Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ใครๆ ก็รู้ว่า พม่ามีผีชนิดหนึ่งที่เรียกว่านัต (Nat) ยากที่จะอธิบายว่านัตแตกต่างจากผีประเภทอื่นอย่างไร พม่าก็มีผีที่หมายถึงวิญญาณ (ที่จริงพม่ามีคำเรียกต่างหากเพื่อไม่ให้ปะปนกับศัพท์ทางพุทธ) ของคนที่ตายไปแล้ว แต่ไม่ได้ไปผุดไปเกิด กลับเฝ้าเวียนหลอกหลอนหรือทำร้ายผู้คนสืบมา

นัตก็เคยเป็นมนุษย์มาก่อนเหมือนกัน ครั้นตายลง (และมักจะตายโหง) ก็กลายเป็นนัต ซึ่งผมเข้าใจว่ามีอำนาจมากกว่าผี และเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนอย่างกว้างขวาง มีศาลของตนเอง อาจจะหลายแห่งด้วย และมักมีวันที่ผู้นับถือพากันไปกราบไหว้ พร้อมเครื่องบูชาต่างๆ โดยเฉพาะกล้วย, มะพร้าว, อาหาร, เงิน, มโหรีปี่พาทย์, การรำถวาย, รำเข้าทรง, มีเพลงของตนเองซึ่งสานุศิษย์รู้จักดี ฯลฯ กลายเป็นงานรื่นเริงในระดับท้องถิ่น หรือสำหรับนัตบางตนก็ถือเป็นระดับชาติเลย เพราะมีสานุศิษย์กว้างขวางทั่วประเทศ

คนที่ตายไปเป็นนัตทั้งประเทศอาจมีรวมกันเป็นร้อย รวมไปถึงนัตที่เป็นเจ้าธรรมชาติ เช่น เจ้าป่าเจ้าเขา, เจ้าหนองน้ำ, เจ้าประจำต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ (และชักไม่แน่ว่าเคยเกิดเป็นคนมาก่อน) รวมเข้าไปด้วยอีกหลายร้อย แต่พระเจ้าแผ่นดินพม่าตั้งแต่สมัยพุกาม เลือกนัตขึ้นมา 33 องค์ แต่งตั้งขึ้นเป็นนัตหลวงหรือผีหลวง (ประกอบด้วยนัต 32 ตน + พระอินทร์อีกหนึ่งเป็น 33) กษัตริย์ในสมัยต่อมาเพิ่มท้าวจตุโลกบาลเข้าไปอีก 4 ปัจจุบันจึงมีนัตหลวงอยู่ 37 ตน

ดังนั้น ชาวพม่าในปัจจุบันจึงมีนัตอยู่สองประเภท ได้แก่นัต “ข้างใน” (รายชื่อนัตหลวง 37 ตน) และนัต “ข้างนอก” (บัญชีฯ)

แม้ว่าจัดเป็น “ข้างใน” แต่คนพม่าธรรมดาหาได้รู้จักนัตทั้ง 37 ตนไม่ แต่ละตนต่างมีตำนานประวัติของตนเอง ซึ่งคนพม่าน้อยคนเท่านั้นที่จะเล่าตำนานเหล่านี้ได้ (และพอเล่าเข้าจริงก็อาจไม่ตรงกันด้วย) อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าแต่ละคนย่อมนับถือนัต 3 ตนเป็นอย่างน้อย ตนแรกทำหน้าที่เป็นผีเรือน และมักจะตรงกันทั้งประเทศคือนัตใหญ่ที่ชื่อมินมหาคีรี ตนที่สองคือผีบ้านหรือผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งอาจเป็นนัตตนที่แตกต่างกันในแต่ละหมู่บ้าน และตนที่สามคือนัตที่เป็น “สายแม่สายพ่อ” แต่ละครอบครัวก็มีนัตประเภทนี้ต่างกัน แม้อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันก็ตาม

นัต “สายแม่สายพ่อ” นี่แหละครับ ที่ผูกคนต่างหมู่บ้าน, ต่างจังหวัด, ต่างภาค ให้มีความสัมพันธ์เชิงพิธีกรรมต่อกันได้ เพราะในวันที่มีการฉลองนัตตนนั้นประจำปี จะมีผู้คนจำนวนมากเดินทางไปยังศาลนัตในท้องที่ตามประวัติของนัตตนนั้น (โดยมากมักเป็นที่ตาย) เพื่อไปกราบไหว้บูชาด้วยเครื่องบูชาต่างๆ ซึ่งผมเรียกว่า “สานุศิษย์” งานฉลองของนัตบางตนใหญ่มากขนาดเป็นเทศกาลประจำชาติไปเลย เช่น นัตสองพี่น้อง ตองบยอน (Taungbyon) เป็นต้น

ที่น่าประหลาดแก่ผม (และผมอยากเดาว่าแก่คนไทยทั่วไปด้วย) คือ ตามตำนานประวัติของนัตเหล่านี้ ต่างล้วนเป็นคนชั่วหรืออย่างน้อยก็ไม่ดีตามมาตรฐานของพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น กินเหล้าเมายาขนาดที่เรียกว่าหัวราน้ำเลยทีเดียวบ้าง เป็นคนร้ายเที่ยวปล้นฆ่าบ้าง มัวเมาด้านกามารมณ์บ้าง (ที่ไม่ชั่วร้ายก็มี เช่น ชายาของเจ้าชายองค์หนึ่งซึ่งยอมสละชีวิตเพื่อสร้างฝายในระบบชลประทาน แต่มีจำนวนน้อย) ทั้งชาวพม่าเองก็รู้และพูดเองว่านัตทั้งหลายล้วนเป็นคนชั่วไร้ศีลธรรม นอกจากนี้ก็ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น เป็นมุสลิมก็มี เป็นชานหรือไทใหญ่ก็มี แต่ที่น่าสังเกตคือนัตทั้งหมดล้วนเป็นคนมีฤทธิ์มีเดชตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ และด้วยเหตุดังนั้นเมื่อเป็นนัตจึงมีอำนาจมาก สามารถทำร้ายผู้ที่ลบหลู่นัตได้อย่างร้ายแรง บางครั้งถึงแก่ชีวิต

ฤทธิ์อำนาจของนัตอาจให้คุณแก่ผู้บัดพลีหรือร้องขอก็ได้ เช่น ทำให้ถูกลอตเตอรี่ (แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยน เช่น บนบานไว้ ก็ต้องแก้บน) แต่ชาวพม่าเองบอกว่าที่เขานับถือนัต ก็เพราะกลัว คือกลัวว่าจะมาทำร้ายตนหรือคนในครอบครัว มากกว่าจะขอความปกปักรักษาจากนัต แตกต่างจากเทวดาหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านกราบไหว้เพื่อขอความคุ้มครองป้องกัน

ผมพยายามนึกถึงผีไทยที่พอจะเทียบกับนัตได้ แต่นึกไม่ออก และที่นึกไม่ออกนี้คือประเด็นหลักของบทความนี้ที่ผมจะพูดข้างหน้า

คนพม่าเชื่ออย่างเดียวกับคนไทยว่า ฤทธิ์อำนาจของนัต (และผีหรือเปรตหรือยักษ์) ไม่อาจทำลายผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด หรือผู้ทรงศีลได้ แต่ก็มีตำนานและเรื่องเล่ามากมายที่แสดงว่าพระภิกษุถูกสิ่งเหล่านี้ทำร้าย บางเรื่องถึงมรณภาพเอาทีเดียว ซึ่งเท่าที่ผมเคยรู้มา ไม่เคยได้ยินเรื่องเล่าแบบนี้ในเมืองไทย อย่างไรเสียผีก็ต้องแพ้พระในเมืองไทยเสมอ

ฉะนั้น นักวิชาการบางท่านจึงเสนอว่า ความเชื่อเหนือธรรมชาติของพม่านั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่ตกค้างมาจากอดีตก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามา และถูกกลืนหายไปเป็นเพียงส่วนล่างๆ ของพุทธศาสนาพม่าเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอย่างแข็งแกร่งสืบมาเคียงคู่กับพระพุทธศาสนา เหมือนเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่แข่งขันกันอยู่ในที

(เรื่องนัตข้างต้นนั้นสรุปความโดยย่อจาก Burmese Supernaturalism ของ Melford E. Spiro)

ผมกลับไปหาเรื่องนัตมาอ่านใหม่ เพราะวันหนึ่งผมได้ยินในคลิปการอภิปรายครั้งหนึ่ง ที่อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ท่านพูดทำนองว่า ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน อำนาจ (ทางโลกย์) ถูกนำไปผูกกับความดี หรือบารมี ซึ่งก็คือความดีที่ได้สั่งสมไว้มาในอดีต (ทางโลกย์ก็ได้ ทางธรรมก็ได้) ด้วยเหตุดังนั้นคนมีอำนาจจึงถูกมองว่าต้องเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ จำเป็นต้องหาความคิดของไทยที่ไม่ได้มองที่มาแห่งอำนาจแบบนี้บ้าง

ผมเห็นว่าน่าสนใจและน่าลองคิดหาดูบ้าง แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออกครับ จึงกลับไปหาชาวพุทธที่ใกล้เคียงกับเราเช่นชาวพม่าและลองดูว่ามีอำนาจที่เกิดจากอะไรอื่นที่ไม่ใช่ความดีบ้างไหม และได้พบนัตอย่างที่เล่ามาแล้ว

เมื่ออ่านเรื่องนัตไปแล้ว สิ่งแรกที่นึกออกอย่างไม่ค่อยแน่ใจนักก็คือ อาจไม่จริงนะครับว่า คนไทยไม่เคยคิดถึงอำนาจที่ไม่ผูกกับความดี (แบบพุทธ) เลย ผมนึกถึงพระขพุงผีในจารึกสุโขทัย ท่านจะเป็นใครมาจากไหนก็ไม่ทราบ รู้กันแต่ว่าอยู่บนเขาหลวงที่สุโขทัย ไม่มีตำนานประวัติว่าท่านทำดีอะไร แต่ในจารึกดูจะกลัวๆ ท่านอยู่ไม่น้อยจึงต้องอ้างถึง

อีกคนที่ผมนึกถึงคือเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งยังเป็นที่นับถือเกรงกลัวจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะในหมู่ม้าทรงของเจ้าพ่อต่างๆ เพราะถือว่าเจ้าพ่อที่ตนเป็นม้าอยู่นั้น ล้วนเป็นคนของเจ้าหลวงคำแดงทั้งสิ้น มีวันฉลองเจ้าหลวงคำแดงที่เชียงดาว ซึ่ง “สานุศิษย์” หรือม้าทรงต่างต้องไปร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง ดึงเอาคนที่ “ขึ้น” เจ้าพ่อทั้งหลาย หรือแฟนานุแฟนของเจ้าพ่อติดตามไปร่วมพิธีด้วย จึงกลายเป็นพิธีใหญ่ในวันนั้น

เจ้าหลวงคำแดงอาจมีตำนานประวัติ แต่ก็เป็นประวัติที่พระภิกษุเป็นคนเล่าเอาไว้ จึงนำไปผูกไว้กับพระพุทธศาสนา แต่สังเกตให้ดีเถิดครับว่าผูกได้ไม่สนิทนัก ยังเห็นร่องรอยที่จะเล่าใหม่ให้ไม่เกี่ยวกับพุทธเลยก็ได้ แต่ท่านก็ไม่ได้ทำชั่วอย่างนัตพม่า เพียงแต่มีฤทธิ์อำนาจมาตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

ปู่แสะย่าแสะเป็นยักษ์กินคนเลยทีเดียว พิธีกรรมเพื่อบูชาปู่แสะย่าแสะก็อยู่นอกประเพณีพุทธอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการบูชายัญสัตว์ แต่เรื่องราวของท่านถูกพระในพุทธศาสนาเล่าใหม่ให้ต้องสยบยอมต่อพุทธานุภาพ และกลายเป็นผู้รักษาพุทธเจดีย์ไป

ผมออกจะสงสัยว่าในสมัยหนึ่งพญามังรายก็น่าจะเป็นผีใหญ่ของชาวเชียงใหม่ เพราะท่านตายลงด้วยถูกฟ้าผ่ากลางเวียง (ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่คนใหญ่คนโตที่ตายอย่างนี้ และในพื้นที่สำคัญอย่างนั้น ไม่ใช่คนธรรมดาแน่) นอกจากนี้ มีตำนานเล่ากันว่าเมื่อท่านตีหริภุญไชยได้ ท่านดำริว่าท่านอยู่ไม่เป็นสุขในเมืองที่มีพระธาตุสำคัญตั้งอยู่ จึงย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ คงเป็นเวลาอีกหลายสิบปีหรือเป็นศตวรรษ กว่าเรื่องราวของพญามังรายจะถูกเขียนใหม่ให้กลายเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ “ศาสนา” อีกอย่างหนึ่งถูกกลบให้กลายเป็นความเชื่อนอกรีต ที่พุทธศาสนายอมให้ดำรงอยู่อย่างเป็นรอง

สรุปก็คือ ความคิดถึงอำนาจที่ไม่ผูกไว้กับความดี (แบบพุทธ) ก็คงเคยมีอยู่ในสังคมไทยในอดีต และคงเหลือร่องรอยตกค้างมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ในพระราชพงศาวดาร (ซึ่งเขียนขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์) ก็ไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยความสามารถเฉพาะตน ซ้ำยังไม่ใช่ผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเสียด้วย

เมื่อผมเป็นเด็ก และได้มีโอกาสเติบโตในอำเภอศรีราชา ผมได้รับการบอกเล่าถึงเจ้าพ่อเขาเขียว ซึ่งคนศรีราชามองเห็นเป็นเงาอยู่ลิบๆ ว่าเป็นเจ้าพ่อใหญ่ที่ทุกคนต้องเกรงกลัวเมื่อเข้าป่าของท่าน บางคนว่าต้องบัดพลีสังเวยท่านก่อนเข้าป่าด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้เห็นรถไฟของโรงเลื่อยบริษัทศรีมหาราชาวิ่งเข้าไปขนท่อนซุงขนาดมหึมาออกมาจากป่าเขาเขียวทุกวัน และไม่ทราบว่าบริษัทต้องทำพิธีอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อเขาเขียวนั้นไม่มีประวัติ ดังนั้น อำนาจของท่านจึงไม่เกี่ยวอะไรกับการทำความดีในพุทธศาสนา

นอกจากเจ้าพ่อเขาเขียวแล้ว โคกและต้นไม้ใหญ่ก็มีอำนาจ อย่างน้อยผมก็ถูกเตือนว่า อย่าได้ฉี่ใส่เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เครื่องมือการฉี่บวมโตและเจ็บปวด มีตำนานเล่าว่านักเรียนประจำบางคนเคยละเมิดเรื่องนี้ จนผู้ปกครองต้องเดินทางมาทำพิธีขอขมาโคกหรือต้นไม้ เพื่อรักษาชีวิตของลูกหลานเอาไว้ ผีเหล่านี้ก็เช่นเดียวกันนะครับ คือมีอำนาจโดยไม่ผูกอยู่กับการทำความดีแบบพุทธอะไรมาก่อนเลย

แต่ความคิดที่ไม่ผูกอำนาจไว้กับบารมีนี้ หายไปในตอนไหนอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของกษัตริย์-พุทธ-ผี ระหว่างไทยและพม่า ที่อาจช่วยอธิบายเรื่องนี้ได้อยู่บ้าง ต้องหันกลับไปดูเรื่องนัตของพม่าใหม่

นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนัตต่างมีความเห็นตรงกันว่า ความเชื่อเรื่องนัตมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระราชอำนาจอยู่มาก ไม่แต่เพียงกษัตริย์เป็นผู้สถาปนานัตบางตนขึ้นเป็นนัตหลวงเท่านั้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีอยู่อย่างน้อยสองด้าน

ด้านแรกก็คือ ในประวัติของนัตส่วนใหญ่ มักถูกราชทัณฑ์ถึงชีวิต เพราะท่านเหล่านั้นล้วนเป็นปฏิปักษ์กับพระราชอำนาจ เช่น เป็นกบฏ, ไม่ปฏิบัติตามรับสั่งหรือพระราชโองการ, หรือมีฤทธิ์อำนาจมากจนคุกคามความปลอดภัยของกษัตริย์ ดังนั้น ความเชื่อเรื่องนัตจึงช่วยยืนยันพระราชอำนาจสูงสุดของกษัตริย์พม่า

ด้านที่สองก็คือ ความเชื่อเรื่องนัตซึ่งมีตั้งแต่นัตประจำพื้นที่ ไปถึงนัตที่มีอำนาจเหนือคนบางกลุ่มแต่ไม่ผูกกับพื้นที่ (เช่น นัตสายแม่สายพ่อ) คือการจำลองระบบปกครองในสมัยโบราณของพม่า สะท้อนภาระหน้าที่ของไพร่ที่มีต่อขุนนางตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน ความเชื่อเรื่องนัตจึงช่วยเสริมระบบปกครองและพระราชอำนาจ

ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งที่ผมอธิบายไม่ได้ ความเชื่อผีในพม่าไม่ได้ถูกพุทธศาสนาก้าวเข้าไปกำกับควบคุมเหมือนเมืองไทย แต่เป็นภาระของกษัตริย์ที่จะจัดการเอง และก็จัดการโดยรักษาไว้ให้อยู่ในกำกับควบคุมของกษัตริย์ ผีพม่าจึงไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาเหมือนผีไทย (ผีประเภทนั้นก็มีเหมือนกัน แต่มักเป็นผีที่มากับคัมภีร์บาลี) แต่เป็นผีที่ช่วยสะท้อนพระราชอำนาจของกษัตริย์ให้ประจักษ์ต่อราษฎร

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าผีจะสยบยอมอยู่ใต้พระราชอำนาจโดยดุษณี ประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับนัตแสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อพระราชอำนาจอยู่บ่อยๆ เช่น เมื่อพระเจ้าอโนรธาสั่งประหารนัตพี่น้องตองบยอน พรรคพวกของนัตทั้งสองซึ่งเป็นนัตไทใหญ่ สิงอยู่ในต้นไม้ จึงแปลงร่างเป็นควาย และขวิดพระเจ้าอโนรธาจนสวรรคต มีเรื่องเล่ากันว่า พระเจ้ามินดงสั่งให้เลิกพิธีกรรมประจำปีบูชานัตตองบยอน ทำให้อัณฑะของพระองค์บวมโตและพระนาภีของพระมเหสีก็บวมโตเหมือนกัน จนต้องสั่งยกเลิกให้ทำพิธีกรรมประจำปีได้ต่อไป

แม้เครือข่ายของนัต “สายแม่สายพ่อ” โดยเฉพาะนัตที่มีผู้นับถือมากๆ เช่น พี่น้องตองบยอน จนเทศกาลบูชาประจำปีกลายเป็นงานระดับชาติ ก็เป็นการคุกคามพระราชอำนาจอย่างหนึ่ง ในสังคมโบราณที่อำนาจการจัดองค์กรถูกจำกัดไว้ให้เป็นพระราชอำนาจ (และองค์กรสงฆ์ ซึ่งอยู่ใต้พระราชอำนาจ) เพียงฝ่ายเดียว เครือข่ายของนัต “สายพ่อสายแม่” กลายเป็นการจัดองค์กรที่อยู่นอกพระราชอำนาจโดยปริยาย จึงอาจเป็นภัยคุกคามต่อพระราชอำนาจได้มาก

ผมคิดว่าในเมืองไทย ผีถูกพระในพุทธศาสนาปราบจนโงหัวไม่ขึ้นไปหมดแล้ว เหตุดังนั้น อำนาจที่ไม่ผูกกับความดี (แบบพุทธ) จึงไม่มี หรือมองเห็นไม่ค่อยถนัด จนกระทั่งเราได้ความคิดเรื่องอำนาจแบบฝรั่งเข้ามา ซึ่งก็ไม่แพร่หลายในหมู่คนไทยนัก นั่นคืออำนาจผูกอยู่กับกฎหมาย กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้ คือระหว่างอำนาจที่ถูกกฎหมาย กับอำนาจที่เกิดจากความดี

คงไม่ต้องบอกนะครับว่า อำนาจขององค์กรสงฆ์ในเมืองไทยก็ตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของกษัตริย์อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมยิ่งกว่ากษัตริย์พม่าเสียอีก

ในการเมืองสมัยใหม่ของไทย ผมคิดว่ามีผู้นำอยู่สองคนที่อำนาจของเขาไม่ผูกกับกฎหมาย หรือไม่ผูกอย่างชัดเจนนัก แต่กลับเป็นที่นับถือในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง คนแรกคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งโดยประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ก็น่าจะกลายเป็นนัตหลวงตนที่ 38 ไปแล้ว หากอยู่ในพม่าสมัยที่ยังมีกษัตริย์ปกครอง อีกคนหนึ่งคือ คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแตกต่างแทบจะตรงกันข้ามกับคนแรก ซ้ำยังชอบยืนยันที่มาแห่งอำนาจของตนว่าคือกฎหมาย (การเลือกตั้ง) ไม่ใช่ความดี (แบบพุทธ) ที่สั่งสมมาแต่อดีต เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นอัศวินคลื่นลูกที่สาม ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์

ผมบอกได้แต่ว่า ความเหมือนและความต่างของผู้นำสองคนที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยนี้น่าสนใจ และคงบอกที่มาแห่งอำนาจอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่ใช่ความดี (แบบพุทธ) แต่มันคืออะไร ผมก็วิเคราะห์ไม่ออกครับ

 

ที่มา: www.matichonweekly.com 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net