Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มาภาพ: komchadluek.net/news/scoop/309302

ผมคิดอยู่นานว่าควรจะเสียเวลาถกเถียงกับความเห็นอะไรที่เมื่อคิดบนหลักการประชาธิปไตยและหลักเสรีภาพแล้วแล้ว มันเป็นเรื่องเหลวไหลไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องที่นักบวชในพุทธศาสนาไทยแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบัน

แต่เมื่อมองรวมๆ แล้ว ก็แทบไม่มีอะไรที่ไม่เหลวไหลนี่ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำไล่อาจารย์ที่หนีอำนาจรัฐประหารออกจากราชการ เรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำลงโทษนักศึกษา 8 คน จนชื่อเสียงมหาวิทยาลัยกระฉ่อนไปทั่วโลก เพราะมีบรรดาปัญญาชนชั้นนำของโลก และบรรดาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรักษา “มาตรฐาน” ของความเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยการเคารพ “เสรีภาพ” ในการแสดงออกของนักศึกษาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ไหนจะเรื่องที่บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการแห่กันไปรับรับตำแหน่งภายใต้รัฐบาลจากรัฐประหาร และการที่กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์เป็นตัวแทนของประชาชนขยันบัญญัติกฎหมายจำนวนนับไม่ถ้วนมาบังคับใช้กับประชาชนที่ถูกปล้นอำนาจไป

แล้วยัง “ระบบยุติธรรม” ที่จับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและ “ความยุติธรรม” เข้าคุกคนแล้วคนเล่า ที่ต้องต่อสู้คดีอยู่อีกก็มาก ที่ควรได้รับสิทธิประกันตัวก็ไม่ได้รับ มีทั้งชายชราที่ตายในคุกอย่างอากง เรื่อยมาถึงหญิงพิการทางสายตาต้องติดคุกเพียงเพราะแชร์ข่าวโดยผู้แจ้งความเอาผิดก็ยอมรับว่าเธอ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เหล่านี้เป็นต้นไม่ใช่ “ความเหลวไหล” และความน่าหดหู่แห่งยุคสมัยดอกหรือ

ยังมีสถาบันทางสังคมอะไร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา ศาสนา สถาบันเกี่ยวกับการพิทักษ์ความยุติธรรมและอื่นๆ ที่ยังพอเป็นความหวังของสังคมนี้ได้บ้างในเรื่องปกป้องหลักการ เหตุผล วิถีที่ชอบธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

เราอยู่ในยุคของความเหลวไหลไร้เหตุผลและน่าหดหู่ ตรรกะอันบิดเบี้ยว หรือที่นิยมพูดกันว่า “ตรรกะป่วย” พรั่งพรูออกมาจากปากของบรรดาผู้มีอำนาจนำทางการเมือง และอำนาจนำทางวัฒนธรรมแทบทุกวัน ตัวอย่างตรรกะของสมณะโพธิรักษ์ในการประกาศว่า ชาวอโศกจะเป็น “กองหนุน” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอต่อไป ขณะที่กองหนุนกลุ่มอื่นๆ กำลังตีตัวออกห่าง ย่อมสะท้อนยุคสมัยแห่งความเหลวไหลได้ชัดเจน ผมขอคัดบางส่วนมาให้อ่านดังนี้

สมณะฟ้าไทว่า... เขาใช้คำว่าสืบทอดอำนาจมาหรือเปล่า?

พ่อครู (สมณะโพธิรักษ์) ว่า..สืบทอดอำนาจของในหลวง ไม่ใช่สืบทอดอำนาจของทักษิณ ก็เคยวิเคราะห์ให้ฟังกันแล้วว่า นายกฯตู่ทำการเมืองสืบทอดในหลวงหรือสืบทอดทักษิณ? ก็ต้องเป็นแบบในหลวง...

ขณะนี้บ้านเมืองยังไม่มีการเลือกตั้ง อาตมาว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องเล็กๆ ของประชาธิปไตย ...

การเมืองประชาธิปไตยเป็นเรื่องของมนุษย์ มนุษย์ต้องมี 2 ขา หมายถึงมีทั้งรูปและนาม การเมืองขาเดียวมันไม่ใช่มนุษย์ เป็นการเมืองพิการ ศึกษาให้ดี เรื่องธรรมะสองของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งจริงๆ

ตอนนี้เราพยายามให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่แบบเลือกตั้ง อะไรเป็นประชาธิปไตยที่แท้ไปคิดให้ตก ประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบผู้แทน กับประชาธิปไตยแบบที่มีส่วนร่วมของประชาชน อันไหนคือประชาธิปไตยกว่ากัน ไปคิดตรงนี้เป็นการบ้าน

(ที่มา https://konjonlokutara.blogspot.com/2018/01/blog-post_12.html?spref=fb)

เรื่องสืบทอดอำนาจตามที่สมณะโพธิรักษ์พูด ผมจะไม่พูดถึง แต่เมื่อเราถกเถียงกันเรื่อง “ประชาธิปไตย” ย่อมเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า อำนาจในระบอบประชาธิปไตยย่อมเป็น “อำนาจของประชาชน” และประชาชนย่อมแสดงอำนาจของตนเองว่าต้องการนโยบายบริหารประเทศแบบไหน พรรคการเมืองพรรคไหน นักการเมืองคนไหนมาทำหน้าที่แทนผ่าน “การเลือกตั้ง” ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่ใช่ “เรื่องเล็กๆ” แต่เป็นเรื่องใหญ่และขาดไม่ได้ของกระบวนการประชาธิปไตย

พูดอีกอย่างว่า ในระบบสังคมการเมืองสมัยใหม่ ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับไม่มีพื้นที่แสดงออกซึ่งสิทธิและอำนาจของประชาชน มันจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

ยิ่งเมื่อพูดถึง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ด้วยแล้ว เวทีเลือกตั้งเท่านั้นที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมมากที่สุด แน่นอนว่าประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดที่การเลือกตั้ง เพราะยังต้องมีกระการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบสภา องค์กรออิสระต่างๆ องค์กรภาคประชาชนต่างๆ สื่อเสรี และปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น วิจารณ์ตรวจสอบ และเรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสียแล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมและตรวจสอบก็ย่อมทำงานไม่ได้จริง อย่างที่เห็นชัดแจ้งภายใต้รัฐบาลทหารกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา

ประชาธิปไตยมันจึงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้สิ้นสุดสมบูรณ์ แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการใช้สิทธิ เสรีภาพในการต่อสู้ ต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แน่นอนว่าภายในกระบวนการประชาธิปไตยมันย่อมมีปัญหาขัดแย้ง ความวุ่นวาย ความไม่สงบอันเกิดจากการต่อสู้ต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ในที่สุดแล้วเราต้องเชื่อมั่นว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพของตัวมันเองได้

การหยุดยั้งหรือล้มกระบวนการประชาธิปไตยมันคือการทำลายพัฒนาการของประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยถูกตีความอย่างวิปริตผิดเพี้ยนและไม่สามารถพัฒนาให้มีความหมายเป็นประชาธิปไตยได้จริงอย่างสังคมอารยะเสียที และคนที่สนับสนุนการหยุดยั้งหรือล้มกระบวนการประชาธิปไตย ก็คือคนที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย และไม่เคารพ “ประชาชน” ว่าพวกเขาสามารถมีวิจารณญาณของตนเองในการเลือก

พูดอีกอย่างว่า ฝ่ายที่อ้างว่าพวกตนเป็นคนดี มีธรรมะ ศีลธรรมที่สนับสนุนรัฐประหาร ก็คือคนที่ขาด “สามัญสำนัก” ในความ “แฟร์” ต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่เขามีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าเทียมกับคุณ คุณสนับสนุนการล้มเวทีเลือกตั้งซึ่งเป็นเวทีที่แฟร์กับ “ทุกคน” ทุกฝ่าย เพราะคุณต้องการผลักดันวาระทางการเมืองตามความต้องการของตนเองผ่านอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายอื่นๆ ทำแบบคุณไม่ได้

เมื่อขาดสามัญสำนึกแม้แต่ในเรื่องความ “แฟร์” กับทุกคนในฐานะที่แต่ละคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีของคุณ? ธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีของคุณ มันอยู่เหนือการยึดถือปฏิบัติตามความแฟร์ตามวิถีที่ “ชอบธรรม” ของระบอบประชาธิปไตยไปได้อย่างไร? 

และเมื่อพูดถึง “การมีส่วนร่วม” ก็ย่อมต้องมีความแฟร์ด้วยเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่ามีส่วนร่วมได้แต่ฝ่ายที่เชียร์ ประกาศเป็น “กองหนุน” ผู้นำเท่านั้นที่แสดงออกได้เต็มที่ แต่ฝ่ายที่ไม่เชียร์ ไม่หนุน หรือต่อต้าน ก็ต้องมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ และออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านได้ด้วย ฉะนั้นภายใต้อำนาจรัฐบาลจากรัฐประหารมันจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดังที่สมณะโพธิรักษ์พูด

ยิ่งกว่านั้น คำสอนเรื่อง “รูป-นาม” ของพุทธศาสนาก็ไม่เกี่ยวอะไรกับกรอบคิด (concept) เรื่อง “ประชาธิปไตย” เลย แต่บรรดานักบวชในพุทธไทยๆ ก็ลากคำสอนพุทธศาสนาแทบทุกเรื่องเข้ามาเกี่ยวกับประชาธิปไตยจนได้ ฉะนั้นการที่พวกเขาคิดว่าตนเองกำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย (เช่นตีความว่า “ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตย” “ประชาธิปไตยไม่มีธรรมะคือหายนะมวลรวมประชาชาติ” ฯลฯ) มันจึงไม่ใช่การสนับสนุนประชาธิปไตยจริง แต่เป็นการสร้างความสับสนและสร้างปัญหาเสียมากกว่า และจึงเป็นการสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะสนับสนุนอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอมา

คำถามคือ เมื่อไรที่บรรดานักบวชพุทธไทยจะเรียนรู้เสียทีว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างจากการเมืองยุคโบราณอย่างสิ้นเชิง คุณจะอ้าง “ธรรมะ” คำเดียวหรือคำสอนในพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ มาเป็น “มาตรฐาน” ตัดสินเรื่อง “ถูก-ผิด ชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม” ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อีกแล้ว เพราะระบอบประชาธิปไตยมีมาตรฐานตัดสินเรื่องพวกนี้ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว

การที่บรรดานักบวชเชื่อว่าพวกตนเป็นผู้บรรลุธรรม รู้แจ้งเห็นจริงในทางศาสนา ย่อมไม่ได้แปลว่าหมดสิ้นอวิชชาในทางการเมืองแล้ว และแฟชั่นของการแสดงอวิชชาทางการเมืองของบรรดานักบวชพุทธไทย ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อทั้งต่อพุทธศาสนาและประชาธิปไตยแต่อย่างใด 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net