Skip to main content
sharethis

ผู้ก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิสตรีและนักเขียนอินเดียระบุ กระแสรณรงค์ #Metoo ไปไม่ถึงเซ็กส์เวิร์คเกอร์ที่มีกว่า 20 ล้านคน ซึ่งกว่า 16 ล้านคน อยู่ในวังวนของขบวนการค้ามนุษย์ และผู้หญิงในวรรณะจัณฑาลที่มักจะเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศจากวรรณะที่สูงกว่า

ที่มาภาพประกอบ: Wolfmann (Own work) [CC BY-SA 4.0], via Wikimedia Commons

ประเทศอินเดียก็เป็นประเทศหนึ่งที่กระแส #Metoo จุดประกายให้ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานในภาคเอกชนและผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Bollywood แต่มีการตั้งคำถามว่าการรณรงค์นั้นไม่ได้มีการพูดถึงผู้หญิงยากจนที่ทำงานนอกระบบเศรษฐกิจ อย่างผู้ให้บริการทางเพศที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และผู้หญิงในวรรณะที่ต่ำอย่างจัณฑาล

“มันเป็นแคมเปญที่ยอดเยี่ยม ที่ทำให้ผู้หญิงมีปากมีเสียง แต่ถึงอย่างไรเสียงของพวกเธอเหล่านั้นก็มีผู้รับฟังอยู่แล้ว” รุจิรา กัปต้า ผู้ก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิสตรี Apne Aap Women Worldwide กล่าวถึงกระแส #Metoo ในประเทศอินเดีย

“แล้วเสียงของผู้หญิงที่ทำงานให้บริการทางเพศ พวกเธอถูกละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศ แต่เมื่อพวกเธอถูกเรียกว่า ผู้ให้บริการทางเพศ (Sex workers) เหมือนบอกเป็นนัยว่าพวกเธอทำไปโดยไม่มีทางเลือก แล้วพวกเธอจะพูดว่า Metoo ได้ไหม”

นอกจากนั้นเธอยังข้อมูลว่าในอินเดียมีผู้หญิงให้บริการทางเพศอยู่ประมาณ 20 ล้านคน โดยมีถึง 16 ล้านคน ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

หลายคนมาจากภูมิภาคที่ยากจน ถูกล่อหลอกด้วยคำสัญญาที่จะมีงานที่ดีหรือได้แต่งงาน แต่ต้องลงเอยโดยการถูกขายที่ซ่องโสเภณี แต่ทางการอินเดียกลับทำได้เพียงตั้งสายด่วนและแอพพลิเคชั่นให้ความช่วยเหลือ

“ถามจริงผู้หญิงที่จะถูกข่มขืนหรือถูกคุมขัง จะเอาเวลาที่ไหนไปโหลดแอพ” รุจิรา กัปต้า กล่าว

นอกจากนั้นแล้วแคมเปญ #Metoo ก็ไม่ได้รวมไปถึงคนทำงานหญิงในวรรณะจัณฑาล ที่มักจะเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศจากนายจ้างวรรณะที่สูงกว่า สุจันทา กฤธรา นักเขียนจากวรรณะจัณฑาล ที่เขียนหนังสือเล่าเกี่ยวกับการล่วงละเมิดที่เธอได้เจอในทางตอนใต้ของอินเดีย ทั้งนี้เมื่ออ้างตามรายงานของทางการอินเดีย พบว่ามีการร้องเรียนเรื่องการคุกคามทางเพศในผู้หญิงวรรณะต่ำสูงถึงเกือบ 41,000 ครั้ง ในปี 2560 ที่ผ่านมา หรือมีการคุกคามทางเพศ 5 ครั้งในทุก ๆ ชั่วโมง

“ผู้หญิงมากมายออกไปที่ถนนในอินเดียเพื่อประท้วงการคุกคามทางเพศ จากกรณีที่กลุ่มผู้ร้ายข่มขืนหญิงอายุ 23 บนรถประจำทางในกรุงเดลี แต่การเรียกร้องให้ความสำคัญเพียงแต่เรื่องในเมืองเท่านั้น ทั้งที่การคุกคามส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท” สุจันทา กฤธรา ระบุ

“ผู้หญิงจัณฑาลในเมืองเล็ก ๆ ถูกคุกคามและข่มขืนเป็นประจำ แล้วไหนล่ะ #Metoo ที่พูดถึงพวกเธอ?”

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
#MeToo campaign excludes India's sex workers, lower caste women (IOL, 18/12/2017)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net