Skip to main content
sharethis
'ประชาธิปัตย์' ระบุจัดมหรสพระหว่างหาเสียงได้จะเกิดการซื้อเสียงอย่างเเยบยลเอื้อนักเลือกตั้งที่มีทุนหนาได้เปรียบผู้สมัครเงินน้อย 'เพื่อไทย' ชี้จะย้อนยุคกลับไปแบบเดิม ไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง สร้างความไม่เป็นธรรม ด้าน 'วันชัย สอนศิริ' หนุนเพราะสร้างนวัตกรรมใหม่สู่การเลือกตั้ง เสนอหยุด 3 วันให้คนกลับไปใช้สิทธิ์ งดเว้นค่าทางด่วนเหมือนปีใหม่-สงกรานต์
 
14 ม.ค. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหารายมาตรา โดยภาพรวมกมธ.ไม่ได้ปรับแก้เนื้อหาตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอมาตามวาระที่1 มากนัก โดยประเด็นที่กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอาทิ มาตรา35 ที่กมธ.เพิ่มเติมเนื้อหาให้มีการจำกัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการเป็นเวลา 2ปี แก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ บุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิการไปสมัครรับราชการเป็นเวลา 2 ปี อีกประเด็นที่กมธ.แก้ไขคือ มาตรา 75 เรื่องข้อห้ามการหาเสียง ที่มีการตัดถ้อยความที่กรธ.เสนอห้ามให้มีการแสดงมหรสพ งานรื่นเริง มาประกอบการหาเสียง ซึ่งกมธ.ได้แก้ไขหลักการของกรธ.ให้สามารถมีการแสดงมหรสพและงานรื่นเริง เพื่อใช้ประกอบการหาเสียงได้
 
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่าเหตุผลที่กมธ.เห็นว่า ควรให้มีมหรสพอาทิ การแสดงดนตรีรื่นเริง ลิเก เพื่อเป็นกลยุทธจูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น ส่งเสริมให้คนตื่นตัวทางประชาธิปไตย หากเปิดเวทีหาเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจูงใจเรื่องมหรสพจะมีประชาชนมาฟังนโยบายหาเสียงน้อย มีแต่เฉพาะคนที่สนใจการเมืองมาฟังเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนการแสดงมหรสพจะถูกนำไปคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย ส่วนข้อกังวลที่เป็นช่องทางให้ขนคนมาดูมหรสพเพื่อซื้อเสียงนั้น ขณะนี้เทคโนโลยีต่างๆก้าวหน้าไปมาก มีโทรศัพท์สามารถถ่ายคลิปการทุจริตซื้อเสียงได้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิด
 
ย้อนยุคกลับไปแบบเดิม ไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอให้แสดงมหรสพและงานรื่นเริงประกอบการหาเสียงได้ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะย้อนยุคกลับไปแบบเดิม เพราะไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง รวมทั้งสร้างความไม่เป็นธรรมอีกด้วย
 
หลักของกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ห้ามไม่ให้กระทำบางอย่าง เช่น ออกทีวีหรือวิทยุ ไม่ให้จัดงานรื่นเริง เป็นต้น ก็เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนน้อย จึงให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีปราศรัย แล้วเฉลี่ยเวลาให้กับผู้สมัครได้พูดในเวลาที่เท่าๆ กัน ดังนั้นการจะกลับไปให้จัดงานมหรสพช่วงหาเสียงได้ เท่ากับว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนหนาก็จะมีโอกาสมากกว่าในการจ้างนักร้องลูกทุ่งหรือหมอลำชื่อดังมาแสดง ซึ่งก็จะดึงดูดประชาชนได้มากกว่า หากยังยืนยันจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ควรให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการ
 
นอกจากนี้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนไม่เห็นด้วย ระยะหลังประชาชนสนใจฟังการปราศรัยหาเสียง เพราะประชาชนมีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมือง พรรคการเมืองผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมายหลายช่องทาง ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การจะรับรู้ข้อเสนอแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองรวมถึงคุณสมบัติของผู้สมัครมีไม่กี่ช่องทาง แต่ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเซียลมีเดียได้หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้ประชาชนสนใจฟังปราศรัยหาเสียงลดลง
 
“ยุคปฏิรูปการเมืองเราควรยึดแนวทางให้มีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการส่งเสริมให้มีช่องทางการใช้จ่ายที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น” นายองอาจ กล่าว
 
ชี้จะเกิดการซื้อเสียงอย่างเเยบยลเอื้อนักเลือกตั้งที่มีทุนหนา
 
จากนั้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงได้ว่า หลักการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามกฎหมายใหม่ คือต้องให้ผู้สมัครประหยัดเงินที่สุด เช่น ห้ามติดโปสเตอร์หาเสียงขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน และติดได้เฉพาะจุด ที่ กกต.อนุญาต หรือกำหนด จะไปติดป้ายบนถนนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว กกต.อ้างว่าเพื่อประหยัดลดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร
 
แต่การเสนอให้จัดงานมหรสพได้ช่วงเลือกตั้ง จะทำให้ผู้สมัครที่มีฐานะรวยกว่า ได้เปรียบผู้สมัครที่ไม่ค่อยมีเงิน แล้วจะเกิดการซื้อเสียงที่แยบยล ตามจับได้ยาก เรื่องนี้จึงขัด และแย้งกับหลักการของ กกต.อย่างร้ายแรง ทั้งเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต และสิ้นเปลืองเงินมหาศาล ไม่ควรให้จัดมหรสพได้ ในรูปแบบใด ๆ
 
สร้างนวัตกรรมใหม่สู่การเลือกตั้ง เสนอหยุด 3 วันให้คนกลับไปใช้สิทธิ์ 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้มีมหรสพในการปราศรัยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า ตนในฐานะที่เป็นกรรมการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีมหรสพได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง สามารถสร้างความตื่นตัวตื่นตาตื่นใจ และทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้งคึกคัก ทั่วกรุงเทพและต่างจังหวัดจะเป็นไปด้วยกระแสแห่งการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการปลุกให้ประชาชนสนใจการเมือง มีส่วนรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากผู้สมัครได้อย่างทั่วถึง ดีกว่าที่ถึงเวลาก็มาหย่อนบัตรเท่านั้น ซึ่งเรามักจะกล่าวหาโจมตีกันว่าประชาธิปไตย 4 วินาที คือ แค่ตอนเลือกตั้ง นอกนั้นนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น วิธีการนี้นี่แหละจะเป็นส่วนสนับสนุนส่งเสริมการเลือกตั้งยุคปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลง
 
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ในเมื่อเรามีกฎหมายหลายบทหลายมาตราควบคุมกำกับดูแลการใช้เงิน และกำหนดวงเงินของผู้สมัครอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไปห้ามผู้สมัครที่จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาฟังการหาเสียงของตน เพราะจะมีมหรสพใดประกอบการหาเสียง ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ละพรรคแต่ละคนก็มีวงเงินเท่ากัน ประเด็นที่ว่าคนรวย พรรคใหญ่จะได้เปรียบ จึงเป็นสิ่งที่กล่าวอ้างกันลอยๆเท่านั้นเอง ไม่มีเหตุผลใดมาสนับสนุน เราต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาสนับสนุนส่งเสริมการเลือกตั้ง ให้การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป ประชาชนทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่าทั้งในเมืองและชนบทต้องตื่น ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยการเลือกตั้ง ทั้
 
“ภาครัฐเองก็ต้องปลุกกระแสให้คนตื่นตัวเหมือนงานปีใหม่ งานสงกรานต์ และควรจะมีวันหยุดติดต่อกันสัก 3 วัน เพื่อให้ประชาชนเดินทางไปกลับในการเลือกตั้ง ทั้งทางด่วน การทางพิเศษก็ต้องงดเว้นเก็บค่าโดยสาร เหมือนมหกรรมสำคัญของประเทศ จะเลือกตั้งทั้งทีต้องไม่เงียบเหงาเศร้าซึม ทุกองคาพยพของภาครัฐและ กกต.ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง สื่อมวลชน ดารานักร้องศิลปินต้องมีส่วนร่วมมือกับ กกต.ในการปลุกเร้าให้คนมาเลือกตั้ง มหรสพเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มิใช่ปัจจัยหลักที่จะเอาแพ้เอาชนะ คนดีมีความรู้ความสามารถต่างหากเล่าที่คนเขาจะเลือก อย่าหลงประเด็น” นายวันชัย กล่าว
 
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า แม้แต่วัดวาอารามจะมีการทำบุญสุนทาน ชักชวนญาติโยมเข้าวัด ยังมีมหรสพให้ญาติโยมดู บุญก็คือบุญ การแสดงก็คือการแสดง เลือกตั้งก็คือการเลือกตั้ง อย่าไปห่วงเรื่องมหรสพเลย ห่วงแต่ว่าให้เลือกคนดี ให้เลือกพรรคดีเป็นพอ ส่วนใครจะมีหรือไม่มีมหรสพก็ไม่ได้บังคับ อย่าคิดมาก อย่าเลอะเทอะ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net