Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผลกระทบของคำตัดสินของ “ชั้นต้น” ที่มีต่อเนติวิทย์และเพื่อน

จากกรณีที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและเพื่อนนิสิตอีก 7 คนถูกคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ต่อไปจะเรียกว่า “ชั้นต้น”) ออกคำสั่งสอบสวนเนติวิทย์และเพื่อนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ในกรณีที่เนติวิทย์และเพื่อนแสดงพฤติกรรมซึ่งอาจไม่เหมาะสม โดยเจตนาเดินออกจากแถวขณะประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ชั้นต้นออกคำสั่งลงโทษเนติวิทย์และเพื่อนทั้ง 7 คนโดยตัดคะแนนความประพฤติคนละ 25 คะแนน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา ประธานชั้นต้นและรองอธิการบดีจุฬาฯ ออกคำสั่ง (คำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง) ให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง โดยอ้างระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 ข้อ 35.3 และ 40.4 ซึ่งกล่าวว่า สมาชิกสภานิสิตจะพ้นจากตำแหน่งหากถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป

ผลของคำตัดสินของชั้นต้น นอกจากทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนถูกตัดคะแนนความประพฤติมากถึง 25 คะแนน ยังทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญซึ่งพวกเขาดำรงตำแหน่งยังไม่ถึง 3 เดือนจากวาระทั้งหมด 1 ปี และยังทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนไม่สามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญและตำแหน่ง “ทุกตำแหน่ง” ในสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้อีก “จนจบการศึกษา” เนื่องจากระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะสมัครตำแหน่งใดๆ ในสโมสรจุฬาฯ จะต้องไม่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป


ความล่าช้าของผลตัดสินของ “ชั้นอุทธรณ์”

เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนตัดสินใจสู้ต่อ โดยยื่นคำร้องขออุทธรณ์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถกระทำได้ เนติวิทย์และเพื่อนยื่นคำร้องขออุทธรณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ปัจจุบัน (11 มกราคม 2561) คณะกรรมการอุทธรณ์ (ต่อไปจะเรียกว่า “ชั้นอุทธรณ์”) ก็ยังไม่มีผลการตัดสินที่ชัดเจนออกมา ซึ่งตามข้อกำหนด ชั้นอุทธรณ์จะต้องพิจารณาความให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง แต่ก็สามารถขอขยายระยะเวลาการพิจารณาไปได้อีกเรื่อยๆ โดยขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ถ้านับระยะเวลาจากเดือนกันยายนซึ่งเนติวิทย์และเพื่อนยื่นคำร้องจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าใช้เวลาไปมากถึง 4 เดือน ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า ชั้นอุทธรณ์อาจพยายามถ่วงเวลาเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง

การสอบสวนพิจารณาความของชั้นอุทธรณ์ดำเนินเรื่อยมา และเลื่อนวันตัดสินออกไปเรื่อยๆ แต่ล่าสุด ปมทองมีคำสั่งให้ตัดสินกรณีเนติวิทย์และเพื่อนให้แล้วเสร็จภายใน 24 มกราคม 2561 นี้


ความเหมาะสมของบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ “ชั้นอุทธรณ์”

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าจะส่งผลต่อทิศทางของคำตัดสินของชั้นอุทธรณ์ คือ ทัศนคติของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์นี้ ด้วยข้อจำกัดของผู้เขียนซึ่งไม่ทราบรายชื่อคณะกรรมการทุกคน ทราบเพียงบางคนเท่านั้น ในที่นี้จึงขอเขียนถึงเฉพาะบุคคลเท่าที่ผู้เขียนทราบ ได้แก่ ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและประธานคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล ประธานสภาคณาจารย์ และศาสตราจารย์ นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อทิศทางการตัดสินมากที่สุด

ธงทองเป็นผู้ที่มักจะแสดงให้ผู้อื่นเห็นอยู่เสมอๆ ว่ามีภูมิรู้เรื่องราชสำนักและวัฒนธรรมไทย ศิริรัตน์เป็นผู้เขียนหนังสือและผู้สอนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเนติวิทย์เคยเขียนวิจารณ์หนังสือของเขา และนรินทร์เป็นอดีตแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเคยขึ้นปราศรัยที่สยามในการขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากลักษณะของบุคคลทั้ง 3 ท่านที่ได้กล่าวมา ผู้อ่านคิดว่าบุคคลทั้งสามนี้ควรดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ตัดสินเนติวิทย์และเพื่อนในกรณีถวายสัตย์หรือไม่ ทัศนคติของบุคคลที่มานั่งในตำแหน่งดังกล่าวควรปราศจากอคติบางอย่างในประเด็นถวายสัตย์ ปราศจากความรู้สึกที่เป็นบวกหรือลบต่อเนติวิทย์และเพื่อน และปราศจากอคติซึ่งเกิดจากความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เมื่อผู้เขียนค้นหาประวัติของบุคคลทั้ง 3 ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของบุคคลเหล่านี้ เพราะ ทัศนคติของเขาอาจส่งผลต่อทิศทางของคำตัดสินซึ่งอาจออกมาเป็นโทษเกินสภาพจริงที่ควรจะเป็น


“ทายใจ” จุฬาฯ: หากท่านเป็นคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ ท่านจะตัดสินอย่างไร

หากท่านสมมติตนเองเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ของจุฬาฯ ท่านจะตัดสินกรณีนี้ในทิศทางใด หลายๆ ท่านคงกำลังคิดว่า ในเมื่อเนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนถูกปลดจากตำแหน่งเป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว จะมีความจำเป็นอะไรที่จะให้เนติวิทย์และเพื่อนกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้ง หลายๆ ท่านอาจกำลังคิดอยู่ว่า ผลการตัดสินชั้นอุทธรณ์ต้องทำให้ชัดเจนมากกว่าชั้นต้น โดยเพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับความผิดของเนติวิทย์และเพื่อนให้ชัดเจนเพื่อให้เนติวิทย์และเพื่อนไม่สามารถสู้ต่อได้ หรือหลายๆ ท่านอาจคิดถึงความรู้สึกของคณะกรรมการชั้นต้นซึ่งได้ตัดสินว่ามีความผิดและกำหนดบทลงโทษไปแล้ว ท่านจึงเลือกไม่หักหาญความรู้สึกคณะกรรมการชั้นต้นโดยตัดสินในทิศทางเดียวกันให้เนติวิทย์และเพื่อนมีความผิด

หรือท่านอาจมีแนวทางที่ดีกว่านั้น ท่านอาจคิดว่าการตัดสินยืนตามชั้นต้นทั้งหมดอาจสร้างกระแสเชิงลบต่อจุฬาฯ ในสายตาของหัวก้าวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ หรืออาจทำให้เนติวิทย์และเพื่อนใช้คำตัดสินอันสุดโต่งนี้เรียกร้องความเป็นธรรมของพวกเขาในสื่อสาธารณะ แต่ท่านก็ยังคงต้องการ “กีดกัน” เนติวิทย์และเพื่อนไม่ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆ ในสโมสรนิสิต เพื่อไม่ให้เป็นปรปักษ์ต่อผู้บริหารและกลุ่มชนชั้นนำของมหาวิทยาลัย ท่านจึงอาจตัดสินใจคืนคะแนนความประพฤติให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนจำนวน 5 คะแนน (ชั้นต้นตัดสินให้ตัดคะแนนจำนวน 25 คะแนน) ซึ่งโทษคงเหลือคือ ตัดคะแนนความประพฤติจำนวน 20 คะแนน ผลของโทษคงเหลือนี้ที่มีต่อเนติวิทย์และเพื่อนแทบไม่ต่างจากเดิม กล่าวคือ เนติวิทย์และเพื่อนยังคงไม่สามารถกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภานิสิต และยังคงไม่สามารถลงสมัครตำแหน่งใดๆ ก็ตามในสโมสรนิสิต “ทุกตำแหน่งจนจบการศึกษา” เพราะ พวกเขาจะขาดคุณสมบัติของผู้สมัครตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 ข้อ 35.3 และ 40.4 ซึ่งกล่าวว่า สมาชิกสภานิสิตจะพ้นจากตำแหน่งหากถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป ส่วนผลของโทษคงเหลือนี้ที่มีต่อภาพลักษณ์ของจุฬาฯ นั้นต่างจากการตัดสินยืนตามชั้นต้น (ตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนน) อย่างเห็นได้ชัด การตัดสินคืนคะแนนความประพฤติให้จำนวน 5 คะแนนจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อระบบยุติธรรมของจุฬาฯ กล่าวคือ การตัดสินคืนคะแนนนี้ “ดูเหมือนว่า” จะมอบความยุติธรรมให้แก่เนติวิทย์และเพื่อน แต่แท้จริงแล้ว หากท่านเลือกตัดสินในทิศทางนี้ ผู้เขียนขอตั้งคำถามกลับไปว่า ท่านเลือกที่จะให้ประโยชน์และความยุติธรรมต่อผู้บริหารและชนชั้นนำของจุฬาฯ “เพียงฝ่ายเดียว” หรือไม่


ถ้า “ทายใจ” จุฬาฯ ถูกต้อง เราควรมองระบบยุติธรรมของจุฬาฯ อย่างไร

หากผลของคำตัดสินชั้นอุทธรณ์เป็นไปในแนวทางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เราควรที่จะตั้งคำถามกลับไปถึงคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีธงทองเป็นประธานหรือไม่ คณะกรรมการควรพิจารณากรณีต่างๆ บนหลักการของการมอบโอกาสและความยุติธรรมสูงสุดให้แก่นิสิตผู้ถูกกล่าวหา มากกว่าภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือ “ธง” ของชนชั้นนำหรือผู้ที่เกลียดคนเห็นต่างตั้งเอาไว้ การเลือกกีดกันเนติวิทย์และเพื่อนโดยใช้วิธีการตัดสินที่ดูเหมือนว่าให้ความยุติธรรมเป็นแผนที่ฉลาด แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นแผนที่ได้ผลดีต่อชนชั้นนำจุฬาฯ เพียงในระยะสั้น กล่าวคือ ในระยะยาวอาจมีการตั้งคำถาม และเกิดประเด็นให้ถกเถียงต่อตามมาอย่างมากมาย

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net