ประธานป.ป.ช.ระบุปมนาฬิกาหรูยังไม่คืบ ยันพร้อมออกหากคุณสมบัติขัด รธน.

ประธานป.ป.ช. ระบุปมนาฬิกาหรูยังไม่คืบ ยันไม่หวั่นถูกยื่นตีความ กรณีสนช.ต่ออายุจนครบวาระ ย้ำเป็นเรื่องดี ไม่ทำให้คลุมเครือต่อการทำงาน พร้อมพ้นตำแหน่งหากคุณสมบัติขัดรธน. ด้าน รอง ปธ. สนช.ยัน สมาชิก สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณียกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ 

 

15 ม.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบทุกด้าน ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ยิ่งต้องดำเนินการให้รอบคอบ จึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะมีแนวทางทำงานอยู่แล้ว ส่วนจะต้องนำส่งนาฬิกาทุกเรือนให้ป.ป.ช ตรวจสอบหรือไม่ เป็นแนวทางการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และต้องตรวจสอบภาพที่พล.อ.ประวิตรสวมนาฬิกาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด 

ส่วนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 40 อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ร่วมผลักดันกฎหมาย นิรโทษกรรม ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ไม่คิดว่าจะรวดเร็วตามที่เกิดกระแสข่าว เพราะ ป.ป.ช.มีเรื่องค้างการพิจารณาจำนวนมาก ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายลูก  อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหามีจำนวนมากและเป็นผู้ใหญ่ทั้งรัฐมนตรีและอดีตส.ส. จึงต้องให้ความเป็นธรรมในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าคดีนี้จะเป็นการล้างส.ส.พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากการพิจารณาคดีต้องทำเป็นองค์คณะ ทุกอย่างต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ที่มีความสงสัยในมติป.ป.ช.สามารถขอตรวจสอบมติที่ออกมาได้ ในฐานะประธานป.ป.ช.ได้ย้ำเสมอว่าทุกเรื่องที่มีความสำคัญ กรรมการต้องครบองค์ประชุม 9 คน จะไม่ยอมให้ขาด ลา เว้นแต่กรรมการคนนั้นต้องห้ามร่วมประชุมตามข้อกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

สำหรับกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการดำรงตำแหน่งจนครบวาระของกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลใจ แต่มองว่าเป็นเรื่องดีจะได้ไม่เกิดความคลุมเครือต่อการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต หากจะต้องพ้นจากตำแหน่งมีเพียง 2 คน คือ ตนเองและนายวิทยา อาคมพิทักษ์เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องสรรหาใหม่ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.ที่เหลือสามารถทำงานต่อไปได้ 

“ผมอยากให้เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ยืนยันไม่หวั่นไหว เพราะไม่เคยเดินหนีปัญหา โดยขอให้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย หากศาลเห็นว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต้องขัดต่อรัฐธรรมนูญก็พร้อมพ้นจากตำแหน่ง ดีกว่าจะให้มติของป.ป.ช.ที่ผ่านมาต้องมีข้อครหา แต่หากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องทำงานเต็มที่และทำให้ดีกว่าเดิม” ประธานป.ป.ช. กล่าว

ส่วนความเห็นต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ได้ส่งความเห็นกลับไปยังสนช.แล้วและไม่มีข้อท้วงติง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งสุดท้ายจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รอง ปธ.สนช. ยันสมาชิกร้องศาล รธน.วินิจฉัย กรณียกเว้นคุณสมบัติ ป.ป.ช.ได้ 

ด้าน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิก สนช.บางส่วนเตรียมเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาของ พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ สนช.ไปแล้ว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช. นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า สมาชิก สนช. บางส่วน เห็นว่าคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเว้นเฉพาะคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระเท่านั้น แต่ไม่ได้ครบคลุมถึงลักษณะต้องห้าม ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติจึงควรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว

สุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ ป.ป.ช. จะได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและไม่มีข้อครหาตามมาในอนาคต หรือหากมีประเด็นอย่างหนึ่งอย่างใด จะได้มีการแก้ไขร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช.ก่อนที่ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมี สมาขิก สนช.เข้าชื่อ เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาแล้ว เชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวสังคมจะให้การยอมรับ
 
รายงานข่าวระบุว่า สมาชิก สนช. ที่ติดใจเนื้อหากฎหมายดังกล่าว ต้องรวมกลุ่มกันเข้าชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ คือ 25 คน โดยสามารถยื่นผ่าน สนช. หรือยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่สมาชิก สนช. สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ ประธาน สนช.จะต้องส่งร่างกฎหมายไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งหาก สมาชิก สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สนช.ก็ต้องรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยแล้วเสร็จก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปได้
 
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ตามบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.นั้น สนช.มีมติเสียงข้างมาก ให้ยกเว้นการใช้ลักษณะต้องห้าม เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ อาทิ ลักษณะต้องห้ามที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. มาก่อนระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช.ที่ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.มาในปี 2557 และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาก่อนด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท