Skip to main content
sharethis
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ปฏิบัติการปลดถ่านหินจากกระบี่ ระบุเตรียมเดินทางไปยังทำเนียบฯ เพื่อให้รัฐบาลสั่งยกเลิกทั้งทางกฎหมาย และนโยบาย ปลดถ่านหินจากกระบี่อย่างถาวร ในวันที่ 27 ก.พ.นี้
 
 
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2561 ในการปกป้องจังหวัดกระบี่ พื้นที่การท่องเที่ยวของโลกให้พ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่า นับแต่ชาวกระบี่ และอันดามันได้ร่วมกันปกป้องทรัพยากรท้องทะเล ป่าชายเลน พื้นที่การเกษตร การประมง เพื่อให้เป็นแหล่งสำหรับการผลิตอาหาร การเศรษฐกิจ คงไว้ซึ่งสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากภัยคุกคามครั้งสำคัญของการประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น กระบี่ และอันดามันได้พิสูจน์ให้สาธารณะเห็นแล้วว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนากระบี่ และอันดามันคือการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของโลก ไม่ใช่แหล่งมลพิษจากควัน และขี้เถ้าถ่านหิน 
 
แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ถูกยกเลิกไป กระนั้นก็ตาม สำนึกแห่งการพัฒนาและการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความก้าวหน้าที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนก็มิได้เกิดขึ้นแก่องค์กรที่ชื่อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแต่อย่างได ยังคงประกาศเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ครั้งใหม่ โดยเริ่มต้นจัดทำรายงานเพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งใหม่ ในวันที่ 28 มกราคม 2561
 
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอกราบเรียนมายังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับทราบถึงพฤติการณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งใหม่ดังนี้
 
1.เมื่อนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้มีกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิตบัญญัติแห่งชาติ และฝ่ายประชาชน ทำการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งมีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ตลอดระยะเวลาประมาณ 9 เดือนของการถกเถียงแสวงหาข้อมูล ได้บทสรุปร่วมกันว่า จังหวัดกระบี่ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ แต่ผลการศึกษาเหล่านี้ถูกเพิกเฉย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป
 
2.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหิน ส่งผลให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ถูกยกเลิกไปนั้น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ประกาศตั้งแต่คราวนั้นแล้วว่า หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ จะต้องดำเนินการภายใต้การแก้กฎหมาย EIA ให้เกิดความเป็นธรรมเสียก่อน แต่การดำเนินการคราวนี้ยังคงเป็นไปภายใต้กฎหมายฉบับเดิม กฟผ.เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทให้มาทำการประเมิน ซึ่งอย่างไรเสียรายงานฉบับนี้จะยังคงผ่านเหมือนเดิม เป็นปัญหาที่ทั่วประเทศต้องเผชิญความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอประกาศไม่ยอมรับการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งนี้
 
3.ในสถานการณ์ของการยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 2560 นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่า ต่อไปจะต้องมีการจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนานั้นเกิดความเหมาะสม แต่ในการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครั้งนี้กลับเพิกเฉยต่อการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ และพื้นที่การท่องเที่ยวของโลกทั้งจังหวัดกระบี่ และอันดามัน ซึ่งทำรายได้เฉพาะการท่องเที่ยวปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท เหมาะสมแล้วหรือที่จะเอามาเป็นแหล่งมลพิษรองรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรป และอเมริกาประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถจัดการต่อมลพิษถ่านหินได้ การกระทำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แห่งพ่อค้าถ่านหินเพียงไม่กี่รายเป็นการเฉพาะ
 
4.สถานการณ์ไฟฟ้าล้นเกินระบบการใช้ของประเทศกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เพราะมีการสร้างโรงไฟฟ้าล้นเกิน จนกลายเป็นภาระสำหรับประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้วาทกรรมที่ผลิตออกมาเพื่อบิดเบือนข้อมูลต่อประชาชนว่า “ไฟฟ้าไม่พอ”
 
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงขอกราบเรียนมายังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า เราจะแสดงหลักการ และเหตุผลต่อคนทั่วโลกว่า การผลิตไฟฟ้าสามารถทำได้จากพลังงานหมุนเวียน และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อันดามันต้องรักษาไว้ให้เป็นแหล่งการท่องเที่ยวของโลก และแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของชาติ 
 
โดยขอประกาศว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสั่งยกเลิกทั้งทางกฎหมาย และนโยบายปลดถ่านหินจากกระบี่ พื้นที่การท่องเที่ยวของโลกอย่างถาวร
 
จึงขอกราบเรียนมายังเพื่อนคนไทย เพื่อนชาวต่างประเทศที่รักหวงแหนพื้นที่การท่องเที่ยวอันงดงาม มาร่วมกันปกป้องกระบี่ และอันดามันจากภัยคุกคามครั้งสำคัญนี้อีกครั้งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net