Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“A House is made of woods and bricks but a home is made of love alone.”

-คนแคระทั้งเจ็ด-

เออวิง กอฟฟ์มาน จัดให้เรือนจำทัณฑสถานเป็นสถาบันสังคมประเภท สถาบันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบหนึ่งในห้าแบบ-แบบ(3)ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชุมชนจากผู้ที่เป็นภัยคุกคามชุมชน โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชุมชนมากกว่าตัวบุคคลที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถาบัน- (เรียบเรียงจาก สายพิณ อ้างถึง Goffman. 1961. Asylums.) ในขณะที่สถาบันสังคมทั่วไปจะมี องค์ประกอบคือ วัตถุประสงค์ แบบอย่างพฤติกรรม และ สมาชิก แต่สถาบันเบ็ดเสร็จจะเพิ่มเติมข้อกำหนดวิถีปฏิบัติสมาชิกอย่างเข้มข้นละเอียดละออ มีลักษณะทางกายภาพที่สร้างสิ่งกีดขวางระหว่างคนนอกกับคนในที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม และการเลื่อนชั้นหรือสถานะสมาชิกจากผู้ถูกกักกัน ควบคุมดูแล มาเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการอย่างเป็นทางการนั้นแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย   

สำหรับประเทศไทยใช้คำว่า ทัณฑสถานกับผู้ต้องโทษเพศหญิงและผู้ต้องโทษจำแนกเฉพาะเช่น วัยหนุ่ม บำบัดกลาง และใช้คำว่า เรือนจำ สำหรับผู้ต้องโทษชายในนัยย์นักโทษแบบโดยทั่วไป  อย่างไรก็ดี “บ้าน”เป็นปรากฏการณ์ในเรือนจำทัณฑสถานที่น่าสนใจมากเกี่ยวโยงใยไม่เพียงแต่ความเป็นสถาบันทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเห็นพัฒนการของการกลายเป็นสังคมที่อยู่ภายนอกได้ด้วย
 
ระหว่าง บ้านในบท “บ้าน-เพศ-กับข้าว: จินตนากรรมของการขัดขืน”อันเป็นบ้านที่ศึกษาในทัณฑสถานหญิงกลาง(2541-2542)จากวิทยานิพนธ์เรื่อง คุกกับคน:อำนาจและการต่อต้านขัดขืน ของ สายพิณ ศุพุทธมงคล(2543) กับ “บ้าน” ในแดนสอง รจพ.กท.(เมษ.-พค.-มิย.-กค.2560) น่าจะแตกต่างที่ขนาดวัตถุประสงค์จำนวนสมาชิกและดีกรีความอบอุ่น แต่ต่างมีส่วนสะท้อนภาพการต่อต้านขัดขืนในอำนาจเบ็ดเสร็จร่วมในรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน  

บ้านในทัณฑสถานหญิงมีสมาชิก 2-5 คน จำลองลักษณะครอบครัวเดี่ยว แต่บ้านส่วนใหญ่ใน ด2รจพ.กท.มีจำนวนสมาชิกหลักสิบหลักร้อยโดยมีท้องที่ทำเลเป็นฐาน(ไม่ใช่ครอบครัว) เช่น บางนา บางเขน บางซื่อ ยกเว้นแต่บ้านเพศสภาพหนึ่งหลังแต่ก็มีสมาชิกสิบ++คน บ้านของฝั่งชายน่าจะเป็น บ้านดั้งเดิม-ระบบอุปถัมภ์ที่สะท้อนอำนาจแต่ละกลุ่มตระกูลในซีรี่ส์เกมส์ออฟโธรนหรือกลุ่มมาเฟียยากูซ่าในเมืองใหญ่มากกว่า   
ความอบอุ่นทางจิตใจที่สมาชิกปันกันตาม่บทบาทจากแบบจำลองจินตนากรรมครอบครัวของบ้านในทัณฑสถานหญิง จึงต่างจากความปลอดภัยของชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองแลกกับหน้าที่ปฏิบัติและความจงรักภักดีในบ้านของฝั่งชาย 

ในบทการต่อต้านขัดขืน อ.สายพิณได้ยกข้อเสนอของฟูโกต์เป็นสมมุติฐานของ “อำนาจและการต่อต้านขัดขืน”ไว้ 5 ประการ

1. อย่าคิดถึงอำนาจคล้ายบุคคล หรือ สิ่งของ แต่ควรมองอำนาจในลักษณะ “สนามพลังงาน”ของปฏิบัติการในจุดต่างๆนับไม่ถ้วนที่เคลื่อนย้าย ตลอดเวลาในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน

2. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่อาจแยกเป็นเอกเทศจากความสัมพันธ์ในสังคมชุดอื่นๆ (การผลิต, ความรู้, เพศสัมพันธ์, ฯลฯ) และไม่ได้มีเฉพาะในโครงสร้างส่วนบน

3. อำนาจอยู่ทุกหนแห่ง เป็นปริมณฑลเชิงเครือข่าย มีการจำหน่ายซ้ำ(redistribution) การจัดแถวจัดแนว การผสานเป็นหนึ่งเดียว การจัดขั้นตอนปฏิบัติการเชิงอำนาจ  การครอบงำเชิงอำนาจเป็นภาพปรากฏของปฏิบัติการของอำนาจที่เป็นเครือข่ายที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

4. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีทั้งที่เกิดโดย เจตนา และ ไม่เจตนา(ไม่ใช่อัตวิสัย-วัตถุวิสัย) แต่ไม่เคยปราศจากเป้าหมายและจุดมุ่งหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งหมดต้องเป็นผลจากทางเลือกและการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล

5. ณ ที่ใดที่อำนาจปรากฏ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านขัดขืน แต่การต่อต้านขัดขืนก็มีหลากหลายไม่แพ้กันทั้งต่างไม่ใช่แรงกริยาปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน ทว่าเป็นด้านตรงข้ามที่ขาดกันไม่ได้

0000

ถ้าพิจารณาป้ายผ้าที่เป็นหลักในแดนสอง ป้ายสารสนเทศที่เป็นทางการที่สุดติดตั้งอยู่ที่ ประตูหลักที่ทุกคนใช้จัดแถวเข้าทางขึ้นสู่เรือนนอน อักษรสีสดุดตาบนป้ายพิมพ์บนผ้าใบอาบมันขนาดใหญ่ อ่านได้ว่า


“นโยบายกรมราชทัณฑ์ หนังสือ กรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ. 0705.1/7355 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2559 (ตัวรอง) “ห้ามผู้ต้องขังสร้างกลุ่มบ้าน สร้างอิทธิพล หรือ กลุ่มซามูไร โดยวิธีการ ขายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต รับจ้างเป็นตัวแทนในการกระทำผิด เป็นสื่อในการติดต่อสื่อสาร ป่ล่อยกู้ ทวงหนี้ ข่มเหงผู้ต้องหาอื่น” *หากมีการฝ่าฝืนจะดำนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด* *หรือใช้มาตรการทางการปกครอง ย้ายเรือนจำ*


ผมคิดว่า กรมราชทัณฑ์สามารถจัดการกับการสร้างอิทธิพลโดยวิธีการ..ข้างต้นได้เกือบครบ เว้นแต่ไม่ใช่ เรื่อง “บ้าน”การสร้างกลุ่มบ้านไม่ใช่เพราะไร้อำนาจแต่เป็นเพราะกลุ่มบ้านหรือวัฒนธรรมกลุ่มบ้านไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล แม้ว่าการเกิดขึ้นของมันเกี่ยวข้องกับฐานจิตสำนึกของปัจเจกบุคคลเท่าๆกับจากวัฒนธรรมฉากหลังของสถาบันทางสังคม 

สมมุติฐานข้างต้นทั้ง 5 ยังมีน้ำหนักอธิบายกรณีของเรือนจำทัณฑสถานเบ็ดเสร็จ และ ยังอาจเป็นสะพานทอดต่อไปเพื่อการเข้าใจสังคมไทยนอกเรือนจำในบรรยากาศสถาบันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด total institutions (Goffman) และหรือ ระบบรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ Totalitarianism (Arendt)

สำหรับแดนสอง แดนวัยหนุ่ม รจพ.กท. ผมคิดว่ามีกลุ่มบ้านสามแบบซึ่งโดยจุดประสงค์เช่นเดียวกันคือเป็นพื้นที่ที่คนจะได้รับการคุ้มกันปลอดภัยแลกกับเงื่อนไขหน้าที่ของสมาชิก และ ทั้งสามแบบก็โยงยึดถึงพื่นที่อ้างอิงกับแดนอื่นด้วย(คล้ายแผนที่ของทองใบ แตงน้อยที่ใช้ร่วมกันในจินตนากรรมทั้งประเทศ)

1.กลุ่มบ้านสะท้อนเขตย่านพักอาศัย(ในกรุงเทพฯตามเขตที่มีฐานชุมชนประชากรนักโทษตามความเป็นจริง)

2.กลุ่มบ้านจำแนกถิ่น (ภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ฝั่งธน)

3.กลุ่มบ้านเครือข่ายสังคม (112, กะเทย, กลุ่มงานเฉพาะ, ฯลฯ)

ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละกลุ่มบ้าน ขอกล่าวถึง เรื่องพื้นที่จินตกรรมของแดนสองซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ ภูมิทัศน์นี้จากมุมสถานที่ พื้นที่สาธารณะในแดนสองบางพื้นที่มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น เยาวราช หมายถึงของทางเดินมีหลังคาที่เชื่อมเรือนนอนกับโรงอาหารนัยยะคือเป็นเขตที่เหมาะสมกับการเป็นย่านการค้า, โค้งร้อยศพ คือ มุมเรือนนอนที่ค่อนผิวคอนกรีตขัดมันค่อนข้างลื่น, ท่าน้ำนนท์ คือ บริเวณที่รางเปิดน้ำทิ้งของแดนไหลไปลงรางเปิดใหญ่ริมกำแพง เป็นต้น มีข้อสังกตว่าชื่อเหล่านี้ไม่ใช่ชื่อกลุ่มบ้านสะท้อนเขตย่าน(ไม่มีบ้านเยาวราช) แต่อ่านได้ว่าในฐานะที่สมาชิกเป็นสมาชิกร่วมของเมืองใหญ่ตกลงเรียกย่านสถานที่ตามแหล่งที่อยู่ตามที่ต่างมีประวัติศาตร์สำนึกร่วมกันของสถานพื้นที่ (Sense of place)

1.แบบแรก กลุ่มบ้านสะท้อนเขตย่านพักอาศัยในกรุงเทพฯ ตามเขตที่มีฐานชุมชนประชากรนักโทษ มีจำนวนมากที่สุดทั้งสมาชิกและจำนวนหลัง เนื่องจากมีเรือนจำพิเศษธนบุรีรับผู้ต้องขังชายในเขตกรุงเทพฯตะวันตก-ธนบุรี และเรือนจำพิเศษมีนบุรีรับนักโทษที่ต้องคดีในเขตกรุงเทพฯตะวันออก ดังนั้น กลุ่มบ้านที่นี่จึงมีเท่าที่สะท้อนเขตเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ได้แก่ บ้านมักกะสัน,บ้านรามคำแหง, บ้านยานนาวา, บ้านคลองเตย, บ้านบางซื่อ, บ้านบางเขน, บ้านบางนา, บ้านลาดพร้าว, บ้านห้วยขวาง.

บ้านบางซื่อจัดว่าใหญ่ที่สุดมีสมาชิกราว 100+ และมีบ้านย่อยในบ้านใหญ่บางซื่อได้แก่ บ้านครัว, กล้วยน้ำไท

หลายปีมาแล้วเคยมีสงครามจลาจลในแดนจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเหมือนกันกลุ่มเหล่านี้แยกย้ายไปรวมกันอยู่ในสองฝ่าย ในช่วงที่ได้สังเกตไม่มีความตึงเครียดให้เห็นมากนัก แต่ได้รับการบอกเล่าจากหลายคนว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีฉันทามติจากพ่อบ้านของพ่อบ้านซึ่งอยู่แดนแปด

บ้านแต่ละบ้านมีความสัมพันธ์กันทางธุรกิจ มีข้อตกลงร่วมกันในการค้าไม่ให้แย่งสินค้ากัน คือ แต่ละบ้านอาจหาอาหาร(รับซื้อจากร้านค้าสงเคราะห์)แล้วนำมาจำหน่ายในราคาบวกกำไร รายได้ที่แต่ละบ้านได้เมื่อตัดทุนหมุนเวียนแล้วก็จะเป็นค่าอาหารของสมาชิกในกลุ่มที่ทำงานให้กลุ่ม คนที่ไม่ได้ทำงานให้กลุ่มหรือมีรายได้ก็จะส่งเงินสมทบเป็นค่าอาหารกินกันเป็นวงอิ่มด้วยกันอดด้วยกัน ตอนที่ได้เห็นยังไม่เข้าใจเรื่องบ้าน แต่เห็นเด็กสักเต็มตัวบ้างสักครึ่งตัวบ้างสิบกว่าคนนั่งล้อมวงเบี่ยงด้านขวาเข้าสู่วงตรงกลางมีกับสามชนิดทุกคนใช้มีอขวาถือช้อนตักกับกินกับข้าวในจานตัวเองพร้อมๆกันอย่างน่าประทับใจ

บ้านยานนาวาได้สิทธิการค้าสำหรับ ข้าวราดแกง, บ้านมักกะสันได้ ถั่วเค็ม,ถั่วหวาน,น้ำเอส,น้ำแดง,น้ำเขียว บ้านรามคำแหงขายกาแฟได้(ซื้อกาแฟผงครีมเทียมน้ำตาลมาแยกใส่แก้วพลาสติกใส่น้ำร้อน) บางเขนได้ข้าวเกรียบ,น้ำแข็งใส บางซื่อได้กาแฟ,น้ำหวาน,ชาเขียว บางนาได้ กับข้าว กาแฟ บ้านฝั่งธนได้ก๋วยจั๊บก๋วยเตี๋ยวส้มตำ เป็นต้น สมาชิกที่อุทิศแรงงานให้การผลิดการจัดจำหน่ายจะได้รับผลตอบแทนตามสัดส่วน ในแง่นี้บ้านจึงเป็นสถาบันที่ให้ความมั่นคงทางอาหารในการดำรงชีวิต

2.แบบที่สอง กลุ่มบ้านจำแนกถิ่น คล้ายกลุ่มแรก เพียงแต่ว่าไม่ได้มีจำนวนประชากรแต่ละเขตแต่ละจังหวัดมากพอต้องรวมเขต เป็นคนท้องถิ่นอื่นอาจถูกคดีในกรุงเทพฯ ได้แก่ บ้านภาคใต้ บ้านอีสาน บ้านฝั่งธน บ้านกัมพูชา บ้านแบบนี้คล้ายกับบ้านแบบแรก ผู้ต้องขังชาติอื่นในแดนสอง เช่น ลาว เวียดนาม จีน กะเหรี่ยง ปากสถานไม่มีบ้านตามจำแนก มีจำนวนหนึ่งแต่พวกเขาอาจสังกัดบ้านแบบอื่นๆอย่างหลวมๆก็ได้ อย่างไรก็ตามบ้านต่างชาติดูจะไม่มีสิทธิทางการค้า มีการให้บริการที่ไม่ใช้ภาษา เช่น การนวดผ่อนคลายแลกเปลี่ยนกับอาหาร ผู้ต้องขังชาวกัมพูชามีจำนวนมากที่สุดพวกเขามักเป็นแรงงานที่ถูกนายงานหนีทอดทิ้งถูกจับกุม หรือ เป็นพ่อค้าที่รับซื้อของโจรโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยไม่ได้เลยมีจำนวนน้อยที่ใช้ได้ทั้งสองภาษา คนหนึ่งคือ เคสคุณ(M)

3.กลุ่มบ้านแบบที่สามกลุ่มบ้านเครือข่ายสังคม จะมีบริบททางสังคมอื่นที่ไม่ใช่บริบทเชิงพื้นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ กลุ่มเพศสถานะ, กลุ่มงาน, กลุ่มที่ต้องถูกสังเกต เช่น บ้านเพศสภาพ, บ้าน112/1, บ้าน112/2, บ้านช่างโยธาเคสคุณ(N), บ้านหน้าแดน หรือ ฐานสังคมอาชีพ   

บ้านเพศสภาพ บ้านกะเทยในแดนสอง ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 10 คน โดยทั่วไปอยู่ในห้องสมุดที่เดียวกับ กลุ่มผมห้าคน (112/2) สัดส่วนประชากรชายหญิงเท่าๆกันในโลกนอกคุกที่เปลี่ยนไปในคุกทำให้เพศทางเลือกที่มีจำนวนน้อยมีอุปสงค์สูงขึ้นมาก โดยทั่วไปสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มเพศทางเลือกและสามี กลุ่มจะช่วยให้ความต้องการพิเศษในเรื่องทั่วไปเป็นไปได้ ในห้องสมุดผู้คุมที่รับผิดชอบจะต้องมานั่งเวรประจำวันสมาชิกที่เรียนบีบนวดจะให้บริการ ในแง่หนึ่งก็ต่างก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กัน ผมจำได้ว่าวันหนึ่งที่ มีคู่หนึ่งที่ฝ่ายสามีจะได้ออกพ้นโทษในแถวผู้คุมคนหนึ่งเรียกเชิญน้องคนรักมาหอมแก้มส่งดูน่ารักดีในความสัมพันธ์จำลองที่คล้ายแบบที่อ.สายพิณเรียกว่า บ้านคู่ผัวตัวเมีย โดยทั่วไปแดนสองเป็นแดนวัยหนุ่ม ตามธรรมชาติพวกเขาจึงงดงามตามวัยกว่ากะเทยในแดนอื่น เคสคุณG

บ้าน 112 การเกิดกลุ่มที่จำเป็นต้องถูกจับตาเช่น กลุ่มนักโทษความคิด นักโทษการเมือง ซึ่งตามธรรมชาติสมาชิกจะจับกลุ่มแลกเปลี่ยนทัศนะข้อมูลข่าวสารอยู่และการเกาะกลุ่มก็ทำให้การสังเกตการณ์ทำได้สะดวก ยกเว้นแต่ว่าขนาดของกลุ่มจะใหญ่มากและการถ่ายทอดทัศนะอย่างกว้างขวางก็จะขัดต่ออำนาจครอบงำเบ็ดเสร็จเสียเอง ทางเรือนจำก็จะไม่ให้อยู่ในแดนเดียวกัน ในกรณีที่ทิศทางจำนวนไม่มากนัก การให้ทั้งกลุ่มจำนวนน้อยไปอยู่ในแดนที่สมาชิกสนใจกระบวนการทางการเมืองน้อยเป็นเยาวชนแบบแดนสองถือเป็นทางออกที่ดี ในแดนสอง มีสองบ้านเล็กๆคือคดีหมิ่นข่มขู่ 2558 (เคสคุณU) และ แชร์เฟสบุ๊ค 2560 ชื่อบ้านมีความสำคัญโดยทั่วไปแม้จะไม่เป็นทางการ เช่น การผัดเปลี่ยนเวรกันซื้อกับข้าวกินกับข้าวหลวงโดยใช้บัตรประจำตัว เวลาสั่งเราต้องเขียนรายการในใบสลิปจะได้รับอาหารที่สั่งในวันถัดไป เราต้องเอาบัตรไปซ้อนเรียงคิวเมื่ออาหารมาส่งที่ร้านค้า น้องที่ร้านค้าจะเคลียร์จากบัตรนั้นเมื่อเคลียร์กับสลิปแล้วก็มองหาใบหน้าแล้วเรียกชื่อ “112ครับ” เคลียร์แล้วก็วางบัตรไว้ให้หรือส่งให้ เมื่อรับบัตรกับสลิปคืนก็รอรับกับข้าวถุงอีกช่องจนครบ เรียกชื่อบ้านเพราะสะดวกกว่าทีจะจำชื่อจริงแต่ละคนในบ้าน (น้องที่ทำหน้าที่นี้ บางคนจำชื่อจำบัตรเลขบัตรได้ทั้งแดน การใช้บัตรรูดแทนเป็นเรื่องปกติเพราะช่วยไม่ให้ต้องมาเสียเวลารอคิวแทน เขาต้องรู้ว่าไม่ใช่บัตรที่ถูกขโมยมา ในความโกลาหลทุกวันนี่เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก แต่นั่นแหละคนกับงานจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเสมอ)

บ้านช่าง อยู่หลังที่ทำการแดน สมาชิกที่นี่มีฝีมือในงานช่างโดยทั่วไป ไม่มีบ้านลาว แต่มีสมาชิกเป็นชาวลาวและเวียดนามในบ้านนี้ พวงกุญแจประดิษฐ์เองด้วยลวดทองแดงที่ใช้เสียบขอบกางเกงเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป ผมเคยขอชมของช่างNชาวลาวเพราะมันประณีตและได้สัดส่วนงดงามมาก ในช่วงที่ทราบว่าจะได้ใกล้ออกมีคนแนะนำชวนเชิญด้วยว่าแกเป็นช่างฝังมุกฝีมือดี สมาชิกงานช่างซึ่งเป็นงานที่จำเป็นต้องมีทีมเวริค์ ทั้งเวลาทำงานของกลุ่มก็คล้ายกัน การฟอร์มบ้านแบบนี้ไม่ได้จัดตั้งอย่างจงใจเลย แต่เกิดจากเงื่อนไขทางการอาชีพ

เช่นเดียวกับ บ้านหน้าแดน ที่สมาชิกทำงานธุรการจิปาถะในที่ทำการแดน เรียกกันสั้นๆว่า หน้าแดน ที่มักมีระดับการศึกษา หรือ มีทักษะเด่นในการให้บริการงานโรงอาหารและงานร้านค้าก็มีลักษณะเป็นกลุ่มบ้านเช่นกัน

การงานอาชีพช่วยถมทับความว่างเปล่าได้ดี แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มงานทุกอย่างจะมีสถานะเป็นกลุ่มบ้าน กลุ่มงานที่ระดมคนทำงานจำนวนมากเช่น งานเย็บรองเท้า งานพับถุงกระดาษ ซึ่งเป็นการงานที่สร้างรายได้ให้กับระบบ จะมีเรื่องราวการควบคุมแน่นหนาใช้แรงงานเข้มข้นก็จะมีเรื่องราวต่างออกไป อันนี้คุณชูวิทย์รีวิวไว้แน่นพอสมควร

0000

ผมขอสรุปสาระเรื่อง “บ้าน” ที่ผมเข้าใจระยะนี้จากเหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไป

วันหนึ่งผมและเพื่อนร่วมบ้านทั้ง 5 ต้องไปร่วมดูงานในแดนอื่นของ เรือนจำพิเศษกลางอย่างเป็นพิธีการ (ต่างจาก ขช.นช.อื่นโดยทั่วไปเราทั้งห้าถูกเรียกไปนู่นไปนี่เกือบทุกวัน บางวันหลายครั้ง) พิธีการที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญเราได้ดูงานสำคัญของเรือนจำ งานสูทกรรมและห้องซ้อมดนตรีการแสดงในแดน8 งานเบอรี่และหัตถกรรมฝีมือที่แดน3 นอกจากเราทั้ง5 แดนยังจัดให้มี น้องอีก 5 คนถูกจัดมาร่วมด้วยท่ามกลางคณะผู้บริหารระดับสูง ตอนนั้นผมเข้าใจว่าไม่ให้ภาพของเราในฐานะผู้ต้องขังพิเศษเกินไปในสายตาผู้ต้องขังโดยรวมซึ่งก็คงมีส่วนอยู่

ผมสังเกตว่าน้องที่มาร่วมด้วยต่างเป็นพ่อบ้านของบ้านสำคัญเชิงพื้นที่ของแดนทั้งสิ้น เหตการณ์นี้ทำให้พ่อบ้านคนหนึ่งใช้โอกาสนี้สร้างสานความสัมพันธ์กับผม การสนทนากันในระยะต่อมาช่วยทำให้มโนทัศน์ “บ้าน” ในแง่ชีวอำนาจของผมแจ่มชัดขึ้น 

สมมุติแกชื่อเอซนะครับ ผู้ชายร่างสันทัดอายุประมาณ 30 ปี ร่างกายสักแน่นทั่วตัว ตาคมใบหน้าคมมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการจงใจกรีดเป็นแถว คล้ายหัวหน้าเผ่าชุมชนที่นักมานุษยวิทยาศึกษา หลังจากที่รู้จักกัน แกก็แวะมาคุยกับผมที่ “บ้าน112/2”(เก้าอี้ยาวหนึ่งชุดในห้องสมุด) บ่อยบ่อย แกมาจากสลัมย่านพระรามสาม

ช่วงนั้นผมเริ่มสนใจเรื่อง “บ้าน”แล้ว เที่ยวได้ถามได้ชวนใครต่อใครคุยพอคุณเอซรู้ว่าผมสนใจแกก็เล่าเรื่องบ้านให้ฟังจากมุมแก ผมรับฟังด้วยความทึ่ง แกให้ภาพรวมที่ชัดเจนราวกับบทคัดย่อของบทความวิชาการเห็นภาพโครงสร้างเชิงระบบมัน มันมีช่วงชั้นส่วนยอดที่แดน8ไล่ลงมาภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และมีความสัมพันธ์ทางนอนระหว่างแต่ละเรือนจำรวมไปถึงพื้นที่เกี่ยวข้องในเมือง พันธะการคุ้มครองแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ส่วยจากสมาชิกในลักษณะต่างๆ สรุปสาระสำคัญได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยอาชีพครูบางทีผมใช้เวลาจับตาเรดาห์สนใจคนนั้นคนนี้ที่เด่นในการใช้ชีวิตซึ่งก็มีหลายคน การสนทนานี่พบว่าคุณเอซฉลาดมากแต่หลุดจากจอเรดาห์  

ต่อมาแกเล่าภูมิหลังให้ฟังว่าเป็น บุตรชายของสัปเหร่อ เป็นขโมยตั้งแต่เด็ก เคยเกมส์(ถูกจับ)มาก่อนทำให้สถานะปัจจุบันที่ถูกจับซ้ำทำให้ลดชั้น แกว่าโดยทักษะและความมั่นใจแกคิดว่าไม่น่าจะถูกจับครั้งนี้ ที่ถูกจับเพราะแกอยู่ชั้นสองของบ้านเห็นตร.จะค้นย่ามพ่อซึ่งแกซุกของไว้ที่ชั้นล่างและจะทำให้พ่อแกเกมส์แน่แกเลยโดดลงมาคว้าไว้และตัดหน้าให้จับ ฟังแล้วก็มีส่วนคิดว่าแกโม้   

แกว่าตอนนั้นต้องคดีเยอะจน ตร. หมายหัวแล้ว ทว่าแกก็อยู่ที่บ้านและก็ไม่ถูกรวบสักที แกยังเล่าว่า ครั้งหนึ่งแกเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าแถวบ้านกับสาวแล้วเรดาห์พบว่ามี ตร.นอกเครื่องแบบสงสัยตามหาจังหวะจับ แกเล่าว่าแกทำเป็นมองไม่เห็นทำเหมือนปกติแล้วขึ้นลงบันไดเลื่อนเพื่อซื้อเวลาคิด แกเชื่อว่า ตร.ไม่ชาร์จที่บันไดเลื่อนแน่ เมื่อคิดได้เดินจูงแฟนไปแถวร้านทองแล้วทำเป็นเดินไปชน ตร.ในเครื่องแบบที่ยืนหน้าร้านแล้วขอโทษ ตร.นอกเครื่องแบบจึงคิดว่าน่าจะจำคนผิดและเลิกตามแก จริงเท็จไม่รู้ แต่ถ้าแกเมคเรื่องขึ้นมาผมก็ว่าเรื่องนี้สมเหตุสมผลและฉลาดอยู่ดี

เมื่อแกเห็นเราถูกเรียกออกไปบ่อยๆ แกว่าถ้าเป็นแกจะไม่ออกไป

ต่อมาแกอกหักกับแฟน แฟนแกผมก็คุ้นเคยเพราะเคยมาถามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทางแดนให้ผู้ต้องขังไปนั่งฟังจากผู้บรรยายจาก กอรมน.แกถามเพื่อรีเช็ค เรื่องเล่าทำนองมาจากอัลไตอะไรทำนองนี้ว่าผมคิดอย่างไร  

คู่นี่คือคู่คนรักที่ความสัมพันธ์พัฒนาสู่ขั้นตอนการเลิกรากัน ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ต้องเห็นกันทุกวัน แกขอร้องให้ผมช่วยเขียนจดหมายขอย้ายแดนให้ไปอยู่แดนสามเพื่อฝึกงานหัตถกรรม จดหมายทำให้เห็นชั้นนักโทษชั้นเลวของแกจริง แกได้ย้ายไปแดนแปด เพราะ แกมีคู่คดีที่แดน3

0000

เมื่อกลับมาคิดถึงวันดูงานซึ่งเป็นพิธีการมาก คณะผู้บริหารระดับสูงของเรือนจำและผู้คุมทุกคนไม่อยู่ในงานก็ต้องรับทราบแน่ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริหารจะไม่ทราบสถานะของแกและพ่อบ้านอีกสี่คนซึ่งเดิมผมเข้าใจว่าต้องหามาประกบเพราะรีบตามคำสั่งที่อาจมาไม่ครบ ผมกลับความคิดเป็นว่าเป็นการสะท้อนถึงอำนาจของระบบที่ยอมรับการมีตัวตนของแก

ดังนั้นเมือปะติดปะต่อเรื่องที่นึกขึ้นมาอีกครั้งแล้วอ่านไปพร้อมกับป้ายก็ยิ่งเห็นจริงตามสมมุติฐานของฟูโกต์ ถ้าจะกลับไปอ่าน 5 ข้อ อีกครั้ง น่าจะได้รสชาติทั้งอรรถนัยยะ เรื่องนี้สอดคล้องกับบ้านเคสคุณแก้ว-คุณทรายในงานของ อ.สายพิณ เคสที่ ผู้บริหารห้ามสัมภาษณ์ เคสที่สร้างสำนักงานปรึกษาทางกฏหมายที่เรือนจำควรมี บ้านที่ถูกห้ามพูดถึงกับบ้านดำรงอยู่เป็นบ้านที่ชีวอำนาจไหลไปมาในตาข่าย เป็นอีกตัวอย่างของสร้าง “พื้นที่”ของการต่อต้านขัดขืนในแบบของตนไว้ได้ในสถาบันสังคมประเภทสถาบันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณ ที่นี่

0000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net