Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบบทความจาก  http://music.sanook.com/2394601/

หลังจากปาล์มมี่ปล่อยหนังสั้น “แม่เกี่ยว” และเพลงใหม่ของเธอเมื่อไม่นานมานี้ เธอได้รับคำชื่นชมในฐานะศิลปินเพลงป๊อปร็อค ที่ยกระดับความสามารถในแนวทางการร้องเพลงและระดับขั้นในการเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดบทเพลง ซึ่งมีเนื้อหาที่ยกระดับจากเพลงรักวัยรุ่น ไปสู่ประเด็นทางสังคม การมีชีวิตและการสร้างกำลังใจในการต่อสู้ดิ้นรน ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในแนวเพลงประเภทเพื่อชีวิตหรือลูกทุ่งเท่านั้น อีกทั้ง เธอยังใช้หนังสั้นแบบสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนิด ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัวชาวนายากจนในภาคอีสาน ที่ต้องดิ้นรนเดินทางเข้ามาหางานทำอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อหาเงินให้ครอบครัวหรือยายและน้องชายที่ยังรออยู่ข้างหลัง ถึงแม้ยายจะบอกเธอว่า “อย่าไป (กรุงเทพ) เลย อยู่ด้วยกันนี่แหละ ยากจนก็อยู่ด้วยกันนี่แหละ ยายจะออกไปหารับจ้าง ได้เงินมาพออยู่กินกันไป” แต่ดูเหมือน ความจนมันน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญในเมืองหลวง เรื่องราวในชีวิตของการดิ้นรนต่อสู้ของนิดจึงต้องเริ่มขึ้น ยายจึงสะท้อนภาพตัวแทนของชาวนายากจนที่ยอมจำนนและการมีชีวิตที่ล้าหลัง ในขณะที่นิด คือ ภาพสะท้อนของสาวในชนบทยุคใหม่ ที่ไม่ได้ยอมจำนนกับโชคชะตาและพร้อมที่จะเผชิญชีวิตการเป็นแรงงานในเมืองหลวง เธอยอมรับระบบคุณค่าแบบชนชั้นกลางและมองว่ากรุงเทพเท่านั้นคือทางออกของทุกสิ่ง ความก้าวหน้า การมีโอกาสและการมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย

ปาล์มมี่ได้รับคำชื่นชมและการตอบรับที่ดีจากผู้ฟังและศิลปินด้วยกันเองค่อนข้างมาก ศิลปินบางคนนอกจากชื่นชมแล้ว ก็ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมด (อาจจะเป็นเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ของผู้หญิงชนบทที่ยากจนมาก่อน) แต่ก็อยากจะลุกขึ้นมาทำเพลงแบบเธอบ้างเช่นกัน ผู้เขียนชื่นชมและฟังเพลงปาล์มมี่มาโดยตลอดตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการดนตรีและบันเทิง (กระแสหลัก) ย่อมคำนึงถึง ความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคและรายได้ที่จะกลับคืนสู่ผู้ผลิต แต่จะมีสักกี่ครั้งที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงแบบปาล์มมี่ ในฐานะไอดอลของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ที่มีสไตล์ความคิดและการใช้ชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะหยิบเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม โดยเฉพาะชีวิตของผู้หญิงชนบทที่ยากจน ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ออกมาถ่ายทอดในพื้นที่อุตสาหกรรมของวงการดนตรีบ้านเรา

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะตัดสินว่า สิ่งที่ปาล์มมี่ทำเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบหนึ่งที่ต้องการกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายมากขึ้น หรือเป็นเพราะเธอมีพัฒนาการทางด้านการดนตรีและความคิดที่สัมพันธ์กับการมีชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความคลุมเครือ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่เราก็ไม่อาจจะละเลยได้ว่า ในฐานะของศิลปินที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีอิทธิผลต่อกลุ่มผู้ฟังจำนวนมาก เรื่องราวเนื้อหาของเพลง รูปแบบดนตรีและมิวสิควิดีโอหรือหนังสั้นที่สื่อสารออกมาล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวาทกรรมความคิดแบบหนึ่งให้กับสังคมไทย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำมายาคติของ ความยากจนที่น่ากลัว ในมุมมองของคนชนชั้นกลางในอีกรูปแบบหนึ่ง

หนังสั้นเรื่องแม่เกี่ยว ได้กลายเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ช่วยตอกย้ำว่า วาทกรรมว่าด้วยความจนในสังคมไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยไปไกลกว่าเรื่องราวของการต่อสู้หรือโชคชะตาของปัจเจก เรามักจะมองว่า ความจน เป็นเรื่องของ โชตชะตาและความซวยที่เกิดมาจน หรือ กรรม มากกว่า ความจนในฐานะของการผลิตสร้างอย่างซ้ำๆ โดยชนชั้นอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมระบบโครงสร้างทางสังคมบ้านเรา 

ความจน มันดำรงอยู่จริงในสังคมไทย แต่คำถาม คือ ความจนในตัวมันเองน่ากลัว หรือถูกทำให้น่ากลัวและน่ารังเกียจ ทำไมเราต้องหาทางสู้เพื่อออกไปจากมัน หรือกำจัดมันให้สิ้นซาก และเราต้องดิ้นรนต่อสู้กับมันเพื่อนำไปสู่อะไร หรือเพื่อการมีชีวิตแบบไหน และวลีที่ว่า ความยากจนมันน่ากลัว นั้นมันถูกวัดและตัดสินมาจากอะไรและโดยใคร

เรื่องราวของแม่เกี่ยว คือ ภาพสะท้อนสังคมคนจนในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ณ ปัจจุบันแต่อย่างใด ผู้หญิงชื่อนิดเอง ก็เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงไทยจากชนบทจำนวนมากที่ต้องเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อหางานทำและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวชาวนาในชนบท แต่ปัจจุบันนี้พวกเธออาจจะไม่ได้ฝันถึงกรุงเทพในฐานะเมืองแห่งโอกาสและการมีชีวิตอีกต่อไป พวกเธอฝันไปไกลกว่านั้น ความคิดและความฝันของพวกเธอไม่ได้หยุดและแช่แข็งไว้เหมือนเมื่อสี่สิบปีที่ผ่านมา แต่มันมีความน่าสนใจที่ว่า ทำไมผู้บริโภคบางกลุ่มถึง รู้สึกและอิน กับเรื่องราวของแม่เกี่ยว ทำไมเราอยากจะเห็น ความจนที่มันน่ากลัว และการดิ้นรนต่อสู้ในแบบของนิด ที่สื่อสารโดยปาล์มมี่ ตัวแทนคนยุคใหม่ ในปี พ.ศ. 2561 อีกครั้ง

เราถูกทำให้เชื่อว่า ความจน มันเป็นเรื่องของโชคชะตาและความซวย โดยไม่ตั้งคำถามกับ อำนาจ หรือระบบโครงสร้างที่อยู่ภายใต้เรื่องเล่าเหล่านี้ เราถูกทำให้เชื่อว่า เกษตรกรยากจนเพราะฝนฟ้า มากกว่าการทุจริตและคอรัปชั่นที่ทำอย่างเป็นระบบ เราชื่นชมการดิ้นรนต่อสู้ เพราะสะท้อนถึงความไม่ขี้เกียจและนิ่งเฉย แต่ก็ปล่อยให้ระบบการทำงานและการมีงานทำยังขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ เราชื่นชมคนที่ไม่ย่อท้อในการทำมาหากินและเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็ปล่อยให้การเอารัดเอาเปรียบโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจทางเพศในรูปแบบต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ในสังคมต่อไป

เราจึงเป็นคนที่ชื่นชมและหลงใหลวาทกรรมของความจนแบบชนชั้นกลางเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงของคนจนในสังคมไทยอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าในเรื่องราวของแม่เกี่ยว และคนจนอาจจะดิ้นรนต่อสู้ในแบบที่ต่างออกไปจากความเข้าใจของเรา มีบางแง่บางมุมที่เราอาจจะไม่อยากเห็นและรับฟัง อีกทั้งบางเรื่องราว อาจจะไม่มีพื้นที่ทางสังคมแบบอื่นๆ ที่จะถ่ายทอดออกมาได้ นอกจากพื้นที่ของข่าวอาชญากรรม ที่ต้องการจะบอกว่าพวกเธอละเมิดกฎ กติกาและศิลธรรมของการมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างไร เช่น แรงงานผู้หญิงรายได้น้อยถูกจับเพราะทำแท้งและทอดทิ้งลูก หรือพวกเธอถูกข่มขืนเมื่อไปทำงานในบาร์ หรือพวกเธอถูกจับเมื่อเข้าไปอยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ เป็นต้น

ดังนั้น วาทกรรม ความจน มันจึงถูกผลิตเรื่องราวเนื้อหา ภายใต้ระบบคุณค่าและศิลธรรมแบบชนชั้นกลางเสมอมา เช่น ‘ถึงคุณจะจน แต่คุณก็ต้องสู้แบบมีศักดิ์ศรีนะ อย่าปล่อยให้ผู้ชายลวนลามและอย่าขายตัว ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง แม้จะไม่มีกิน’ อีกทั้ง ยังเป็นการบอกอย่างอ้อมๆ อีกว่า กรุงเทพมหานคร เท่านั้นคือคำตอบของทุกสิ่ง อย่าได้จินตนาการที่ไปไกลกว่านั้น ทั้งๆ ที่คนจนจากชนบทในปัจจุบัน นึกถึงการไปขายแรงงานในเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ มากกว่าจะไปขายแรงงานในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนไทย (ชนชั้นกลาง) ด้วยกันเอง ดูถูกดูแคลน กดขี่เอารัดเอาเปรียบ ค่าแรงน้อยนิดและมองไม่เห็นอนาคต เหมือนดั่งเช่นที่ผ่านๆมา พวกเขาและเธอฝันถึงการมีชีวิตที่ไปไกลกว่าที่เราคิด พวกเขาและเธอเรียนรู้ที่จะมีชีวิตมากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ดังนั้น ผู้หญิงชื่อนิด จึงเป็นเพียงจินตนาการของผู้หญิงชนบทที่ยากจน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของคนชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

หนังสั้นเรื่อง แม่เกี่ยว จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนความเข้าใจของ ความจนที่มันน่ากลัว ในมุมมองของคนบางกลุ่มบางชนชั้นในสังคมไทย ที่ต้องการจะลบเนื้อหาของระบบโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและการเอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นไว้ใต้ผืนเสื่อ และแปลงมันออกมาเป็นเนื้อหาในรูปแบบเพื่อการบันเทิงและเป็นความจนที่สามารถเข้าใจได้และหาทางออกในตัวมันเองได้ เราจึงเป็นผู้บริโภคที่ต้องการเห็นและเพลิดเพลินไปกับการมีชีวิตของคนจนที่สามารถดิ้นรนต่อสู้ ภายใต้บทและกฎกติกา ที่เราเขียนและออกแบบมาให้เท่านั้น

ครอบครัวชาวนายากจนในชนบท อาจจะมองเห็น ความจน ในฐานะของ การมีชีวิตอยู่จริงท่ามกลางการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และการถูกเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน คนกลุ่มนี้ล้วนเผชิญกับ มายาคติที่ส่งออกมาจากวาทกรรมของชนชั้นกลางจากกรุงเทพเสมอมาว่า ความจนนั้นน่ากลัวและน่ารังเกียจ แต่หากคุณไม่เกียจคร้าน หรือ หากคุณลุกขึ้นมาสู้ ใช้แรงงานและสองมือของตัวเอง มันจะมีทางออกในตัวมันเองเสมอ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ความจน มันยังคงดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไปในทุกๆ วัน มันคือความจริงที่แฝงฝั่งอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและชีวิตประจำวันของกลุ่มคนเหล่านี้ มันมีแต่อุปสรรคที่ไม่สามารถดิ้นรนต่อสู้ไปได้โดยง่ายเมื่อไม่มี ทุนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจใดๆ เข้ามาสนับสนุน  ดังนั้น จุดที่ถูกให้ความสำคัญและหยิบยกมาเล่าเพื่อตอกย้ำว่า ความจนมันน่ากลัว จึงเกิดขึ้นจากมุมมองและการผลิตสร้างที่ไม่ได้มาจาก คนที่ต้องเผชิญกับความจนเหล่านั้นในชีวิตจริง

ดังนั้น หนังสั้นเรื่องแม่เกี่ยว จึงเป็นการนำเรื่องเล่าที่อ้างชีวิตของคนจน โดยเลือกบางช่วงบางตอน และตัดบางช่วงบางตอน เพื่อนำมาประกอบเป็นเรื่องเล่าหลักภายใต้มุมมองของผู้ผลิต เพื่อตอบสนองผู้บริโภคชนชั้นกลาง เพิ่มเทคนิคเสียงและการถ่ายภาพที่สวยงาม และถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินไอดอลยุคใหม่ กระบวนการทั้งหมดทำให้ ผู้บริโภคสามารถอินหรือเข้าถึงเรื่องราวเนื้อหาของความจนในแบบที่ยอมรับร่วมกันในกลุ่มชนชั้นของตัวเอง ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญว่า วาทกรรมความจนมันจะจริงหรือไม่ก็ตาม หรือตนเองจะมีชีวิตแบบนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่นั้นเป็นสิ่งที่รับรู้และยอมรับร่วมกัน หรือเข้าใจร่วมกันว่า มันมีความจนที่น่ากลัวอยู่ ที่เราต่างต้องยึดถือร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จึงไม่สำคัญว่ามันเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยหรือดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างเนินนานแบบไหนก็ตาม แต่เราต้องการมองเห็นและชื่นชมความหมายในแบบที่ถูกผลิตมาจากอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งผลิตโดยมุมมองของคนบางกลุ่มบางชนชั้นเท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อว่า หากให้ คนจนในสังคมไทย ผลิตวาทกรรมความจนแบบที่ตัวเองต้องเผชิญบ้าง มีพื้นที่ในการสร้างเรื่องเล่าแบบของตัวเอง ถ่ายทอดจากมุมมองของตัวเอง เรื่องเล่าของคนกลุ่มนี้อาจจะไม่สวยงามและอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็นและรับฟัง เพราะมันอาจจะไม่บันเทิงอย่างที่เราอยากจะควักเงินเพื่อไปบริโภคมันด้วยซ้ำ สุดท้ายเราก็อาจจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความจนมันอาจจะมีอยู่และน่ากลัวจริงๆ แต่ก็ต้องเก็บ ความจริง ของสิ่งเหล่านี้ไว้ใต้พรม และ อย่าไปคิดมาก อย่าไปตั้งคำถามมาก (เพราะมันจะไปท้าทายอำนาจของคนบางกลุ่มในสังคมไทยหรือมันอาจจะอันตรายเกินกว่าจะตั้งคำถาม) เราต้องมองมันเป็นเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น และเราต้องอยู่ในฐานะผู้ดูหรือผู้บริโภค ที่ปล่อยให้คนจนในสังคมบ้านเราปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนต่อสู้และเล่นบทที่เราเป็นผู้กำกับและเขียนบททางศิลธรรมให้เท่านั้นก็พอ



เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

1. ยศ สันตสมบัติ. 2535. แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

2. Bourdieu, Pierre. 1984. Distinction: A social critique of the judgement of taste. Cambridge: Harvard University.

3. Chakrabarty, Dipesh. 2000. Provincializing Europe: Postcolonial Thought and Historical Difference. Princeton: Princeton University Press.  

4. Chatterjee, Partha. 2001. ‘Democracy and the violence of the state: a political negotiation of death.’ in Inter-Asia Cultural Studies. 2(1): 7-21.     

5. Gilroy, Paul. 1993. ‘“Jewels Brought from Bondage”: Black Music and the Politics of Authenticity.’ In The Black Atlantic: Modernity and Double Consciousness. Cambridge: Harvard University Press. 

6. Mills, Mary Beth. 1997. ‘Contesting the Margins of Modernity: Women, Migration, and Consumption in Thailand.’ American Ethnologist. 24(1): 37-61.  

7. Mills, Mary Beth. 2003. Thai Women in the Global Labour Force: Consuming Desires, Contested Selves. New Brunswick: Rutgers University Press.

8. Thongchai Winichakul. 2010. ‘The “germs”: the reds’ infection of the Thai political body’, published online on New Mandala (http://www.newmandala.org/thongchai-winichakul-on-the-red-germs/).


หมายเหตุ: เนื้อหาที่ใช้ในการเขียนบทความชิ้นนี้อ้างอิงมาจาก หนังสั้นเรื่อง "แม่เกี่ยว" 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net