สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ประชาธิปไตยรวมศูนย์ในเวียดนาม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตามคำเรียกร้องของมิตรสหายท่านหนึ่งที่ถามมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ประชาธิปไตยรวมศูนย์คืออะไร เพราะเห็นประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมอ้างว่า ตัวเองก็มีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เรียกมันว่า ประชาธิปไตยรวมศูนย์ โดยที่ชื่อเฉพาะนั้นอาจจะเรียกว่า ประชาธิปไตยประชาชน (People's Democracy) ก็ได้ เช่นในลาวหรือเกาหลีเหนือ ก็เรียกแบบนั้น

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ในประเทศคอมมิวนิสต์อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่บ้าง พอดีกำลังติดพันเรื่องเวียดนามอยู่เลยขอยกแบบเวียดนามมาก็แล้วกัน เพื่อเป็นการใช้หนี้สินให้เพื่อนฝูง อันที่จริงไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะเดี๋ยวพวก คสช. มาก๊อปปี้ไปใช้ (แต่สบายใจอยู่หน่อยหนึ่ง ว่าพวกนั้นอยากทำแบบนี้ก็ทำไม่ได้หรอกมือไม่ถึง)

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีหลักการประชาธิปไตยการปกครอง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบนายทุนหากแต่เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) เลขาธิการใหญ่เหวียน ฝู จ่อง อธิบายหลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ เอาไว้ในงานของเขา Renewal in Vietnam: Theory and Reality (Hanoi: The Gioi Publishers, 2015) ดังต่อไปนี้

1 หน่วยนำของพรรคในทุกระดับจะต้องจัดตั้งผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยการลงคะแนนลับ (secret ballot) หน่วยงานในพรรคเหล่านั้นมีภาระหน้าที่รายงานต่อหน่วยอื่นทุกระดับทั้งเหนือขึ้นไปและล่างลงมา

2 จะต้องใช้ระบบผู้นำรวมหมู่ ประกอบกับความรับผิดชอบส่วนบุคคลและการวิพากษ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอ

3 กิจการของพรรคจะต้องได้รับการปฏิบัติโดยหน่วยพรรคที่มีขีดความสามารถตามลำดับความสำคัญ ตัวอย่างเช่น งานด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการ การนำในระดับชาติ เช่น กรรมการศูนย์กลางพรรคจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

4 มติของพรรคจะต้องผ่านการลงมติโดยเสียงข้างมาก โดยที่สมาชิกพรรคจะต้องได้อภิปราย ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและรอบด้านก่อนการลงมติ เมื่อได้มีมติออกมาแล้วทุกคนจะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติ สมาชิกคนใดไม่เห็นด้วยกับมตินั้นให้ทำความเห็นขึ้นสู่ระดับสูงได้ แต่ก็ยังต้องมีภาระที่จะต้องปฏิบัติตามมตินั้นอยู่ดี

5 สมาชิกทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการถกเถียงอภิปรายกิจการของพรรคอย่างตรงไปตรงมา มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง พร้อมที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในในทุกระดับ แต่การวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในกิจการของพรรคคอมมิวนิสต์จะทำได้ก็ต่อเมื่อหน่วยหนึ่งหน่วยใดในพรรคมอบหมายให้ทำได้เท่านั้น

6 สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรคและหน่วยพรรค เสียงส่วนน้อยต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ หน่วยระดับล่างต้องขึ้นต่อระดับบน และหน่วยพรรคทั้งหมดต้องขึ้นต่อคณะกรรมการกลางพรรค

กล่าวโดยสรุปแล้วประชาธิปไตยรวมศูนย์คือการรวมความเป็นประชาธิปไตยและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเข้าไว้ด้วยกัน ตามความเห็นเลขาธิการใหญ่จ่อง “ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของการรวมศูนย์ ในขณะที่การรวมศูนย์จะเป็นหลักประกันให้กับการปฏิบัติแบบประชาธิปไตย” (หน้า 141)

ในทางตรรกประชาธิปไตยน่าจะไปกันได้ดีกับการกระจายอำนาจมากกว่าการรวบอำนาจ แต่ว่าประชาธิปไตยแบบนี้ดีหรือไม่ดี ทำงานได้หรือไม่ได้แบบไหนและเวียดนามเคร่งครัดกันมันแค่ไหน เห็นทีต้องไปอภิปรายกันในภายหลัง ที่ว่ามานี่ดูจะยาวเกินไปแล้ว

หมายเหตุ: ภาพประกอบหนังสือของเหวียน ฝู จ่อง และ อีกเล่มของสี จิ้นผิง ยังไม่ได้อ่านแต่ดูผ่านๆก็มีพูดถึงหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์อยู่เช่นกัน (จะหาโอกาสอ่านและรีวิวให้ในเร็ววัน)

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Supalak Ganjanakhundee

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท