Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชวนดูหนังมาสเตอร์พีซ A Brighter Summer Day โดย เอ็ดเวิร์ด หยาง ถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นไต้หวันช่วงต้นยุค 60 ภายใต้สภาวะสังคมที่ยังผันผวนไม่แน่นอน ถ่ายทอดมิตรภาพ การแก้แค้น ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ความรัก ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวชุมชน ความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมภายในโรงเรียนและสังคม

A Brighter Summer Day (1991) คือหนึ่งในหนังไต้หวันที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน 2018 ซึ่งจัดตั้งแต่วันที่ 17-23 ม.ค. ที่โรงภาพยนตร์ Quartier CineArt เป็นหนังลำดับที่ 5 ใน 9 เรื่องที่กำกับโดย เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang: 1947–2007) ผู้กำกับไต้หวันที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งตั้งแต่ยุค Taiwanese new wave โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาทำ Yi Yi (2000) ทำให้เขาได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 2000

หนังของเอ็ดเวิร์ด หยาง มักมีธีมที่ตีแผ่เกี่ยวกับเมืองและชีวิตของคนในเมือง เขามีความสนใจในมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อหนังที่เขาทำ และด้วยสไตล์หนังที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาซึ่งประกอบด้วย การถ่ายแบบลองเทค การแช่กล้องนิ่ง ใช้การโคลสอัพน้อยแต่เล่นกับรายละเอียดการแสดงของนักแสดง เล่นกับพื้นที่ว่างและภูมิทัศน์เมือง ทำให้หนังเขามีความเป็นบทกวี แต่ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่เข้มข้นด้วยอารมณ์ที่ไม่ฟูมฟาย

A Brighter Summer Day ความยาว 4 ชั่วโมง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงในวัยเด็กของผู้กำกับ ถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นไต้หวันช่วงต้นยุค 60 โดยมีแบคกราวด์ของเรื่องเป็นเหตุการณ์เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถอนกำลังออกจากไต้หวัน และชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 1.5 ล้านคนอพยพมาตั้งรกรากที่ไต้หวันเพื่อหนีภัยการเมืองพร้อมกับพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองชาตินิยมที่พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน


เนื้อเรื่องนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กวัยรุ่นในยุคนั้น ภายใต้สภาวะสังคมที่ยังผันผวนไม่แน่นอน ก่อให้เกิดการตั้งแก๊งนักเลงประจำถิ่นเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย ‘เสี่ยวเซ้อ’ ตัวเอกของเรื่องวัย 14 ปี ได้เข้าไปพัวพันกับเรื่องราวความบาดหมางระหว่างแก๊งซึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘หมิง’ ผู้หญิงที่เป็นรักแรกของเขาและเป็นคนรักของหัวหน้าแก๊งของเขาเอง

เรื่องราวตีแผ่มิตรภาพ การแก้แค้น ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ความรัก ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวชุมชน ความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมภายในโรงเรียนและสังคม รวมไปถึงวัฒนธรรมอเมริกันที่เผยแพร่เข้ามาในยุคนั้น ที่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นแล้วยังวิพากษ์การเมืองในยุคสมัยนั้น ที่ไต้หวันถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร โดยนายพลเจียงไคเช็กด้วย เอ็ดเวิร์ด หยางได้สร้างรายละเอียดของเหตุการณ์ วิถีชีวิต และอารมณ์ความขมขื่น อัดอั้น โกรธแค้น บอบช้ำ ของผู้คนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในยุคสมัยนั้นไว้ได้อย่างครบถ้วน
 

ในด้านเทคนิคทางภาพยนตร์ การถ่ายภาพด้วยการใช้สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ การวางเฟรมภาพ สอดแทรกสัญลักษณ์ให้ตีความ กับบางฉากที่จงใจไม่ถ่ายโคลสอัพให้เห็นสีหน้าตัวละครแม้เป็นฉากที่เน้นอารมณ์ แต่ถ่ายภาพกว้างเพื่อให้เห็นรายละเอียดเล็กน้อยของการแสดงและการจัดวางองค์ประกอบในฉากแทน ส่งผลให้ความรู้สึกนั้นรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า เหล่านี้เรามักไม่ได้เห็นบ่อยในภาพยนตร์ทั่วไป

“Are You Lonesome Tonight” หนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาลของ เอลวิส เพรสลีย์ กับท่อนหนึ่งของเพลงที่ร้องว่า “To a brighter sunny day” แต่เกิดจากการแกะเพลงที่เพี้ยนจนได้เป็นชื่อของหนัง บทเพลงช้านุ่มนวลแฝงความหม่นเศร้าหวนถึงอดีตและความทรงจำสวยงามที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ชื่อหนัง “A Brighter Summer Day” จึงคล้ายการเสียดสี เย้ยหยันถึงชะตากรรมของเหล่าตัวละครในเรื่อง ขณะเดียวกันก็คงความหวังบางอย่างที่แม้ไม่เพียบพร้อมสมบูรณ์ แต่ “ทุกข์แค่ไหน เดี๋ยวพรุ่งนี้ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นใหม่แล้ว” คือคำพูดของคนขายเกี๊ยวในละแวกบ้านของตัวเอกที่กล่าวให้กำลังใจเขา    

เอ็ดเวิร์ด หยาง เคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ไว้ โดยส่วนหนึ่งกล่าวว่า “หนังเรื่องนี้อุทิศให้แด่พ่อและคนในรุ่นของเขาผู้ทุกข์ทรมานเพื่อให้คนรุ่นเราทรมานน้อยลง ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรื้อสร้างความจริงและฟื้นฟูศรัทธาในมนุษยชาติของพวกเรา” 

A brighter Summer Day จะฉายอีกครั้งวันที่ 22 ม.ค. ในงานเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน ที่ Quartiar CineArt รายละเอียดเพิ่มเติมที่ เพจ V.active 

ภาพประกอบจาก https://trailersfromhell.com/a-brighter-summer-day/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net