วิพากษ์สื่อไม่ตั้งคำถามเชิงระบบ ปัจเจกรับผล แต่คนรับผิดชอบเชิงระบบลอยนวล

วงเสวนา “เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'” ชี้ สื่อต้องตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน เผยยังมีสื่อตีตราผลิตซ้ำ ความจริงด้านเดียว  ตั้งตัวเป็นมาตรฐานศีลธรรมตัดสินดีชั่ว วิพากษ์ ‘คำถามเชิงระบบ’ ที่สื่อไม่เคยไปถึง ร่วมแชร์ประสบการณ์จริงของช่างภาพข่าว เหตุใดลงพื้นที่ทุกครั้งไม่อาจทำตามหลักการได้

10 ม.ค. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มช่างภาพ Realframe และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเสวนาในหัวข้อ "เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'" ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สังกมา สารวัตร อาจารย์คณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพบางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย วิรดา แซ่ลิ่ม จากรายการ Backpack Journalist


(ซ้ายไปขวา) สังกมา สารวัตร, ทิชา ณ นคร, ปฏิภัทร จันทร์ทอง
ภาพจาก Realframe

สังกมา สารวัตร: สิทธิของสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม

อาจารย์คณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มจากการอธิบายถึงคำว่า สิทธิมนุษยชน คือสิทธิที่คุณเกิดมาแล้วคุณได้รับทันที ซึ่งกินความหมายกว้างมาก ทั้งสิทธิในการเลือก สิทธิในการชุมนุม การเคลื่อนไหว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันสิทธิของสื่อ มันไม่ได้มาเอง สิทธิของสื่อคือคุณต้องมีหน้าที่เป็นสื่อก่อนแล้วคุณถึงได้รับสิทธิในการถ่าย การบันทึก ดังนั้น สิทธิของสื่อและสิทธิมนุษยชนจึงต่างกัน

แนวคิดสิทธิของสื่อของต่างประเทศนั้นหนักแน่นบนฐานที่เขาต่อสู้เรื่องสิทธิมาตั้งแต่ศาสนจักร ล้มกษัตริย์ ในขณะที่ไทย คนที่เอากล้องและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นชนชั้นสูง เพราะฉะนั้น ฐานการต่อสู้มันต่าง รัฐธรรมนูญอเมริกาปี 1700 กว่าๆ เขาไม่เคยแก้เรื่อง Freedom of right เลย ไม่เคยแก้เรื่องสิทธิเลย

แต่ในขณะเราอยู่ในโลกที่คนไม่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่นำเข้ามาจากตำราต่างประเทศ ไม่เข้ากับสังคมไทย เวลาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันทางเพศ ทางผิว เชื้อชาติ การศึกษา มันเป็นเรื่องที่แปลกแยกต่อสังคมไทยในระดับหนึ่ง

มันมีดีเบตเรื่องสิทธิตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ฝั่งหนึ่งบอกว่าการที่เราเดือดร้อนแล้วไปสั่นระฆัง อันนี้ก็ถือเป็นสิทธิแล้ว แต่อีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเราไม่มีสิทธิ เราเกิดมาแล้วก็เป็นแค่ object บางอย่าง เราไม่มี natural right หรือการมีสิทธิเสรีภาพตั้งแต่เกิด สังคมไทยเราเกิดมาไม่ได้เป็นตัวเราแต่เป็นใต้ฝ่าละออง หรือเรื่องอำแดงเหมือน ผู้หญิงถือเป็นทรัพย์สินของผู้ชาย ผู้ชายจะขายไปเมื่อไหร่ก็ได้

แล้วในขณะที่ยุคนี้ที่ใครก็เป็นสื่อได้ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน สิทธิของสื่อจะเปลี่ยนไปหรือไม่ มันกำลังเกิดการถกเถียง แต่ที่สุดเราต้องกับมาดูว่ามันเป็นหน้าที่ของสื่อหรือไม่ ซึ่งได้แก่ common good หรือเรื่องส่วนรวมรึเปล่า และคุณต้องรับผิดชอบ free choice คือทุกคนต้องมีสิทธิเลือก และเราต้อง openness เปิดข้อมูลให้ทุกฝ่าย รวมทั้งมีเรื่อง moral หรือศีลธรรม
ทั้งนี้คำว่าศีลธรรมก็เป็นหน้าที่อันหนึ่งของสื่อที่จะรับผิดชอบต่อสังคม แต่สื่อเองก็ไปติดในการตัดสินผู้คนเสียเอง ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้คือคุณต้องมี openness เปิดเรื่องความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเปิดมากๆ ในเรื่องความหลากหลาย

ขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วขนาดนี้สิ่งที่สื่อละเมิดมีอะไรบ้าง เช่น ซีรีส์ฮอร์โมน เมื่อผู้ชายกับผู้ชายมีอะไรกัน วันรุ่งขึ้นมีสื่อหลักพาดหัวว่า “ระเบิดถังขี้” หรือการพาดหัว “ตุ๊งติ๊งโดนฆ่า” หรือการตีตรา เช่น “ม้งค้ายา” หรือการเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ ไม่ใช่บุคคลในข่าวแต่อาจจะเป็นพ่อแม่ของเขาแทน หรือกรณี ‘เปรี้ยว’ กับรูปแบบการนำเสนอให้กลายเป็นเซเล็บฆาตกร ขณะเดียวกันการเปิดเผยชื่อของบุคคลในข่าวที่ต่อมากลายเป็นเพียง “แพะรับบาป” แต่มีผลให้ชีวิตเขาไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้อีก สังคมไม่ยอมรับ ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง อีกรูปแบบคือเรื่องเชิงนโยบาย มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะโจมตีเรื่องบางเรื่อง ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะโดนหนักมากในเรื่องนี้ พยายามสร้างจุดอ่อน สร้างความไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น

เหล่านี้คือการที่สื่อละเมิดสิทธิ ซึ่งอาจจะมาจากมาตรฐานความคิด การใช้ชีวิต ระบบการศึกษา โครงสร้างของสังคมที่สื่อเองได้รับมา แต่ทั้งนี้สื่อควรตระหนักว่าต้องทำตัวเป็นตะเกียงนำทางสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงกระจกสะท้อนสิ่งที่สังคมชอบเสพ
 

ทิชา ณ นคร: กรณีตัวอย่าง สื่อตั้งคำถามเพียงปัจเจก นำเสนอด้านเดียว

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงกรณีตัวอย่างว่า คนที่เรานึกถึงเลยคือกรณีของ ‘หมูหยอง’ วัยรุ่นอายุไม่ถึง 18 ปีที่ฆ่าใครบางคนไป แล้วสื่อไปสัมภาษณ์เขา แต่สิ่งที่มันออกไปสู่สาธารณะเป็นด้านมืดด้านดิบของหมูหยอง ซึ่งเราคิดว่ามันมีกระบวนการบางอย่างที่สังคมยังต้องทำความเข้าใจกับมัน แค่ด้านมืดและด้านดิบที่ถูกหยิบออกมาไม่ถูกคัดกรองเลย ทั้งที่ผู้ก่ออาชญากรรมเขามีบาดแผลมาก่อน แต่หมูหยองก็ถูกส่งเข้าสถานพินิจได้คืนเดียวแล้วถูกส่งเข้าเรือนจำ ซึ่งการที่เขาถูกส่งเข้าเรือนจำมันเป็นผลมาจากประเด็น talk of the town ด้านมืดและด้านดิบของเขาที่สื่อลงก่อนหน้านั้นจนสถานพินิจไม่กล้ารับเขา

เรามีโอกาสไปเยี่ยมหมูหยองหลายครั้งที่เรือนจำชัยภูมิ แล้วเราก็พบว่าหมูหยองเป็นผลลัพธ์และผลผลิตที่ชัดเจนของครอบครัวที่ไม่ดูแล และระบบกลไกของรัฐที่มีอยู่ไม่ดูแลผู้คนที่เปราะบาง เมื่อข่าวให้ภาพด้านมืดและด้านดิบของหมูหยองก็เป็นการตอกย้ำด้วยว่าวุฒิภาวะของสังคมไทยไม่มีทางไปถึงไหน เพราะเราไม่สามารถมองปรากฏการณ์ได้ลึกลงไปกว่านั้นอีกแล้ว เราจะมองแค่ว่ามันเป็นปัญหาของปัจเจก และคุณต้องรับผิดชอบเอง

แน่นอนว่าการก่อเหตุแต่ละครั้ง ปัจเจกต้องเป็นผู้รับผลเพราะเป็นผู้กระทำ กฎหมายก็ยืนยันอยู่ แต่ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อนสังคมเราต้องมองให้ออกว่า ปัจเจกแต่ละคนมีเจตจำนงอิสระขนาดนั้นเลยเหรอ เอาเข้าจริงเราเชื่อว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน มันไม่ใช่แค่เป็นผลลัพธ์และผลผลิตของตัวเอง

ครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมหมูหยอง จำได้ว่าแนะนำตัวว่าหนูไม่รู้จักป้าหรอกลูก และป้าก็ไม่รู้จักหนู ป้าไม่ได้มาเยี่ยมหนูเพราะว่าหนูฆ่าคน แต่ป้ามีความเชื่อที่แข็งแรงมากว่า หนูต้องมีใครอีกคนอยู่ในตัว และคนๆ นั้นมันต้องสว่าง เพียงแต่คนที่เรารู้จักผ่านสื่อคือคนมืด แต่ป้ายังเชื่อว่าหนูมีคนๆ นั้นอยู่ ป้าตั้งใจมาหาแล้วมาเจอคนๆ นั้น และป้าคิดว่าป้าต้องเจอ ซึ่งพอเราคุยกันสองชั่วโมงเราก็เห็นหมูหยองอีกคนหนึ่งจริงๆ ซึ่งเราคิดว่าหมูหยองเกิดมาก็ไม่ได้ตั้งเป้าจะฆ่าใคร เขาก็อยากเป็นคนดี เขามีประวัติเรียนหนังสือเก่งด้วยซ้ำไป แต่พอเราไปตั้งให้คุณค่าและความหมายในด้านลบเกินไป มันทำให้มุมอื่นไม่ถูกพูด ซึ่งมันแปลว่าวิธีคิดของสังคมไทยต่อผู้ก่ออาชญากรรมมันออกมาแนวนี้ทั้งหมด

ถึงที่สุดแล้วเราคงไม่สามารถกวาดคนเหล่านี้ทิ้งไปไม่ได้ เขาไม่ใช่ขยะ แม้เขาอาจสรุปตัวเองไปแล้วว่าเขาเป็นขยะ หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรจะเยียวยาคนเหล่านี้ให้เขากลับคืนสู่สังคมได้ หน้าที่ของสื่อ สื่อก็ต้องตอบตัวเองเหมือนกันว่าตกลงเราจะเป็นกระจกให้สังคม หรือเราจะเป็นตะเกียงเพื่อนำสังคมไป สังคมไทยถึงจุดที่ต้องเลือก แม้ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เลือกก็ตาม แต่ใครบางคนต้องกล้าหาญที่จะเลือกก่อน ถึงที่สุดคนๆ หนึ่งต้องตัดสินใจ แม้ในเชิงระบบเราไม่อาจตัดสินใจได้ ถึงที่สุดสเกลเล็กๆ กับคนแค่บางคน ก็อาจกลายเป็นสเกลอัพเป็นคนหลายๆ คนได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในวันที่มันสุกงอมพอ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้มันตามน้ำไปแบบนี้

สังคมไทยไม่เคยไปถึงการตั้งคำถามเชิงระบบ
ทิชาวิพากษ์ว่า สังคมไทยวุฒิภาวะเราไปไม่ถึง ระหว่างการตั้งคำถามเชิงปัจเจก กับการตั้งคำถามเชิงระบบ สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามเชิงระบบ ใครทำผิดทำชั่ว เราก็จะถามเชิงปัจเจกทั้งหมด แล้วหน้าที่ของปัจเจกคือต้องรับผลนั้นเสมอ ซึ่งถามว่าความเสียหายมันอยู่ตรงไหน ทำผิดก็ต้องรับผิดสิ แต่เมื่อไม่ตั้งคำถามกับระบบ คนขับเคลื่อนเชิงระบบก็ไม่ต้องปรับอะไร เช่น สื่อจะพาดหัวเลยว่า วันนี้วันเกิดบุคคลสำคัญจะออกมาสามหมื่นคน ระวังกันให้ดี เราไม่ถามเลยว่าแล้วคุกเอาคนไปทำอะไร กี่ปีๆ เอางบประมาณไปมหาศาล ภาษีอากรของเรา ภายใต้ระบบของคุกสร้างคนแบบไหน เมื่อเราไม่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ อย่าหวังว่าระบบจะเปลี่ยน เพราะระบบไม่เคยถูกตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น น้ำหนักก็ไม่อยู่ที่ปัจเจกซึ่งเป็นผลจากตัวระบบอีกที แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร ไม่กู้คืน เขาก็จะรู้สึกเป็นขยะของสังคม เราสนุกกับการตั้งคำถามปัจเจกตลอดมาจนกระทั่งทักษะการตั้งคำถามเชิงระบบของเรามันตายไปแล้ว

อย่างหมูหยอง ถ้าเราไปสัมภาษณ์เขาตอนทำความผิดใหม่ๆ เราก็จะเห็นแต่ด้านมืดและด้านดิบของเขา เท่ากับมันไปตอกย้ำมุมนี้ของเขาจนมันเสียสมดุล ตอนที่เราไปถามเขาว่าถ้าเขามีโอกาสพูดได้ใหม่เขาจะพูดอะไร หมูหยองบอกว่า ผมอยากบวชให้เขาครับ

จริงๆ แล้วเรายังมีคนอีกเยอะแยะให้ถามได้ ย้อนไปนิดเดียวก็จะเห็นว่าหมูหยองมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัวปนอยู่เยอะมาก ย้อนกลับไปถามว่าไทยเรามีกลไกอะไรที่จะคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว เรามี พ.ร.บ.ยุติผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางครอบครัว มาหลายปีแล้วแต่มันไม่ฟังก์ชั่น แต่ท้ายสุดพอมันมีมันก็ไม่ได้ใช้ได้จริง ความรุนแรงในครอบครัวยังอยู่ ถ้าเราถามซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับกลไกเหล่านี้เหมือนที่เราถามซ้ำผู้กระทำ เราเชื่อว่ากลไกที่มันหลับใหลมานานมันต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ไม่ต้องรอให้คนมาจี้ แต่แน่นอนหนึ่งเคสสองเคสคงไม่ อาจจะต้องทำซ้ำไปเป็นปี แต่เราต้องอดทน และไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะทำ  

การเยียวยาที่ดีที่สุดคือให้เขาได้สื่อสารเรื่องราวเขาในที่สาธารณะ
ทิชากล่าวถึงกรณีให้เด็กเปิดหน้าสัมภาษณ์ได้เมื่อเขาเห็นในด้านสว่างของตัวเอง “ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นอาชญากร พอเขามาอยู่กับเรา หน้าที่ของเราคือการเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การพบจิตแพทย์ก็ไม่ได้มียาวิเศษที่จะช่วยเยียวยาได้โดยง่าย แล้วเราก็ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อเขาได้ไปพูด ให้สัมภาษณ์ เวลาเขาเขียนไดอารี่ก่อนนอน เขารู้สึกภูมิใจ บางคนใช้คำว่า ขอบคุณครับที่ให้ผมได้เยียวยาตัวเอง คำพวกนี้ไหลมาตลอด เราพบว่าการที่เด็กซึ่งเคยอยู่ในมุมมืดของสังคม ได้มาอยู่ในที่สว่าง มีคนยอมรับ เห็นตัวตนเขา ให้คุณค่า ให้ความหมาย มันคือการเยียวยาที่เป็นธรรมชาติ ราคาถูก แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สูงมาก” ทิชากล่าว

ทิชากล่าวต่อว่า อันหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเด็กคือตอนที่เขาถูกจับ ตำรวจและนักข่าวคุยกันยังไงไม่รู้แต่ถึงที่สุดเขาต้องถูกจับมานั่งหน้ากล้องเต็มไปหมด โดยมีผ้าคลุมหรือหมวกกันน็อคปิดอยู่ แล้วสื่อซึ่งเป็นตัวแทนของความดีงามก็จะเริ่มตั้งคำถาม ซึ่งในนาทีนั้นเด็กเขาก็บอกชัดว่า ไม่เคยมีใครถามผมสักคำว่าผมอยากออกสื่อไหม ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าเขาทำผิด เมื่อเขาทำผิดต้องได้รับผล และทำให้เขารู้สึกว่าชาตินี้กูดีไม่ได้ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ของเด็กคนหนึ่งมันจะกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาตลอดกาล และเมื่อมันกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาตลอดกาล ระยะยาวเราจะเดือดร้อนกันหมด

แต่ที่มันแปลกก็คือ เมื่อวันหนึ่งเรื่องราวชีวิตของเขาเป็นหนึ่งในเรื่องในหนังสือเล่มหนึ่ง เขาได้ไปงานเปิดตัวหนังสือ ขึ้นพูดบนเวที แต่พวกผู้ใหญ่กลับปรึกษากันว่าเด็กสถานพินิจจะออกสื่อได้ไหม เขาหันมาบอกเราว่า ผมแปลกใจจังครับ วันนั้นที่โดนจับไม่มีใครถามผมสักคำว่าอยากออกสื่อไหม แต่วันนี้ผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง อยากให้สังคมได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวของผม แต่ผู้ใหญ่กลับคิดกันน่าดูว่าควรออกสื่อไหม

ตกลงแล้วเขาก็เลยไม่รู้ว่าการออกของเขามันผูกโยงกับอะไรกันแน่ ความชั่วหรือความดี แล้วถ้าการทำดีแบบนี้สำหรับเขามันปลดล็อกความผิดพลาดและทำให้เขารู้สึกเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งในทางความรู้สึก ซึ่งมันยิ่งใหญ่ในทางความรู้สึก พบจิตแพทย์ก็ใช่ว่าจะช่วยได้แบบนี้ แต่การได้พูดในสาธารณะมันทำได้ ทำไมสังคมไม่ยอมจ่าย เพราะเรารู้สึกไงว่า ไอ้นี่มันเคยฆ่าคนมา แล้วมันก็ไปเปิดตัว สังคมก็จะจำได้ คำถามคือ ถึงที่สุดสังคมเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวตนใหม่ของผู้คนด้วยใช่ไหม และถ้าสังคมมันยกระดับไปถึงแบบนี้ได้ มันก็คือการเติบโตของสังคม
 

ปฏิภัทร จันทร์ทอง: การทำงานจริงที่ไม่อาจทำตามหลักการได้ทุกครั้ง

ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพบางกอกโพสต์ เล่าว่า ตอนทำงานเราไม่ได้ยึดหลักการซะทีเดียว แต่เราทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกไม่ไปก้าวล่วงเขา มันอยู่ที่เจตนาและวิธีการสื่อสารของเรา สำหรับงานข่าว บางอย่างเราไม่สามารถไปขอเขาได้ ซึ่งอาจแตกต่างจากงานสารคดีนิดหน่อย งานข่าวมีเรื่องของเวลาเป็นตัวกำหนด เราอาจต้องรีบปิดต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ เพราะฉะนั้นบางเหตุการณ์เราไม่สามารถไปบอกหรือไปอธิบายทั้งหมดว่า ผมเข้ามาตรงนี้เพื่อแบบนี้ และขอถ่ายรูปคุณเพื่อแบบนี้ แล้วมันจะออกไปเป็นแบบนี้ บางเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นมาก บางอย่างเราต้องการธรรมชาติของมัน ถ้าเราเข้าไปคุยท่าที แอคชั่นก็จะเปลี่ยนไป ในขณะที่งานสารคดีใช้เวลาเยอะกว่า มีเวลาในการพูดคุยเยอะกว่า

มีเคสตัวอย่างที่บอกไม่หมด คือหลังเกิดเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ปี 2553 ตำรวจก็จะไปตรวจตามจุดต่างๆ เราไปทำข่าวตำรวจตรวจค้นแถวรามฯ มีคนอิตาลีอยู่แถวนั้น เราเข้าไปขอถ่ายรูปเขา ถามเขาว่าเป็นคนชาติไหน วันต่อมาออฟฟิศ (บางกอกโพสต์) ตีพิมพ์รูปเขาลงหน้าหนึ่ง เขาโทรมาที่ออฟฟิศบอกว่าจะฟ้องบางกอกโพสต์

ตอนที่เขียนแคปชั่นใต้ภาพเราเขียนแค่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่และได้พูดคุยกับชาวอิตาลีที่พักอาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์แถวนี้ แต่ตัว Text ที่เขียนต่อจากนั้นเขียนว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สืบเนื่องจากเหตุระเบิดราชประสงค์ เขาจึงรู้สึกว่าเขาถูกผูกโยงกับเรื่องนี้ ทางกองบ.ก.ก็โทรไปคุย สุดท้ายก็เจรจาต่อรองกันได้ ไม่มีการฟ้องร้อง แต่เคสนี้ทำให้เราเห็นว่าตอนที่เราลงพื้นที่ เราถ่ายเขา ถ่ายคนอื่นด้วย สมมติเราส่งไป 20 รูป เราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วรูปไหนจะได้ลงข่าว รูปที่จะเผยแพร่ส่วนหนึ่งมันผ่านจากช่างภาพ อีกส่วนมันผ่านจาก กอง บ.ก. ไป

อีกส่วนหนึ่งคือเวลาเราลงพื้นที่ เราไม่มีเวลาจะอธิบายเขาทั้งหมดหรอกว่าเราจะนำเสนอยังไงแบบชัดๆ และสมมติตำรวจเดินไปค้นคนนี้ แล้วตำรวจเดินไปค้นอีกคน เราก็ต้องตามไปถ่ายแล้ว ไม่มีเวลาที่จะอธิบายทุกคนจริงๆ ยกเว้นบางเคสที่เรามีเวลา เราก็จะอธิบาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท