Skip to main content
sharethis
“นพ.สันต์” ชี้การล้างไตทางช่องท้องดีกับบริบทเมืองไทยในแง่ “ต้นทุน-คุณภาพชีวิต” มากกว่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และในภาพใหญ่ก็มีอัตราการรอดชีวิตยืนยาวกว่า
 
 
21 ม.ค. 2561 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน และผู้ก่อตั้ง Wellness We care Center อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี กล่าวถึงการล้างไตทางช่องท้องว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ตอบคำถามผ่านเว็บไซต์ http://visitdrsant.blogspot.com โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรายหนึ่งว่าแนะนำให้ล้างไตทางช่องท้อง (PD) มากกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) เพราะงานวิจัยผู้ป่วยประกันสุขภาพสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดพบว่าการล้างไตทางช่องท้องมีอัตราตายรวมต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แม้ว่าการวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานจะพบว่าอัตราตายของการล้างหรือฟอกทั้ง 2 แบบไม่ต่างกันแต่หากเจาะข้อมูลลึกๆเอาเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่อายุน้อยกว่า 45 ปีมาดูจะพบว่าการล้างไตทางช่องท้องมีอัตราตายที่ต่ำกว่าอยู่ดี มีงานวิจัยใหม่อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เดนมาร์คกับคนป่วย 12,095 คนก็พบว่าการล้างไตทางหน้าท้องมีอัตราตายต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในทุกกลุ่มผู้ป่วย
 
อย่างไรก็ดี ไม่สามารถสรุปได้ว่าการล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แบบไหนดีกว่ากัน เพราะงานวิจัยที่ที่ตนอ้างอิงนั้น เป็นการวิจัยติดตามดูกลุ่มคน โดยติดตามดูผู้ป่วยที่ใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีแล้วดูอัตราการเสียชีวิตเปรียบเทียบกัน แต่ไม่ใช่งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ
 
“นี่ไม่ใช่งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบแต่เป็นการวิจัยติดตามดูกลุ่มคน หมายความว่ามันมีปัจจัยกวนบางอย่างที่คัดสรรคนไปสู่การล้างทางช่องท้อง และปัจจัยบางอย่างที่คัดสรรคนไปสู่การล้างไตด้วยการฟอกเลือด ยกตัวอย่างเช่น การป่วยหนักเป็นปัจจัยไปสู่การฟอกเลือด เพราะฉะนั้นอัตราการรอดชีวิตก็ต้องสั้นกว่าการล้างไตทางช่องท้อง แต่มันสั้นเพราะปัจจัยกวนไม่ใช่สั้นเพราะวิธีล้าง นี่คือข้อจำกัดของหลักฐาน มันเป็นหลักฐานที่ไม่ใช่ระดับการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ” นพ.สันต์ กล่าว
 
นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยจะใช้วิธีการรักษาแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยที่ตนแสดงความเห็นในเว็บไซต์ดังกล่าวว่าล้างไตทางช่องท้องดีกว่า ก็เพราะคนไข้อายุยังน้อย ต้องล้างไตไปอีกหลายสิบปี ถ้าใช้หลอดเลือดตั้งแต่อายุน้อยๆ พออายุมากขึ้นก็ไม่มีหลอดเลือดจะใช้แล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในภาพใหญ่ของอัตราการเสียชีวิต การล้างไตทางช่องท้องก็มีอัตราการมีชีวิตยืนยาวกว่า หรือถ้ามองในแง่ของต้นทุน การล้างไตทางช่องท้องก็มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแน่นอน รวมทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิต การล้างทางช่องท้องก็ดีกว่าเพราะไม่ต้องมาโรงพยาบาล อยู่บ้านนอนอ่านหนังสือพิมพ์ก็ล้างทางช่องท้องได้
 
“อย่างเมืองไทยค่อนข้างแน่นอนว่าการล้างไตทางช่องท้องดีกว่า เพราะคนไข้โรคไตบ้านเราเยอะและใช้เงินมากเหลือเกิน เอาแค่มุมมองต้นทุนอย่างเดียวมันก็คุ้มแล้ว ระดับ Policy ก็หาทางมา encourage การล้างไตทางหน้าท้องมากขึ้น แต่ประโยชน์ในแง่อัตราการรอดชีวิตมันไม่สามารถพูดได้ว่าอันไหนดีกว่าอันไหน สำหรับคนไข้ก็ต้องดูบริบทของตัวเองด้วย เช่น ในแง่คุณภาพชีวิตหรือต้นทุน การล้างทางช่องท้องก็ดีกว่า” นพ.สันต์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net