Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. สะท้อนว่าทหารยึดอำนาจมานานปี ประชาธิปไตยไทยมีช่วงเวลาน้อยนิด ภาพงานวันเด็กคืองานที่เด็กได้มาทดลองจับปืนจริง ปีนขึ้นไปบนรถถัง สำรวจเรือรบ BBC Thai ระบุว่า 62 ปีที่ผ่านมา มีนายกฯ มาจากทหาร 9 คน มอบคำขวัญวันเด็ก รวม 36 ปี 33 คำขวัญ มีนายกนายกฯ พลเรือน และตำรวจ มอบคำขวัญวันเด็ก 24 ปี 21 คำขวัญ  จึงไม่แปลกที่ภาพวันเด็กเป็นเสมือนวันจัดแสดงอาวุธของกองทัพ

2. กิจกรรมยอดนิยมในงานวันเด็กคือ ให้เด็กสวมบทบาทสมมติตามอาชีพของผู้ใหญ่ ผ่านอุปกรณ์ เครื่องมือทางวิชาชีพ แต่อาชีพที่ถูกนำมาจัดแสดงล้วนเป็นอาชีพที่ทรงอิทธิพล มีสถานะในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล นักบิน แต่อาชีพที่ไม่เคยถูกนำมาจัดแสดงให้เด็กๆ ได้สวมรับบทบาทเลยคือ เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนถีบสามล้อ แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เด็กไทยจึงซึมซับแต่เกียรติภูมิความสูงส่งของอาชีพบางอาชีพ ที่เป็นฝ่ายกระทำ ไม่เคยรับรู้ความทุกข์ยาก เข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจต่อคนในอาชีพอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากอาชีพที่มีเกียรติ มีอำนาจ

3. งานวันเด็กผลิตซ้ำเด็กที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ในแบบอำนาจนิยม สิ่งที่จัดแสดงให้เด็กล้วนเป็นเรื่องของอำนาจ สิทธิพิเศษ ที่ได้มาจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่สนใจเสนอถึงหลักการ วิธีคิด จริยธรรมในวิชาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการได้มาซึ่งสิทธิพิเศษของตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หรือได้จับมือกับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นสิทธิพิเศษที่พึงไขว่คว้าหาโอกาส โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นจะได้มาโดยชอบหรือไม่

4. สังคมไทยส่งมอบลักษณะอำนาจนิยมผ่านคำขวัญวันเด็กในทุกปี คำขวัญในทุกปีจะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น และใช้คำประเภทคำสั่งให้กระทำ หรือให้นิยามเกี่ยวกับความดี แนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะกับเด็กแต่เป็นประชาชนทั่วๆ ไปที่ควรจะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย(thematter.co/pulse/childrens-day-motto)

5. ส่วนที่ผู้ใหญ่จะพูดกับเด็ก หรือพูดถึงตัวเด็กโดยตรงก็คือ การฝากอนาคตไว้กับเด็กพร้อมไปกับหน้าที่ ที่จะต้องกระทำ โดยไม่เคยบอกเลยว่า ได้วางอนาคตของประเทศในวันที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตไว้อย่างไร วันเด็กจึงควรเป็นวันที่ผู้ใหญ่มาบอกกล่าวต่อเด็กว่า ได้ให้สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการแก่เด็กเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง และจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใดเพื่อส่งมอบต่อให้กับเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

6. เอาเข้าจริงๆ วันเด็กดูจะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ใช้หวนรำลึกถึงความหลังในวันเด็กของตัวเองมากกว่า ที่จะทำอะไรให้กับเด็กๆ จะเห็นได้จากในสื่อออนไลน์ ที่ทุกคนพยายามสื่อภาพถ่ายของตัวเองในวัยเด็ก สถานที่ท่องเที่ยว ขนมที่เคยกิน การเล่นซนที่สร้างความผิดพลาด ไม่ได้มีเวทีถกเถียงถึงสวัดิภาพ การคุ้มครอง ปกป้องเด็ก หรือปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ที่ควรจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อไป

7. ในวันธรรมดา ที่ไม่ใช่วันเด็ก หน่วยราชการ และธุรกิจเอกชนของไทยไม่เคยมีพื้นที่ให้กับเด็ก วันเด็กจึงเป็นวันเดียวที่เด็กจะได้ใช้พื้นที่ ซึ่งไม่เคยมีได้มีโอกาส วันเด็กจึงมีไว้เพื่อให้วันอื่นๆ สามารถปิดกั้นพื้นที่ไว้ไม่ให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการของผู้ใหญ่ ซึ่งยังไม่นับรวมเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสวันเด็ก

สรุป วันเด็กของไทยไม่ใช่วันที่จะเปิดพื้นที่ให้กับเด็กได้เรียกร้อง แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ แต่เป็นวันที่เด็กจะต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งสอน เป็นวันที่ผู้ใหญ่จะได้มาแสดงเกียรติภูมิแห่งอาชีพ ย้ำเตือนถึงสิทธิ อำนาจที่มีอยู่ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเดินตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้บอก



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook สามชาย ศรีสันต์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net