Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

โครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ของตูน บอดี้สแลม ที่ออกวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลาถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร นับเป็นโครงการที่สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมจนได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทย องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆอย่างล้มหลาม มีการเข้าร่วมในการวิ่งเพื่อขอรับเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์โครงการ "ก้าวคนละก้าว" และพยายามนำเสนอสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นต่อจากโครงการนี้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันจะทำให้บริการทางการแพทย์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลหรือเครื่องมือแพทย์สามารถถูกจัดสรรไปสู่โรงพยาบาลแต่ละแห่งอย่างเพียงพอเพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  และเพื่อไม่ให้การวิ่งในครั้งนี้เป็นเพียงการวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาล 11 แห่งตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของโครงการเพียงอย่างเดียว

ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมกิจกรรมก้าวคนละก้าวและรู้สึกประทับใจแนวคิดของตูน บอดี้สแลมผ่านบทสัมภาษณ์ ตั้งแต่ก่อนที่ตูนจะเริ่มต้นวิ่งจากอำเภอเบตงไปยังอำเภอแม่สาย การมีแนวคิดเพื่อส่วนรวมเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยให้สามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้นทำให้คนจำนวนมากให้ความสนใจและร่วมบริจาคเงินจนยอดเงินบริจาคทะลุจากเป้าเดิมคือ 700 ล้านบาทมาที่ 1,291 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่กิจกรรมการวิ่งถูกนำมาใช้เป็นวิธีการในการช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์แต่ละแห่งและสามารถสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมให้ประชาชนคนไทยหันมาร่วมใจกันบริจาคเงินและหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อลองนำแนวคิดของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 อย่างคาร์ล โปลานยีที่พูดถึงการคุ้มครองตัวเองของสังคม (social protectionism) มาวิเคราะห์โครงการก้าวคนละก้าวแล้วจะพบว่า กิจกรรมก้าวคนละก้าวยังไม่ใช่การที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดตามหลักทฤษฎีที่ได้ให้อรรถาธิบายไว้เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว โดยผู้เขียนจะอธิบายทฤษฎีกฏการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคคร่าวๆดังนี้

โปลานยีพูดถึงการก่อตัวของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเมื่อกว่า 250 ปีที่แล้วในหนังสือ "The Great Transformation" ว่าเกิดจากการที่รัฐและลัทธิเสรีนิยมพยายามจะแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสังคม (dis-embedded market) เพื่อสถาปนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่พยายามจะกำกับดูแลตัวเอง (self-regulating market) หรือระบบตลาดเสรี (free market)

โปลานยีชี้ว่าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมระบบตลาดได้กลายเป็นปริมณฑลหลักของสังคมที่นำไปสู่การทำลายสถาบันสังคม (social institution) ศาสนาและวัฒนธรรมของมนุษย์ สังคมตลาด (market society) จึงกลายเป็นสถาบันที่พยายามจะครอบงำและอยู่เหนือสังคม โปลานยีชี้ว่าผลจากการแยกเศรษฐกิจออกจากสังคมจะก่อให้เกิดการสถาปนาสินค้าจำแลง 3 ชนิด (fictitious commodity) ได้แก่ ที่ดิน แรงงานและเงิน ซึ่งโดยธรรมชาติสามปัจจัยนี้ไม่สามารถลดทอนให้กลายเป็นสินค้าได้  ดังนั้นเมื่อตลาดพยายามจะยึดครองและควบคุมสังคมสังคมจะสร้างการเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อปกป้องสังคมหรือที่เรียกว่า "การเคลื่อนไหวแบบทวิภาค" (double movement)  สืบเนื่องจากสิ่งที่โปลานยีเคยเตือนนักเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยมคลาสสิคและนีโอคลาสสิคในยุคที่เขียนหนังสือ "The Great Transformation" ในทศวรรษ 1930-1940 ถึงการพยายามสถาปนาระบบตลาดที่พยายามจะกำกับดูแลตัวเองว่าจะนำมาสู่การทำลายสังคม มนุษย์ ระบบการผลิตและธรรมชาตินั้นได้สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมหลังมีการแยกตลาดออกจากสังคมรอบสองในยุคเสรีนิยมใหม่หรือระบบเศรษฐกิจโลกที่ถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสังคมรอบนี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อปกป้องสังคมจากการทำลายของระบบตลาดเสรีที่ขยายตัวไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น  การก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม องค์กรสตรี การเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลอังกฤษในสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ การเคลื่อนไหวต่อต้านองค์กรการค้าโลกของชาวอเมริกัน ณ เมืองซีแอทเทิล ค.ศ.1999 การชุมนุมประท้วงหน้าตลาดหุ้นวอลสตรีท ค.ศ. 2008 การรวมตัวกันเป็นมวลชนหรือมัลทิจูด (multitude)  การประท้วงและการจลาจลตามเมืองต่างๆ เป็นต้น คำถามคือแล้วแนวคิดกฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคของโปลานยีเกี่ยวข้องอะไรกับการวิ่งของพี่ตูนและการที่คนไทยร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ 11 โรงพยาบาล

กฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคในส่วนของการคุ้มครองตัวเองของสังคม (social protectionism) เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อตรวจสอบ แทรกแซงและลดทอนอำนาจของระบบตลาด ในที่นี้การบริจาคเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือโรงพยาบาลจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวต่อต้าน (counter movement) อำนาจของระบบตลาดเหมือนการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ขบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสังคม ฯลฯ หากแต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่กระตุ้นให้ผู้คนเห็นว่าการบริจาคเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถนำเงินไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนในสังคมได้  ถึงแม้การบริจาคในฐานะกิจกรรมที่เกิดจากจิตอาสาและการทำประโยชน์เพื่อสังคมเพื่อมอบเงินให้โรงพยาบาลไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ จะเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อคุณค่าและกำลังใจไปให้กับคุณหมอ พยาบาลและผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามการบริจาคกลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบตลาดเนื่องจากรัฐยังคงปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยของคนไข้ ซึ่งผลที่ตามมาคือรัฐยังคงทำให้การรักษาสุขภาพบางส่วนกลายเป็นสินค้า (commodification of health care services)  ดังนั้นในอดีตรัฐจึงอนุญาตให้ตลาดเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุข กล่าวคือผู้มีอำนาจซื้อเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่มีคุณภาพขณะที่คนยากจนไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล แม้ว่ารัฐจะมียาและบริการทางการแพทย์บางส่วนที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนก็ตาม

ขณะที่ประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าเมื่อตลาดคืบคลานเข้ามาทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม มนุษย์และสถาบันสังคม ด้วยการทำให้สิ่งต่างๆกลายเป็นสินค้าประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานจะออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐสร้างมาตรการคุ้มครองทางสังคม เช่น การเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นและชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง การเรียกร้องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การเรียกร้องระบบหลักประกันสุขภาพ หลักประกันอุบัติเหตุ หลักประกันทางสังคม หลักประกันยามชราภาพ ฯลฯ เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการทำให้ปัจจัยการดำรงชีวิตกลายเป็นสินค้า (reduce commodification effect) โดยรวมถึงยารักษาโรคและบริการทางการแพทย์  ในปัจจุบันหลายประเทศจึงมีระบบสวัสดิการสังคมที่คอยปกป้องแรงงานอย่างรอบด้าน เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ ฯลฯ โดยรัฐนำภาษีมากระจายไปสู่ประชาชนผ่านสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันการว่างงาน เงินช่วยเหลือด้านอุบัติเหตุ ครอบครัวและการเลี้ยงบุตร เงินบำนาญ ฯลฯ  เมื่อประชาชนจ่ายภาษีให้รัฐ สวัสดิการเหล่านี้จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่ควรได้รับจากรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดคืบคลานเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความเจ็บป่วย ภาวะว่างงาน หรือภาวะชราภาพของประชาชน  อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยรัฐยังคงปล่อยให้ตลาดเป็นผู้จัดสรรบริการสาธารณสุขบางส่วนอันจะเห็นได้จากกระแสการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐหรือการเสนอให้มีการร่วมจ่ายของบุคคลสำคัญในกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น แต่ก็นับว่าโชคดีที่ในอดีตประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและบริบททางสังคมที่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตขึ้น  อีกทั้งบทบาทการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบทที่จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2520 ที่ร่วมกันเรียกร้องให้บูรณาการระบบประกันสุขภาพที่แยกส่วนให้กลายเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้การต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบทนับว่าสอดคล้องกับการที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองจากระบบตลาดตามแนวคิดกฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคของโปลานยี ซึ่งในอดีตการต่อสู้เพื่อผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการขับเคลื่อนโดยกลุ่มมวลชน ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน ชาวนา ขบวนการนิสิตนักศึกษานับตั้งแต่บริบทการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จนในที่สุดนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทได้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเสนอให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยใน พ.ศ. 2545 รัฐบาลไทยรักไทยตอบรับกับนโยบายดังกล่าวและจัดทำ "โครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งหลักการของโครงการ 30 บาทฯคือการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ซื้อบริการสุขภาพให้กับประชาชน 48 ล้านคนเพื่อลดผลกระทบจากการนำบริการรักษาสุขภาพเข้าสู่ระบบตลาด ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นระบบสวัสดิการที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลกลายเป็นสินค้า (de-commodification of health care service) และทำให้การแสวงหาประโยชน์ของตลาดสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน บรรษัทยาและกลุ่มแพทย์พาณิชย์ลดบทบาทลง

การถือกำเนิดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสและมีทางเลือกที่จะได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกับคนชั้นกลางมากขึ้น แม้ว่าจะมีการถกเถียงถึงประสิทธิภาพของระบบ ปัญหาเรื่องภาระด้านงบประมาณ และความเหลื่อมล้ำในระบบบริการ ฯลฯ อย่างไรก็ตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบสวัสดิการชุดเดียวที่คุ้มครองคนไทย 48 ล้านคนให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงช่วยลดผลกระทบจากการทำให้ยา และการรักษาพยาบาลกลายเป็นสินค้าผ่านการนำบริการทางสุขภาพออกจากตลาดเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ (สปสช.) เป็นผู้เข้ามาจัดสรรบริการแทนเอกชน

ดังนั้นเมื่อนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเปรียบเทียบกับการวิ่งของพี่ตูนจะพบว่าถึงแม้การวิ่งในโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลให้สามารถซื้อเครื่องมือแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการบริจาคเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถลดทอนผลกระทบที่เกิดจากการทำให้บริการรักษาสุขภาพกลายเป็นสินค้าได้โดยเฉพาะผลต่อคนไทย  ในระยะยาวหากไม่มีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องอีกไม่นานเงินบริจาคของโครงการก็จะหมดลงและโรงพยาบาลต่างๆอาจจะต้องนำวิธีการเดิมมาใช้เพื่อเพิ่มงบประมาณ  ดังนั้นแนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคือการที่รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อลดความเป็นสินค้าของบริการสุขภาพ รวมถึงบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะสร้างนโยบายคุ้มครองสังคม (policy protection)เพื่อลดทอนประสิทธิภาพและกลไกการสะสมทุนของระบบทุนนิยม อันจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุและช่วยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจออกไปสู่สังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการวิ่งของพี่ตูนจะถึงจุดเริ่มต้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลหันมาสนใจปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ยาและบุคคลากรอันเกิดจากข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จัดสรรในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนสิ่งที่หลายฝ่ายถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องให้เกิดการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือประตูหน้าด่านที่จะนำไปสู่การต่อสู้ในเชิงนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายและเพื่อให้นโยบายที่นำเสนอสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีความซับซ้อนได้ นอกจากนี้การเลือกตั้งจะนำไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการตัดสินใจกำหนดนโยบายของภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชนชั้นแรงงาน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยระบบการเมืองที่เปิดกว้างและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามารถดึงประชาชนกลุ่มต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แทรกแซงและลดทอนการใช้อำนาจของรัฐบาลได้มากขึ้น

แม้ว่าโครงการก้าวคนละก้าวจะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่การต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป  โดยหนึ่งในประเด็นที่ควรมีการพูดถึงคือการจัดสรรงบประมาณสาธารณะโดยเฉพาะงบในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี  ทั้งนี้แม้ว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์รัฐจะมีงบประมาณที่เพียงพอในการนำมาปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาลและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณดีขึ้นแต่ในเชิงการเมืองอำนาจในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีกลไกบางอย่างที่คอยขัดขวางเพื่อไม่ให้การจัดสรรงบประมาณต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และยาเพราะถือเป็นการสนับสนุนให้สังคมเข้ากำกับดูแลการจัดสรรบริการทางสุขภาพมากขึ้น

แม้ว่าโครงการก้าวคนละก้าวจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการจัดสรรงบประมาณ และไม่ใช่การที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการนำมาจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และปัญหาอำนาจต่อรองทางการเมืองของประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนในสังคมที่มีน้อยกว่าอำนาจต่อรองของกลุ่มทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  อันจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณของภาครัฐ  และเพื่อกระตุ้นให้สังคมร่วมกันเสนอให้มีการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นลงเพื่อให้รัฐนำเงินเหล่านั้นมาเพิ่มสัดส่วนให้กับงบด้านสาธารณสุขเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ บริการทางการแพทย์และบุคคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่ามีเพียงแนวทางนี้เท่านั้นที่จะช่วยปกป้องสังคมและประชาชนจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้นก้าวต่อไปของโครงการก้าวคนละก้าวคือการทำให้คนไทยหันมาสนใจสิทธิในด้านการรักษาพยาบาลและร่วมมือกันเรียกร้องให้บริการด้านการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน



อ้างอิง

ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ สืบค้นจาก : https://www.kaokonlakao.com

จักรี ไชยพินิจ. (2553). เศรษฐกิจการเมืองของนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา: ศึกษากรณีการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในประเทศไทย. (ปริญญาดุษฎีบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โปลานยี, คาร์ล. (2559). เมื่อโลกพลิกผัน : การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุค
ปัจจุบัน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.

นวลน้อย ตรีรัตน์,& แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2555). การเมืองและดุลอำนาจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, (2560) “ปรากฏการณ์ตูน” บอกอะไร. The 101 world. สืบค้นจาก : https://www.the101.world/thoughts/toon-bodyslam-the-hero/.

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (2560). เปิดแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแนวใหม่จากต้นแบบโครงการ “30บาทรักษาทุกโรค”. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/publicize/article_55172.

Espring-Andersen, G. (1 9 9 0 ) . The Three Worlds of Welfare Capitalism (1 ed.). New Jersey: Princeton University Press.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วนุชประภา โมกข์ศาสตร์  การศึกษา : ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การศีกษาการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (The Study of the De-commodification of labor)   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net