Skip to main content
sharethis

นายกสมาคมสถาปนิกสยามระบุ กทม. ไม่ฟังข้อตกลงคุยกันไว้เมื่อปีที่แล้ว ลดจำนวนบ้านอนุรักษ์เหลือ 7 หลัง อดีต กสม. เผย ทหารมาอยู่ในชุมชน 2 เดือนแล้ว ตอนแรกอ้างมาปราบการขายพลุไฟ อาจารย์ฮาร์วาร์ดระบุ กทม. ไม่ฟังเสียงผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ ประธานชุมชนป้อมฯ เผย ทุกวันนี้ถูกกดดันและอยู่ด้วยความระแวงตลอด

บรรยากาศที่ประชุม

21 ม.ค. 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการหารือร่วมกับภาคประชาสังคม ผู้สังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงอดีตตัวแทนของชุมชนป้อมมหากาฬถึงทิศทางการดำเนินการต่อสืบเนื่องจากเหตุที่กรุงเทพมหานครเตรียมเข้ารื้อบ้านหมายเลข 111 ในชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา 

เตือนใจ ดีเทศน์ ชี้ทางออกปัญหาข้อพิพาทกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า ประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬเคยมีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงเมื่อปีที่แล้วเป็นเวลาร่วมร้อยวัน ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง ซึ่งทางสมาคมฯ ก็รอ แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ และได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ ซึ่งไม่รู้ว่าบ้านที่จะคงไว้จะปล่อยให้ผุพังไปเหมือนบ้านอนุรักษ์ที่อยู่ในพื้นที่อื่นหรือเปล่า

อัชชพลระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็มีส่วนผิดที่ปล่อยให้ราชการดำเนินการไปอย่างไม่มีความรู้ เลยคิดว่าจะมีการจัดติวผู้ว่าราชการจังหวัดตามรายจังหวัดและส่วนท้องถิ่นในเรื่องการพัฒนาเมือง

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า ตนได้เดินทางเข้าไปสังเกตุการณ์พร้อมเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าชุมชนป้อมมหากาฬกำลังอยู่ใต้สถานการณ์กดดันหนักมาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามาอาศัยกลางลานด้วยเหตุผลว่าเข้ามาเพื่อจัดการการค้าขายพลุไฟ เมื่อ 15 ม.ค. ที่มีความพยายามรื้อบ้าน สื่อที่เข้ามาทำข่าวก็ถูกทาง กอ.รมน. และ กทม. ห้ามเอาไว้ ทำข่าวได้ไม่มาก สัมภาษณ์ชาวบ้านไม่ได้มาก ถ้าไม่ทำอะไรกับแรงกดดันเช่นนี้ พี่น้องก็จะแพ้ไปเรื่อยๆ

ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้สังเกตการณ์และผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ ระบุว่า กทม. ไม่สนใจความเห็นของผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ คุยกับรองผู้ว่าฯ เรื่องป้อมมหากาฬ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ถ้าคนไทยไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ก็ไม่มีความหมาย ปัญหาหลักคือการสร้างกระแสความตระหนักในประเทศไทย

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬและหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม ระบุว่า ช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมาตนอยู่กับความหวาดระแวงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว ในชุมชนป้อมฯ มีความเคลื่อนไหวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารมาประจำการในพื้นที่เพื่อปราบปรามการขายดอกไม้ไฟ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมามีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) ที่ 13/2559 ที่ใช้เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล เรียกตนเข้าไปพบกับ กอ.รมน. ประจำกรุงเทพฯ และเมื่อสองวันที่แล้วมีนายทหารไปคุยกับหญิงชราที่มีอาชีพขายของชำป้อมมหากาฬว่า ถ้าคุณไม่ย้ายออกจากที่นี่ คุณคือศัตรูของกองทัพ 

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่ กทม. พยายามเข้ารื้อบ้านหมายเลข 111 ในชุมชนป้อมฯ ธวัชชัยได้เดินทางไปยังศาลาคนเมืองเพื่อเข้าพบกับทาง กอ.รมน. หลังถูกเรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการมองหน้าเท่านั้น

อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม เห็นว่า วันนี้ป้อมมหากาฬมีความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ตามผังตอนนี้พบว่าสูญเสียไปมากไม่ว่าจะเป็นบ้านและต้นไม้ใหญ่ ทหารกับ กทม. ทำงานอย่างเข้มข้น มีลงมาแซะชาวบ้านตลอด ทำให้ชาวบ้านหลุดออกไป มีการใช้เรื่องราชพิธีมาเข้ายึดพื้นที่เพื่อเป็นห้องสุขาและลานจอดรถ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าพูดอะไร แต่พอหลังราชพิธีจบ กทม. กับ กอ.รมน. ก็เข้ามาตั้งแต่เดือน พ.ย. ทหารเข้ามาตั้งเตนท์ในชุมชนซึ่งถือเป็นภาวะไม่ปรกติ  

อินทิรากล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเข้าใจว่าความขัดแย้งในชุมชนเกิดขึ้นได้ ทะเลาะกันได้อยูแล้ว แต่ทหารกับ กทม. ใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือ ทำให้ตอนนี้ในชุมชนจัดการความขัดแย้งไม่ได้ และมีภาวะที่ไม่มั่นคงตลอดเวลา คนที่หลุดออกไปก็ไม่ต่างกับคนข้างในเพราะไม่รู้ว่าอนาคตหลังออกจากบ้านอิ่มใจ (สถานพักพิงของคนไร้บ้าน ตอนนี้ใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของชาวบ้านที่ออกจากชุมชนป้อมมหากาฬด้วย ) ที่อยู่ได้ชั่วคราว 3-6 เดือน

อัชชพลกล่าวว่า จากนี้ไปจะทำจดหมายเปิดผนึกให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเพื่อชี้แจงว่า กทม. ไม่ได้เคารพข้อตกลง 4 ฝ่ายที่ตกลงกันไว้ และเสนอแนะให้ กอ.รมน. ในชุมชนออกมาจากพื้นที่โดยด่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net