Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ชาวอินเดียจำนวนหลายล้านคนที่เพิ่งสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก พวกเขาก็สร้างความฉงนให้กับนักวิจัยบริษัทไอทีอย่างกูเกิลที่ไม่เข้าใจว่าทำไมสมาร์ตโฟนของชาวอินเดียจำนวนมากถึงเกิดอาการค้าง และมีผู้ใช้ 1 ใน 3 ที่ใช้พื้นที่สมาร์ตโฟนจนหมดทุกวันๆ จนกระทั่งในที่สุดพวกเขาก็พบคำตอบว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้มาจากการโพสต์ "สวัสดีตอนเช้า" ของชาวเน็ตทั้งหลายนี่เอง

24 ม.ค. 2561 กูเกิลพบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอินเดียจำนวนมากนิยมส่งรูปภาพพร้อมคำว่า "สวัสดีตอนเช้า" ในเวลาเดียวกันจำนวนมากซึ่งมักจะมาพร้อมกับรูปอย่างดอกไม้ เด็กทารกน่าเอ็นดู รูปนก พระอาทิตย์ตกดิน กับคำให้กำลังใจ ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมือใหม่เหล่านี้จะส่งให้ผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ช่วงก่อน 8 โมงเช้าไปให้กับเพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า

วอลสตรีทเจอนัลระบุว่ามีผู้ค้นหาทางกูเกิลด้วยคำว่า "รูปภาพสวัสดีตอนเช้า" เพิ่ม 10 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่เน้นการค้นหารูปภาพอย่าง Pinterest ก็เพิ่มเติมหมวดใหม่สำหรับรูปภาพพร้อมคำพูดโดยเฉพาะซึ่งมีคนในอินเดียดาวน์โหลดรูปเหล่านี้เพิ่มขึ้น 9 เท่าในช่วงปี 2560

บริการส่งข้อความ WhatsApp ของเฟสบุ๊คมีผู้ใช้รายเดือนที่เป็นชาวอินเดียถึง 200 ล้านราย ทำให้ประเทศอินเดียกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแอปพลิเคชันนี้ เฟสบุ๊คจึงเพิ่มระบบสเตตัสแมสเสจเพื่อให้ผู้ใช้เหล่านี้สามารถส่งข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" ถึงผู้รับในรายชื่อทั้งหมดพร้อมๆ กันทุกวัน

วอลสตรีทเจอนัลยกตัวอย่าง หนึ่งในผู้ใช้สมาร์ตโฟนอายุ 71 ปี ชื่อ เดช ราช ชาร์มา มักจะตื่นแต่เช้าทุกวันเพื่อค้นหารูปภาพ "สวัสดีตอนเช้า" แล้วส่งให้ครอบครัวกับเพื่อน 50 คน ผ่านทาง WhatsApp บางครั้งก็มีข้อความคำคมให้กำลังใจทั่วๆ ไปเข้าไปด้วย หรือบ้างก็เป็นข้อความและรูปภาพที่สื่อในเชิงศาสนาเช่นรูปพระกฤษณะของศาสนาฮินดู ชาร์มาบอกว่า WhatsApp คือโปรแกรมที่เหมือนทำให้ความคิดของเขาออกมาเป็นคำพูดได้

ไม่เพียงแค่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเท่านั้น แม้แต่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบส่งข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" และจริงจังกับมันมากถึงขั้นเคยตักเตือนกลุ่ม ส.ส. ที่ไม่โต้ตอบคำทักทายในโลกออนไลน์ของเขา

วอลสตรีทเจอนัลระบุถึงปรากฏการณ์นี้ว่าน่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมอินเดียเองเน้นเรื่องของสายสัมพันธ์ทางสังคมกับทั้งที่ทำงาน โรงเรียน ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน มีการพยายามเรียกคนจำนวนมากๆ เป็นแสนเข้าร่วมงานแต่งงาน และอะไรแบบนี้เองก็ซึมเข้าไปสู่พฤติกรรมการใช้งานโลกออนไลน์ด้วย แน่นอนว่ามีบางคนที่ไม่ชอบพฤติกรรม "สวัสดีตอนเช้า" เช่นนี้ บ้างก็ว่าทักมาเช้าไป หรือข้อความดูร่าเริงเกินจริง รวมถึงมักจะทำให้เครื่องสมาร์ตโฟนที่เมมโมรีน้อยค้างได้ง่าย บางคนก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการออกจากกลุ่มหรือไม่ก็ปฏิเสธจะดาวน์โหลดรูปภาพ

ขณะที่คนหนุ่มสาวในอินเดียก็มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียต่างกันออกไป บางคนอาจจะถูกคะยั้นคะยอจากผู้ใหญ่ว่าเห็นข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" ของพวกเขาหรือไม่ แต่คนหนุ่มสาวเช่นหลานของชาร์มาก็บอกว่าเธอไม่ได้สนใจจะอ่านมันและส่วนใหญ่ก็จะปิดการแจ้งเตือน

นักวิจัยกูเกิลพบว่าในมือถือของผู้ใช้งานชาวอินเดียมีรูปภาพ "สวัสดีตอนเช้า" อัดกันอยู่จำนวนมากถึงหลายพันรูป ราว 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานพื้นที่หน่วยความจำเต็มเร็วมาก เทียบกับผู้ใช้สหรัฐฯ ที่หน่วยความจำจะเต็มเร็วเพียง 1 ใน 10

นั่นทำให้กูเกิลหาทางออกด้วยการออกแอปพลิเคชันใหม่ชื่อ Files Go ในการไฮไลต์ว่าน่าจะมีการลบไฟล์ใดออกไปบ้าง ถึงขั้นมีส่วนของการใช้งานที่สั่งลบรูป-ข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" พร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ทั้งหมดนี้อาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาและสังเกตขนาดของไฟล์รูปภาพจำพวกหนึ่งโดยเฉพาะ และระบบแบบนี้ก็ถึงขั้นทำให้ทั้งสื่อและเจ้าหน้าที่ราชการอินเดียออกมาปรบมือให้ มีผู้ดาวน์โหลดไปใช้แล้วมากกว่า 10 ล้านครั้ง พวกมันทำงานลบข้อมูลไปแล้วโดยเฉลี่ยคนละ 1 กิกะไบต์

อย่างไรก็ตาม ในอินเดียก็มีเว็บไซต์เพื่อรูปภาพ "สวัสดีตอนเช้า" ชื่อ WishGoodMorning.com ที่จัดทำโดยสิงห์ อายุ 31 ปี ผู้คลั่งไคล้ในรูปภาพ-ข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" โดยเฉพาะ เขาบอกว่าสาเหตุที่เขาชอบข้อความพวกนี้เพราะมันย้ำเตือนให้เห็นว่าผู้คนยังไม่ลืมเขา

นอกจากจะมีคนส่งข้อความ "สวัสดีตอนเช้า" จำนวนมากในอินเดียแล้ว WhatsApp ยังส่งข้อความ "สวัสดีปีใหม่" มากถึง 20,000 ล้านข้อความ ถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย


เรียบเรียงจาก

The Internet Is Filling Up Because Indians Are Sending Millions of ‘Good Morning!’ Texts, Wall Street Journal, 22-01-2018
https://www.wsj.com/amp/articles/the-internet-is-filling-up-because-indians-are-sending-millions-of-good-morning-texts-1516640068

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net