Skip to main content
sharethis

ในละครไทยแม้จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งในแง่โปรดักชั่น เนื้อเรื่อง ความกลมของตัวละคร แต่ดูสักหน่อยก็พอแยกออกว่าใครนางเอก ใครนางร้าย คนนี้ดี คนนั้นเลว ในขณะที่ซีรีส์ต่างประเทศไปไกลกว่าคำว่าดี-ชั่ว ไปสู่ตัวละครสีเทา ไม่มีใครดีในทุกด้าน เลวในทุกด้าน ดี-ชั่วผสมรวมในมนุษย์คนเดียว ไปสู่ความสมจริงของเรื่องราว ปัญหา อุปสรรคถาโถมเหมือนอย่างชีวิตเราๆ แล้วทำไมละครไทยถึงหนีไม่พ้นเรื่องความดี ความเลว บรรทัดฐานความดีของเรามันคืออะไร?

หากจะบอกว่าวัฒนธรรมไทยคือวัฒนธรรมที่เชื่อใน ‘ความดี’ ก็คงไม่ผิดนัก และความดีที่เราพร้อมจะเชื่ออย่างไม่ตั้งคำถาม ไม่ต้องการพิสูจน์หรือตรวจสอบก็หนีไม่พ้นความดีที่ผูกโยงกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สามสถาบันนี้อาจเรียกว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ หากเราจงรักภักดีและทำเพื่อสามสิ่งนี้ เราจะกลายเป็น ‘คนดี’ ในสังคมไปโดยปริยาย

“ละครก่อร่างสังคมและสังคมก็ก่อร่างละคร” คือบทสรุปส่วนหนึ่งจากการคุยกับ พรรณิการ์ วานิช พิธีกรรายการ Tonight Thailand ช่องวอยซ์ทีวี ผู้สนใจในวัฒนธรรมและละครไทยร่วมสมัย ประชาไทชวนเธอคุยถึงวัฒนธรรมการให้คุณค่า ‘ความดี’ ที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม ส่งผลให้ละครไทยยังไปไม่สุด ก้าวไม่พ้นกับดักของความดี และเธอเชื่อว่าหากละครไม่แบ่งตัวร้าย ตัวดี สังคมจะมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้นและตั้งคำถามมากขึ้น


ความดีในสังคมไทยถูกผูกโยงกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์

พรรณิการ์ เริ่มจากการอธิบายว่า ความดีในสังคมไทยถูกผูกติดกับความเชื่อ ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบอยู่แล้วในตรรกะของ ‘ความดี’ ในสังคมไทย สังเกตว่าทุกอย่างที่ยึดโยงอยู่กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีรากฐานมาจากสามสิ่งนี้หรืออ้างตัวว่าทำเพื่อสามสิ่งนี้ เท่ากับความดีหรือคนดี สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันทหารบอกว่าตัวเองเป็นสถาบันที่รับใช้กษัตริย์ จึงเป็นสถาบันที่ดีและมีความจำเป็นอยู่ ความดีแบบนี้จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร

การเป็นวีรบุรุษก็คล้ายๆ แบบนั้น พรรณิการ์ชี้ว่า วีรบุรุษกลายเป็นคนที่ทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าทำเพื่อสิ่งเหล่านี้ หรือถือกำเนิดขึ้นมาจากสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือ ‘คนดี’ หรือเมื่อพูดถึงการศึกษา การเรียนประวัติศาสตร์ของไทยก็ผูกติดอยู่กับความเชื่อแบบนี้ การท่องจำและเชื่อฟังเป็นสิ่งที่เป็นรากฐานของการศึกษาไทย ไม่ใช่การตั้งคำถาม จริงๆ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับอะไรเลยด้วยซ้ำ เราแค่ถูกโปรแกรมมา สิ่งนี้คือความดี ก็คือจบ

พรรณิการ์กล่าวต่อว่า คนที่เชื่อเขาอาจจะบอกว่า นี่ก็พิสูจน์แล้วว่าเขาทำให้กับสถาบันเหล่านี้ คือพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นคนดี เป็นการพิสูจน์ในตรรกะแบบไทยๆ และถ้ามีใครลุกขึ้นมาอยากพิสูจน์ คนคนนั้นคือคนที่บ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะคุณไปตั้งคำถามกับสิ่งที่ดีเหล่านั้น มันจึงเป็นกลไกปกป้องตัวเอง คุณตั้งคำถามไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้

คำว่า ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ มันถูกทำให้เป็นการเมือง (Politicize) เพื่อเป็นตัวอ้างอำนาจของเผด็จการ เป็นการหยิบคำมาใช้โดยตั้งใจ เพราะเขารู้สึกว่า ‘ความดี’ คนไทยทุกคนยอมรับได้มากกว่าประชาธิปไตยซึ่งยังเป็นสิ่งใหม่กว่าในสังคม และเพราะมันไม่มีสิ่งอื่นที่จะสร้างความชอบธรรมได้เท่ากับคำนี้ ความดีเป็นนามธรรม

“คนดีคือคนที่ทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าคนดีปกครองถึงแม้จะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยมันก็ดี เพราะถ้าคนดีปกครองเขาก็จะรู้ว่าอะไรดีสำหรับทุกคน หลักแบบนี้อ้างอิงกันในกองทัพ รวมถึงคณะรัฐประหารในทุกยุค สืบทอดต่อมาถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุณทำเพื่อชาติ เพื่อพระมหากษัตริย์ และมันก็เป็นคำอธิบายในตัวเองว่าสิ่งนี้ดีแล้ว ถามว่ามีคนที่เชื่อไหมก็มี มีคนที่ไม่เชื่อไหม ตอนนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตรรกะนี้ก็ยังเป็นตรรกะที่ถ้าคุณตั้งคำถามเยอะๆ มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง เพราะคุณท้าทายคุณค่าหลักของสังคม” พรรณิการ์กล่าว
 


คนไทยอาจตั้งคำถาม ‘ความดี’ กับตัวบุคคล แต่ไม่ตั้งคำถามกับตัวสถาบัน

พรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตต่อว่า ถ้าคุณเป็นปัจเจกที่ไม่ยึดกับคุณค่าความดีเชิงสถาบัน ในสังคมไทยคุณต้องพิสูจน์ตัวเองหนักมากว่าเป็นคนดี คุณถึงจะอยู่รอดปลอดภัยในสังคมนี้ ในขณะที่ถ้าคุณอ้างความดีในเชิงสถาบันคุณอาจจะถูกตั้งคำถามน้อยกว่า แต่ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองในความเป็นปัจเจกของคุณ ถ้าคุณพิสูจน์ความดีตัวเองไม่ได้ การผูกโยงกับสถาบันก็อาจจะไม่ช่วยอะไร

เช่น การที่ประวิตร วงษ์สุวรรณอยู่ใน คสช. ก็ไม่ได้ทำให้ประวิตรมีภาพลักษณ์ที่ดี เหมือนกับการที่คนตั้งคำถามกับวัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของประวิตร มาก่อนได้รับเลือกเป็นประธาน ป.ป.ช. การที่วัชรพลอยู่ใน ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ทำให้วัชรพลมีภาพลักษณ์ปราบคอร์รัปชัน แต่ทั้งนี้คนก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับทั้ง ป.ป.ช. และ คสช.

คนทั่วไปคิดว่า ป.ป.ช. ปราบปรามการทุจริตซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายชาติและทำให้ประเทศไม่พัฒนา มีใครไหมที่ตั้งคำถามกับ ป.ป.ช. ว่า โครงสร้างองค์กรของ ป.ป.ช. มีความเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยมาก มีสิทธิไหมที่จะไปตรวจสอบคนอื่น มันก็ไม่มีใครตั้งคำถามอะไรแบบนี้ เราถูกปลูกฝังวิธีคิดนี้ตั้งแต่เด็ก เป็นลักษณะของสังคมไทย ดูส่วนย่อยมากกว่าเชิงโครงสร้าง สถาบันยังเป็นสิ่งที่ดีงามบริสุทธิ์ แตะต้องไม่ได้
 


ละครไทยยังก้าวไม่พ้น ‘ความดี’

พรรณิการ์กล่าวเชื่อมโยงว่า เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องความดีในละครไทย หนังหรือละครจึงมักผูกติดอยู่กับสามสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เช่นละครพีเรียดก็ชัดเจนมากว่าสถาบันกษัตริย์ดี หรือความดีทางศาสนา ทำกรรมดีย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว คนที่ชั่วสุดท้ายแล้วก็จะได้รับผลกรรม อันนี้ก็เป็นสิ่งผลิตซ้ำในละครไทย

แต่ขณะเดียวกันแก่นหลักของละครไทยอีกอย่างสำหรับตัวพระเอกนางเอกคือ ต้องเป็นคนดีและต้องพิสูจน์หรือผ่านบททดสอบต่างๆ ให้คนอื่นเห็นว่าเป็นคนดี แต่บททดสอบหรือการพิสูจน์คนดีที่ว่านี้มันคนละเรื่องกับค่านิยมความดีในเชิงสถาบัน ความดีในเชิงสถาบันยังถูกคงไว้ไม่ต้องพิสูจน์หรือตั้งคำถาม

พรรณิการ์ชี้ว่า ความดีอีกอย่างของละครไทยคือความดีจากชาติกำเนิด

"ถ้าเป็นในละครหรือหนังอาจจะพยายามหักมุมว่า คนนี้ถึงเขาจะจน โตในสลัม มีแม่เป็นโสเภณี แต่เขาก็เป็นคนดี สิ่งนี้ดูเหมือนจะพยายามบอกว่าคนดีไม่เกี่ยวกับชนชั้น แต่ในความเป็นจริงคือถึงจะจนหรือไม่จนก็ไม่เกี่ยวกับความเป็นคนดี ทำไมถึงต้องเน้นว่าเขาจน มีแม่เป็นโสเภณี แต่เขาก็เป็นคนดี มันเป็นการบอกว่าใน norm ปกติของสังคมไทย ความดีมันเกิดจากชนชั้นที่ไม่ใช่ชนชั้นล่าง แต่ละครพยายามจะบอกว่าถึงเขาจะเป็นชนชั้นล่างเขาก็เป็นคนดีได้นะ

“มันไม่มีเรื่องไหนเลยที่เป็นคนเลวแล้วจะประสบความสำเร็จขึ้นมา หรือทำให้เป็นตัวละครที่กลม เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมี ละครพัฒนาขึ้น พยายามทำให้ตัวร้ายกับตัวดีมีความร้ายและดีผสมกันมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่มันยังไม่ถึงจุดที่จะพ้นไปจากความดี ถ้าไปดูซีรีส์ฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือยุโรป เรื่องมันมีอะไรที่มากไปกว่าตกลงคนนี้เป็นตัวดีหรือตัวร้ายเยอะมาก คุณไม่สามารถพูดได้ด้วยซ้ำว่าตัวนี้เป็นตัวละครดีหรือตัวละครร้าย แต่ถ้าในละครไทยคุณยังแยกได้อยู่ว่า อันนี้ตัวดี อันนี้ตัวร้าย มันค่อนข้างชัดเจน ยังมีการแบ่งแบบนี้อยู่ตามขนบธรรมเนียมไทย” พรรณิการ์กล่าว


ละครก่อร่างสังคม สังคมก็ก่อร่างละคร

พรรณิการ์เห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่ละครจะก่อร่างสังคม แต่ขณะเดียวกันสังคมก็ก่อร่างละคร เพราะละครมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น ละครอาจสะท้อนสังคมก็จริง แต่ละครก็คือการผลิตซ้ำ อาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในสังคม แต่พอละครเอามาทำมากขึ้น คนดูก็จะเริ่มเกิดอุปาทานหมู่ รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เริ่มรู้สึกอิน

อย่างเรื่องที่ทำให้เกิดการถกเถียงได้ยิ่งโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย คือเรื่อง ‘ข่มขืนเท่ากับประหาร’ จากละครเรื่อง ‘ล่า’ มีการสร้างกระแสอย่างหนักว่าข่มขืนคือสิ่งที่เลวร้าย แน่นอนว่าคือสิ่งเลวร้าย แต่มันนำไปสู่ความคิดว่าคนที่ทำอะไรแบบนี้ต้องได้รับโทษที่สาสมคือการประหารชีวิต ผู้จัดละครอาจต้องคิดให้มากขึ้น เพราะมันสามารถก่อร่างกระแสสังคมได้จริง แม้มันจะเป็นแค่ช่วงหนึ่งก็ตาม แต่ก็ทำให้คนมีทัศนคติไปอีกแบบหนึ่งได้

หรือเรื่อง ‘รากนครา’ ก็ต้องระวังเรื่องที่จะไปกระทบทัศนคติที่ไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปกติก็ไม่ดีอยู่แล้วให้มันแย่ลงหรือเปล่า รวมถึงความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านหากเขาดูละครเรื่องนี้ ละครไทยที่ทำเกี่ยวกับพม่าทุกเรื่อง ก็ยังจะเห็นพม่าเผาเมือง พม่าแย่ พม่าเลว ในขณะที่ตอนนี้เรามีคนพม่ามากมายในสังคมไทย เขารู้สึกดีกับเรา แต่เราก็กลับจะรังเกียจเขา แต่ก็เห็นเขาพยายามแก้ไข ไม่ได้ด่าพม่าอย่างเดียว แต่สุดท้ายเราก็ยังเห็นสารเดิมๆ คือพม่าเผาเมือง
 

ละครยังผูกติดกับยุคสมัย แต่พยายามสะท้อนความจริงมากขึ้น

พรรณิการ์เห็นว่าละครยังผูกติดกับยุคสมัย อยู่ที่อารมณ์ของสังคมในช่วงนั้นๆ ว่าอินเรื่องอะไร เหมือนที่เขาจับผิดกันว่าทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารก็จะเอาผู้กองยอดรักกลับมาทำ ซึ่งเป็นเรื่องจริง ต้องมีการทำละครบางอย่างที่ทำให้รักทหาร
“ยุคที่ประชาธิปไตยเจริญ ละครก็เจริญมากนะ ละครมันเปรี้ยว มันแรง มีการกัดแซะสังคม อย่างละครเอ็กแซ็กท์ช่วงแรกๆ ช่วงปี 40 ที่เศรษฐกิจล่มสลายแต่ประชาธิปไตยเจริญมาก ประชาสังคมมีบทบาทเยอะ ละครมันก็ค่อนข้างตีแผ่อะไรเยอะพอสมควร” พรรณิการ์กล่าว

แต่ขณะเดียวกันเธอเห็นว่า คุณูปการหลักของการมีทีวีดิจิทัลคือทำให้ละครไทยพัฒนา เพราะพอมี 20 กว่าช่อง แทนที่จะมีแค่ 2-3 ช่องที่ทำละคร ก็เกิดต่อสู้กันมากขึ้น รวมกับอิทธิพลของซีรีส์ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกัน อังกฤษ เมื่อคนไทยชอบดูซีรีส์เหล่านี้ คนทำละครไทยก็ต้องตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่าทำยังไงให้คนมาดูละครไทยมากขึ้น เพราะละครผลมีผลตอบแทนมหาศาล มูลค่าทางการตลาดสูง คนพร้อมจะทำอะไรเพื่อให้คนมาดูละครของตัวเอง จุดนี้ทำให้ละครไทยพัฒนาก้าวกระโดดมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ละครในปัจจุบัน เป็นละครที่พยายามจะสะท้อนความจริงของสังคมมากขึ้น ละครสมัยก่อนก็มีอยู่บ้าง แต่โดยองค์รวมละครส่วนใหญ่จะเป็นขนบแบบลิเก เพราะคือสิ่งที่คนดูอยากจะดู อยากจะเป็น เช่นพระเอกต้องรวยและสุดท้ายก็ได้แต่งงานกับนางเอก เหมือนเป็นความฝันของคนดูว่าฉันรวยแบบนี้ อยากเดินช้อปปิ้งสวยๆ แต่หลังๆ มาละครมันคือสิ่งที่เราเป็น มันจริงขึ้น เป็นไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันมากขึ้น มีเรื่องที่มันเคยเกิดขึ้นในชีวิตเรา มันสัมผัสกับคนดูมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นลักษณะที่เป็นปัจเจกนิยม มนุษยนิยมมากขึ้น

แต่ทั้งนี้พรรณิการ์เห็นว่าไม่สามารถพูดโดยองค์รวมได้ เพราะค่ายแต่ละค่าย ผู้จัดละครแต่ละคนก็มีวาระทางการเมืองต่างกัน มีทั้งคนที่อยากสะท้อนอะไรใหม่ๆ และคนที่ยังยึดกับคุณค่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพียงแต่ก็เป็นที่รู้กันว่าทางไหนมีมากกว่า ซึ่งก็คือทางที่นำไปสู่จุดเดิม คือทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าไม่พูดถึงเรื่องวาระทางการเมือง ดูเรื่องโปรดักชั่นและเนื้อหา ก็พัฒนาในแง่ที่ทำให้ตัวละครเป็นคนจริงๆ มากขึ้น
 

ละครที่ไม่แบ่งตัวร้ายตัวดี สังคมจะ liberal มากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น

เมื่อถามถึงละครที่อยากให้มีในสังคมไทย พรรณิการ์ตอบว่า ละครที่อยากให้เกิดขึ้นมาอีกคือเรื่องของคนธรรมดา
“คนอย่างมอเตอร์ไซค์วินอยู่กับแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง แล้วก็ยังเป็นแม่ค้าลูกชิ้นปิ้งกับมอเตอร์ไซค์วินอยู่แบบนั้น เราอยากเห็นละครแบบนั้น ละครคือชีวิต แล้วชีวิตก็ดำเนินไป มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงเรื่องที่เป็นมอเตอร์ไซค์วิน แต่จริงๆ แล้วเป็นลูกเจ้าพระยาที่พลัดพรากมา หรือเป็นแม่ค้าลูกชิ้นปิ้ง แต่มีผู้ชายรวยๆ มาชอบ ฝ่าฝันอุปสรรคสุดท้ายได้แต่งงานกัน แล้วกลายเป็นคนรวยไปในท้ายที่สุด

“หรือละครที่เกี่ยวกับอาชีพมากขึ้น เปิดโลกทัศน์ให้คนดูได้เห็นอาชีพแบบนั้น แบบนี้เป็นยังไงมากขึ้น แล้วยิ่งให้คนธรรมดามาเป็นตัวละครเอก ให้เขากลม มีดีบ้าง เลวบ้าง ไม่แบ่งตัวร้าย ตัวดี มันก็ยิ่งทำให้สังคมมัน liberal มากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น อันนี้ดีจริงเหรอ อันนี้ชั่วจริงไหม แล้วการผูกติดอยู่กับการแบ่งดี แบ่งชั่วก็จะน้อยลง ละครจะช่วยได้เยอะที่สะท้อนว่าคนเรามีทั้งจุดที่ดีและไม่ดี” พรรณิการ์กล่าว


โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการพัฒนาละคร ละครไม่ผูกติดกับยุคสมัยเกินไป

พรรณิการ์มองว่าโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนดู อาจจะมีทั้งความเห็นในทางดีและไม่ดี แต่สุดท้ายจะเกิดการถกเถียงและนำไปสู่อะไรใหม่ๆ ได้

“อย่างเราดูศรีอโยธยาก็จะชอบนั่งดูในยูทูบเพราะมีคอมเมนต์สนุกมาก แล้วเราก็ได้ความรู้ใหม่เยอะมากจากคอมเมนต์ เราได้เห็นว่าคนในสังคมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องสถาบัน เรื่องไทยพม่า เป็นมิติการดูละครที่ดีขึ้น จากเดิมที่เรานั่งดูที่บ้าน เราก็ไม่รู้ว่าใครคิดยังไง แต่พอมันมีการคุยกัน คอมเมนต์กัน มันทำให้ละครพัฒนาขึ้นไปเยอะ ถึงจะมีคอมเมนต์ป่วงที่แสดงความไม่เข้าใจอะไรอยู่เยอะ แต่คุยกันไปเรื่อยๆ เราคิดว่ามันก็ดีกว่าไม่มีการจุดประเด็นในการพูดคุยกันเรื่องพวกนี้ในสังคมเลย” พรรณิการ์กล่าว

และเมื่อมีการแสดงความเห็นอย่างมากมายในโซเชียลมีเดีย พรรณิการ์มองว่าทำให้ผู้จัดละครพัฒนาละครให้มีคุณภาพ ถูกใจคนดูมากขึ้น ทั้งเรื่องโปรดักชั่นและเนื้อเรื่อง โดยที่อาจจะไม่ผูกติดกับยุคสมัยจนเกินไป นอกจากวาระทางการเมืองส่วนตัว หรืออาจถูกขอมาจริงๆ

“ยิ่งมีโซเชียลมีเดียแบบนี้เสียงของคนดูก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เช่น จะสังเกตว่าละครเดี๋ยวนี้ทุ่มเรื่องคอสตูม เสื้อผ้าหนักมาก โดยเฉพาะละครพีเรียด เพราะสิ่งที่คนดูคอมเมนต์หนักมากก็คือเสื้อผ้า หรือกระทั่งการถกเถียงเรื่องเนื้อหา คนดูไม่ได้เหมือนสมัยก่อนที่ดูอย่างเดียว มีการออกมาจับผิดกันเป็นเรื่องเป็นราว เราคิดว่าก็ทำให้ผู้จัดระมัดระวังมากขึ้น” พรรณิการ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net