Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



นับตั้งแต่คสช.ทำรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้นมา ระบบการต่อต้านคอร์รัปชันก็เปลี่ยนไปอย่างมาก การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ ถูกจำกัดลงอย่างมาก กล่าวคือ

1. ไม่มีการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งการตั้งกระทู้ การเสนอญัตติในสภา โดยเฉพาะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้แต่การตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการต่างๆ

2. การตรวจสอบโดยสื่อมวลชนทำได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะการเสนอข้อมูลหรือความเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคสช. ถูกจำกัดด้วยการควบคุมสื่อ ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งด้วยการเข้าระงับยับยั้งโดยตรงด้วยการยกเลิกรายการหรือปิดสถานีและการบีบบังคับให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง

3. การตรวจสอบโดยภาคประชาชนถูกขัดขวาง ทั้งด้วยการใช้อำนาจของคสช.ในเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองและการใช้กฎหมายอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงและกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่เป็นไปในลักษณะกลั่นแกล้งตามอำเภอใจ ดำเนินคดีทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรม

4. มีการใช้คำสั่งคสช.แต่งตั้งโยกย้ายในลักษณะลงโทษหรือให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตโดยไม่มีการสอบสวนเสียก่อน ไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจง อุทธรณ์หรือกระทั่งร้องต่อศาลปกครอง ต่อมาแม้พบว่าไม่มีความผิดก็ไม่มีการแก้ไขคำสั่งหรือเยียวยา เท่ากับทำลายระบบในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามการทุจริต จนหาหลักหาเกณฑ์อะไรไม่ได้

5. ไม่ปรากฎว่า มีการจัดระบบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่เชื่อได้ว่า จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ดีขึ้น แต่กลับมีการใช้คำสั่งคสช.ยกเว้นการรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทั้งสองอย่างแก่เจ้าหน้าที่ราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่น ในการดำเนินการที่อาจเกิดการทุจริต

ซ้ำร้ายในการดำเนินโครงการใหญ่มูลค่ามหาศาล ก็ได้มีคำสั่งคสช.กำหนดสาระสำคัญและกระบวนการทำงานของโครงการ โดยให้ยกเว้นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น


เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งต่อมาก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 แล้วรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่เรียกกันว่า องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้งที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านหรือปราบปรามคอร์รัปชันไม่มีความเป็นอิสระอีกต่อไป แม้จะยังคงมีกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่

คสช.ยังได้ออกคำสั่งที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ สั่งทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งหลาย และรายงานผลการปฏิบัติพร้อมทั้งเสนอความเห็นให้คสช.พิจารณา

คำสั่งนี้ มีลักษณะทำให้อำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับกับป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่ในมือของ คสช.อย่างสมบูรณ์


มีการตั้ง คกก.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ เมื่อ 13 ตุลาคม 2557

ต่อมา 24 พฤศจิกายน 2557 นรม. ออกคำสั่งที่ 226/2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ขึ้น ภายในสำนักงาน คกก.ปปท.เรียกโดยย่อว่า ศอตช. มีรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน เลขาธิการ ปปช.เป็นกรรมการ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นกรรมการ รวมองค์กรภาคเอกชนอีก 2 องค์กรเป็นกรรมการด้วย

อำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ พร้อมทั้งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

อำนวยการและประสานการปฏิบัติ เร่งรัด ติดตาม กำกับดูแล ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นไปอย่างบูรณาการโดยมีเอกภาพชัดเจน

ต่อมาคำสั่ง คสช.ที่ 127/2557 ลว. 15 ธันวาคม 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมาก เช่น จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสนอให้ ครม.ทราบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ติดตามประสานงานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง

คำสั่งนี้ มีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางมาก องค์กรที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธานนี้ กลายเป็นองค์กรสูงสุดในเรื่องคอร์รัปชันที่กำกับควบคุมองค์กรทั้งหลายทั้งปวง

ต่อมา มีคำสั่ง คสช.ที่ 1/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

หลังจากนั้น จะเห็นภาพการเรียก ปปช. สตง.มาสั่งการ ประสาน ร่วมประชุมเป็นว่าเล่น จนกลายเป็นระบบที่ไม่ได้อาศัยองค์กรอิสระ หรือไม่มีองค์กรอิสระที่อิสระจริง อำนาจอยู่ที่ คสช.เป็นหลัก ถัดมา คือ รัฐบาล

แต่องค์กรที่ตั้งขึ้นนี้ ต่อมาก็ไม่ได้มีบทบาทที่เป็นแก่นสารใดๆ

สำหรับ ปปช.นั้น นอกจากถูกครอบและบดบังโดยระบบและโครงสร้างไปแล้ว ปปช.เองยังถูกแทรกแซงโดย คสช.และรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย เมื่อกรรมการ ปปช.ชุดเดิมบางคนพ้นจากตำแหน่งไป ก็เกิดการสรรหาและแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นแทน ในการนี้ คสช.ได้ออกคำสั่งกำหนดให้ประธาน สนช.และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเข้าเป็นกรรมการสรรหาและต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. จนได้เป็นคณะกรรมการ ปปช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า กรรมการคนสำคัญบางคนเป็นคนสนิทของ คสช.โดยตรง

3 ปีกว่าภายใต้การปกครองของ คสช. ระบบในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้แท้จริงแล้ว ในระบบนี้ไม่มีองค์กรอิสระ หากแต่เป็นระบบที่ คสช.กำกับควบคุมได้ หรือเรียกได้ว่า รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของของคสช.อย่างสมบูรณ์ ระบบนี้อยู่ในสภาพที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ สื่อมวลชน และประชาชน

ภายใต้ระบบที่สังคมจะสามารถตรวจสอบการทำงานของ คสช.และรัฐบาลได้อย่างจำกัดมากนี้ แม้จะมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นๆ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า แท้จริงแล้วมีการทุจริตคอร์รัปชันมากหรือน้อยเพียงใด สังคมจะได้รับรู้ความจริงกัน ก็ต่อเมื่อมีระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ดีและมีประสิทธิภาพ และต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วเท่านั้น

ระบบที่การตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทำได้อย่างจำกัดนี้ จะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่ คสช.ยังอยู่ในอำนาจ

ส่วนระบบที่ถูกออกแบบไว้สำหรับอนาคตเป็นอย่างไร ไว้พูดกันในตอนต่อไปครับ


(มีต่อ...)

ที่มา: เฟสบุ๊คแฟนเพจ Chaturon Chaisang

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net