Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย ชาวกะเหรี่ยง บ้านวังโค ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง เสี่ยงต่อการถูกบังคับอพยพ เรียกร้องเจ้าหน้าที่ขอให้ยึดมติ ครม. เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

10 ม.ค. 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค ที่ผ่านมา ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายกระเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตพื้นที่ตะนาวศรี ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยือนและสอบถามข้อเท็จจริง กรณีที่เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560  มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกันจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้าไปในบ้านวังโคซึ่งระบุว่าเป็นการปฏิบัติการต่อเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองได้เข้ามาในหมู่บ้านและแจ้งเรื่องการบังคับให้อพยพออกนอกพื้นที่ โดยกำหนดให้มีการอพยพออกไปภายในวันที่ 31 ม.ค. 2561 ชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มนี้จึงมีความวิตกกังวลอย่างมาก ที่จะต้องถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ที่ได้อยู่อาศัยและทำมาหากินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า บ้านวังโคเป็นกลุ่มย่อยของบ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ 6 ตำบลตะนาวศรี  อ.สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี  มี 25  ครัวเรือน ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงอาศัย จำนวน 189 คน  ในจำนวนดังกล่าวมีเด็กในวัยเรียนอีกจำนวน 53 คน และมีผู้สูงอายุอยู่อาศัยในหมู่บ้านนี้จำนวนหนึ่ง  จากการสอบข้อเท็จจริงชาวบ้านยืนยันว่าหมู่บ้านนี้ได้ตั้งถิ่นฐานสืบเนื่องกันมาอย่างน้อย 50 ปี โดยมีการสำรวจประชากรชาวเขา โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาในปี พ.ศ. 2531 หมู่บ้านนี้มีสำนักสงฆ์ มีโบสถ์คริสต์ ศูนย์เด็กเล็ก สนามบอล มีไฟฟ้าใช้ และชาวบ้านทุกคนมีสถานะทางทะเบียน บางคนมีบัตรประชาชนไทย ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวซึ่งออกให้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ชาวบ้านระบุว่าเนื่องจากพวกตนไม่ทราบข้อเท็จจริงและขั้นตอนและผลทางกฎหมายทำให้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 ได้ลงพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารยินยอมคืนผืนป่าให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปซึ่งกำหนดว่าพวกตนจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2561  ขณะนี้ทางราชการก็ไม่ได้ระบุว่าจะมีพื้นที่รับรองประชากรเกือบสองร้อยคนนี้อย่างไร แต่ให้ไปพักอาศัยอยู่บ้านญาติแทน ตัวแทนชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ต่อกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ในพื้นที่บางคนได้ให้ความเห็นว่า พื้นที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าเป็นกรณีการเปิดพื้นที่ใหม่ แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ใช่กลุ่มคนใหม่แต่เป็นเครือญาติกัน ซึ่งการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ผ่านมา ก็มีการขออนุญาตและมีทางอำเภอมาสร้างห้องน้ำให้เมื่อปี 2560 ปัจจุบันชาวบ้านเกือบทั้งหมดก็ไม่ได้ใช้เป็นพื้นที่ทำกินมีแต่พื้นที่ที่สร้างเป็นบ้านพักอาศัยอย่างเรียบง่ายบนพื้นที่เพียงประมาณ 6 ไร่เท่านั้น

การดำเนินการใดๆ ของทางรัฐต้องสอดคล้องกับกฎหมายทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศรวมทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีพันธกรณีเช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมที่พูดถึงเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย  การดำเนินการต้องไม่มีการบีบบังคับเพื่อให้ชาวบ้านอพยพ โดยที่ไม่มีพื้นที่และปัจจัยรองรับที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเดิม ยิ่งในกรณีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมแล้ว จะต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทั้งห้าด้านได้แก่ 1. อัตลักษณ์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม 2.การจัดการทรัพยากร 3. สิทธิในสัญชาติ 4. การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และ 5. การศึกษา  การปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้หากชาวบ้านบ้านวังโคต้องอพยพออกไปภายในสามเดือนโดยไม่มีที่ดินที่อยู่อาศัยรองรับ แต่กลับกลายเป็นผู้อพยพภายในประเทศ  ความจริงเรื่องนี้อาจแก้ไขได้โดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน

“ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบพบ แทนที่รัฐจะเข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และสามารถธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนับวันจะสาบสูญไปทุกที กลับบังคับให้ประชากรเหล่านี้อพยพโยกย้ายออกไปจากพื้นที่ ในขณะเดียวกัน พบว่าในพื้นที่ข้างเคียงมีนายทุนจากภายนอกเข้ามาจับจองพื้นที่แปลงใหญ่ๆ จึงควรดำเนินคดีกับผู้บุกรุกรายใหญ่ และนำพื้นที่มาจัดสรรให้ชาวบ้านซึ่งไม่มีพื้นที่ทำกินจะดีกว่า  เพราะปัจจุบันชาวบ้านทั้งหมดมีแต่ที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ทำกินเลย” สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net