'ชาวพุทธเพื่อสันติภาพ' หวัง 'มาราปาตานี' สื่อสารกับประชาชน หลังระเบิด ตลาด จ.ยะลา

'เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ' ชี้ตลาด จ.ยะลา เคยมีเหตุระเบิดแผงหมูมาแล้ว และเคยทำเซฟตี้โซนอยู่พักนึง แต่หละหลวม เผยมีแนวคิดจะรื้อฟื้นเซฟตี้โซนบริเวณนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมหวัง 'มารา ปาตานี' จะส่งสารต่อประชาชน หลังเหตุการณ์
 
 
จากเหตุเหตุระเบิดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา บริเวณหน้าตลาดสดพิมลชัยหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดที่หน้าร้านเขียงหมูที่มีชาวพุทธอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 23 คน นั้น
 
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุดังกล่าว พร้อมเรียกร้อง 1. ขอให้รัฐจับกุมผู้ก่อเหตุในครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อมิให้มีการก่อเหตุซ้ำ 2. ขอให้ทุกฝ่าย และทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมของความขัดแย้ง เข้าร่วมพูดคุยสันติสุข หรือสันติภาพ โดยเร็ว 3. ขอให้กลุ่มก่อการหรือกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และกลุ่มติดอาวุธ อื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำที่สร้างความรุนแรงต่อพลเรือน และผู้อ่อนแอ 4. ขอเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ และพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนาม หรือออกแถลงการณ์ ประณาม และแสดงให้เห็นว่า “ประชาชนไม่เอาความรุนแรง” และ 5. คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ร่วมออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเยี่ยมเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ รักชาติ สุวรรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นประชาชนจาก อ.เมือง จ.ยะลา ถึงกรณีนี้ด้วย ดังนี้ 

ชุมชนคนไทยพุทธที่ยะลาวิจารณ์เหตุระเบิดที่ตลาดยะลากันว่าอย่างไรบ้าง?

รักชาติ : ชุมชนก็ด่า ประณามคนก่อเหตุ และรู้สึกหวาดระแวง รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บอกว่า รัฐดูแลเขาไม่เต็มที่ ส่วนตัวผมมองว่า รัฐก็ดูแลดีอยู่ แต่ก็ยังหลุดเข้ามาได้ ผมมองว่า เราจะเรียกร้องจากรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนซึ่งเป็นคนใช้พื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐด้วย เช่น ที่รัฐรณรงค์ให้จอดรถไว้นอกตลาดแล้วค่อยเดินเข้าไปซื้อของในตลาด ผมว่า เราก็ต้องให้ความร่วมมือกับกฎระเบียบเหล่านี้อย่างแข็งขันด้วย
 
เพราะระเบิดครั้งนี้ ก็มีความคิดว่า จะทำให้มีระบบระเบียบมากขึ้น เช่น มีสติ๊กเกอร์ติดรถให้พ่อค้าแม่ค้า และเฉพาะรถที่มีสติ๊กเกอร์ถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปจอดข้างใน ส่วนรถที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ ของประชาชนที่มาซื้อของก็จอดข้างนอกไป ผมมองว่า ชุมชนต้องร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกับรัฐ

มองการก่อเหตุที่หน้าเขียงหมูว่าอย่างไร?

การไปจอดรถหน้าเขียงหมู เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่า ต้องการทำร้ายคนพุทธ คนจีน เพราะเป็นกลุ่มคนที่จะไปซื้อหมูตรงนั้น แต่จริงๆ แล้วตลาดแห่งนี้เป็นที่ที่คนทุกเชื้อชาติ ศาสนามาขายของและจับจ่าย คนพม่าก็โดนด้วย ผมมองว่า การกระทำแบบนี้ละเมิดกฎจากเหตุที่ผ่านมา อย่างการเผารถบัส ที่บันนังสตา เหตุการณ์นั้นก็ไม่ได้ทำร้ายใคร  แต่แบบนี้กลายเป็นการมุ่งเป้าทำร้ายประชาชนอย่างชัดเจน
 
ผมยังมองว่า เป็นฝีมือของขบวนการ ขบวนการยังมีอยู่ จะเกิดเหตุไหมขึ้นอยู่กับว่า เขาหาโอกาสเหมาะที่จะลงมือปฏิบัติการได้แค่ไหน ที่สองสามปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุในเมืองยะลาก็เพราะที่ผ่านมา เขาหาโอกาสไม่ได้ แต่ครั้งนี้ได้โอกาส ก็เลยลงมือ

ตลาดนี้อยู่ในเขตเซฟตี้โซนหรือเปล่า?

ตลาดนี้ไม่ได้อยู่ในเซฟตี้โซน ซึ่งตลาดนี้ก็เคยมีเหตุระเบิดแผงหมูมาแล้วด้วย หลังมีระเบิดรัฐก็เคยทำเซฟตี้โซนอยู่พักนึง เช่น มีการตรวจรถ แต่ทำแล้วก็หละหลวม ประชาชนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ พอมาเกิดเหตุอีก ก็ทำให้มีแนวคิดจะรื้อฟื้นเซฟตี้โซนบริเวณนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้ามีพ่อค้าแม่ค้าควรจะให้ความร่วมมือ

อยากฝากสารอะไรไปยังขบวนการเพื่อเอกราชปาตานี?

มารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อการที่กำลังเจรจากับรัฐอยู่ควรจะส่งสารต่อประชาชน อย่างที่มาราเคยออกมาปฏิเสธและประณามเหตุบุกยึดโรงพยาบาลที่เจาะไอร้อง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท