสบความสำเร็จหลายรายที่น่ายกย่องเช่น อดีตสาวโรงงาน และเด็กชาวม้ง ก็เรียนนิติศาสตร์เหมือนท่านและประสบความสำเร็จเป็นผู้พิพากษาในเวลาต่อมา
 

13. นาทีที่ 6:09 คนที่ฉลาดกว่าผม คนที่สอบได้ที่หนึ่งของชั้นทุกปี พวกเขาได้ทำงานดีๆ แต่เขาต้องทำงานมากกว่า 30 ปี จึงจะมีบ้านได้

ข้อโต้แย้ง: อันนี้เป็นความเข้าใจผิดของ อ.โจน คนไทยมีระดับความสามารถในการซื้อบ้านสูง อาจกล่าวได้ว่าคนส่วนใหญ่มีความสามารถในการซื้อบ้านในตลาดเปิดได้ การผ่อน 30 ปีมีเป็นส่วนน้อย

14. นาทีที่ 6:34 แต่เมื่อผมได้เริ่มต้นทำบ้านดิน มันช่างแสนง่ายดาย ผมใช้เวลาวันละสองชั่วโมงจากตีห้า ถึงเจ็ดโมงเช้าสองชั่วโมงต่อวัน ภายในสามเดือนผมได้บ้านหนึ่งหลั
 
ข้อโต้แย้ง: การสร้างบ้านดิน ใครๆ ก็ทำได้ (อ.โจนเคยบอกว่าเด็กอายุ 9 ขวบยังสร้างได้) แต่ประเด็นที่ อ.โจนไม่ได้คิดก็คือที่ดิน ใช่ว่าใครๆ จะไปสร้างในพื้นที่ป่าเขาในภาคเหนือได้เช่น อ.โจน

15. นาทีที่ 7:16 และผมยังคงสร้างบ้านทุก ๆ ปี อย่างน้อยปีละหนึ่งหลัง. . .

ข้อโต้แย้ง: อ.โจนพูดอันนี้ในปี 2554 แต่ไม่นานก็เปลี่ยนจาก "โจน บ้านดิน" ไปเล่นเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์แทน

16. นาทีที่ 9:25 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือเมื่อผมซื้ออะไรสักอย่างและผมจะคิดว่าผมซื้อเพราะชอบมัน หรือผมซื้อเพราะผมต้องการมัน ฉะนั้น ถ้าผมซื้อเพราะผมชอบ นั่นแสดงว่าผิดแล้ว

ข้อโต้แย้ง: รัก โลภ โกรธ หลงเป็นเรื่องปกติ ที่ อ.โจนมีภริยา ไม่ใช่เพราะชอบดอกหรือ

17. นาทีที่ 10:12 ผมได้เรียนรู้วิธีการใช้น้ำเพื่อบำบัดตัวเอง วิธีการใช้ดินเพื่อรักษาตัวเอง ผมเรียนรู้วิธีที่จะใช้ความรู้พื้นฐานในการรักษาตัวเอง

ข้อโต้แย้ง: คนที่รู้จักรักษาสุขภาพให้แข็งแรงที่อยู่ในเมือง ก็สามารถบำบัดตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นปีๆ เหมือนกัน

18 นาทีที่ 12:35 ปัจจัยสี่: อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค จะต้องถูกและง่าย สำหรับทุกคน นั่นคือความเจริญ

ข้อโต้แย้ง: ที่อยู่อาศัยนั้น ตัวบ้านดินสร้างง่าย แต่ที่ดินก็ต้องซื้อ ถ้าไปบุกรุกของส่วนรวม คงไม่แฟร์สำหรับคนอื่น เสื้อผ้าทอเองคุ้มกว่าจริงหรือ ถ้าจริง คงทอกันทั่วประเทศแล้ว ยารักษาโรคพื้นๆ แทบไม่ต้องมีสำหรับโรคพื้นๆ แต่โรคอื่นล่ะ หาไม่คงไม่ต้องมีหมอ

19. นาทีที่13:32 เป็นคนปกติธรรมดาเท่าเทียมกับเหล่าบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย นกน้อยทำรัง เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน เจ้าหนูขุดรูเพียงแค่คืนเดียว

ข้อโต้แย้ง: คนไม่ใช่เดรัจฉาน ไม่ใช่อยู่ในยุคสังคมบุพกาล มนุษย์โครมันยองจึงจะอยู่แบบนั้นได้

20. นาทีที่ 14:14 แต่ผู้คนมองว่าผมเป็นคนผิดปกติ คนที่บ้าบอคนหนึ่ง แต่ผมไม่สนใจหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของผม มันเป็นความผิดของพวกเขา

ข้อโต้แย้ง: ความจริงไม่มีใครผิด เป็นสิทธิของทุกคน อ.โจนก็มองเขาผิดปกติไม่ได้ อ.โจนอยากเป็น "ฮิปปี้" ก็เป็นเรื่องของท่านเอง

โดยสรุปแล้ว ชีวิต อ.โจน เปลี่ยนจากผู้ไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ ก็เพราะได้ภริยาชาวอเมริกัน ได้ไปอยู่อเมริกา ไปเห็นการทำบ้านดินมา แล้วมาทำเมืองไทยในยุคที่ "เสมสิกขาลัย" กำลังส่งเสริมการทำบ้านดิน แต่วันนี้ ท่านไม่ได้อยู่แบบสมถะเดิมๆ แล้ว ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรทั่วโลก คงได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง มีความสุขในการเดินทางที่คนอื่นไม่ได้รับ แถมยังได้แรงงานที่ไม่ต้องจ้างมาช่วยงานอีกมากมาย จริงหรือไม่ ลองพิจารณาดูครับ

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท