ทำไมแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสวัสดิการจึงเป็นแนวคิดที่จำเป็น?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แนวคิดเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วในสังคมไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ด้วยการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสมุดปกเหลือง ตลอดจนแนวคิดจากหนังสือ "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2516 หรือกว่า 40 ที่แล้ว

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่มีความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน ทำให้คำถามเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนไทยไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนในสังคมมากนัก เนื่องจากเราถูกค่านิยมแบบกระแสหลักปิดกั้นคุณค่าที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพและประโยชน์ที่เราควรจะได้รับจากการจัดสวัสดิการสังคม อันเกิดจากเหตุผลพื้นฐานคือ เพราะเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของรัฐที่จะให้การดูแลประชาชนทุกคนอย่างสุดความสามารถ

มนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาในสังคมจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรต่างๆเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด  การมีสวัสดิการทำให้แต่ละคนมีจุดเริ่มต้นในการแข่งขันที่เท่าเทียมกันมากขึ้น  หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ค่อยพบคำถามสำคัญที่ถามว่า "คนรุ่นหนึ่งควรจะได้รับการดูแลจากรัฐอย่างไร"  เนื่องจากรัฐพยายามหล่อหลอมขัดเกลาคุณค่าของสังคมให้เหลือเพียงการพึ่งพาตัวเอง ด้วยการผลิตซ้ำวาทกรรมผ่านสื่อกระแสหลักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่รัฐพยายามผลักภาระในการดูแลประชาชนไปให้เอกชนเป็นผู้ดูแลมากขึ้นอันจะสังเกตได้จากค่าใช้จ่ายภาคสาธารณะ อาทิ งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่รัฐจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 1 ของจีดีพีของประเทศ  แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศสวีเดนที่รัฐจัดสรรงบประมาณในด้านนี้ถึงร้อยละ 9  เพื่อจัดสรรบริการทางสุขภาพให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นหลังจากการถือกำเนิดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมกลับไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐรวมถึงภาคประชาสังคมอย่างที่ควรจะเป็นแม้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่หลายประเทศในทวีปยุโรปยกให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเป้าหมายหลักคือการพัฒนามนุษย์ (Human Development)

ตามหลักแล้วมนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้นก็ด้วยการได้รับการดูแลและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ  สำหรับประเทศไทยพบว่าชนชั้นแรงงานเป็นชนชั้นที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นแรงงานคือผู้มีบทบาทสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเศรษฐกิจไทย  อย่างไรก็ตามระบบทุนนิยมกลับไม่ได้มองว่าแรงงานคือมนุษย์คนหนึ่งที่จำเป็นต้องผลิตซ้ำกำลังแรงงานของตนเอง (reproduction labor power) เพื่อนำออกมาขาย  การผลิตซ้ำกับลังแรงงานคือการได้รับอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม เวลาในการพักผ่อน ฯลฯ เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำงานหรือเพื่อให้กำลังแรงงานที่ถูกใช้ไปถูกฟื้นฟูกลับมาใช้ใหม่ (capacity for creation)

ทว่านับตั้งแต่แนวคิดเสรีนิยมใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย รัฐก็ปล่อยให้ระบบตลาดคืบคลานเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการทำให้ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตกลายเป็นสินค้า (commodification of basic needs) อย่างหนักหน่วงและมีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต  ผลกระทบจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ผ่านแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน (privatization) เช่น การแปรรูปบริษัท ปตท. หรือการแปรรูปองค์กรโทรคมนาคม นั้นคล้ายกับบริบทที่เกิดขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในยุคแธชเชอร์กับเรแกนที่รัฐปรับลดสวัสดิการและพยายามสร้างคำอธิบายเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ที่ให้ทุนเข้ามาแสวงหากำไรจากการนำบริการทางสังคม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ เข้าสู่ระบบตลาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประชาชนต้องหันมาพึ่งพาตนเองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

สถานการณ์ที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนดูแลตัวเองส่งผลให้แรงงานจำนวนมากสูญเสียโอกาสในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกลไกตลาด  กล่าวคือนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กลับทำให้การดำรงชีวิตของแรงงานขึ้นกับการขายกำลังแรงงานในระบบตลาดมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันการทำให้กำลังแรงงานกลายเป็นสินค้าจึงทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าหมายถึงการที่แรงงานไม่สามารถเป็นอิสระจากระบบตลาด (Espring-Andersen, 1990) กล่าวคือ แรงงานจำนวนมากต้องพึ่งพาตลาดเพื่อความอยู่รอด การพึ่งพาตลาดคือการที่รัฐปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานแบกรับสภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตอย่างไม่มีทางเลือก เช่น ความไมมั่นคงจากการไม่ได้รับยาและการรักษาพยาบาลจากแพทย์ในกรณีเจ็บป่วยแม้ว่ายาที่มีในระบบจะถูกผลิตขึ้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ยา  หรือความไม่มั่นคงจากการที่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถทานอาหารได้ครบสามมื้อเนื่องจากไม่มีเงินในการซื้อหาอาหารมาบริโภคแม้ว่าปริมาณอาหารในแต่ละวันจะมีมากพอที่จะเลี้ยงทุกคนในประเทศได้  เป็นต้น

ดังนั้นการทำให้ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตรวมถึงกำลังแรงงานกลายเป็นสินค้าจึงกลายเป็นข้อจำกัดในการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพของแรงงาน ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับถูกผลิตขึ้นโดยรัฐและลัทธิเสรีนิยมที่ทำให้คนเชื่อว่าตลาดเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้ดีที่สุด  และสวัสดิการจะถูกกระจายออกไปโดยอัตโนมัติเมื่อระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามภาพสะท้อนที่ตามมากลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการทำงานของกลไกตลาดก่อให้เกิดการกำหนดค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม  การปรับสดสวัสดิการของรัฐ และการลดภาษีในภาคการลงทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ในการเข้ามาแสวงหากำไรของทุน  ที่ก่อให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมในสังคม  โครงสร้างเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำโดยรัฐและนายทุนผู้ประกอบการเพื่อธำรงค์รักษาสภาพที่แรงงานต้องนำกำลังแรงงานออกมาขายหรือเพื่อรักษาสถานะ "สินค้า" ของแรงงาน อันเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้แรงงานต้องกลับเข้าไปในตลาดแรงงานโดยอัตโนมัติเพื่อรับใช้ทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้นแทนที่การผลิตซ้ำกำลังแรงงานของมนุษย์จะมีขึ้นเพื่อกิจกรรมทางสังคม ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมตลอดจนการใช้เวลาว่างเพื่อเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติและการผลิตในภาคการเกษตร ระบบทุนนิยมกลับทำให้มิติทางสังคมที่เคยมีหลากหลายถูกย่นย่อให้เหลือเพียงมิติทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว การผลิตซ้ำกำลังแรงงานเพื่อนำมาขายจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่ควรจะเกิดขึ้นในลักษณะข้างต้น แต่มนุษย์ควรมีสิทธิในการแสวงหาคุณค่าและความหมายในการมีชีวิต  ลักษณะที่ระบบทุนนิยมบังคับให้ผู้ใช้แรงงานต้องมีชีวิตเพื่อนำกำลังแรงงานออกมาขายจึงไม่ใช่ทางเลือกแต่กลับเป็นสภาพที่มนุษย์ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อแลกกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรเป็นสิ่งที่พึงได้โดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจจึงเป็นสถาบันที่ทำลายและลดทอนคุณค่าของมนุษย์โดยตีกรอบให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งคือชนชั้นนายทุนเป็นมนุษย์ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นแรงงานด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันผ่านกลไกการสะสมทุนที่ทำให้แรงงานกลายเป็นเพียงสินค้า

ดังนั้นสวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเข้ามาชดเชยผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (de-commodification of labor)  โดยเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าสถานะ "สินค้า" ในตัวแรงงานจะไม่ได้หายไป (Espring-Andersen, 1990)

อย่างไรก็ตามในโลกของความเป็นจริงการให้สวัสดิการย่อมทำให้กำไรของนายทุนลดลงจากการนำส่วนแบ่งกำไรมามอบให้ผู้ใช้แรงงาน แรงต้านทานจากกลุ่มทุนจึงปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติและคอยขัดขวางมิให้แรงงานมีชัยชนะต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา เช่น การประกาศปลดพนักงาน การปรับลดสวัสดิการและเงินเดือน การใช้กฎหมายควบคุมการประท้วง และอื่นๆ ทำให้การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานต้องยุติลงจากการมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า

ดังนั้นสังคมจึงควรหันมาทบทวนและตระหนักถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างไม่มีเงื่อนไข นั่นคือสิทธิที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่รอดอย่างมีคุณภาพด้วยการกระจายปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตออกไปให้กับผู้ใช้แรงงานผ่านอัตราค่าแรงที่เป็นธรรม การได้รับหลักประกันทางสังคม เช่น หลักประกันสุขภาพ หลักประกันการว่างงาน หลักประกันอุบัติเหตุ หลักประกันชราภาพ ฯลฯ  อันจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน (social norms) และคุณลักษณะใหม่ร่วมกันของสังคมที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่หลักในการทำให้ปัจจัยที่นำไปสู่เป้าหมายในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ ตลอดจนการมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมปรากฏขึ้นในสังคมอันจะเป็นการสร้างโอกาสและเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้แรงงานในอนาคตมากขึ้น

ทั้งนี้ในต่างประเทศการสร้างบรรทัดฐานร่วมกันของสังคมข้างต้นอาจไม่ได้ถูกหยิบยื่นให้จากรัฐแต่เกิดจากบริบทการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อทวงสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ที่สังคมไทยสามารถเรียนรู้บริบทเหล่านั้นเพื่อนำมาปรับใช้และเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพรรคการเมืองและชนชั้นกลางของไทยเพื่อปฏิรูปและพัฒนาระบบสวัสดิการของไทยในอนาคตต่อไป แม้ว่าการปฏิรูประบบสวัสดิการของไทยจะไม่สามารถทัดเทียมกับประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมนั้นสามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นไปด้วย สวัสดิการจึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นกับสถาบันเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคือสวัสดิการสามารถลดทอนสภาพ "สินค้า" ของมนุษย์ได้มากขึ้น

 

 

หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของผู้เขียน

อ้างอิง

นวลน้อย ตรีรัตน์, & แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2555). การเมืองและดุลอำนาจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

Espring-Andersen, G. (1 9 9 0 ) . The Three Worlds of Welfare Capitalism (1 ed.). New Jersey: Princeton University Press.

Panitch, V. (2011). Basic income, decommodification and the welfare state. Philosophy
and Social Criticism.

Papadopoulos, T. (2005). The Recommodification of European Labour: Theoretical and
Empirical Explorations. Working Paper. Bath, UK: European Research Institute,
University of Bath.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วนุชประภา โมกข์ศาสตร์  การศึกษา : ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การศีกษาการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (The Study of the De-commodification of labor)   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท