Skip to main content
sharethis

กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานปล่อยกู้ 70 ล้าน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือ แรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการยื่นกู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานและได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 18 แห่ง เป็นเงิน 12,370,050 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงานของตนเอง การกู้ยืมเงินในช่วงนี้ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 7 มิถุนายน 2561 โดยตั้งเป้า เงินปล่อยกู้ในช่วงนี้จำนวน 70 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเป็นการให้กู้ยืมแบบคิดดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี อีกทั้งสถานประกอบกิจการที่กู้ยืมไปยังได้รับประโยชน์ถึง 4 ต่ออีกด้วย

ต่อที่ 1 คือการกู้ยืมไม่มีดอกเบี้ย ต่อที่ 2 เมื่อนำเงินกู้ยืมไปพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน ทำให้สถานประกอบกิจการมีพนักงานที่มีทักษะและศักยภาพในการทำงานสูงขึ้น ต่อที่ 3 สามารถนับยอดจำนวนพนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะในครั้งนี้ ไปประเมินเงินสมทบปลายปีได้อีกด้วย และค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึก อบรมพนักงานทั้งหมด สามารถยื่นรับรองเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเป็นต่อที่ 4 ที่ได้รับ

หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากไปกว่านี้อีก กพร.ก็มีจัดให้เช่นกัน อาทิ การฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท เป็นต้น การให้กู้ยืมและการให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ สถานประกอบกิจการดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน สำหรับสถานประกอบกิจการ ทั่วประเทศต้องการใช้สิทธิ์กู้ยืมเงินกองทุน หรือขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2643-4977

ที่มา: แนวหน้า, 14/1/2561

10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแรงงานเพิ่มถึงปีละเกือบ 7 หมื่นคน

13 ม.ค. 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2561 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.4-4.6 เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตปี 2561 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3-4 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และ 7 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าประเภทเทคโนโลยีสูงขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.56 และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใยและผ้าผืนไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก

อย่างไรก็ตามในปีนี้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฐานแรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมหนักไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานในกลุ่ม 10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ปี 2560 - 2564 พบว่า มีความต้องการแรงงานภาพรวมเฉลี่ย 69,242 คนต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ส่วนการดำเนินงานเตรียมพัฒนาแรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดไปยังสาขาอื่น รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อรองรับการเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยวางแผนพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม 100,000 คน ภายใต้โครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันในสังกัด

ที่มา: TNN24, 13/1/2561

คนงานรับช่วงงานจาก กทม.ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย “จตุจักร” ลึก 20 เมตร ดับ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2561 มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคนงานตกบ่อบำบัดน้ำเสีย ภายในโรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร ซอยอินทามระ 35 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูด้านหน้าไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปภายใน เบื้องต้นพบว่าผู้จมน้ำเป็นชาย 1 ราย ที่เกิดเหตุเป็นโรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสาร เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู กำลังตรวจสอบ ที่เกิดเหตุลักษณะเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียมีความลึกประมาณ 20 เมตร ด้านล่างเป็นอุโมงค์น้ำขนาดคนสามารถเดินได้ แต่มีความคดเคี้ยวไปมายากแก่การค้นหา

แหล่งข่าวแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จำนวน 5 ราย ซึ่งรับช่วงงานมาจาก กทม. เดินทางเข้ามาเพื่อตรวจสอบบ่อบำบัด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้ลงไปเพื่อตรวจสอบบ่อบำบัด ซึ่งขณะนั้นภายในบ่อไม่มีน้ำ แต่ระหว่างเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างทำงาน เกิดมีน้ำไหลทะลักเข้าภายในบ่ออย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ พนักงานทั้ง 5 จึงพากันวิ่งหนี แต่หนีไม่ทัน 1 ราย จึงทำให้จมน้ำหายไป ซึ่งขณะนี้มีน้ำขึ้นสูงกว่า 10 เมตร ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่บ่อบำบัดของ กทม. อยู่ระหว่างเดินเครื่องเพื่อสูบน้ำออก ซึ่งคาดว่าในช่วงสายของวันนี้ จึงจะสามารถลงไปในบ่อบำบัด เพื่อนำผู้เสียชีวิตขึ้นจากบ่อดังกล่าวได้

ที่มา: คมชัดลึก, 13/1/2561

โรมาเนีย-เตือนแอบอ้างจ้างแรงงานไทยไปทำงานโรมาเนีย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ออกประกาศเตือนการแอบอ้างจ้างแรงงานไทยไปทำงานที่โรมาเนีย หลังมีข้อมูลว่าบริษัทจัดหางานไทย อ้างว่าบริษัทในโรมาเนีย รับพนักงานหลายตำแหน่ง จึงได้ตรวจสอบกับบริษัทดังกล่าว พบว่าไม่มีนโยบายจ้างแรงงานต่างชาติ จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อเสียค่านายหน้า

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 12/1/2561

ม็อบมิตซูฯ เศร้า สมาชิกเครียดเส้นเลือดสมองแตกเป็นตายเท่ากัน

จากกรณีข้อพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯได้ใช้สิทธิปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสมาชิกที่ถูกปิดงานทั้งหมดกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้มีทั้งพนักงานที่ตั้งครรภ์และพนักงานที่ป่วย และขณะนี้ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่วัดมาบสามเกลียว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริษัทฯ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ทางนักสื่อสารแรงงานได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า น้องพลอย (นามสมมุติ) สมาชิกสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก รักษาตัวอยู่ที่ห้องไอ.ซี.ยู โรงพยาบาลชลบุรี เนื่องจากมีอาการเครียดอย่างหนัก ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดถึงสาเหตุในครั้งนี้ ด้านบริษัทฯใช้ทุกมาตรการเพื่อหวังให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯยอมรับเงื่อนไขของบริษัทฯ เช่นส่งจดหมายและโทรศัพท์ไปทางบ้านของสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และล่าสุดมีการประกาศรับสมัครพนักงานใหม่จำนวนหลายอัตรา แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯไม่สามารถรับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปรับค่าจ้างที่บริษัทฯเสนอได้ จึงยังคงชุมนุมต่อไป

ด้านนายธนภัทร เที่ยงแท้ รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้เปิดเผยกับนักสื่อสารแรงงานว่า “น้องพลอย ทำงานที่บริษัทฯมาประมาณ 3 ปี และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี เนื่องจากมีอาการไข้ขึ้นสูง และเกล็ดเลือดต่ำ และได้รักษาตัวตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2560 ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจ และได้รับการเปิดเผยจากน้องพลอยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ทางบริษัทฯ ได้นำเอกสารยินยอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ มาให้เซ็นชื่อที่โรงพยาบาล ซึ่งน้องพลอยจำใจต้องเซ็นชื่อ เพราะต้องใช้เงินรักษาตัว หากไม่เซ็นชื่อทางบริษัทฯแจ้งว่า สิทธิในการรักษาตัวอาจจะใช้ไม่ได้ ซึ่งน้องพลอยก็กังวลว่าเพื่อนๆจะไม่เข้าใจ เนื่องจากสมาชิกเกือบ100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครยอมรับข้อเสนอของบริษัทฯเลย ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้พูดให้กำลังใจน้องพลอยว่าไม่ต้องกังวล เพื่อนๆทุกคนเข้าใจ ซึ่งต่อมาได้ทราบข่าวว่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 น้องพลอยได้ทราบจากทางโรงพยาบาลว่าเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน และยังไม่ได้รับเงินโบนัสจากบริษัทฯเลย จนวันที่ 11 มกราคม 2561จึงได้รับข่าวร้ายว่าน้องพลอย เข้าห้องไอ.ซี.ยู.มีอาการเป็นตายเท่ากัน”

รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้เปิดเผยต่อไปว่า “มีสมาชิกตั้งครรภ์ที่ถูกปิดงานอยู่ขณะนี้ประมาณ 10 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คนที่ครบกำหนดคลอด ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯได้แนะนำให้ทุกคนรับข้อเสนอของบริษัทฯ ตามประกาศของบริษัทฯที่ให้พนักงานที่ตั้งครรภ์รับข้อเสนอ แต่ไม่มีใครยินยอมจึงกังวลว่า สมาชิกที่ตั้งครรภ์อาจอยู่ในภาวะแท้งคุกคามเนื่องจากเครียดที่ถูกปิดงานและปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า หากทางบริษัทฯยังคงใช้สิทธิปิดงานอยู่อย่างนี้” นายธนภัทร กล่าว

ทางสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายต่อทางบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 จำนวน 10 ข้อ ต่อมาทางบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อทางสหภาพแรงงานฯ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการปรับค่าจ้าง 2.การจัดเวลาการทำงานเป็น 3 กะ และ3.การยกเลิกการหักค่าบำรุงให้ทางสหภาพแรงงานฯ ซึ่งทางบริษัทฯยืนยันที่จะให้ทางสหภาพแรงงานฯยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัทฯก่อนจึงจะยอมเจรจาข้อเรียกร้องของบริษัทฯ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ จนทางบริษัทฯได้ใช้สิทธิในการปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานในครั้งนี้เจรจา

สำหรับข้อเรียกร้องของทางบริษัทฯที่ทางสหภาพแรงงานฯไม่อาจยอมรับได้คือการเปลี่ยนรูปแบบการปรับค่าจ้าง โดยบริษัทฯจะปรับค่าจ้างให้พนักงานทุกระดับคนละ 400 บาท และจะมีการประเมินเพิ่มให้อีกตามเงื่อนไขของบริษัทฯ ที่ทางสหภาพแรงงานฯมองว่าไม่มีความชัดเจนและเป็นไปได้ยาก ซึ่งแต่เดิมทางบริษัทฯปรับค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็นต์ แม้นจะมีเงื่อนไขการประเมินของบริษัทฯแต่ก็ยังได้มากกว่าแบบที่ทางบริษัทฯเสนอมา ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า จะมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้งในวันที่ 15 มกราคม 2561 โดยทางรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจะเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: Voicelabour, 12/1/2561

สถานเอกอัครราชทูตฯ เตือนคนไทยระวังตกเป็นเหยื่อนายหน้าลักลอบนำเข้ามาทำงานในเกาหลี

สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแสดงความกังวลและความห่วงใยมายังพี่น้องชาวไทย โดยขอให้ระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้าลักลอบนำคนไทยเข้ามาในสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากปัจจุบัน มีคนไทยจำนวนมากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้าในลักษณะดังกล่าว

ขบวนการนายหน้าอาจแฝงอยู่ในรูปแบบของเพื่อน ญาติ หรือคนใกล้ตัว หรือในรูปแบบการประชาสัมพันธ์บนหน้าเฟซบุ๊กหางานในต่างประเทศทั่วไป รวมไปถึงเครือข่ายของขบวนการนายหน้าที่แฝงตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก โดยมุ่งหลอกล่อ ชักชวน และให้ข้อมูล/ความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการเข้ามาทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี

เมื่อมีบุคคลหลงเชื่อ/ติดกับดักแล้ว ขบวนการนายหน้าจะมีขั้นตอนในการเก็บตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อซักซ้อมความพร้อมในการตอบคำถามเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยและเกาหลีสัมภาษณ์ รวมไปถึงให้คำแนะนำ/ให้ยืมอุปกรณ์และเครื่องประดับเพื่อใช้/สวมใส่ระหว่างการเดินทางเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

ที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในสาธารณรัฐเกาหลีผ่านขบวนการนายหน้าถูกลอยแพทิ้งไว้ตามสถานที่สาธารณะ เนื่องจากไม่มีงานให้ทำตามคำโฆษณาชวนเชื่อ หรือในกรณีที่มีการจัดหาตำแหน่งงานให้ได้จริง ก็มักถูกขบวนการนายหน้าเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด และหักเงินรายได้จากการทำงานเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ขบวนการนายหน้าเรียกเก็บ เช่น ค่านายหน้าในการเตรียมตัวเบื้องต้น (เรียกเก็บโดยไม่รับรองว่าจะเดินทางเข้าประเทศได้หรือไม่) / ค่าเดินทางร่วมกับบริษัททัวร์ (15,000-20,000 บาท) / ค่ารับส่งจากสนามบินอินชอน (คิดอัตราค่าบริการสูงเกินความเป็นจริง เช่น 1,000-2,000 วอน/กิโลเมตร หรือเหมาจ่าย 600,000 วอน หากระยะทางไกล) / ค่าเข้างาน (ชำระก่อนทำงาน เรียกเก็บมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของงานและรายได้) / ค่าที่พัก เสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เป็นต้น

แม้นายหน้าจะพยายามบิดเบือนชักจูงว่า ภายหลังทำงานเพียงไม่นาน จะสามารถเก็บเงินทั้งเพื่อคืนทุนค่าใช้จ่ายข้างต้นและเงินออมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อหมดระยะเวลาที่นายจ้างและนายหน้าได้ตกลงกันไว้ (ประมาณ 85-90 วัน ซึ่งบุคคลสัญชาติไทยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวและสามารถพำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีได้ไม่เกิน 90 วัน) แรงงานผิดกฎหมายมักถูกไล่ออกหรือกดดันให้ออก ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินออมจากการลักลอบทำงานได้หากเทียบกับในอดีต ในขณะเดียวกัน ขบวนการนายหน้าจะเริ่มกระบวนการหลอกแรงงานไทยกลุ่มใหม่และแสวงหาผลประโยชน์ก่อนที่จะให้มาทำงานแทนแรงงานไทยกลุ่มเก่า

แรงงานผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครอง/สวัสดิการตามกฎหมายท้องถิ่น และในหลายกรณี ประสบปัญหาการถูกหลอก/เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างให้ทำงานหนัก จนเกิดอาการเจ็บป่วย ส่งผลให้แรงงานผิดกฎหมายและ/หรือครอบครัวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย รวมถึงในกรณีเสียชีวิตด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าจัดการ/ขนส่งศพกลับประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสาธารณรัฐเกาหลีถือว่าสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก (เช่น ค่าใช้จ่ายห้อง ICU ในโรงพยาบาลเอกชนเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านวอน หรือประมาณ 30,000 บาท/วัน) ดังนั้น จึงไม่คุ้มค่าหรือเพียงพอกับเงินรายได้ที่เก็บออมจากการทำงานอย่างหนักในตลอดระยะเวลาที่พำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลี

ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอเตือนให้คนไทยที่มีความคิดจะมาเสี่ยงโชค หรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี โปรดมีสติและยุติความคิดดังกล่าว และอย่าใจอ่อนหลงเชื่อกับจำนวนเงินหรือรายได้/ค่าตอบแทนซึ่งนายหน้าพยายามหยิบยื่น หลอกล่อ ชักจูง โดยควรสอบถามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจ และขอให้ศึกษากรณีตัวอย่างจากสื่อมวลชนที่ได้ลงข่าวปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประสงค์หรือคิดว่าตนมีคุณสมบัติที่สามารถทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีหรือประเทศอื่น ๆ ขอให้เดินทางเข้ามาทำงานผ่านกระบวนการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/1/2561

กสร.ย้ำนายจ้างยื่นแบบรายงานสภาพการจ้างฯ หมดเขต ม.ค. 2561 นี้ พร้อมเตือนหากล่าช้าอาจมีความผิด

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้าง สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างสิบคนขึ้นไปต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) ภายในเดือนมกราคมนี้ หากเลยกำหนดหรือไม่ได้ยื่นมีความผิดตามกฎหมายแรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) ภายในเดือนมกราคมของทุกปีซึ่งเหลือระยะเวลาดำเนินการอีกประมาณ 15 วัน จึงขอให้ย้ำนายจ้างเร่งจัดเตรียมข้อมูลตามที่กำหนดและยื่นแบบคร.11 ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งสามารถส่งได้ด้วยตนเองหรือทางจดหมายอิเลคทรอนิค(e-mail) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ เพราะหากเลยกำหนดหรือไม่ได้จัดส่งนายจ้างมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบสิบคนขอให้แจ้งข้อมูล ณ ปัจจุบันพร้อมหลักฐานเพื่อพนักงานตรวจแรงงานจะได้นำไปปรับฐานข้อมูลต่อไป ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบสิบคนและไม่ได้รับแบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.protection.labour.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1506

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 12/1/2561

จบลงด้วยดี พนักงานบริษัท ฟูจิคูระ ยุติการชุมนุม ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อเสนอ พนักงานพร้อมกลับเข้าทำงาน

วันที่ 11 ม.ค. 2561 บริเวณหน้าบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรีโรงงาน1 ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี พนักงานบริษัทประมาณ 1,400 คน ที่ได้รวมตัวเรียกร้องหน้าโรงงาน หลังจากบริษัทใช้สิทธิ์ปิดงานโดยไม่มีกำหนด ในเรื่องการการเสนอข้อเรียกร้องการปรับสภาพการจ้างประจำปี 2560 รวมถึงการจ่ายเงินโบนัสปลายปี ล่าสุดหลังจากที่ได้เรียกคุยนัดสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว พร้อมใจกันกลับเข้าทำงานตามปกติ

หลังจากที่ตัวแทนสหภาพแรงงานฟูจิคูระ ได้เข้าประชุมในครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงหาทางออกร่วมกันได้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรี ได้มีการประกาศให้พนักงานที่ร่วมกันชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานให้ทราบโดยทั่วกัน ถือเป็นบรรยากาศที่เรียกรอยยิ้ม และความสุขกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อผลประกาศเป็นที่น่าพอใจของพนักงาน ต่างรวมตัวกันรำวงแก้บน ร้องเพลงร่วมกัน ตัวแทนพนักงานมอบดอกไม้ให้กำลังใจทีมสหภาพแรงงาน และประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรี ได้แก้บนโดยการกลิ้งไปบนพื้น 9 รอบ

นายอธิษฐ์ ปัณณวัฒนานันท์ ประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรีประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พนักงานที่ปราจีนบุรีทุกคนต่างพร้อมใจกับกลับเข้าทำงานตามปกติทั้งหมด สำหรับข้อเรียกร้อง สรุปที่โรงงานต้องจ่ายโบนัส 2.8 เดือน พร้อมเงิน 7,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างในปี 2561 ในอัตราเฉลี่ย 4.0 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจ่ายเงินค่าอาหารล่วงเวลาเพิ่มเป็นวันละ 15 บาท ในเดือนเมษายน 2561 บริษัทจะจ่ายเงินพิเศษจำนวน 1,000 บาท ให้กับพนักงาน และบริษัทยินยอมที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่เรียกร้องทุกคนจำนวน 19 วัน ในวันที่พนักงานรวมตัวเรียกร้อง โดยไม่มีการตัดเบี้ยขยันทั้งสองเดือน หลังจากนั้นพนักงานต่างเดินเข้าทำงานตามกะของตนเอง และตัวแทนพนักงานได้ช่วยกันเก็บเต็นท์ที่ใช้ในการชุมนุมเรียกร้อง ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

ที่มา: T-News, 11/1/2561

จับซ้ำสาวแสบหลอกคนงานไปทำงาน ตปท.ขณะถูกจับยังไลน์หาเหยื่อโอนเงินส่วนที่เหลือ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม นายอภิชาติ วงษ์กาฬสินธุ์ ผช.จัดหางาน จ.อุดรธานี,นางยุทธศาสตร์ ทูลกลาง หน.งานคุ้มครองคนหางาน สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี,พ.ต.ท.กุลธวัช จันทราบุตร สว.สส.ภ.จว.อุดรธานี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ สนง.จัดหางานจังหวัด และตำรจชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี นำหมายศาลจังหวัดชัยภูมิ เข้าทำการจับกุม น.ส.อทิตยา หรือ ติ๊ก ทองฉัตร อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 902/42 ม. 2 ถ.เลียบคลองชลประทาน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ในข้อกล่าวหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปด้วยเงินหรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และฉ้อโกงทรัพย์” โดยจับกุมที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ซ.ประชาสันติ ชุมชนบ้านม่วง เทศบาลนครอุดรธานี หลังทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ทั้งหมดนำตัว น.ส.อทิตยา มาทำการลงบันทึกการจับกุมที่ชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี โดย น.ส.อทิตยา ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์และแชตติดต่อกับคนรู้จักตลอดเวลา ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ที่ สภ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ

ต่อมาเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ที่ สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี ถ.รอบเมือง เขตเทศบาลตำบลหนองสำโรง อ.เมือง น.ส.ธัญชนก พระจันทร์ อายุ 36 ปี อยู่ที่65/1ม.5 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น นำ นายเฉลิมชัย คามนา อายุ 23 ปี อยู่ที่ 204 ม.5 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ลูกพี่ลูกน้อง ที่เป็นผู้เสียหายจาก จ.ขอนแก่น ที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกลวง เดินทางมาส่งมอบเอกสารการโอนเงิน พร้อมให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ หลังจากที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกว่า สามารถส่งไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาท โดย น.ส.ธัญชนกณ เป็นผู้โอนเงินให้ น.ส.อทิตยาฯ ไปล่วงหน้า 50,000 บาท เป็นก้อนแรก ที่ น.ส.อทิตยา อ้างว่า เป็นเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าที่พัก และยังค้างเงินก้อนที่ 2 อีกประมาณ 38,000 บาท

ซึ่งขณะที่ น.ส.ธัญชนก กำลังให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ ปรากฎว่า น.ส.อทิตยา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนำส่ง สภ.บ้านแท่น อยู่ระหว่างการเดินทาง ได้ไลน์มาหา น.ส.อทิตยา บอกให้รีบโอนเงินส่วนที่เหลือให้ โดยโกหกว่า ได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ให้กับทางต่างประเทศแล้ว ขอให้ น.ส.ธัญชนก รีบโอนเงินให้ภายในเวลา 15.30 น. รวมทั้งได้เรียกสายเข้ามาหลอกอีกว่า ให้รีบโอนเงินให้ด่วน เพราะหากโอนช้าจะไม่ได้ทำเอกสารและจะไม่ได้เดินทาง โดยทาง น.ส.อทิตยา ไม่ทราบว่า ทาง น.ส.ธัญชนก รู้เรื่องที่ น.ส.อทิตยา ถูกจับกุมตัว กำลังเดินทางนำส่ง สภ.บ้านแท่น แล้ว

นายอภิชาติ วงษ์กาฬสินธุ์ ผช.จัดหางาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า น.ส.อทิตยา เคยถูก ผวจ.อุดรธานี เข้าจับกุมมาแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 เมื่อครั้งเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีชื่อ เอกอุดรภาษา โดยได้รับการร้องเรียนจากคนหางานใน จ.อุดรธานี และใกล้เคียง ว่ามาสมัครไปทำงานยังประเทศเกาหลีใต้กับทางโรงเรียนดังกล่าว ที่อ้างว่าสามารถส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ โดยมีการเรียกเก็บเงินค่าสมัครไปทำงานคนละประมาณ 150,000 บาท แต่กลับไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งมีผู้เสียหายครั้งนั้นประมาณ 26 คน ค่าเสียหายรวมกว่า 3 ล้านบาท มีการดำเนินคดีส่งฟ้องศาลตัดสินไปแล้วบางส่วน และยอมคืนเงินชดใช้บางส่วน ที่ศาลตัดสินลงโทษ ให้รอลงอาญา แต่ให้คุมประพฤติไว้

“หลังจากนั้นมา น.ส.อทิตยา ยังคงแอบอ้างว่า เปิดโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีอีก ทั้งทางสื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค รวมทั้งใช้วิธีปากต่อปาก จนมีผู้หลงเชื่อมาสมัครอีก โดยย้ายสถานที่ใหม่ที่ถูกจับกุม จะใช้วิธีเปิดสอนภาษาเกาหลี เรียกเก็บเงินประมาณ 15,000 บาท แต่เมื่อมีผู้มาเรียนได้สักพัก ก็จะบอกว่าเรียนไปก็คงไม่ผ่านภาษาเกาหลี แต่สามารถหางานให้ที่ประเทศออสเตรเลียได้ แต่ต้องเสียเงินค่าดำเนินการ 100,000-150,000 บาท จนมีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ มีทั้งผู้เสียหายทั้งในเขต จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี ที่แจ้งความไว้แล้ว จนศาลอนุมัติหมายจับ น.ส.อทิตยา 3 หมาย ในเขตท้องที่ สภ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ 2 หมายจับ,อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น 1 หมายจับ และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี กำลังขอศาลออกหมายจับเพิ่มอีก”

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ตัว น.ส.อทิตยา ซึ่งอยู่ระหว่างคุมประพฤติ ยังคงมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้อื่นอีก ด้วยเรื่องแบบเดิม ไม่เกรงกลัวความผิด ซึ่งเมื่อนำตัวส่งทาง สภ.บ้นแท่น แล้ว จะขอให้พนักงานสอบสวนค้านการประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี สร้างความเสียหายกับบุคคลอื่นอีก หากมีผู้เสียหายที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกลวง ขอให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีเพิ่ม เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมาย

“ซึ่งการหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ทาง รมว.แรงงาน และ อธิบดีกรมการจัดหางาน มีความเป็นห่วงว่าจะมีคนหางานถูกหลอกลวงในลักษณะเช่นนี้ จึงได้สั่งการให้ทาง สนง.จัดหางานทุกจังหวัด เร่งรัดให้ดำเนินคดีกับสาย นายหน้าเถื่อน ที่หลอกลวงคนหางาน ที่ต้องเสียเงินเป็นหนี้สิน ทั้งนี้หากต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ติดต่อมายัง สนง.จัดหางาน ที่อยู่ทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่า มีงานต่างประเทศที่ไหน หรือ ไปสมัครกับสาย หรือ นายหน้าเถื่อนหรือไม่ เพื่อที่คนหางานจะได้ไม่ต้องถูกหลอกลวง”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/1/2561

สปส.แนะญาติยื่นรับสิทธิแทนป่วย-ตาย อุบัติเหตุปีใหม่ภายใน 2 ปี

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้รับรายงานจำนวนผู้ประกันตนที่บาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุจราจรจากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่จังหวัดสาขาทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2560 – วันที่ 3 ม.ค.นี้ สรุปพบมีผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 2,908 คน และยอดผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 39 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนมายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุเพียง 18 คนและกรณีเสียชีวิต 3 คน รวมแล้วขณะนี้มีผู้มารับสิทธิประโยชน์ จากสำนักงานประกันสังคมเพียง 21 คน สำนักงานประกันสังคม จ่ายไปแล้ว 299,472 บาท

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกันตน และทายาทผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนให้มายื่นขอรับสิทธิกรณีประสบอันตรายภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยหรือสิทธิประกันสังคม สิทธิรายชื่อสถานพยาบาลของตนเอง ได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สาขาที่สะดวก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: ThaiPBS, 11/1/2561

ขึ้นแน่นอน “ค่าแรงขั้นต่ำ” รมว.แรงงานยืนยัน แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด

(10 ม.ค.2561) นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง นัดประชุมบอร์ดค่าจ้าง 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อพิจารณาสรุปอัตราการปรับค่าแรงขั้นต่ำ หลังการประชุมเลื่อนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะไม่ครบองค์ประชุม

ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขอยู่ที่ 2-15 บาทหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา อีกทั้งก็ต้องดูจากปัจจัยภาวะค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

หลังจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2557 ก็ไม่มีการปรับขึ้นจนปี 2560 ได้มีการปรับเพิ่มสูงสุด 10 บาท เป็น 310 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต แต่มีอีก 8 จังหวัด ที่ไม่ได้ปรับขึ้น ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

การประชุมวันนี้ หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงแรงงานจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้แถลงผลการประชุม ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัดที่ 360 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำรวจแล้วพบว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

ที่มา: ThaiPBS, 10/1/2561

อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ระงับการเดินทางผู้ที่ลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากสุด

อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศกว่า 5,700 คน มากสุดที่ไต้หวันเกือบ 2,500 คน รองลงมาคือเกาหลีใต้ โดยระงับการเดินทางของผู้ที่จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 44 คน พบถูกหลอกลวงหางานผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 9/1/2561

นายกเผยการปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในขั้นตอนการหารือของคณะกรรมการ

9 ม.ค. 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เป็นเรื่องการพิจารณาหารือของคณะกรรมการ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ โดยจะมีการพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหารือ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการมีความเดือนร้อน รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือหาวิธีการดูแล โดยเฉพาะมาตราการเงินและการคลัง

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 9/1/2561

คสรท.ลั่นค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ

ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำทีมแรงงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊ค คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย-คสรท. เพื่อแสดงจุดยืน ก่อนที่คณะกรรมการค่าจ้าง จะมีการพิจารณาค่าจ้างใหม่ประจำปี 2561 ในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) เวลา 09.30 น. โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมา คสรท. ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาตลอด ทั้งที่ช่องทางในการแสดงออกทางความคิดเห็นมีไม่มากนักหากเทียบกับฝ่ายนายทุน และฝ่ายรัฐ

ดังนั้น วันนี้จึงรวมตัวแถลงด่วน ประกาศย้ำจุดยืนเดิมว่า รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)เพราะปัจจุบันค่าจ้างมี 4 ราคา คือ 300,305,308,310 สามารถดำรงชีพอยู่คนเดียวได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ และการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อลดความเลื่อมล้ำ เพราะหากปรับขึ้นเป็นรายจังหวัด จังหวัดไหนไม่มีผู้แทนแรงงาน ก็จะไม่สิทธิ์ได้ขึ้นค่าจ้างเลย และที่สำคัญค่าครองชีพแรงงานไม่ว่าที่ต่างจังหวัดหรือในหัวเมืองก็ไม่ต่างกัน ราคาสินค้าก็ไม่ต่างกัน แถมน้ำมันในต่างจังหวัดยังสูงกว่าในเมืองด้วย

ส่วนข้ออ้างที่ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทำให้สินค้าสูงตามนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานเป็นทุนไม่ถึงร้อยละ 1 และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้มีความชัดเจนว่าแต่ละปีจะขึ้นเท่าไหร่ เพื่อแรงงาน จะได้รู้อนาคตของตัวเอง และวางแผนชีวิตถูก พร้อมๆกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง

ที่มา: โลกวันนี้, 9/10/2561

“กกร.” ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลรับข้อเสนอจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีของไทยในปี 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีควรปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน

2. การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีไม่ควรกำหนดในลักษณะอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้ “คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด” ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด เป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของจังหวัดนั้น ๆ

3. การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และภาคการเกษตร

4. การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไป อาจเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้

5. ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทย เพื่อรองรับไทยแลน 4.0

นายสมพาศกล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการโดยด่วนต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/1/2561

บ.มิตซูฯยังไม่รับคนงาน 1 พันคนเข้าทำงาน ชุมนุมรอบ 2

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 8 ม.ค. ภายในวัดมาบสามเกลียว หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมืองชลบุรี ได้มีคนงานของบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 700/406 หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ ใกล้วัดมาบสามเกลียว กว่า 1 พันคน ชุมนุมถือป้ายประท้วงบริษัทที่ปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้ชุมนุมประท้วงมาครั้งหนึ่งแล้ว จนวันนี้เป็นวันทำงาน ทางบริษัทก็ยังไม่เปิดรับคนงานกว่า 1 พันคนเข้าทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งทหารและตำรวจ

นายเชิด นามสงคราม อายุ 47 ปี ประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่แล้วทางสหภาพได้ยื่นข้อเสนอทางบริษัท และทางบริษัทก็ยื่นข้อเสนอกลับมา ได้มีการเจรจามา 20 ครั้งแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ทางบริษัทก็ใช้สิทธิ์ปิดงาน ทำให้พวกเราต้องมาอยู่ที่นี่ เพราะบริษัทไม่ให้เข้าโรงงาน ตนขอฝากบอกผู้สื่อข่าวที่ไปลงข่าวผิดๆ ว่า ทางเราไม่ได้ชุมนุมประท้วงเรียกโบนัส ซึ่งหัวข้อหลักการเจรจาคือ โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนที่บริษัทปรับจากเดิมขึ้นค่าจ้างประจำปี เป็นเปอร์เซ็นต์ฐานเงินเดือนของใครของมัน แต่ทางบริษัทนำเสนอเป็นแบบฟิคเลต โดยที่ทุกคนได้ 400 บาทเท่ากันหมด ซึ่งมันแตกต่างกับการประเมินรายได้ของบริษัท

"สหภาพแรงงานในฐานะเป็นตัวแทน รับไม่ได้ และทางบริษัทยังยื่นข้อเสนอมาให้สหภาพแรงงานรับข้อเสนอ 3 ข้อ คือ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้าง การไม่หักค่าบำรุง และการทำงาน 3 กะ ทางพวกเรารับไม่ได้ อีกอย่างทางบริษัทมาปิดงานช่วงปลายปีพอดี ทำให้พวกเราเดือดร้อนมาก ข่าวที่ว่าเรียกร้องโบนัสไม่ใช่ ที่จริงคือเรารับไม่ได้กับการปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปี" นายเชิด กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/1/2561

ลูกจ้างกรีดยาง กยท. 22 ครอบครัว ตกงาน ไร้เงินชดเชย

นางดี ซุ้มวุ่ง อายุ 62 ปี นางรัชนี ดวงจินดา อายุ 58 ปี และนายสมพล ชัยปัญญา อายุ 52 ปี ลูกจ้างกรีดยางของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึงตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา รวมทั้งลูกจ้างรายอื่น ๆ ของแปลงยางเดียวกัน รวม 22 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างกะทันหัน หลังรัฐบาลมีนโยบายควบคุมปริมาณผลผลิตยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิต โดยให้หยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐ จำนวน 120,000 ไร่

ประกอบด้วย พื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมวิชาการการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมมีนาคม 2561 ทำให้ทั้งหมดต้องหยุดกรีดยางในทันที นับจากวันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นมา และต้องเก็บภาชนะรองรับน้ำยางออกจากแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างลักลอบกรีด ซึ่งจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ของทางราชการ

โดยตัวแทนลูกจ้างกรีดยางของ กยท.กล่าวว่า ลูกจ้างกรีดยางของ กยท.ส่วนใหญ่อายุมาก ทำงานมาประมาณ 20 30 ปี ทั้งหมด 22 ครอบครัว รับผิดชอบครอบครัวละ 10 ไร่ ต้องกลายเป็นคนตกงานทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้ว่าได้จริงก็คงไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะจากเดิมเคยได้มีรายได้จากกรีดยางเดือนละประมาณ 7,000 9,000 บาท ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ขณะนี้คนงานทั้งหมดได้กลับบ้านไปหางานรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวประทังชีวิต เช่น แบกไม้ยาง บางส่วนไปหายางแปลงอื่นที่ถูกปล่อยรกร้างกรีดได้ไม่กี่ต้นก็ต้องกรีด เพราะหายาก ไม่มีหน้ายางใครว่าง เพราะส่วนใหญ่มีลูกจ้างอยู่แล้ว ส่วนพวกที่ยังอยู่เฝ้าสวน เพราะอายุมากแล้วไปหางานอื่นทำไม่ได้ มีคนพิการ ลูกหลานที่ต้องดูแล

เบื้องต้นทาง กยท.ให้หยุดกรีดยางก่อนเป็นเวลา 3 เดือน แต่หลังจากครบ3เดือนแล้ว หากราคายางยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องหยุดกรีดออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

ที่มา: NationTV, 8/1/2561

ส.อ.ท.แย้งปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศคาดกระทบ SMEs ทั่วประเทศ ร้องขอไตรภาคีให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่เคยพิจารณา

ภายหลังจากที่กระทรวงแรงงานส่งสัญญานการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีมติภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ หลังจากที่ไม่มีการปรับค่าแรงทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะไม่น้อยกว่า 15 บาททั่วประเทศ โดยคณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำจาก 3 ฝ่าย หรือ ไตรภาคี เรียกประชุมบอร์ดชุดใหญ่ ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานฯเป็นประธาน เพื่อหารือและมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และให้ค่าแรงที่ปรับใหม่ มีผลทันทีสิ้นเดือนนี้ ซึ่งพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเห็นว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงอีก 15 บาทนั้น ถือว่าอยู่ในอัตราที่รับได้ แต่ต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพราะหากไม่เท่ากัน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และจะทำให้เกิดการใช้จ่ายภายในจังหวัด รวมถึงเศรษฐกิจก็จะเติบโตทั้งระบบ

ส่วนนายอรรถยุทธ ลียวณิช กรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ฝ่ายนายจ้าง ระบุว่า ไม่ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ นายจ้างก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่านายจ้างจะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด หากขึ้นตามกลไกที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักวิชาการ นายจ้างก็พอจะปรับตัวได้

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 15 บาท ก็จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในความสามารถ ที่จะจ่ายค่าแรงได้ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นแรงงานต่างด้าว

ที่ผ่านมาไตรภาคีเคยพิจารณาว่าอาจจะปรับขึ้นใน 2-15 บาท ตามพื้นที่แต่ละจังหวัด เรื่องนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้คณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนของนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ ขอให้ยึดหลักเกณฑ์ที่เคยทำมาและต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆร่วมด้วย

สำหรับประเทศไทย มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เฉลี่ยวันละ 177 บาท เป็น วันละ 300 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ม.ค. 2560 ก็มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 310 บาทต่อวัน ใน 30 จังหวัด และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีขึ้นในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ในรอบ 5 ปี

ที่มา: TNN24, 8/1/2561

แรงงานเมียนมาร้องเรียนถูกหักเงินเดือนเป็น "ค่าตำรวจ"

แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานใน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ร้องเรียนไปยังสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และมูลนิธิ LPN ขอให้ตรวจสอบกรณีถูกหักเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าตำรวจ ที่ถูกหักเดือนละ 400 บาท ต่อคน วันนี้จึงมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ โดย ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 2 กอ.รมน. และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบแรงงานตามที่ร้องเรียน 35 คน พร้อมหลักฐานที่ผู้ดูแลบริษัทยอมรับว่าค่าตำรวจที่หักไปนั้นเป็น ค่าส่วย ป้องกันถูกจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้อง

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 8/1/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net