Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


หากพูดถึงกิจกรรมหรือการรับน้องให้ในรั้วมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ผมมีความเชื่อและคิดว่าคนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงระบอบโซตัส ซึ่งผมจะขอเรียกระบบโซตัสว่า “วัฒนธรรมชนชั้น”  จริงๆ หากพูดถึงประวัติศาสตร์ของระบบโซตัสคราวๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าระบบโซตัสอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งอยู่คู่กับการเมืองและสังคมไทยก็ว่าได้ เพราะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่มาชัดเจนช่วงยุคก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการนำระบบโซตัสเข้ามาร่วมกับกิจกรรมรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยแต่ก็ถือว่ายังไม่รุนแรงมากดังเช่นปัจจุบัน

โซตัสเริ่มรุนแรงและมีอิทธิพลมาต่อสังคมมหาวิทยาลัยก็ในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้นมีความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์มาก จึงเข้ามาควบคุมและมีอิทธิพลต่อกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัยมีการนำระบบว๊ากเข้ามาและครอบงำความคิดให้ต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ต่อนิสิตนักศึกษา ในยุคนั้นการรับน้องโดยใช้การว๊ากและระบบโซตัสจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร คนรุ่นนั้นมองว่าเป็นเพียงสิ่งที่ไม่ให้นักศึกษาน้องลู่นอกทางก็แค่นั้น จึงทำให้ระบบโซตัสค่อยๆ กลืนและรวมเข้ากับวัฒนธรรมของสังคมมากขึ้นมีอิทธิพลมากขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่ารุ่น

หากย้อนมามองที่ปัจจุบันจะพบว่าวัฒนธรรมโซตัสนั้นได้ฝังรากลึกเปรียบหมือนกับระบบราชการที่ทั้งแข็งแรงและมีอิทธิพลต่อสังคมยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน เมื่อกล่าวดังนี้จึงมีคำถามตามมาว่าเหตุใดระบบโซตัสจึงไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือยุติลงไป


“วัฒนธรรมชนชั้น”

“วัฒนธรรมชนชั้น” ผมได้เปรียบระบบโซตัสว่าเป็นวัฒนธรรมชนชั้น กล่าวคือ การที่นักศึกษาปี 1 ได้เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบโซตัส ย่อมต้องเข้าสู่สังคมชนชั้นทันที ทุกคนต้องห้อยป้ายชื่อ และเสียงในการพูด เสนอ แย้ง ความคิดเห็น จะเบาลงหรือแทบจะไม่มีเลยในบางแห่งอำนาจในสิทธิของตัวเองจะมีไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็น ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบชนชั้นที่มีรุ่นพี่เป็นผู้ควบคุมและมีอิทธิพลในชีวิตในมหาวิทยาลัยของนักศึกษา อำนาจและสิทธิของตัวเองจะมาพร้อมกับปีที่สูงขึ้นปี 1 เคารพปี 2 ปี 2 เชื่อฟังปี 3 ปี 3 รับคำสั่งจากปี 4 เรียงเป็นชนชั้นทางสังคม ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง ปี 1 ไม่มีสิทธิพูดหรือแม้กระทั้งตั้งคำถามในสิ่งที่รุ่นพี่ได้กระทำ ทุกคนถูกทำให้เป็นหุ่นยนต์รับคำสั่งได้อย่างเดียวแต่ไม่มีสิทธิตั้งคำถาม

จึงอาจกล่าวได้ว่าชีวิตของนักศึกษาปี 1 ในมหาวิทยาลัยเป็นชีวิตที่อึดอัดและต้องอดทนมากที่สุดในการทำสิ่งที่ขัดต่ออุดมการณ์หรือความคิดเห็นของตนเองโดยไม่มีสิทธิที่จะพูด เป็นการถูกควบคุมอย่างแท้จริง แม้ในบางมหาวิทยาลัยจะมีการออกมาพูดประมาณว่าตนเองในฐานะรุ่นพี่ไม่ได้มีการบังคับหรือขู่เข็ญนักศึกษาปี 1 ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางตนได้จัดขึ้น ผมเชื่อว่าถึงแม้จะยอมให้ไม่เข้าร่วมจริงตามความสมัครใจแต่ก็จะใช้ชีวิตในคณะหรือในมหาวิทยาลัยลำบากขึ้น เพราะสิทธิคุณจะไม่เต็มร้อยอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กิจกรรมบางความคุณถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วม ถูกต่อว่าหรือกั้นแกล้งจากเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ หรือสิ่งที่อยากจะพูดหรืออยากจะทำถูกขัดขวาง เพราะในระบบโซตัสมีความเป็น Unity สูงจึงรับไม่ค่อยได้กับการแตกคอกของคนบางคนมีความหวาดระแวงวะจะนำข้อมูลบางสิ่งบางอย่างของสิ่งที่ตนกระทำหรือเชื่อไปบอกต่อให้รุ่นน้องจนเกิดความกลัวและจะสั่นคลอนต่อระบบของตนได้นั้นเอง


“เป็นวัฒนธรรมหรือลัทธิศาสนากันแน่”

หลายคนมีคำถามว่าถ้าระบบโซตัสไม่ดีจริงเหตุใดจึงไม่หมดไปจากสังคมเสียที ซึ่งผมจะขอกล่าวก่อนเลยครับว่าผมไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมโซตัสนั้นดีหรือไม่ดีผมจะไม่ขอตัดสินใจในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของปัจเจคที่จะเลือกตัดสินใจชี้ขาดด้วยตนเอง จากสิ่งที่ได้จากประสบการณ์หรือรับรู้ด้วยตนเอง ผมยอมรับว่าระบบโซตัสนั้นก็มีข้อดีหากพิจารณาที่จุดมุ่งหมายของคำว่า “Sotus” จริงๆ ก็จะมีข้อดีที่เห็นได้อยู่ แต่ในปัจจุบันแม้นักศึกษาในหลายๆ มหาวิทยาลัยจะออกมาปกป้อง และเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองเชื่อโดยชี้ให้มองถึงข้อดีของระบบโซตัสบ้าง เพราะจะเห็นได้ว่าในหน้าข่าวปัจจุบันจะมีแต่ด้านลบของระบบโซตัสที่ออกมาเผยแพร่อย่างต่อเนือง และผู้คนภายนอกก็เริ่มตั้งคำถามในการมีอยู่ของระบบโซตัส สิ่งที่ทำให้โซตัสยังอยู่คู่สังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันได้ก็เนื่องมาจากไป connect กับระบบอุปถัมภ์ได้พอดิบพอดี เพราะเป็นสิ่งที่คลายคลึงกันมากให้ความสำคัญกับพวกเดียวกัน คุณจบคณะเดียวกับผมมหาลัยเดียวกับผมอย่างที่พวกอุปถัมภ์ชอบอ้าง และด้วยการมีอยู่ของระบบอุปถัมภ์นี้เองจึงทำให้การคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโซตัสจึงทำได้ยากมาก เพราะมีเครือข่ายที่กว้างไกลและเข้มแข็งมาก เช่น มีรุ่นพี่เป็นผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ ตลอดจนนักการเมืองจึงมีอิทธิต่อสังคมค่อนข้างมาก

แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าระบบโซตัสเป็นเหมือนวัฒนธรรมที่ตกผลึกในสังคม แต่มันเหมือนกับลัทธิหรือศาสนาเสียมากกว่า เพราะหากระบบโซตัสเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นจริงๆ ย่อมต้องเปลี่ยบแปลงได้เพื่อให้เข้ากับสังคม เพราะคำว่าวัฒนธรรมนั้นจริงๆ ให้ความสำคัญกับมนุษย์ หากมนุษย์เปลี่ยนวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ แต่ลัทธิหรือศาสนานั้นไม่ได้เปลี่ยนตามวิถีชีวิตของมนุษย์แต่เป็นในรูปแบบของความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะตั้งคำถามได้ยากมาก เพราะมนุษย์จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อว่าเป็นสิ่งต้องปฏิบัติเพราะได้ปฏิบัติมานานแล้วและเชื่อว่าต้องเป็นสิ่งที่ดี จึงเลือกปฏิบัติตามโดยไม่ตั้งคำถามแต่อย่างไร จะเห็นได้ว่าระบบโซตัสนั้นคล้ายคลึงกับลัทธิหรือศาสนามาก เห็นได้จากความล้มเหลวของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง โค่นล้มระบบโซตัส และการไม่พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคปัจจุบัน เพราะไปท้าท้ายต่อความเชื่อซึ่งยากที่จะยุติได้


“การมีอยู่ของระบบโซตัสเท่ากับการทำลายหัวใจของประชาธิปไตย”

หากได้มีโอกาสศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย จะพบว่าในประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นการที่จะกล่าวถึงประชาธิปไตยนั้นสังเกตยากมาก เพราะสังคมไทยนั้นส่วนใหญ่จะถูกปกครองโดยทหารหรือมีการฉีกรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง การเมืองขาดเสถียรภาพเป็นระยะเวลานาน ทำให้ประชาชนในประเทศมองเป็นเรื่องปกติ การคุกคามสิทธิหรือการไม่เคารพกฎหมายถูกมองเป็นเรื่องปกติ มองว่าสถาบันสถาบันหนึ่งมีความถูกต้องที่เข้ามาบริหารประเทศผ่านการรัฐประหารด้วยข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร สิ่งนี้เองจึงทำให้สังคมไทยเพิกเฉยต่อระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และเลือกที่จะมองข้ามสิทธิของตนเอง จึงทำให้ชุดความคิดนี้ฝังลากลึกต่อสังคมไทยและการเมืองไทย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ

หากย้อนกลับมามองที่มหาวิทยาลัย การรับน้องของมหาวิทยาลัย ที่มีการใช้ระบบโซตัสในกิจกรรมรับน้องจะพบการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความรุนแรงหรือการว๊ากที่เป็นตัวประกอบของระบบโซตัส อย่างที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้นว่า นักศึกษาปี 1 ทุกคนจะต้องห้อยป้ายชื่อ ต้องฟังคำสั่งรุ่นพี่ ห้ามพูด หรือแสดงความเห็นที่ต้อต้าน แค่การห้อยป้ายก็ถือเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลแล้วโดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นๆ เลย และยิ่งในคณะที่มีการสอนเรื่องการเมืองการปกครอง สอนในเรื่องของประชาธิปไตย ตกเย็นมาก็ต้องมานั่งว๊ากน้องเป็นตัวแทนของผู้บ้าอำนาจเหมือนเผด็จการ จึงเป็นสิ่งที่ดูสับสนและขัดแย้งกันเองมาก โดยเฉพาะในสังคมมหาวิทยาลัยที่มีการยกย่องเรื่องประชาธิปไตยแต่ก็ยังมีระบบโซตัสที่เหมือนกับระบบทหาร ที่กดสิทธิและความแตกต่างของคนอยู่

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความหมายของสังคมประชาธิปไตยไว้ว่า “สังคมที่เป็นประชาธิปไตยต้องเป็นสังคมที่แตกต่าง และเสียงดังโหวกเหวกโวยวายมาก จึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ในสังคมประชาธิปไตยทุกคนล้วนต้องรับฟังซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องยากมากที่สังคมจะนิ่งเงียบไม่มีเสียง เพราะหากเสียงนั้นเบาและเงียบลงเท่ากับสังคมนั้นจะเป็นสังคมของเผด็จการ” จึงนับเป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมที่คนรุ่นใหม่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ต้องมาถูกควบคุมความคิดและมีอิทธิพลต่อความคิดไม่ใช่เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา แต่เป็นการควบคุมเพื่อให้เกิดการควบคุม กล่าวคือ ผู้ที่ถูกควบคุมจนยอมรับในระบบโซตัสก็ล้วนเป็นผู้สือทอดระบบต่อไปในอนาคต


“พื้นที่สำหรับความเห็นต่าง”

ผมได้กล่าวถึงบริบทของระบบโซตัสไปมากแล้วต่อจากนี้ผมจะขอเสนอแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบันได้อย่างมีทางออกที่ขัดแย้งน้อยที่สุดตามความเห็นของผม จะเห็นได้ว่าปัญหาที่สำคัญที่เป็นตัวทำลายระบบโซตัส คือความเห็นต่างและนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยต่อระบบ โดยสังคมของระบบโซตัสนั้นล้วนไม่ชอบพวกที่เห็นต่างและมองเป็นศัตรูที่ควรถูกกำจัดหรือหลีกไปให้พ้นทาง จะเห็นได้ว่าในบางมหาวิทยาลัยบางคณะมีการจัดการกับพวกที่เห็นต่างต่อระบบค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้นักศึกษาที่เห็นต่างต้องทำการย้ายคณะหรือลาออกจากมหาวิทยาลัย แม้จะไม่มากแต่ก็เป็นนัยยะที่สำคัญเพราะยิ่งในยุคปัจจุบันที่โลกให้ความสำคัญต่อสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น จึงไม่ควรมองข้ามสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ควรให้ความสำคัญและแก้ไข หากปล่อยไปก็จะกลายเป็นความเคยชินมากขึ้น เหมือนกับทองคำที่แม้จะมีแค่ตำนิเล็กน้อยก็จะหมดสิ้นราคาและคุณภาพไปเลย สังคมจึงควรให้ความสำคัญกับตรงนี้

สิ่งที่ผมจะเสนอคือควรมีพื้นที่สำหรับผู้ที่เห็นต่างในระบบโซตัสของคณะในมหาวิทยาลัย เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาคือเราไม่มีพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างได้พึ่งและแสดงความเห็น ได้พูดและทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ เพราะหากพวกเขาเห็นต่างในระบบโซตัสจะทำให้เกิดการหลบซ้อนไม่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองให้มากขึ้น จึงควรมีพื้นที่สำหรับความเห็นต่างของนักศึกษา อาจตั้งเป็นชมรม หรือกลุ่มคนที่ทุกคนในมหาวิทยาลัยให้การยอมรับถึงการมีอยู่ และรับประกันว่าระบบโซตัสจะไม่มีอิทธิพลต่อพวกเขาทั้งในคณะและในมหาวิทยาลัย “พื้นที่สำหรับความเห็นต่าง” จึงเป็นแนวทางที่ผมเสนอเพื่อเป็นทางออกต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ที่นิยมชมชอบในระบบโซตัส และผู้ที่เห็นต่างต่อระบบโซตัส ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มาก เพราะบัณฑิตที่จบออกไปในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ชาติพัฒนาไปได้ในอนาคต


“โซตัสภายใต้แรงกดดันในสังคมปัจจุบัน”

จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบันคนเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามต่อระบบโซตัสมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่มีข่าวด้านลบของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยออกมามากขึ้น ทั้งข่าวการละเมิดสิทธิของนักศึกษา การละเมิดทางเพศ และโดยเฉพาะมีข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาปี 1 ภายใต้การรับน้องของคณะที่มีการจัดกิจกรรมแบบระบบโซตัส ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการมีอยู่และก็มีนักศึกษาส่วนหนึ่งออกมาปฎิเศษและปกป้องในตัวระบบ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามและถกเถียงมากมากทั้งในแวดลงนักศึกษา ประชาชน และในแวดวงวิชาการก็ออกบทความต่างๆ ทั้งโจมตีและสนับสนุน จึงไม่สามารถหาข้อสรุปและยุติปัญหานี้ได้ ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าระบบโซตัสเริ่มถูกกดดันและตรวจสอบมากขึ้นจากสังคม แต่ก็ทำได้เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ยังไม่ส่งผลต่อระบบโซตัสโดยรวมมากนัก เหตุเพราะในบางมหาวิทยาลัยบางคณะ อาจารย์ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยต่างก็มีส่วนร่วม และอิทธิพลต่อระบบโซตัสในคณะหรือมหาวิทยาลัยของตน จึงออกมาปกป้องและปกปิดข้อมูลบางสิ่งบางอย่างที่สังคมควรที่จะรับรู้ สิ่งนี้เองจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบโซตัสภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือบางแห่ง ที่มีความชัดเจนถึงการมีอยู่ของระบบโซตัสมาก และกิจกรรมหลายๆ อย่างของระบบโซตัสกลายมาเป็นกฎของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้เองถึงแม้ระบบโซตัสจะถูกกดดันโดยสังคม แต่ก็ยังธำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง

แต่ก็ใช่ว่าอนาคตจะมืดมนเสมอไป ก็พอมีทางสว่างอยู่บ้าง เพราะการที่สังคมให้ความสนใจในระบบโซตัสและทำการตรวจสอบมากเท่าไร ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่านั้น เพราะสิ่งที่สังคมให้ความสนใจอาจทำให้เกิดการเกรงใจและเกรงกลัวกฏหมายมากขึ้นในระบบโซตัส และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้บ้างในอนาคต อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันล้มระบบโซตัสอย่างที่พวกนักปฏิวัติชอบใช้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มากกว่า เพราะยิ่งเข้าสู่ Social globalization มากเพียงไรก็จะเกิดการกดดันและต่อต้านจากสังคมมากขึ้นเท่านั้น และในอนาคตผมเชื่อว่าสังคมในระบบโซตัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและเห็นผลมากขึ้น

จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าระบบโซตัสโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นตีความคำว่าโซตัส ผิดอย่างสิ้นเชิงโดยไปให้ความสำคัญกับรุ่น และการว๊ากมากเกินความจำเป็น จนนำไปสู่ความรุนแรงและลิดรอนสิทธิในรั้วมหาวิทยาลัย นำไปสู่การตั้งคำถามจากสังคมและกดดันจากสังคม ถึงเวลาแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะทุกสิ่งยอมมี 2 ด้านทั้งด้านดีไม่ดีและคนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบในตัวของระบบ ควรมีพื้นที่สำหรับพวกเขา และควรปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้มากขึ้น เพราะหากคุณยังดื้อดึงดึงดันในแนวคิดและสิ่งที่คุณทำว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คนเห็นต่างคือคนที่ไม่เข้าใจและควรกำจัดออกไป ขืนคุณคิดเช่นนี้ก็จะเกิดการต่อต้านและท้าท้ายไม่รู้จบ เราควรหันหน้าเข้าหากันและเปิดใจคุณกันเพื่อนำไปสู่กิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่มีทางออกที่ดีขึ้นสร้างสรรค์มากขึ้นและทุกฝ่ายยอมรับ ผมเชื่อว่าหากทำได้จะนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่สูงกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net